"...เรื่องนี้ป.ป.ช.มองว่าไม่ได้เป็นเรื่องการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการไม่ดำเนินการด้านการบริหารจัดการตลาด จึงต้องส่งให้ผู้ว่าฯดำเนินการ ซึ่งส่งเรื่องไปนานเป็นปี ๆ แล้ว ให้ดำเนินการตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งตามมาตรา นี้ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงหรือ เป็นเรื่องไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ จึงต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาไปดำเนินการ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตอบมาว่าได้ดำเนินการแล้วหรือไม่อย่างไร ทั้งที่ นายกิจได้พ้นตำแหน่งไปแล้วตามวาระ จนได้นายกอบจ.คนใหม่มาแล้ว..."
วันเวลาหมุนเวียนผ่านมาครบแล้ว 3 ปี
กรณีข่าวใหญ่ในจังหวัดตรัง เมื่อ ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.ตรัง) เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนช่วงเดือนมกราคม 2563 ว่า ได้รับหนังสือจากสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ถึงผลการพิจารณาข้อกล่าวหา นายกิจ หลีกภัย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จังหวัดตรัง พี่ชายนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กับพวกว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้เช่าอาคารตลาดนัดในเขตเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ผู้เช่าไม่ได้ทำการซ่อมแซมตลาดสดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตามสัญญาเช่า ซึ่งในสัญญาเช่าระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อหมดสัญญาเช่า 3 ปี ผู้เช่าจะต้องทำการซ่อมแซมตลาดสดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และต้องส่งมอบตลาดคืน อบจ. เพื่อเปิดให้จัดหาผู้เช่าปีต่อไป แต่นายกกิจทำการต่อสัญญกับผู้เช่ารายเดิมทันที โดยไม่มีการเปิดประมูลหาผู้เช่ารายใหม่อย่างเปิดเผย
2.ปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้เช่าทำการต่อเดิมอาคารที่เช่าอันเป็นการละเมิดสัญญาเช่า จนทำให้ปิดถนนตลอดแนวไป1 ด้าน ผู้ค้าซึ่งอยู่ภายในอาคารตลาดของ อบจ.ขายของไม่ดี ประชาชนไม่เดินเข้าไปซื้อของ
3. ผู้เช่าทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรบริหารส่วนจังหวัดตรังตามสัญญาเช่า
4.ผู้เช่าไม่ได้ทำการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังในสภาพที่เรียบร้อย ตามสัญญา
และ 5. ผู้เช่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฏกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาดสดทำให้ตลาดสดดังกล่าว
โดยเบื้องต้น ป.ป.ช. จังหวัดตรัง โดยนายราม วสุรนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ระบุว่า คณะกรรมการ มีมติในข้อร้องเรียนที่ 2 กรณีปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้เช่าทำการต่อเดิมอาคารที่เช่าอันเป็นการละเมิดสัญญาเช่า โดยมีความเห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจตาม มาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@ ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.ตรัง)
ขณะที่ นายกิจ หลีกภัย เคยชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ยืนยันว่า "ไม่มีการปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ตามข้อร้องเรียนดังกล่าวหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นในการบริหารงานตลาดแต่อย่างใด"
@นายกิจ หลีกภัย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จังหวัดตรัง /ภาพจาก https://www.innnews.co.th/
น่าสนใจว่า ณ วันนี้ คดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไรแล้วบ้าง?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าว่า ในช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลย่านตาขาวเจ้าของพื้นที่ พร้อมอุปกรณ์รื้อถอน และรถบรรทุก เข้าทำการรื้อถอนส่วนต่อเติมอาคารของตลาดย่านตาขาวออกแล้ว มีทั้งส่วนที่ต่อเติมแบบชั่วคราวแบบใช้ผ้ายางเป็นหลังคากันแดดกันฝน และส่วนที่ต่อเติมกึ่งถาวร ลงเสาแข็งแรง มุงกระเบื้อง และติดตั้งชั้นวางสินค้า ซึ่งทั้งหมดเป็นการต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารจากเทศบาลตำบลย่านตาขาวในฐานะเจ้าพนักงาน
โดยเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งให้เทศบาลตำบลย่านขาวดำเนินการรื้อถอนอาคารในส่วนที่มีการดัดแปลงต่อเติม ที่มิได้ขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้เอง (บริเวณรอบตลาดสด อบจ.ตรัง) อาศัยอำนาจตามมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.คุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยเดิมกำหนดรื้อถอนในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
แต่ไม่สามารถดำเนินการได้
เพราะติดปัญหาผู้ค้าที่ค้าขายกันมากว่า 20 ปี ไม่ยินยอม เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่ค้าขาย จนต้องรวมตัวกันไปขอความช่วยเหลือจากนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรังคนปัจจุบันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 จนปัจจุบันก็ยังหาทางออกไม่ได้ และมีการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ค้าในส่วนที่ต้องรื้อถอนพื้นที่ ไปขายเป็นการชั่วคราวที่ตลาดนัดหน้าหมู่บ้านศรีตรัง
ขณะที่ นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวอิศราว่า การดำเนินการต่อจากนี้เมื่อรื้อออกหมดแล้ว ทางอบจ.ตรังจะลงไปดูสถานที่อีกครั้งว่าพอจะมีพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้ารายเดิมขายของได้หรือไม่มั้ยโดยไม่รุกล้ำพื้นที่จราจร แต่ตอนนี้ต้องรื้อก่อน เพราะเป็นการรื้อตามคำสั่งศาลที่ระบุว่า พ่อค้าแม่ค้าขายของไปกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ร้องเรียนว่าไม่สามารถสัญจรได้ เพราะในส่วนของตัวตลาดเป็นของอบจ.ตรัง แต่ถนนเป็นของเทศบาล
“เมื่อก่อนอาจารย์กิจ (นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง) กับ พี่วุฒิ(นายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นากเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว) ไม่ค่อยลงรอยกัน และยังมีเรื่องการเมืองอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง จนนำสู่กระบวนการฟ้องร้อง และศาลมีคำสั่งให้รื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างโดยไม่ขออนุญาต ซึ่งมีการเพิง สร้างหลังคายื่นออกไปทั้ง 4 ด้าน"
"พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องคำสั่งศาล ส่วนการบริหารจัดการตลาดสดย่านตาขาวในปัจจุบัน ทางอบจ.ตรังได้มีเจ้าหน้าที่ไปเก็บค่าเช่าพื้นที่ตลาด แต่รายได้ไม่มาก ไม่คุ้มทุน แต่เราก็ต้องทำ เพราะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลก็ไม่มีใครเอา ซึ่งว่างเว้นไม่มีผู้รับสัมปทานมานานเป็นปีแล้ว”นายบุ่นเล้งกล่าว
@ บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง
นายบุ่นเล้ง กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ทาง อบจ.ตรัง จะรื้ออาคารตลาดทิ้งทั้งหมด เพราะหากไม่รื้อจะแก้ปัญหาไม่ได้ เนื่องจากตลาดนี้สร้างผิดรูปทรง และปัญหาอีกอย่างที่พลาดตั้งแต่การออกแบบคือ ออกแบบให้มีอุโมงค์ชั้นใต้ดินเพื่อไว้จอดรถจักรยานยนต์ จอดรถเข็น ใช้เป็นที่เก็บของ แต่สภาพจริง ๆ กลายเป็นที่ขังน้ำ มีน้ำเสีย น้ำเน่า และส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้คนที่มาขายของ มาจับจ่ายตลาด ดังนั้นการก่อสร้างตลาดใหม่ ต้องสร้างให้โปร่ง มีทางเดินสะดวก เป็นตลาดที่มีมาตรฐาน สร้างให้พ่อค้า แม่ค้า ลูกค้า ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของตลาด เพราะตอนนี้คนใช้พื้นที่รอบตลาดเป็นหลัก
ด้าน นายราม วสุรนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง กล่าวกับสำนักข่าว อิศราว่า เรื่องตลาดสดย่านตาขาว ในชั้นป.ป.ช.ถือว่าจบไปแล้ว เพราะป.ป.ช.มีมติให้ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามหน้าที่ โดยส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องไปดำเนินกับอบจ.ตรังเกี่ยวกับการดำเนินการของตลาดสด
"เรื่องนี้ป.ป.ช.มองว่าไม่ได้เป็นเรื่องการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการไม่ดำเนินการด้านการบริหารจัดการตลาด จึงต้องส่งให้ผู้ว่าฯดำเนินการ ซึ่งส่งเรื่องไปนานเป็นปี ๆ แล้ว ให้ดำเนินการตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งตามมาตรา นี้ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงหรือ เป็นเรื่องไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ จึงต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาไปดำเนินการ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตอบมาว่าได้ดำเนินการแล้วหรือไม่อย่างไร ทั้งที่ นายกิจได้พ้นตำแหน่งไปแล้วตามวาระ จนได้นายกอบจ.คนใหม่มาแล้ว"
@ นายราม วสุรนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง
ขณะที่ผู้ค้ารายหนึ่ง เปิดเผยกับอิศราว่า ค้าขายในตลาดย่านตาขาวมากกว่า 40 ปี และมาขายในพื้นที่ต่อเติม 20 ปีเต็ม ซึ่งตลอดระยะเวลาก็จ่ายค่าเช่าพื้นที่มาตลอด เริ่มต้นที่ตารางเมตรละ 10 บาทต่อวัน อยู่ส่วนด้านหน้าของตลาดสดย่านตาขาว ตอนนี้ยังไม่มีการเข้ารื้อถอน แต่มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าจะรื้อถอนในเร็วๆนี้ ที่กำลังรื้ออยู่จะอยู่ในบริเวณถนนตลาด2 และ ถนนยวดประศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของเทศบาลย่านตาขาว
“รู้สึกไม่พอใจกับการเข้ารื้อถอน และให้พวกแม่ค้าตรงนี้ ประมาณ 100 ร้านค้าออกไป และให้ไปขายที่ตลาดศรีตรัง เพราะในตลาดศรีตรังตอนนี้เป็นที่โล่ง ๆ ซึ่งเทศบาลไม่ได้จัดความพร้อมอะไรให้แม่ค้าเลย ไม่มีระบบไฟฟ้า ประปา แล้วแม้ค้าจะไปขายได้อย่างไรกัน ซึ่งพ่อค้า แม่ค้า อยากให้ทั้งเทศบาลตำบลย่านตาขาว และ อบจ.ตรัง จริงใจต่อการแก้ปัญหาให้แม่ค้า ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้แม่ค้าที่เดือดร้อน ที่สำคัญความคุ้นเคยของลูกค้ากับที่ตรงนี้มีมาหลายสิบปี ทำให้พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากไม่มั่นใจในการย้ายที่ขาย”ผู้ค้ารายหนึ่งระบุ
ทั้งหมดนี้ คือ ความคืบหน้าคดีนี้ หลังวันเวลาเวียนผ่านมาครบ 3 ปีแล้ว