สำหรับในส่วนข้อมูลของประเทศไทยนั้นมีการรายงานด้วยเช่นกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอันดับผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยข้อมูลทางการของประเทศไทยที่ได้รายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 -30 เม.ย. 2565 นั้นอยู่ที่ 28,610 ราย แต่ว่าข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนเกินของประเทศไทยนั้นพบว่าอยู่ที่ 79,170 ราย และถ้าหากคิดเป็นสัดส่วนนั้นจะพบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตส่วนเกิน 113 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสในประเทศไทยจะอยู่ในทิศทางขาลงทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ออกมาตั้งคำถามว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นจะมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน
ล่าสุดทางสำนักข่าว The Economist ของประเทศอังกฤษเองก็ได้ทำบทเคราะห์เพื่อจะรายงานความแตกต่างระหว่างตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลทั่วโลกได้ประกาศ กับสิ่งที่เรียกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงกว่าการเสียชีวิตในช่วงก่อนจะมีไวรัสโควิด-19
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
นับตั้งแต่ที่ไวรัสโควิดได้ระบาดไปทั่วโลก ผู้คนก็เริ่มมีความคุ้นชินกับการประกาศตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตที่รัฐบาลในแต่ละประเทศได้นำมาเสนอมาในแต่ละวัน แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการวิเคราะห์กันแล้วว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นแท้จริงแล้วอาจจะสูงขึ้นกว่าที่แต่ละรัฐบาลได้รายงานไว้จริง ด้วยหลายเหตุผลประกอบกัน
เหตุผลประการแรกนั้นก็คือว่าข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตที่หลายประเทศรายงานนั้นไม่ได้มีการนับรวมเอาผู้เสียชีวิต ที่ไม่ได้ถูกตรวจพบว่ามีผลตรวจเป็นบวกก่อนเสียชีวิตเอาไว้ในรายงานสถิติด้วย ซึ่งนี่อาจจะเป็นเพราะขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อของแต่ละประเทศที่อาจจะตรวจไม่พบเจอผู้ติดเชื้อทั้งหมด ทำให้มีการตกสำรวจจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ตามมา
เหตุผลประการที่สองก็คือว่าโรงพยาบาล และศูนย์ที่ทำการลงทะเบียนผู้ป่วยในหลายแห่งนั้นอาจมีกระบวนการออกใบมรณบัตรที่ล่าช้า ส่งผลทำให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากไวรัสที่ปรากฏในสถิตินั้นล่าช้าตามมาด้วย ซึ่งความล่าช้าที่ว่ามานี้อาจกินระยะเวลานานหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์
และเหตุผลประการที่สามก็คือว่าภาวะโรคระบาดนั้นทำให้เป็นการยากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะไปรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ และยังเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยนั้นไปโรงพยาบาล นี่ทำให้เกิดการเสียชีวิตที่มาจากโรคอื่นๆซึ่งไม่ใช่โควิด-19 ตามมาด้วย
ทั้งนี้หนึ่งในวิธีที่จะแก้ไขปัญหาการตกสำรวจตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ก็คือการใช้วิธีที่เรียบง่ายได้แก่ “ข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนเกิน” โดยวิธีการที่ว่านั้นก็จะเป็นการสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด (สาเหตุอื่นนอกเหนือจากตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19) และจากภูมิภาคใดก็ตาม จากนั้นนำตัวเลขที่ได้ไปเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานผู้เสียชีวิตในช่วงปีที่ผ่านๆมา ซึ่ง The Economist ได้ใช้รูปแบบจำลองทางสถิติดังกล่าวนั้นสร้างพื้นฐานข้อมูล โดยคาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตในแต่ละภูมิภาคและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่บันทึกไว้ว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตเท่าไรกันแน่ในระหว่างช่วงปี 2563-2564
พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าในกลุ่มประเทศตะวันตกหลายประเทศ และบางประเทศในภูมิภาคอื่นๆที่ได้รายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม ข้อมูลในตารางเบื้องล่างแสดงให้เห็นว่าในหลายประเทศนั้น มีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินคิดเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่แต่ละรัฐบาลได้รายงานออกมา ซึ่งที่ไปที่มาของชุดข้อมูลดังกล่าวนี้นั้นมาจากฐานข้อมูลการเสียชีวิตของมนุษย์ ที่ไปการเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ,สถาบันแม็กซ์ แพลงก์ ในประเทศเยอรมนี และชุดข้อมูล World Mortality Dataset ซึ่งจัดทำโดยนายเอเรียล คาร์ลินสกี้ นักสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) และนายดมิทรี โคบัค นักวิทยาศาสตร์ด้านวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยทูบิงเงน ประเทศเยอรมนี
สำหรับในส่วนข้อมูลของประเทศไทยนั้นมีการรายงานด้วยเช่นกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอันดับผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยข้อมูลทางการของประเทศไทยที่ได้รายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 -30 เม.ย. 2565 นั้นอยู่ที่ 28,610 ราย แต่ว่าข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนเกินของประเทศไทยนั้นพบว่าอยู่ที่ 79,170 ราย และถ้าหากคิดเป็นสัดส่วนนั้นจะพบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตส่วนเกิน 113 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน (ดูภาพประกอบ)
20 อันดับประเทศที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงที่สุดในโลก
ขณะที่ข้อมูลจาก EuroMOMO ซึ่งเป็นเครือข่ายนักระบาดวิทยาที่ทำหน้าที่รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก 32 ประเทศในทวีปยุโรป ก็ได้มีการนำเอาข้อมูลดังกล่าวนี้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลผู้เสียชีวิตในช่วงห้าปีก่อนหน้าที่จะมีการระบาดด้วยเช่นกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาทวีปยุโรปนั้นต้องเจอกับปัญหาไข้หวัดใหญ่อันร้ายแรงที่มีความอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามจำนวนของผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงที่ผ่านมานั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้แม้ว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นจะมีอายุมากกว่า 65 ปี แต่ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในทวีปยุโรปที่อยู่ในช่วงอายุ 545-64 ปี นั้นพุ่งขึ้นสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2563
ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินใน 23 ประเทศทั่วยุโรปโดยแบ่งออกเป็นช่วงอายุและช่วงเวลาต่างๆ เปรียบเทียบกับเวลาที่เกิดการระบาดของไข้หวัดตามฤดูกาล
ข้อมูลด้านล่างนั้นเป็นชุดของแผนภูมิที่ทำการเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนเกินและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการเมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละประเทศ โดยเส้นบนในแต่ละแผนภูมินั้นแสดงให้เห็นถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน และในส่วนที่ระบายสีเอาไว้นั้นหมายถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตอันเป็นทางการที่แต่ละรัฐบาลได้ประกาศออกมา
กราฟเปรียบเทียบข้อมูลผู้เสียชีวิตทางการจากไวรัสโควิด-19 (รูปกลางในส่วนที่ทาสีชมพู) กับตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน (รูปซ้าย) ขณะที่บรรทัดที่ระบุเลขศูนย์ (รูปซ้าย)นั้นแสดงให้เห็นถึงตัวเลขเฉลี่ยผู้เสียชีวิตในช่วงก่อนหน้าการระบาด
ขณะที่ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกานั้นนั้นถือว่าถูกโจมตีอย่างหนักจากโรคระบาด ทำให้รัฐต่างๆรีบออกมาตรการล็อคดาวน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวนั้นก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ ทว่าในเดือน พ.ย.และเดือน ธ.ค. 2563 ก็มีการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ ส่วนข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนเกินนั้นพบว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินในสหรัฐฯ เริ่มจะอยู่ในระดับต่ำลงนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 เป็นต้นมา เนื่องจากการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อจะเปิดประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง
การเปรียบเทียบผู้เสียชีวิตทางการกับผู้เสียชีวิตส่วนเกินในรัฐต่างๆในสหรัฐอเมริกา คิดเป็นรายสัปดาห์ โดยจะเห็นว่ามีบางช่วงเวลาที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินต่ำกว่าศูนย์แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นมีเสียชีวิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาดนั่นเอง
ขณะที่นิวยอร์กนั้นต้องเผชิญกับการทำลายล้างของโควิด-19 ในเดือน มี.ค. 2563 เมืองต่างๆในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเองก็ต้องเจอกับการระบาดอันเลวร้ายเช่นกัน ทั้งสหราชอาณาจักร,สเปน,อิตาลี,เบลเยียม และโปรตุเกส ประเทศเหล่านี้ต่างก็มีตัวเลยผู้เสียชีวิตส่วนเกินคิดเป็นอัตราสูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับขนาดประชากรของประเทศตัวเอง และประเทศเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับการระบาดอันเลวร้ายอีกครั้งในช่วงการระบาดระลอกสองในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาวของปี 2563
และผลจากการที่บางประเทศในยุโรปตะวันตกดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชากรของตัวเองอย่างล่าช้าในช่วงต้นปี 2564 ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้มีอัตราผู้เสียชีวิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูงเช่นกัน แต่พอมาถึงเดือน มิ.ย. 2564 อัตราผู้เสียชีวิตก็กลับมาอยู่ในระดับปกติทั่วทั้งภูมิภาค
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในยุโรปตะวันตก
สำหรับประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือนั้นพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมากในช่วงของการระบาด บางประเทศในกลุ่มนอร์ดิกนั้นพบว่าแทบไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินเลย เว้นแต่ประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมน้อยที่สุดในช่วงระลอกแรกของการระบาด
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในยุโรปเหนือ
ส่วนที่ภูมิภาคยุโรปกลางนั้นพบว่ามีแค่ประเทศเนเธอร์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้นที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินค่อนข้างสูงในช่วงต้นปี 2563 พอหลังจากที่มีการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ก็พบว่าทั้งภูมิภาคนั้นต้องเผชิญกับการทำลายล้างของโรคระบาดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยประเทศโปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก นั้นต้องเผชิญกับการพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2564
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในยุโรปตอนกลาง
ขณะที่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีรูปแบบคล้ายกับภูมิภาคยุโรปกลาง ซึ่งในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 พบว่าเป็นช่วงเวลาที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อนข้างมาก โดยประเทศบัลแกเรียนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงที่สุดเท่าที่ได้สำรวจมา ขณะที่หลายประเทศก็ได้พบกับการระบาดร้ายแรงเช่นกัน
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับประเทศในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต พบว่ามีแค่ประเทศเบลารุสเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินที่ค่อนข้างสูงในช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากว่าประเทศนี้แทบไม่ได้ออกมาตรการการจำกัดการใช้ชีวิตประจำวันใดๆเลย ต่อมาในช่วงการระบาดของไวรัสในระลอกสอง พบว่าประเทศรัสเซียกลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสที่ถูกรายงานจากรัฐบาลกับตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินสูงที่สุดในโลก โดยในช่วงเดือน เม.ย.2563-มิ.ย. รัสเซียมีตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินอยู่ที่ 530,000 ราย แต่ว่าทางการรัสเซียรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่แค่ 130,000 รายเท่านั้น
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในยุโรปตะวันออก
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาส่วนมากก็ต้องพบกับการระบาดที่รุนแรงในระลอกแรกในระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค. 2563 เช่นเดียวกัน โดยประเทศโบลิเวียและเอกวาดอร์นั้นถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษจากการระบาด พอมาถึงการระบาดในระลอกที่สองในภูมิภาคในช่วงปลายปี 2563 ก็พบข้อมูลว่าประเทศเม็กซิโก,ปรู และบราซิล ทั้งหมดต่างเข้าสู่ยอดตัวเลขสูงสุดของผู้เสียชีวิตส่วนเกินในช่วงของโรคระบาด และไวรัสก็ยังคงหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ ขณะที่ประเทศโคลอมเบียและปารากวัย ก็ต้องพบกับยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงสุดในช่วงเดือนเม.ย.- พ.ค. 2564 เช่นกัน
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในประเทศละตินอเมริกา
ส่วนภูมิภาคอื่นๆนอกเหนือจากยุโรปและอเมริกานั้นพบว่ามีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน พื้นที่ส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียไม่มีข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนเกินปรากฎให้เห็น เนื่องจากยังคงมีบางประเทศที่ออกใบมรณบัตรให้แก่ประชากรส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้ในประเทศซึ่งไม่มีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตออกมา ทาง The Economist จึงต้องมีการประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน โดยใช้การเก็บรูปแบบจำลองทางสถิติ ยกตัวอย่างเช่นที่อินเดีย มีการประมาณการว่าอาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 2.3 ล้านราย นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2564 เปรียบเทียบกับข้อมูลทางการซึ่งอยู่ที่ 200,000 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนา ที่มีการรายงานสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นประจำอยู่แล้ว พบว่าแอฟริกาใต้มีสถานการณ์เลวร้ายด้านตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สุด ส่วนที่ประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์นั้นกลับพบว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตส่วนเกินค่อนข้างจะน้อยจนถึงขั้นติดลบ เนื่องจากว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตน้อยกว่าที่ได้บันทึกไว้ในช่วงก่อนการระบาด ซึ่งนี่คาดว่าจะมาจากการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา
กลับมาที่ประเทศซึ่งมีฐานะร่ำรวยที่รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว ประเทศเหล่านี้ก็มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในเชิงลบเช่นกัน, โดยประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นสามารถจะขจัดการแพร่เชื้อในประเทศไปได้หลังจากการล็อคดาวน์อย่างรุนแรง ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ก็บรรลุผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากว่าทั้งสองประเทศนั้นมีระบบการติดตามผู้ติดเชื้อที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และประเทศอิสราเอลก็พบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินอยู่บ้าง แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกินยังน้อยกว่าประเทศอื่นๆในส่วนที่เหลือของโลก อันเนื่องมาจากโครงการฉีดวัคซีนในประเทศนั่นเอง
อัตราเปรียบเทียบตัวเลขเสียชีวิตส่วนเกินกับตัวเลขผู้เสียชีวิตทางการจากโควิด-19 ในประเทศพัฒนาแล้ว
เรียบเรียงจาก:https://www.economist.com/graphic-detail/coronavirus-excess-deaths-tracker