มุมมองทางด้านสาธารณสุข ผมมองว่าถ้าหากสถานการณ์การระบาดนั้นเลวร้ายขนาดนี้ เราต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งและเสนอความช่วยเหลือในแง่ของมนุษยธรรมไปให้กับเกาหลีเหนือ” นพ.คิมจากสถาบันวัคซีนกล่าวและกล่าวต่อไปว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆที่มีความอันตราย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดในเกาหลีเหนือ
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้นั้น คงไม่มีกรณีใดที่น่าสนใจไปมากกว่าข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศเกาหลีเหนือ ที่ทางการเพิ่งจะออกมายอมรับไม่นานนี้ว่าเกิดการระบาดในประเทศ ขณะที่นายคิมจองอึน ผู้นำสุงสุดของเกาหลีเหนือเองก็ได้ออกมากล่าวว่าการระบาดดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นความยุ่งเหยิงครั้งใหญ่ของเกาหลีเหนือ
จากกรณีดังกล่าวนั้นทางด้านสำนักข่าว Korean Herald ของประเทศเกาหลีใต้ได้ออกบทวิเคราะห์ฉบับหนึ่งระบุว่าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะส่งผลอย่างเลวร้ายอย่างไรต่อเกาหลีเหนือบ้าง โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
หลังจากที่ทำประเทศให้เป็นเสมือนกับป้อมปราการมานานกว่าสองปี ท้ายที่สุดไวรัสโควิด-19 ก็สามารถเล็ดลอดเข้าไปยังช่องโหว่ของประเทศเกาหลีเหนือนี้จนได้
โดยไม่กี่วันหลังจากที่มีการประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรก มีรายงานจากสำนักข่าวเอซีเอ็นเอของรัฐบาลเกาหลีเหนือว่าผู้เสียชีวิตที่มาจากไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นถึง 42 ราย ส่วนตัวเลขของผู้ที่มีอาการเป็นไข้จากไวรัสโควิด-19 นั้นพุ่งขึ้นไปถึง 820,620 ราย หรือคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด 25 ล้านคนของประเทศเกาหลีเหนือ
ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ออกมาวิเคราะห์กันว่าสำหรับเกาหลีเหนือนั้นไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีความเลวร้ายมากแค่ไหน
@สำหรับเกาหลีเหนือนั้น ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ไม่ใช่ไวรัสที่มีอาการแบบอ่อนแต่อย่างใด
นพ.คิมวูจูแห่งมหาวิทยาลัยเกาหลีกล่าวว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน นั้นมีชื่อเสียงในฐานะที่ไวรัสนี้มีอาการป่วยไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงสำหรับเกาหลีเหนือ เพราะว่าถ้าหากรายงานที่ระบุว่าที่ผ่านมานั้นเกาหลีเหนือยังไม่เคยสัมผัสกับไวรัสโควิด-19 มาก่อนเลยนั้นเป็นเรื่องจริง ก็หมายความว่าจุดที่ประเทศเกาหลีเหนืออยู่ ณ เวลานี้ ก็เทียบเท่าได้กับตอนช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2563 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีทั้งวัคซีน ไม่มีการรักษา และไม่มีภูมิคุ้มกันสำหรับประชากร
“หนึ่งในเหตุผลหลักๆที่หลายประเทศเจอกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิดโอไมครอนที่ค่อนข้างน้อย เพราะว่าประชากรนั้นมีภูมิมาก่อนแล้วทั้งจากการติดเชื้อก่อนหน้า หรือว่าจากการฉีดวัคซีน” นพ.คิมกล่าวและกล่าวต่อไปว่าสำหรับเกาหลีเหนือนั้นไม่พบรายงานว่ามีการหมุนเวียนของไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ นี่หมายความว่าประชากรทั้งหมดนั้นมีความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งประเทศนี้ก็ยังมีระบบบริการสาธารณสุขที่ค่อนข้างจำกัด,มีสัดส่วนของกลุ่มประชากรเปราะบางที่ค่อนข้างสูง และมีโอกาสเป็นศูนย์ในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น อาทิ วัคซีนและยาต้านเชื้อ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหายนะก็เป็นได้
นายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือออกมายอมรับว่าการระบาดนั้นเป็นภาวะวิกฤติครั้งใหญ่ (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
ส่วนทางด้านของ นพ.เจอโรม คิม อธิบดีสถาบันวัคซีนนานาชาติ กล่าวเตือนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งมีอัตราการแพร่เชื้อได้สูงเท่ากับอีสุกอีใสและโรคหัด อาจทำร้ายประชากรเกาหลีเหนือซึ่งไม่เคยรู้จักกับภูมิคุ้มกันมาก่อนเลยให้รุนแรงขึ้นไปอีก
โดยที่ประเทศเกาหลีใต้นั้นพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป,โอไมครอนนั้นจะทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตได้สูงถึง 5 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากรกลุ่มนี้
“ในเกาหลีเหนือ ทุกคนที่เป็นผู้สูงอายุ,ผู้ใหญ่ และเด็ก จะอยู่ในความเสี่ยงสูงมากกว่าประเทศอื่นในการที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และก็จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าด้วย เนื่องจากประเด็นเรื่องการขาดสารอาหารที่จำเป็น ในกลุ่มประชากร ตามรายงานเรื่องการขาดอาหารที่ปรากฎออกมาเมื่อช่วงต้นปีก่อนหน้านี้” อธิบดีสถาบันวัคซีนฯกล่าว
ซึ่งการขาดโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขนั้นถือว่าเป็นปัจจัยซ้ำเติมวิกฤติโรคระบาดให้หนักขึ้นไปอีก โดยรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่อยู่ในเครือของศูนย์การแพทย์สันติภาพ ที่อ้างข้อมูลจาก 41 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีนั้นกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถจะไปหาหมอได้ เมื่อพวกเขาป่วยในเกาหลีเหนือ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนใดๆมาก่อนเลยในชีวิต
@ความไม่พร้อมในด้านอุปกรณ์ในการจะดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อไป
ในขณะที่มาตรการล็อคดาวน์นั้นดูจะเป็นกลวิธีเดียวสำหรับเกาหลีเหนือในการที่จะคุมโควิด แต่ว่าผลศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้ออกมาระบุแล้วว่าแนวทางล็อคดาวน์ที่ว่านี้จะดีที่สุดแค่ในระยะสั้นเท่านั้น
“หลังจากที่มีการติดเชื้อในสัดส่วนประชากรเป็นจำนวนมากแล้ว ไวรัสนั้นอาจจะลดความรุนแรงลงเมื่อเวลาผ่านไป และหลังจากนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์การพุ่งขึ้นของการติดเชื้ออีกครั้ง” นพ.คิมจากสถาบันวัคซีนฯกล่าว
ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันซึ่งมาจากการติดเชื้อตามธรรมชาติด้วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพียงอย่างเดียวนั้นถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่ได้ทนทาน โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ โดยภูมิคุ้มกันใดๆก็ตามที่มาจากการระบาดของโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 นั้นไม่สามารถที่จะหยุดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2.12.1, BA.5 หรือสายพันธุ์อื่นๆที่เป็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้
“ท้ายที่สุด ไวรัสอาจจะค่อยๆระบาดไปจนกระทั่วอยู่เหนือการตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกาหลีเหนือไม่ได้มีมาตรการการตรวจสอบหาเชื้อที่ดี” อธิบดีสถาบันวัคซีนฯกล่าว และกล่าวต่อว่า “สำหรับประเทศจีน ที่ระบบของประเทศจีนนั้นสามารถใช้งานได้อยู่ในเรื่องของการควบคุมโรคก็เป็นเพราะว่าประเทศจีนนั้นมีทรัพยากรต่างๆมากมายในการดำเนินการตรวจหาเชื้อครั้งใหญ่ อีกทั้งจีนยังมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ทำให้มีมั่นใจในเรื่องของการใช้มาตรการล็อคดาวน์ อีกทั้งจีนยังมีวัคซีน ซึ่งถ้าหากไม่มีทั้งทรัพยากร และไม่มีขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อ รักษา และฉีดวัคซีน เราก็น่าจะรู้ๆกันอยุ่ว่าผลของการล๊อคดาวน์จะทำให้เกิดอะไรตามมาบ้าง”
ทางด้านของ นพ.แพก ซอน ยอง จากมหาวิทยาลัยคาทอลิกเกาหลีได้แสดงความเห็นด้วยว่าถ้าหากไม่มีความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เข้ามา เกาหลีเหนือก็จะมีโอกาสที่จะผุกร่อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
“การยึดแนวทางโควิด-19 เป็นศูนย์ นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะได้ผลในแง่ของความยั่งยืน โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำเช่นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และก็ดูจะไม่ได้ผลสำหรับประเทศที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประเภท mRNA เช่นประเทศจีน เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน” นพ.ยองกล่าวและกล่าวว่าถ้าดูจากสถานะของเกาหลีเหนือแล้ว จะพบว่าการระบาดของโอไมครอนนั้นมีลักษณะเหมือนกับระเบิดที่ลงไป ทำให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในนโยบายนั้นคาดว่าวิธีการแบบเก่าๆเช่นการปิดพรมแดนและการล็อคดาวน์นั้นจะยังคงได้ผลในแง่ของการรับมือกับสถานการณ์
อย่างไรก็ตามความสามารถในการใช้นโยบายของเกาหลีเหนือในการจะดำเนินมาตรการในรูปแบบล็อคดาวน์เป็นวงกว้าง จนไปถึงการยุติมาตรการล็อคดาวน์นั้นยังคงเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจ เพราะประเด็นในเรื่องของความขาดแคลนทางอาหารของเกาหลีเหนือที่ดูจะเลวร้ายลงขึ้นไปอีก ถ้าหากยกตัวอย่างของกรณีนครเซี่ยงไฮ้ จะพบว่าหลังจากที่นครเซี่ยงไฮ้ได้ขยายมาตรการล็อคดาวน์ออกไป มีรายงานว่าหลายครัวเรือนนั้นต้องประสบปัญหาว่าอาหารนั้นหมดแล้ว
“เป้าหมายของเกาหลีเหนือ ณ ขั้นตอนนี้น่าจะเป็นการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้น้อยที่สุด” นพ.ยองกล่าว
@ทางออกที่ดีที่สุด
ทางด้านของ นพ.ชา จี โฮ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพระดับโลกของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี กล่าวว่า มีสามวิธีที่จะทำให้การระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีเหนือนั้นลดลง
“ความสามารถของเกาหลีเหนือในการจะจัดการเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด และทั่วถึงในกลุ่มประชากรนั้นเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้เพื่อรับมือกับการบรรเทาสถานการณ์การระบาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ว่านี้ก้จะไปทำให้สถานการณ์ทางด้านวิกฤติสุขภาพและวิกฤติทางด้านอาหารแย่ลงตามไปได้” นพ.ชากล่าว โดยอ้างอิงประสบการณ์จากที่เขาเคยติดตามการพัฒนาของเกาหลีเหนือในช่วงวิกฤติโรคระบาด ผ่านทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO และกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้
“หากเกาหลีเหนือตัดสินใจที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกและรับเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเช่นวัคซีน,ยา และเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้เวชภัณฑ์เหล่านี้ไปถึงได้ทันเวลา และมีจำนวนที่มากพอ จำนวนผู้ติดเชื้อก็อาจจะลดลงจนไปสู่ฉากทัศน์ซึ่งมีความเสียหายค่อนข้างน้อยและจะส่งผลกระทบไม่มากนักในแง่ของการสูญเสียชีวิตและการใช้ชีวิต” นพ.ชากล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็คือการล็อคดาวน์นั้นล้มเหลว และไม่มีการช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตครั้งใหญ่ก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นพ.ชากล่าวต่อว่าแต่ก็ต้องรำลึกด้วยว่าประเทศเกาหลีเหนือนั้นก็มีรูปแบบความยืดหยุ่นเป็นของตัวเองเช่นกัน
ทั้งนี้ประเทศเกาหลีเหนือนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรเบาบางและมีทั้งการจำกัดการเดินทาง และการจำกัดพรมแดน ส่งผลทำให้การเว้นระยะห่างทางกายภาพนั้นค่อนข้างมีความสะดวก เช่นเดียวกับการลงโทษผู้ซึ่งฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุขก็ดูจะไม่เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ได้รับรู้แต่อย่างใด โดยข้อมูลจาก WHO พบว่าเกาหลีเหนือมีอัตราส่วนแพทย์อยู่ที่ 3.7 คน ต่อประชากรหนึ่งพันคน
“ลักษณะโดยเฉพาะของเกาหลีเหนือเหล่านี้อาจทำให้ประเทศสามารถจะหยุดการแพร่กระจายของโรค ทำให้สามารถซื้อเวลาจนกว่าทรัพยากรที่จำเป็นทางการแพทย์จะมาถึงได้ ซึ่งนี่น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเกาหลีเหนือในการออกจากวิกฤติการระบาดนี้” นพ.ชากล่าว
ส่วน นพ.คิมจากสถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่ายังมีประเด็นอื่นที่น่ากังวลนอกเหนือจากเรื่องการเมือง,ความรับผิดชอบร่วมกัน และประเด็นมนุษยธรรมที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ก็คือประเด็นเรื่องข้อกังวลในด้านชีววิทยาโลกอาจต้องเผชิญอันมีผลสืบเนื่องมาจากการระบาดในเกาหลีเหนือ
“มีข้อกังวลในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ผมไม่มีคุณสมบัติจะประเมินได้ แต่ว่าจากมุมมองทางด้านสาธารณสุข ผมมองว่าถ้าหากสถานการณ์การระบาดนั้นเลวร้ายขนาดนี้ เราต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งและเสนอความช่วยเหลือในแง่ของมนุษยธรรมไปให้กับเกาหลีเหนือ” นพ.คิมจากสถาบันวัคซีนกล่าวและกล่าวต่อไปว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆที่มีความอันตราย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดในเกาหลีเหนือ
“เราทราบกันดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไวรัสได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง ให้ดูตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของโควิดสายพันธุ์เบต้า,สายพันธุ์โอไมครอนที่มาจากแอฟริกาใต้,โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่มาจากอินเดีย และโควิดสายพันธุ์แกมม่าที่มาจากประเทศบราซิล” นพ.คิมจากสถาบันวัคซีนกล่าว
@ความท้าทายต่อระบอบเผด็จการ
นายปาร์ค วอน-กอน ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกาหลีเหนือที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวากล่าวว่าไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่าประเด็นเรื่องโควิด-19 นั้นกำลังกลายเป็นวาระสำคัญของฝ่ายการเมืองในเกาหลีเหนือ ดังจะเห็นได้จากการที่หนังสือพิมพ์โรดงซิมุนของพรรคแรงงานกาหลีเหนือนั้นแสดงให้เห็นภาพของการประชุมโพลิตบูโร ในช่วงแรกๆที่มีรายงานการระบาดเกิดขึ้น
“การตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ของเกาหลีเหนือนั้น เป็นสิ่งที่ผมคงจะเรียกได้ว่าแทบจะเป็นโรควิตกจริตเลยก็ว่าได้ เพราะทางเกาหลีเหนือมองว่านี่คือความท้าทางอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของระบอบเผด็จการในเกาหลีเหนือ” นายปาร์คกล่าวและกล่าวต่อว่า“ฉากทัศน์การล่มสลายของของการปกครองเกาหลีเหนือนั้น ถูกพิจารณาว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มาจากการก่อกบฏที่มาจากเสียงสนับสนุนที่สูงมากจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการปกครอง แต่ว่าการมาถึงของโรคระบาด ควบคู่ไปกับภาวะความลำบากทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อยาวนาน ทั้งสองปัจจัยนี้ก็ได้ถูกกล่าวถึงว่าจะกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความไม่สงบในประเทศขึ้นมาได้”
มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าไวรัสโควิด-19 นั้นอาจมาถึงเกาหลีเหนือนานก่อนสัปดาห์ที่ผ่านมามาก แต่ว่าทางรัฐบาลกลับพยายามถ่วงเวลาในการที่จะออกมาประกาศยอมรับในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าการระบาดนั้นบานปลายเกินกว่าที่จะเก็บไว้เป็นความลับได้อีกแล้ว
สิ่งที่น่าสงสัยก็คือว่าการระบาดของโอไมครอนนั้นแม้ว่าจะเลวร้ายจนถึงขั้นที่ว่าได้มีการประกาศ “เหตุฉุกเฉินระดับชาติที่รุนแรง” แต่การระบาดดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้หยุดการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ถูกยิงตกลงในทะเลแต่อย่างใด ซึ่งนายปาร์คกล่าวว่าการทดสอบขีปนาวุธในครั้งล่าสุดนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าและแยกจากสถานการณ์การระบาดการระบาดของโควิด-19
นายปาร์คกล่าวต่อไปว่าเขาไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในเร็ววันนี้
“ทางการเกาหลีเหนือได้ระบุสายพันธุ์ของไวรัสโควิดแล้วว่าเป็นสเตลท์โอไมครอนที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศ พวกเขารู้ดีว่าวัคซีนที่มีอยู่นั้นไม่ได้ผลดีนักเมื่อต้องเจอกับไวรัสที่มี ดังนั้นการที่เกาหลีเหนือจะคงการทดสอบขีปนาวุธต่อไป ก็ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ถึงสัญญาณการขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด” นายปาร์คกล่าว
เกาหลีเหนือประกาศทดสอบยิงขีปนาวุธสามลูก ในวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งมีข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศแล้ว (อ้างอิงวิดีโอจาก news.com.au)
ส่วน นพ.ชอย จอง ฮุน ผู้ซึ่งเคยทำงานในหน่วยงานควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐในประเทศเกาหลีเหนือ ก่อนที่จะแปรพักตร์มายังเกาหลีใต้ในปี 2555 ได้กล่าวว่าเขาไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนไปในเกาหลีเหนือ แม้ว่าจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนก็ตาม
นพ.ชอยกล่าวด้วยว่าโอไมครอนนั้นเป็นเสมือนกับหนึ่งการสะอึกเพียงเล็กน้อยทางด้านการสาธารณสุขสำหรับประเทศเกาหลีเหนือเท่านั้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวเกาหลีเหนือต้องพบเจอกันอยู่แล้ว
“ผมไม่คิดว่าคนภายนอกจะเข้าใจถึงขีดความสามารถที่ชาวเกาหลีเหนือจะเผชิญได้ เมื่อต้องเจอกับความเจ็บปวด” นพ.ชอยกล่าว
นายชอยกล่าวต่อไปว่าเหตุผลการประกาศล่าสุดนั้นน่าจะเพื่อแค่ว่าทำให้เกาหลีเหนือสามารถดำเนินมาตรการที่ตามทันต่อการรับมือกับการระบาดทั้งภายในและภายนอกประเทศเท่านั้น
@ความช่วยเหลือมีได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเปียงยาง
มีรายงานว่านายยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่เพิ่มจะรับตำแหน่งไม่นานได้ยื่นข้อเสนอว่าจะส่งเวชภัณฑ์รวมไปถึงวัคซีนให้แก่เกาหลีเหนือ โดย ณ เวลานี้ มีวัคซีนจำนวนหลายล้านโดสในเกาหลีใต้ มีความเสี่ยงว่าจะต้องนำไปทิ้ง เนื่องจากประชากรชาวเกาหลีใต้นั้นส่วนมากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสหรือไม่ก็ได้รับวัคซีนกว่าสามโดสแล้ว
วัคซีนส่วนเกินที่ว่ามานี้ ถือว่าเป็น หนึ่งในสินค้าที่มีค่าที่สุดในขณะนี้สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าหากทางเกาหลีใต้เลือกที่จะรับวัคซีนเหล่านี้เอาไว้ แต่ทว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีเหนือได้ออกมาประกาศชัดเจนว่าขอปฏิเสธความช่วยเหลือด้านการแบ่งปันวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์
นพ.ชาจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเกาหลีกล่าวว่ามีแรงจูงใจที่น้อยมากสำหรับเกาหลีเหนือที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอก เว้นเสียแต่ว่าความช่วยเหลือที่ว่ามานั้นจะมีปริมาณมากจนสามารถพลิกสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน
“เพราะถ้าหากไม่เป็นเช่นนั้น เกาหลีเหนือก็ไม่อยากจะเผชิญความเสี่ยงทางด้านอิทธิพลทางการเมืองที่มาจากนอกประเทศ” นพ.ชากล่าว
ทางด้านของนายแทยองโฮ ตัวแทนจากพรรค People Power Party ในเกาหลีใต้ และเขายังเคยเป็น รองเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะแปรพักตร์มา ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ความช่วยเหลือี่ส่งไปยังเกาหลีเหนือนั้นควรจะมาในรูปแบบของแพคเกตครบเซต ไม่ใช่แค่วัคซีน แต่รวมไปถึงระบบห่วงโซ่ความเย็น ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีจำเป็นต่อการจัดส่งวัคซีน
ส่วนนายลีฟ-เอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา กล่าวว่าสิ่งที่เผด็จการคิมต้องการที่สุดน่าจะเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดและมีเพียงพอจะฉีดให้กับประชาชนทั้งหมด
“อาจจะเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะยอมรับการเสนอให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีน อาทิ วัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาที่มีจำนวนสามโดสครอบคลุมประชากรทั้งหมด มากกว่าจะยอมรับแค่การจัดส่งวัคซีนซึ่งต่างชนิดกันในแต่ละขั้นตอน” นายอิสลีย์กล่าวและกล่าวต่อว่า“เป็นไปได้ที่กรุงเปียงยางนั้นกำลังรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลงเสียก่อน ก่อนที่จะกลับมาดำเนินการติดต่อกับนานาชาติกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้แนวทางการสร้างป้อมปราการนั้นถือว่าแตกแล้ว ดังนั้นภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ ทางการเกาหลีเหนือไม่มีเวลาที่ให้เสียอีกต่อไปแล้ว”
เกาหลีเหนือปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาชาติ (อ้างอิงวิดีโอจาก ANC)
นายอิสลีย์กล่าวเพิ่มเติมว่าเกาหลีเหนือนั้นมีความมุ่งมั่นว่าจะรับความช่วยเหลือที่เข้ามา ด้วยเงื่อนไขของตัวเองเท่านั้น เพื่อที่จะไม่แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือสิ้นหวังหรือว่าอ่อนแอ ดังนั้นประเทศหรือว่าหน่วยงานนานาชาติที่จะบริจาคให้กับเกาหลีเหนือก็มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องทำข้อตกลงกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อจะเหลือหน้าเอาไว้ให้กับตระกูลคิมบ้าง
“แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลเกาหลีเหนือก็ต้องขอความช่วยเหลือ และความร่วมมือจากนานาชาติอยู่ดี ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับประชาชนเกาหลีเหนือเอง” นายอิสลีย์กล่าว
เรียบเรียงจาก:http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220515000227