“..คนเดินเท้า เป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากต่อให้มีรถยนต์ก็ตาม แต่คนเราก็ไม่สามารถอยู่หลังพวงมาลัยทั้งวันได้ ต้องลงมากินข้าว ข้ามถนน ต่อให้ขี่จักรยาน ก็อยู่บนอานไม่ได้ทั้งวัน ก็ต้องลงมาซื้อของกินเช่นเดียวกัน ฉะนั้นรัฐจึงจะต้องให้ความสำคัญกับคนก่อน..”
‘ทางเท้า’ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีความสำคัญกับวิถีชีวิตประจำวันของคนในกรุงเทพมหานคร จึงนับว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐจะต้องไม่มองข้าม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน
แต่ทุกวันนี้ทางเท้ามีปัญหามากมายจนทำให้คนเดินเท้าไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มี เช่น ทางสำหรับคนพิการ ก็ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับ สิทธานต์ ฉลองธรรม เจ้าของเพจ ‘The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า’ ผู้ที่มีประสบการณ์ และมองเห็นปัญหาทางเท้าผ่านการลงเดินสำรวจมาแล้ววทั้งในและต่างประเทศ
สิทธานต์ กล่าวว่า ‘ทางเท้า’ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของถนน ไม่สามารถแยกขาดกันได้ เราไม่สารถเดินอยู่ทางเท้าฝังเดียวได้ตลอด และเมื่อข้ามถนน ก็ต้องรออยู่บนทางเท้า ฉะนั้น ‘ทางเท้า’ จึงนับว่าเป็นทางสัญจรเช่นเดียวกับถนน
การออกแบบถนนที่ดี จำเป็นจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง โดยลำดับแรกที่เราจะต้องให้ความสำคัญ คือ คนเดินเท้าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป เด็ก คนชรา และคนพิการ ถ้าคนเดินเท้ามีความสะดวกสบาย อันดับสอง คือ ขนส่งมวลชนทุกประเภท ต้องประหยัด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันดับที่สาม คือ รถให้บริการต่างๆ เช่น รถเก็บขยะ รถไปรษณีย์ และอันดับสุดท้ายที่ควรจะให้ความสำคัญ คือ รถส่วนตัวทุกประเภท เช่น รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์
“เมื่อเราให้ความสำคัญ คนทุกประเภทก่อน ทางเดิน ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า ทางข้าม จุดต่างๆ รวมถึงพื้นที่สาธารณะเล็กๆ ให้คนก่อน ก็เป็นไปได้ไม่ยากหนักที่เราจะได้ทางเท้าที่ดี”
สิทธานต์ กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าเมืองที่ดี จะต้องออกแบบเพื่อผู้คน หรือที่เรียกว่า ‘City for People’ และเมื่อพูดถึงคำถามว่า ‘ทางเท้าที่ดีควรเป็นอย่างไร’ ก็จะต้องรู้ถึงบทบาทของทางเท้าคืออะไร
สำหรับบทบาทของ ‘ทางเท้า’ นั้น ลำดับที่หนึ่ง คือ ต้องไว้เดิน แต่นอกเหนือจากการเดิน ควรจะต้องเป็นที่สำหรับทำกิจกรรม และสำหรับขายของ
สิทธานต์ อธิยายว่า ทางเท้าที่ดีของตน คือ ทางเท้าที่อยู่หน้าโรงเรียนเราสมัยเด็ก ที่มีทางกว้างๆ มีรถขายไอศกรีม ขายขนม ขายก๋วยเตี๋ยวผัด ขายไอศกรีม มีเด็กวิ่งเล่น สามารถแวะตามร้านขายหนังสือที่ตั้งแผงออกมา ดังนั้น ถ้ามีพื้นที่กว้างพอ ก็จะสามารถมีบทบาททั้งหมดอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่สำหรับเดิน ทำกิจกรรม หรือขายของ
“เมื่อเราไปเดินทางเท้าที่สิงคโปร์สมัยก่อน เราจะเห็นว่า ทางเท้าสวยจังเลย ทางเท้ากว้างจัง แต่บางคนก็ไม่ชอบเพราะรู้เสึกว่าเดินแล้วไม่มีอะไร เมืองจะมีชีวิตชีวา ก็ต่อเมื่อทางเท้ามีไว้เดิน มีไว้ทำกิจจกรม และมีไว้ขายของ”
สิทธานต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับองค์ประกอบทางเท้าที่ดี ประกอบด้วย หนึ่ง คือ ความกว้างของพื้นที่ที่มากพอ ส่วนขนาดนั้น ต้อวขึ้นอยู่กับย่านนั้นๆ เช่น ย่านธุรกิจ ก็ควรที่จะมีทางเท้าที่กว้างๆ ย่านชุมชน ก็ไม่จำเป็นที่ต้องกว้างมากหนัก แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นการกว้างที่มีประสิทธิผล ไม่มีสิ่งกีดขว้าง
สอง ทางเท้าที่ดี ไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้มีสิ่งกีดขวางเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และเมื่อแยกย่อยประเภทสิ่งกีดขวางบนทางเท้า แบ่งได้เป็น 2 อย่าง ได้แก่ 1) สิ่งกีดขวางที่ไม่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า ที่เห็นได้ทั่วไป คือ เสา ป้าย ป้อมตำรวจ ฐานบันไดสะพานลอย ซึ่งเป็นอันตราย เนื่องจากลดเนื้อที่ของทางเท้า ทำให้คนต้องไปเดินบนถนน และ 2) สิ่งกีดขวางที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า เช่น ต้นไม้ หาบเร่แผงลอย คือ เราสร้างแวะหยุดซื้อได้ แต่จะต้องเดินได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศออสเตรเลีย ก็มีเสาไฟฟ้า มีจุดปิดป้ายโฆษณา ป้ายจราจร แต่มีการจัดวางที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางและเป็นมิตรกับคนเดิน
สิทธานต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาเมืองสมัยใหม่นั้น ที่ยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยใช้แนวคิดการเป็นเมืองที่เกื้อกูล ทั้งนี้ ในต่างประเทศเอง ในอดีต ต่างเคยจัดระเบียบร้านค้า หาบเร่แผงลอยต่างๆ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง มันส่งผลให้เมืองไม่มีชีวิตชีวาขาดสีสัน ไม่มีวิถีผู้คน
เมื่อหลายเมืองเริ่มตระหนักถึงการขาดสีสัน จึงได้มีการแก้ปัญหาโดยขยายทางเท้า (Road diet) ทำให้ถนนแคบลง เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับคนเดินเท้า ร้านขายของ ทางจักรยาน เริ่มให้มีการขออนุญาตที่จะขายของบนทางเท้าได้อย่างถูกกฎหมาย จัดสรรปันส่วนที่สำหรับร้านขายของควบคู่กัน และเมื่อกลับมามองที่ทางเท้าในประเทศ จึงเกิดเป็นคำถามว่า “ร้านค้า หาบเร่แผงลอยขวางทางเท้า หรือว่าทางเท้ามันแคบกันแน่?” และถ้าการยกเลิกหาบเร่ทำให้เมืองขาดสีสัน แสดงว่าก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
“ปัญหาก็คือ ประเทศไทย เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก และพูดมาในสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติว่า หาบเร่แผงลอยกีดขวางทางเท้า ทำทางเท้าแคบ จะทวงคืนทางเท้า ต้องทวงจากหาบเร่แผงลอย แต่ในขณะที่ เราไม่เคยพูดเลย การขยายถนน การเฉือนทางเท้าทิ้ง ทำให้ทางเท้าแคบลง เราไม่เคยทวงคืนทางเท้าจากถนนเลย”
สิทธานต์ กล่าวต่อว่า เมื่อไม่มีหาบเร่แผงลอย คนเดินบนทางเท้า ก็ยังอันตราย อีกทั้งยังไม่มีชีวิตชีวาในการเดิน ฉะนั้น ทางเท้าไม่ควรมีไว้เดินอย่างเดียว และเมื่อเดินไม่ได้ ขอให้ตั้งคำถามดูว่า เป็นเพราะร้านหาบเร่แผงลอยใช่หรือไม่ ลองมองว่า หรือเพราะทางมันแคบกันแน่? ในขณะที่การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ เน้นขยายทางเท้า เอาพื้นที่คืนจากถนน แต่ไทยเรากลับทวงคืนทางเท้าจากร้านค้า หาบเร่แผงลอย
อีกทั้ง เรามักเห็นมีไฟส่องสว่างบนถนน แต่ไม่ค่อยมีบนทางเท้า ทำให้มืด อันตราย น่ากลัว คนเดินเท้ามองไม่เห็นเวลาข้ามถนน เป็นคำถามว่า ทางเท้าที่เรามีอยู่ตอนนี้สะดวก ปลอดภัย เข้าถึงง่ายจริงไม่? ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการข้ามถนนด้วย เพราะคนข้ามทางเท้าต้องข้ามถนน ซึ่งการข้ามถนนที่ปลอดภัยจะต้องข้ามที่ทางม้าลาย แต่ปัญหาก็คือ ทางม้าลายมีไม่เพียงพอ และมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย ดังเช่นข่าวที่แพทย์หญิงถูกบิ๊กไบค์ขับชนขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต
การแก้ปัญหาที่คนในสังคมส่วนใหญ่หยิบยกมากก็คือ ใช้สะพานลอย แต่คำถามคือ สะพานลอยไม่ได้ตอบโจทย์และสะดวกสำหรับทุกคน เช่น คนแก่ คนเจ็บ คนท้อง คนถือของหนัก ก็ข้ามสะพานลอยไม่ไหว ก็จะเป็นปัญหาต่อไปไม่รู้จบ
ไทยไม่ได้พุ่งเป้าการพัฒนาไปที่ผู้คนเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าเป็น people-oriented ที่ผ่านมาจะยึด car-oriented โดยลำดับความสำคัญที่ผิดพลาดของไทย ที่ไม่ได้จัดลำดับของคนขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ทุกอย่างเลยเป็นแบบนี้ ทั้งทางเท้า ทางข้าม
คนเดินเท้า เป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากต่อให้มีรถยนต์ก็ตาม แต่คนเราก็ไม่สามารถอยู่หลังพวงมาลัยทั้งวันได้ ต้องลงมากินข้าว ข้ามถนน ต่อให้ขี่จักรยาน ก็อยู่บนอานไม่ได้ทั้งวัน ก็ต้องลงมาซื้อของกินเช่นเดียวกัน ฉะนั้นรัฐจึงจะต้องให้ความสำคัญกับคนก่อน
สิทธานต์ ฉลองธรรม
สิทธานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางเท้าที่ดี จะต้องเรียบ ไม่ลื่น บำรุงรักษาง่าย พังยาก แต่ทางเท้าในไทยที่พบ ส่วนใหญ่จะพังง่ายมาตรฐานการสร้างไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ทางเท้าที่ดี จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกบนทางเท้า เช่น ต้นไม้ให้ร่มเงา มีแสงสว่างที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่โคมติดประดับ มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ รถเข็นเด็ก ทางเดินคนตาบอด
แต่สำหรับประเทศไทย มีการแก้ปัญหาเรื่องพวกนี้มาอย่างยาวนาน นำสิ่งต่างๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ แต่ทำมถึงไม่เจริญสักที? หรือเพราะหลักคิดตั้งแต่ต้น มันผิด?
ถนนพญาไท ที่มีการทำใหม่ คนต่างชมว่าสวย แต่เดินข้ามถนนถูกรถชน มันจะเป็นถนนสวยได้อย่างไร? การพูดถึงปัญหาทางเท้า ก็จำเป็นจะต้องพูดถึงทางข้ามด้วย
ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้าม แต่พอถึงชั่วโมงเร่งด่วน ตำรวจก็มายกเลิก เพื่อระบายรถ ซึ่งส่งผลกระทบกับทางเท้า คนใช้ทางเท้าก็ลำบาก ทางเดินก็แคบ จะข้ามถนนบริเวณทางแยก ก็ลำบาก เจอป้อมตำรวจบังสายตา ในการระวังรถทางซ้ายในเลนผ่านตลอด เป็นคำถามว่า มีป้อมตำรวจจราจรตรงแยกไว้ทำไม ซึ่งบ้านเราติดสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติมานานมากแล้ว แต่ก็ยังต้องมีป้อมตำรวจไว้บังคับ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการระบาดรถ ไม่ให้รถติด เนื่องจากรถเยอะ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ฉะนั้นเราควรจะแก้ปัญหาให้รถน้อย
สิทธานต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาในไทย เปรียบเสมือนการทำของตกในที่มืด แต่หาในที่สว่าง ดังนั้น การแก้ปัญหาทางเท้า ทางม้าลาย จะแก้เฉพาะจุดไม่ได้
ทั้งหมดนี้ คือปัญหาทางเท้า ที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นสิ่งอำนวยสะดวกในชีวิตขั้นพื้นฐานและสำคัญกับชีวิตคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมือง จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป