“...Oh My Love ฉันเพิ่งเจอว่านอกจากเงิน 50 ล้านแล้ว ฉันมีมากกว่านั้นนะ พ่อฉันมีเงิน 500 ล้าน ทาง น.ส.ชมานันทน์ก็ยังยึกยักอยู่ พอจังหวะยึกยัก กลุ่มมิจฉาชีพก็จะหลอกว่าเงินมาถึงมาเลเซียแล้ว ตอนนี้โอนเงิน ที่รักเชื่อฉันนะ แล้วกลุ่มมิจฉาชีพก็สร้างเว็บฟิชชิ่งขึ้นมาอีกและก็อาจจะมีการปลอมแปลงเว็บของธนาคารบางแห่งเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ...”
"ความเป็นมาเป็นไปคดีนี้ มาจากกรณีที่ น.ส.ชมานันทน์ (เพ็ชรโปรี) ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CFO (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน) รับผิดชอบและมีสิทธิเข้าถึงเงินของบริษัทเอสซีลอร์ โดยบริษัทแห่งนี้นั้นเป็นบริษัทผลิตเลนส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฝรั่งเศส และมีสาขาอยู่ทั่วโลก น.ส.ชมานันทน์ ได้ไปรู้จักกับผู้ที่หลอกลวงให้รักบนโลกออนไลน์หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าโรแมนซ์สแกมจากประเทศไนจีเรีย ซึ่งแอบอ้างตัวเองว่าเป็นแพทย์ทหารสัญชาติอเมริกัน (หลอกว่าชื่อ นพ.แอนดรูว์ ชาง) บอกว่าประจำการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน"
"น.ส.ชมานันทน์นั้นหลงขนาดที่เรียกได้ว่าเดินทางไปประเทศมาเลเซียจำนวน 2-3 ครั้ง เพื่อจะไปเจอกับบุคคลที่ถูกแอบอ้างว่าเป็นทนายความของแพทย์ทหารปลอม ๆ คนนี้ แต่ก็ไม่เจอ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีทางได้เจออยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าคนร้ายนั้นมีวิธีการหลอกที่เก่งมาก"
"ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับได้ว่า นพ.ชาง แท้จริงแล้วมาจากกลุ่มคนไนจีเรียที่แอบอ้างก็มาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกันพบว่าภาพของ นพ.ชาง นั้นแท้จริงแล้วเป็นภาพของนายรุสลาน ฮารุน ที่เป็นชาวมาเลเซีย ซึ่งภาพของเขาตามเฟซบุ๊กนั้นถูกนำไปใช้แอบอ้างไปใช้
โดยนายฮารุนก็ได้ไปร้องเรียนและปรากฏเป็นข่าวในภาษามาเลเซียไปแล้ว"
รูปภาพที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพไนจีเรียนำไปแอบอ้างว่าเป็นภาพของ นพ.แอนดรูว์ ชาง แพทย์ทหารสหรัฐฯ
ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ให้กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงที่มาที่ไป และแนวทางการติดตามคดี กรณีปรากฏข่าวสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท ซึ่งเป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- คดีโกง 6 พันล้านบาน ‘เอสซีลอร์’ ฟ้อง ธ.เจพีมอร์แกน ไม่แจ้งพิรุธลูกจ้างไทยถอนเงินถี่ยิบ
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งในคดีนี้ ที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และทีมงานเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา คือ ขบวนการมิจฉาชีพไนจีเรียพวกนี้ เป็นคือใคร มีวิธีการดำเนินการอย่างไร ทำไมบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการเงินค่อนข้างสูงอย่าง น.ส.ชมานันทน์ จึงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพนำไปสู่การโอนเงินจำนวนมหาศาลได้
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.)
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
@กลุ่มแบล็กแอ็กซ์สแกม
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า กรณีโรแมนซ์สแกมหรือการแกล้งหลอกรักคดีนี้ พฤติกรรมของคนไนจีเรีย จะปฏิบัติการอยู่ในที่ทำการ ที่ประเทศไนจีเรีย ออกพูดคุยเพื่อหาเหยื่อ แต่ถามว่าคนไนจีเรียเหล่านี้ จะสามารถหาบัญชีของเหยื่อได้หรือไม่ ก็ไม่ได้
ดังนั้น มันเลยมีสิ่งที่เรียกกันว่า แบล็กสแกม หรือว่าแบล็กแอ็กซ์สแกมที่เป็นเครือข่ายคอยหาเหยื่อพวกนี้
"พอกลุ่มมิจฉาชีพได้โอกาสคุยกับ น.ส.ชมานันทน์ โดยใช้วิธีการสร้างเรื่องตามที่ได้ระบุมาแล้ว การจะหลอกรับโอนเงิน ซึ่งมันไม่มีพยาน ทางกลุ่มมิจฉาชีพก็จะมีการติดต่อเครือข่ายทั่วโลกเพื่อจะหาประเทศที่จะรับโอนเงินตามสัญชาติของเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น หาเพื่อนที่มีบัญชีโอนเงินของประเทศไทยเป็นต้น"
โลโก้กลุ่มแบล็กแอ็กซ์สแกม
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวต่อว่า กรณีของ น.ส.ชมานันทน์นั้น มีการอ้างเรื่องราวหลอกลวงอย่างต่อเนื่องหลังจากสร้างสตอรี่แรกที่บอกว่าเป็นแพทย์ทหารสหรัฐฯ ก็มีการสร้างสตอรี่ที่สอง โดยอ้างว่าเงินมรดกนั้นอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเงินมรดก เป็นเงินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกระดับก็จะมีการติดต่อเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการให้มาแอบอ้างเป็นทนายความอีกคนหนึ่งชื่อว่า โคลลิน โจนส์ ระบุว่า จบจากกฎหมายจากประเทศอังกฤษไปคุยกับ น.ส.ชมานันทน์
ผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นนายโจนส์ จะไปอ้างกับ น.ส.ชมานันทน์ ว่า นพ.ชางอยู่อัฟกานิสถาน เน็ตไม่ค่อยจะดี แต่ย้ำว่ามีเงินจะโอนให้
“ตอนที่ฝ่ายเหยื่อคือ น.ส.ชมานันทน์ เริ่มที่จะมีความรักกับบุคคลมิจฉาชีพใช้แอบอ้างแล้ว มิจฉาชีพก็อ้างว่าเดี๋ยวจะโอนเงินค่ามรดกมาให้ แล้วหลังจากฉันเกษียณจะย้ายมาอยู่ที่ไทย แล้วก็จะไปซื้อบ้าน ซึ่งตรงนี้ น.ส.ชมานันทน์เลยไปซื้อบ้านมา จากนั้นเพื่อความสบายใจ ฉันจะโอนเงิน 50 ล้านมาให้คุณถือไว้เลย ซึ่งตรงนี้คนร้ายก็จะส่งเว็บฟิชชิ่ง หรือเว็บปลอม ๆ เพื่อหลอกว่ามีการโอนเงินแล้ว ชมานันทน์ก็ยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางระบุ
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวอีกว่า ส่วนของนายโจนส์ ก็จะแอบอ้างด้วยการส่งเอกสารปลอมที่บอกว่ามาจากประเทศอังกฤษ โดยในเอกสารปลอมนั้นอ้างว่าพ่อของ นพ.ชางนั้นเสียชีวิตแล้ว และก็ยืนยันด้วยว่าผู้เป็นพ่อนั้นมีทรัพย์สินและมรดกอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือไปยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าฝั่งของ น.ส.ชมานันทน์จะอ้างไปว่ามันจะต้องมีค่าภาษี ค่าดำนินการต่าง ๆ นานา ซึ่งแม้ว่า น.ส.ชมานันทน์จะมีความรู้ด้านการเงิน แต่ทางด้านของมิจฉาชีพเขาก็มีความสามารถ เข้าใจในค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้หมดเช่นกัน
@ตัวละครและบัญชีธนาคารที่เพิ่มขึ้น
พอถึงขั้นตอนนี้ กลุ่มมิจฉาชีพ ก็มีการเพิ่มตัวละครเพิ่มมาอีกคนหนึ่งชื่อว่า แมทธิวส์ แอนเดรียส์ โดยอ้างว่า นายแอนเดรียส์นั้น เป็นผู้จัดการมรดก ทำงานอยู่ที่ธนาคาร Reyl (รีล) ในประเทศอังกฤษ และยังเป็นเพื่อนกับพ่อของ นพ.ชาง ซึ่งนายแอนเดรียส์ก็จะเป็นอีกคนที่มาติดต่อกับ น.ส.ชมานันทน์ว่า การนำเงินออกมามันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย
“ตัวละครที่ผมพูดมาทั้งหมด พวกนี้ก็รวมหัวกัน เป็นชาวไนจีเรียหมดเลย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เขาสามารถจะเข้าถึงระบบธนาคารที่ประเทศอังกฤษได้ เพราะว่าเขามีเครือข่ายอยู่นั้นด้วย สมมติอย่างที่ผมบอกว่าผมบอกเพื่อนร่วมเครือข่ายว่าช่วยหาบัญชีไทยให้หน่อย เพื่อนร่วมเครือข่ายเขาก็จะหาบัญชีมาให้เพื่อโอน โดยแลกกับค่าตอบแทนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่โอนมาผ่านบัญชีที่หามาให้ แต่ถ้าผมจะเอาบัญชีธนาคารของประเทศสิงคโปร์ แล้วเพื่อนร่วมเครือข่ายของผมไม่มี เพื่อนร่วมเครือข่ายของผมก็จะไปหาผู้ร่วมเครือข่ายเป็นบุคคลที่สาม เขาก็จะขอส่วนแบ่งเพิ่มอีก ซึ่งตรงนี้ทางผมก็ยอมเพราะถือว่าไม่ได้เสียอะไรเลย แค่หลอกแล้วให้ผู้ร่วมเครือข่ายหาบัญชีมาให้” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว และย้ำว่า ว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้มีมีการแตกเครือข่ายและมีบัญชีม้าอยู่ทั่วโลก พร้อมกับมีผู้กำกับหรือผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังว่าสตอรี่ต่อไปจะเป็นอย่างไร
กลุ่มมิจฉาชีพไนจีเรียได้ปลอมแปลงบุคคลในหลายระดับชั้น รวมไปถึงปลอมภาพ นพ.แอนดรูว์ ชาง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง น.ส.ชมานันทน์ (ขอปกปิดรูป น.ส.ชมานันทน์ กับนายศักดิ์ชัย บุญสุยาผู้ร่วมเซ็นเบิกเงินอีกรายที่กำลังอยู่ระหว่างสู้คดี)
@ทำการบ้าน ศึกษาพฤติกรรมเหยื่อ เพื่อขยายวงเงินในการหลอกลวง
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ยังระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาที่กลุ่มมิจฉาชีพได้รู้จัก น.ส.ชมานันทน์ สามเดือนแรก ก็มีการศึกษาพฤติกรรมด้วยว่าเหยื่อนั้นมีความสามารถในการโอนเงินเท่าไรต่อครั้งต่อวัน
ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้กลุ่มมิจฉาชีพพอทราบตำแหน่งหน้าที่การงานของ น.ส.ชมานันทน์ กลุ่มมิจฉาชีพก็เลยหลอก น.ส.ชมานันทน์เพิ่มเติมโดยใช้คำพูดประมาณว่า
“Oh My Love ฉันเพิ่งเจอว่านอกจากเงิน 50 ล้านแล้ว ฉันมีมากกว่านั้นนะ พ่อฉันมีเงิน 500 ล้าน ทาง น.ส.ชมานันทน์ก็ยังยึกยักอยู่ พอจังหวะยึกยัก กลุ่มมิจฉาชีพก็จะหลอกว่าเงินมาถึงมาเลเซียแล้ว ตอนนี้โอนเงิน ที่รักเชื่อฉันนะ แล้วกลุ่มมิจฉาชีพก็สร้างเว็บฟิชชิ่งขึ้นมาอีกและก็อาจจะมีการปลอมแปลงเว็บของธนาคารบางแห่งเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ”
เครือข่ายการโอนเงินในคดีที่เกี่ยวข้องใน 17 ประเทศ ซึ่งความเสียหายอาจจะถึง 8.1 พันล้านบาท
@เมียเช่ากลุ่มมิจฉาชีพไนจีเรียก็เป็นผู้ได้ประโยชน์
เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าวต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้ผลประโยชน์จากมิจฉาชีพชาวไนจีเรียพวกนี้ก็คือผู้หญิงไทยที่เป็นเมียเช่า แต่ว่ากลุ่มชาวไนจีเรียเหล่านี้นั้นค่อนข้างจะงกเงินมาก ดังนั้นเขาไม่มีทางจะแบ่งเงินให้กับเหยื่อซึ่งก็คือ น.ส.ชมานันทน์อย่างแน่นอน
“ทางบริษัทเอสซีลอร์ก็เคยคิด ผมเคยคิดว่า น.ส.ชมานันทน์นั้นอาจจะมีส่วนหรือไม่ ว่าพอโดนหลอกไปเรื่อย ๆ ตัวเองก็ยอมจะเข้าไปเป็นส่วนเดียวกับขบวนการเครือข่ายกลุ่มมิจฉาชีพไนจีเรียพวกนี้ด้วย แต่พอเราเคลียร์เงินคนรอบตัวของทั้งชมานันทน์ ทั้งศักดิ์ชัย (นายศักดิ์ชัย บุญสุยา ซึ่งเคยปรากฎเป็นข่าวในสำนักข่าวอิศราไปแล้วว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการกับ น.ส.ชมานันทน์) ก็ไม่เจออะไรจริงๆ ไม่ว่าจะไปตามบัญชีกว่า 200 บัญชีนี้ก็ไม่เจอ"
"คือต้องบอกว่าพวกไนจีเรียพวกนี้นั้นขี้งกมาก มันจะไปให้เหยื่อที่มันหลอกเอาเงินมาด้วยและได้เงินนั้นไม่มีทาง ผมก็เลยยังฝังใจอยู่ว่าชมานันทน์นั้นน่าจะเป็นเหยื่อจริง ๆ” เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางกล่าว
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ ยังมีรายละเอียดในส่วนของการจำแนกการดำเนินคดีที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางได้แบ่งออกเป็นสามคดีด้วยกันคือ1.คดีลักทรัพย์ 2.คดีฉ้อโกง และ 3.คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในตอนต่อไป