ทั้งนี้ผลการศึกษาวิจัยได้ให้คำแนะนำว่าการใช้วัคซีนจีน โดยเฉพาะวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคนั้น ควรจะต้องมีการฉีดเข็มบูสเตอร์ด้วยวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อาทิ วัคซีนแบบ mRNA จากบริษัทไบออนเทคของประเทศเยอรมนี หรือวัคซีนโมเดอร์นาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางด้านนักวิจัยเชื่อว่าน่าจะมีประสิทธิภาพพอที่จะรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีการใช้วัคซีนซิโนฟาร์มโดยผสมกับวัคซีนอื่นๆ ณ เวลานี้นั้นยังมีข้อมูลงานวิจัยออกมาน้อยมาก
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดหรือโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ณ เวลานี้ มีประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากก็คือเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้มีข่าวออกมาว่าประเทศจีนนั้นต้องเร่งดำเนินการพัฒนาวัคซีนของตัวเองเพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้
โดยสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ของอังกฤษได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับประเด็นวัคซีนจีนดังกล่าว ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังออกมาเตือนให้ประเทศจีนควรที่จะดำเนินการหาวัคซีนแบบอื่นๆนอกเหนือจากวัคซีนที่ผลิตในประเทศจำนวนสองรายการ เพื่อที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากมีความกังวลว่าวัคซีนที่มีอยู่นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว
โดย ณ เวลานี้ ประเทศจีนนั้นกำลังเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรงจำนวนสองประการอันเนื่องจากการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีความเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดเป็นต้นมา
ปัญหาแรกนั้นคือความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสนั้นดูจะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก ซึ่งจากข้อมูลทางการพบว่าในสัปดาห์นี้มีเพียงแค่ 57 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนครบสามโดสแล้ว และปัญหาประการที่สองพบว่าวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีนมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตจากต่างชาติ
ทั้งนี้ผลการศึกษาวิจัยได้ให้คำแนะนำว่าการใช้วัคซีนจีน โดยเฉพาะวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคนั้น ควรจะต้องมีการฉีดเข็มบูสเตอร์ด้วยวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อาทิ วัคซีนแบบ mRNA จากบริษัทไบออนเทคของประเทศเยอรมนี หรือวัคซีนโมเดอร์นาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางด้านนักวิจัยเชื่อว่าน่าจะมีประสิทธิภาพพอที่จะรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีการใช้วัคซีนซิโนฟาร์มโดยผสมกับวัคซีนอื่นๆ ณ เวลานี้นั้นยังมีข้อมูลงานวิจัยออกมาน้อยมาก
โดย นพ.เอริค โทโพล ผู้อำนวยการสถาบัน Scripps Research Translational Institute ได้กล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นยังเป็นข้อมูลที่มีความจำกัดวงอยู่ แต่ก็ได้บ่งชี้วัคซีนเชื้อตายที่ผลิตมาจากชิ้นส่วนที่ตายแล้วของไวรัสนั้นมีประสิทธิภาพที่น้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนคู่แข่งอื่นๆ และประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายดังกล่าวนั้นก็ยังกตกลงไปเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป
“วัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ มันไม่เคยมีประสิทธิภาพพุ่งไปมากกว่านี้ แต่ว่าการมาถึงของไอไมครอนก็ได้เปิดโปงปัญหาขึ้นมา” นพ.โทโพลกล่าว
ดังนั้นประเทศจีนต้องเอาชนะความลังเลที่จะอนุมัติวัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศให้ได้เสียก่อนเพื่อที่จะรับมือกับการระบาดในระลอกล่าสุดนี้ ควบคู่ไปกับการทยอยแจกจ่ายวัคซีนบูสเตอร์ที่ผลิตในประเทศอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากประเทศจีนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าประเทศจีนจะต้องใช้มาตรการคุมเข้มที่มีความเข้มงวดมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นมาก
จากผลการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ถูกตีพิมพ์เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่ได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคที่ชื่อว่าโคโรนาแวคจำนวนสองโดส มีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโควิดได้มากกว่าสามเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคจำนวนสองโดส
ข้อมูลการศึกษาซึ่งยังไม่ได้มีการทบทวนงานวิจัยนั้นยังได้รวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในโดสสามของทั้งสองประเภทพบว่าทั้งสองอย่างนั้นให้ระดับการป้องกันที่สูงมากในแง่ของการป้องการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด
อย่างไรก็ตามทางบริษัทซิโนแวคนยังไม่ให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับงานวิจัยนี้
อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยเปรียบเทียบกันด้วยจำนวนโดสวัคซีนระหว่างวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนไฟเซอร์ตั้งแต่ 1-3 โดส (สีฟ้าอ่อนซิโนแวค และสีน้ำเงินไฟเซอร์)
ขณะที่ นพ.เบน คาวลิ่ง นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่าวัคซีนจีนในโดสที่สามนั้นควรจะมองว่าเป็นการบรรลุคอร์สวัคซีนเบื้องต้นมากกว่าจะมองว่าเป็นบูสเตอร์โดส
“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับรู้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำว่าต้องฉีดวัคซีนเชื้อตายเป็นจำนวนสามโดส เพราะสำหรับผู้สูงอายุ พวกเขารู้ดีว่าสองนั้นไม่เพียงพอ” นพ.คาวลิ่งกล่าว
โดยประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกงนั้นยังได้ระบุด้วยว่ามันเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันซึ่งได้จากวัคซีนจำนวนสามโดสจะอยู่ได้นานเท่าไร ซึ่งทางด้านของ นพ. จิน ตง-หยานนักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยอีกรายได้กล่าวว่าหลายคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนในโดสสามตามที่ระบุในงานวิจัยนั้น เป็นการฉีดวัคซีนในช่วงก่อนที่จะฮ่องกงจะเผชิญกับระลอกของการระบาดของไวรัสในปีนี้ ดังนั้นงานวิจัยจึงไม่ได้ตอบโจทย์ว่าโคโรนาแวคจะมีประสิทธิภาพกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่
ทั้งนี้ข้อกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วนั้นได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ออกมาแนะนำว่าประเทศที่พึ่งพาวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งประเทศจีนได้ส่งออกวัคซีนเชื้อตายที่ว่านี้ไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเป็นจำนวนหลายประเทศ ภายใต้นโยบายการทูตวัคซีนของประเทศจีน ประเทศเหล่านี้นั้นควรที่จะพิจารณาจัดหาวัคซีนบูสเตอร์ที่เป็นวัคซีนประเภทอื่นๆประกอบกันด้วย
ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศบราซิล มีหลักฐานการทดลองที่เก็บรวบรวมได้นับตั้งแต่เดือน ก.ย.- มี.ค. นั้นพบว่าการใช้วัคซีนโคโรนาแวคเป็นวัคซีนบูสเตอร์นั้นให้การภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมที่จำกัดมาก แต่ถ้าหากเป็นบูสเตอร์ด้วยวัคซีนจากไฟเซอร์แล้วจะให้ภูมิคุ้มกันต่อการป่วยรุนแรงได้อยู่ที่ระยะเวลาประมาณสามเดือน
ส่วนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยลก็ได้ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น โดยระบุว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายจำนวนสองโดสนั้นอาจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการวัคซีนบูสเตอร์ที่เป็นวัคซีน mRNA อีกจำนวนสองโดส
ข้อมูลเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนในกลุ่มผุ้สูงอายุระหว่างกรุงปักกิ่ง,นครเซี่ยงไฮ้ และประเทศจีนทั้งหมด โดยสีแดงเป็นเปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส สีฟ้าสองโดสและสีน้ำเงินสามโดส
พญ.อากิโกะ อิวาซากิ ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลและยังเป็นผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่าวัคซีนเชื้อตายนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากพอ จากระบบภูมิคุ้มกันของทีเซลล์ ที่มีชื่อว่า CD8 หรือก็คือหมายความว่าภูมิคุ้มกันระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
“ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวนสองโดสมีความจำเป็นที่จะได้รับวัคซีน mRNA อีกจำนวนสองโดสเพื่อที่จะทำให้เกิดจำนวนแอนติบอดี (สารภูมิคุ้มกัน) ที่เพียงพอและคล้ายคลึงกับการฉีดวัคซีนแบบ mRNA จำนวนสามโดส” พญ.อิวาซากิกล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลบริษัทวิเคราะห์ Airfinity พบว่ามีหลายประเทศที่ได้ดำเนินการฉีดบูสเตอร์ด้วยวัคซีนชนิดอื่นๆหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว ซึ่งประเทศอินโดนีเซีย, ปากีสถาน และบราซิล ถือว่าประเทศรายใหญ่ที่สุดที่ได้รับวัคซีนจีนเข้ามา แต่ว่าประเทศทั้งหมดที่ว่ามานี้ยังคงดำเนินการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ได้เป็นจำนวนที่น้อยอยู่
ข้อมูลการฉีดวัคซีนซิโนแวคในแต่ละประเทศ โดยแบ่งออกเป็นการใช้วัคซีนตั้งแต่โดส 1-3 ซึ่งประเทศไทยพบว่ามีการใช้วัคซีนซิโนแวคในโดสหนึ่งอยู่ที่ 32.9 ล้านโดส โดสสองอยู่ที่ 28 ล้านโดส และโดสสามอยู่ที่ 9.2 ล้านโดส
โดย นพ.จูลิโอ โครดา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่สถาบันวิจัยชีววิทยาศาสตร์ Fiocruz ประเทศบราซิลได้กล่าวว่าประเทศละตินอเมริกาส่วนมากนั้นก็ได้รับคำแนะนำเช่นเดียวกันว่าให้จัดหาวัคซีนประเภทอื่นนอกเหนือจากเชื้อตาย โดยเฉพาะต่อกรณีที่ต้องฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ
แต่ นพ.โครดาก็ได้กล่าวด้วยเช่นกันว่าในบางประเทศนั้นประสบกับปัญหาความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากว่าขาดการเข้าถึงวัคซีนในประเภทอื่นๆที่จะมาใช้แทนวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งประเทศที่ว่ามานี้นั้นยังเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งในการรับวัคซีนในอัตราส่วนที่น้อยด้วยเช่นกันเมื่อเทียบกับประเทศที่เหลือบนโลก
อนึ่ง มีข้อมูลว่าก่อนที่บริษัทไบออนเทคของเยอรมนีจะได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ พบว่าบริษัทไบออนเทคนั้นยังได้มีการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัทจีนที่ชื่อว่าฝอซันฟาร์มา ในเดือน มี.ค. 2563 เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนประเภท mRNA เอาไว้ใช้ในประเทศจีน ทว่าจนถึงบัดนี้ เป็นระยะเวลาสองปีกว่าแล้ว ประเทศจีนก็ยังไม่มีการอนุมัติวัคซีนจากบริษัทไบออนเทคเพื่อใช้ในประเทศแต่อย่างใด
โดยตรงนี้ นพ.จินกล่าววท่าทางการจีนควรจะมีการอนุมัติวัคซีนดังกล่าว อย่างเร่งด่วนที่สุด
นอกเหนือจากกรณีฝอซันฟาร์มาแล้วยังพบว่ามีบริษัทจีนอื่นๆที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีน mRNA ของตัวเองด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นบริษัทคันซิโน ไบโอโลจิกส์ ซึ่งไม่นานนี้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทดลองวัคซีน mRNA ของตัวเองในประเทศ ขณะที่รัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์มก็ได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเองด้วยเช่นกัน
แต่ นพ.จินกล่าวว่าก็ยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีน mRNA ที่กำลังพัฒนาดังกล่าวนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งการทำงานของวัคซีน mRNA แท้จริงแล้วมีความเรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะใช้แค่รหัสพันธุกรรมเพื่อสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่ายกายจดจำโปรตีนหนามของไวรัส แต่ว่าก็มีหลายกรณีเกี่ยวกับนวัตกรรมซึ่งได้รับสิทธิบัตรอันอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการฉีดวัคซีนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของวัคซีนเคียวแวค ซึ่งเป็นวัคซีนแบบ mRNA รุ่นแรกๆ ที่ถูกคิดค้นโดยบริษัทจากเยอรมนี ซึ่งมีรายงานว่าในช่วงปีที่ผ่านมานั้นบริษัทได้ยกเลิกการพัฒนาวัคซีนนี้ไปแล้ว อันเนื่องมาจากอัตราประสิทธิภพที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับวัคซีนแบบ mRNA อื่นๆที่ครองตลาดอยู่
ส่วนที่ประเทศจีนก็ประสบปัญหาเช่นกัน เมื่อพบว่าผลการศึกษาในช่วงแรกแสดงให้เห็นว่าวัคซีนแบบ mRNA ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท ซูโจว อาโบเจน ไบโอไซแอนซ์ นั้นไม่สามารถผลิตแอนติบอดีให้เพียงพอต่อการรับมือไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้
ทางด้านของ นพ.ไบรอัน หยาง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของกลุ่มวิจัย Informa ได้ออกมากล่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ว่าแสดงให้เห็นว่าประเทศจีนได้พยายามผลักดันอย่างหนักสำหรับการผลิตวัคซีน ในประเทศของตัวเอง แต่ในว่าการผลักดันอย่างหนักนั้นไม่ได้หมายความว่าวัคซีน mRNA จะประสบความสำเร็จเสมอไป
“จีนมักจะเชื่อว่าถ้าหากเอาเงินใส่ลงไปมากพอ และมีความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม คุณก็สามารถทำให้มันสำเร็จได้ แต่กรณีวัคซีน mRNA จะต้องใช้ความรู้ที่สะสมไว้มากมายประกอบกันด้วย” นพ.หยางกล่าว