"...ภายในสํานักงานซึ่งมีอยู่ห้องเดียวมีภาพถ่ายจําเลยขนาดใหญ่สองภาพเป็นภาพของจําเลยแต่งชุดปกติขาวเต็มยศภาพหนึ่ง และภาพของจําเลยและภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการเช่นเดียวกัน แต่งชุดปกติขาวเต็มยศอีกภาพหนึ่งขนาดเท่ากันติดไว้บริเวณผนังภายในห้อง ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวปกติเป็นภาพส่วนบุคคลที่จะติดไว้ภายในบ้านของบุคคลเจ้าของภาพ ไม่ใช่ภาพที่จะนําไปติดไว้ ณ สถานที่อื่นใดนอกจากบ้านของตนเอง และภาพถ่ายดังกล่าวนี้มิใช่ภาพที่จะมอบให้แก่บุคคลใด ๆ เป็นที่ระลึกหรือจะด้วยเหตุใดก็ตามโดยเฉพาะมิใช่บุคคลในครอบครัว..."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลมาเสนอไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษากลับ ตัดสินลงโทษ นายสมศักดิ์ จันทกุล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์ โดยให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคดีนี้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพิ่งอ่านคำพิพากษา เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยคดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมศักดิ์ จันทกุล เป็นจำเลย
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตําแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อันเป็นตุลาการที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจักต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีและจริยธรรมของตุลาการ จักต้องรักษาความลับของทางราชการมิให้รั่วไหลและจักต้องไม่เปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะล่วงความลับนั้น จักต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งของตนเองแสวงหาประโยชน์อันมิชอบตามกฎหมาย จักต้องไม่รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลใดเกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ ทั้งนี้ ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกําหนดไว้ จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายโดย มีนางนนทิวาหรือ ทัชชญาหรือ อมษีรัตท์ ดาโสภาหรือสุระวิญญหรือเตชจรัสกุลหรือโรจนะรินท์ พวกของจําเลยอีกหนึ่งคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด
จําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการไม่รักษาความลับของทางราชการ ไม่ให้รั่วไหลโดยให้พวกของจําเลยดังกล่าวซึ่งเป็นภรรยาของบุคคลอื่น ซึ่งจําเลย ได้คบหาสมาคมและมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์ เกี่ยวข้องกับคดีความในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2668/2552 และคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2669/2552 ของศาลอาญา ที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ (ชาวต่างชาติ สัญชาติสวีเดน) ถูกฟ้องเป็นจําเลย และมีนางสาวจันทร์ธิมา วัชรพงศ์วณิช เป็นทนายความ ซึ่งได้ติดต่อพวกของจําเลยเกี่ยวกับการขออนุญาตปล่อยชั่วคราว และยื่นอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้ทราบความลับของทางราชการว่าจําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าว และจําเลยยินยอมให้พวกของจําเลยใช้ตําแหน่งผู้พิพากษาของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ตามกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการให้ความช่วยเหลือพวก ของจําเลย เปิดที่ทําการสํานักงานทนายความเพื่อติดต่ออันเกี่ยวกับการดําเนินอรรถคดีทั่วไปและการขอปล่อยชั่วคราวจําเลยในคดีอาญาดังกล่าว และได้ให้เจรจา กับนางสาวจันทร์ธิมา ถึงกรณีที่จําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์
จนกระทั่ง พวกของจําเลยได้เรียกและรับเงินจํานวน 3,500,000 บาท จากนางสาวจันทร์ธิมา และนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทน ในทางมิชอบในการที่จําเลยพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาดังกล่าวซึ่งได้ยื่นคําร้องต่อผู้พิพากษาศาลอาญาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
เบื้องต้นในการต่อสู้คดีนี้ นายสมศักดิ์ จันทกุล แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจําเลยรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทําสัญญาจ้างให้ประกันตัวจํานวน 3,500,000 บาท ไม่มีพยานยืนยันว่าผู้พิพากษาที่เป็นที่ปรึกษาให้นางนนทิวาและสํานักงานกฎหมายออลสตาร์คือจําเลย คำให้การของพยาน ไม่น่าเชื่อถือ เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อกลั่นแกล้งจําเลย การจ่ายสำนวน ทั้งสองคดีให้จําเลยพิจารณาสั่งประกันนั้นเป็นอํานาจของผู้บริหาร จําเลยมิได้เกี่ยวข้องหรือดําเนินการเพื่อให้ได้สํานวนมา การสั่งประกันทั้งสองคดีเป็น ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลย ทั้งเป็นคดีที่จะสามารถให้ประกันตัวได้ ไม่มีข้อห้าม และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ มายืนยันว่าจําเลยได้รับผลประโยชน์ โดยมิชอบจากการสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคดีดังกล่าว
- คุ้ย “เรื่องลับๆของท่านผู้พิพากษา” จุดเริ่มต้นมติลงโทษบิ๊กตุลาการ 7 ราย
- คดีประวัติศาสตร์ คุก 5 ปี อดีต พ.ศาลอุทธรณ์ คดีชู้สาว-เรียกเงิน 3.5 ล.แลกปล่อยตัวจำเลย
ต่อไปนี้ เป็นความเห็นของศาลอุทธรณ์ ในการพิจารณาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลย รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ นางนนทิวา ตัวละครสำคัญในคดีนี้
โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นและคณะกรรมการสอบสวนวินัย ที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งตลอดจนคณะอนุกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการปป.ช. แต่งตั้ง
ล้วนแต่เห็นว่า จําเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางนนทิวา ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย พ.
นางนนทิวาเป็นผู้เปิดสํานักงานกฎหมายออลสตาร์ที่อู่ซ่อมรถยนต์โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนต่อสภาทนายความ และไม่มีทนายความประจําในสํานักงาน รวมทั้งนางนนทิวาเองไม่มีวุฒิการศึกษาทางกฎหมาย
ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จําเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางนนทิวาจริง เช่นเดียวกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยและคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
จําเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคําวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว
ทั้งคําแก้อุทธรณ์ของจําเลยก็มิได้โต้แย้งในประเด็นดังกล่าวนี้
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จําเลยกับนางนนทิวามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันจริง ในขณะที่นางนนทิวาที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย พ.
ปัญหาที่ว่า นางนนทิวา มอบหมายให้นายนัฐวุฒิ ทําบันทึกข้อตกลง กับนางสาวจันทร์ธิมา วัชรพงศ์วณิช เพื่อดําเนินการช่วยเหลือให้นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ จําเลยในคดีอาญาของศาลอาญาได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยมีเงินค่าตอบแทนจํานวน 3,500,000 บาท นั้น จําเลยเข้าไปรับรู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนในการช่วยเหลือให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่
เห็นว่าการกระทําความผิดในทางอาญาหลาย ๆ ข้อหายากที่จะหาประจักษ์พยานหรือหลักฐานที่จะยืนยันชี้ชัดว่าผู้นั้นกระทําความผิดในข้อหานั้น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นความผิดในส่วนของการปลอมแปลงเอกสาร ความผิดเกี่ยวกับการข่มขืนกระทําชำเราหรือการกระทําอนาจาร เพราะเป็นเรื่องที่กระทําในที่ลับ มีคนรู้เห็นก็เพียงผู้กระทําและผู้ถูก กระทําเท่านั้น
การกระทําความผิดเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนก็เช่นเดียวกัน ย่อมยากที่จะหาประจักษ์พยานหรือ เอกสารการรับเงินที่ได้มาจากการทุจริตมายืนยันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีเงิน ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจํานวนมาก
ผู้กระทําความผิดไม่ว่าผู้ที่เป็นฝ่ายให้หรือ เป็นฝ่ายรับก็ตาม ย่อมต้องไม่ให้มีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําดังกล่าวมาผูกมัดตนเอง ซึ่งมักจะส่งมอบกันเป็นเงินสด ไม่มีผู้กระทําความผิดที่จะใช้วิธีฝากหรือโอนเงิน ผ่านบัญชีธนาคารเพราะง่ายแก่การตรวจสอบ และส่วนใหญ่จะใช้บุคคลอื่น ๆ เป็นตัวแทนออกหน้าเพื่อมิให้เชื่อมโยงไปถึงผู้กระทําความผิด จึงเป็นการยากที่จะมีพยานหลักฐานประจักษ์พยานมายืนยันการกระทําความผิดได้
ดังนั้น การกระทําความผิดในลักษณะเช่นนี้จึงต้องอาศัยพฤติการณ์ การกระทําของผู้กระทําความผิด บุคคลที่เกี่ยวข้องพฤติการณ์แวดล้อมว่ามีความเชื่อมโยงกัน ถึงขนาดที่จะเชื่อได้หรือมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังว่าบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นผู้กระทําความผิด แม้จะไม่มีประจักษ์พยานหรือเอกสารมายืนยันก็สามารถรับฟังว่าบุคคลดังกล่าวนั้นกระทําความผิดตามฟ้องจริงได้
ในส่วนของจําเลยนั้น ขณะเกิดเหตุรับราชการในตําแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นข้าราชการตุลาการ ชั้นผู้ใหญ่ เคยเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ย่อมต้องรู้และเคร่งครัดในประมวลจริยธรรมของตุลาการ โดยเฉพาะของการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับอรรถคดีของสํานักงานทนายความ สํานักงานกฎหมาย การเอาตนเองเข้าไป เป็นที่ปรึกษาให้ความเห็นทางอรรถคดีแก่ผู้ที่ทําธุรกิจด้านคดีความ หรือยินยอม ให้บุคคลดังกล่าวนั้นเอาภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หรือตําแหน่งหน้าที่การงานของตนเองแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ คดีความ ผลประโยชน์ ที่จะได้รับจากการที่บุคคลภายนอกเกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น หรือมั่นใจว่าคดีความของตนเองจะเป็นฝ่ายชนะคดี ได้รับการดูแลทางด้านคดีความอย่างดี หากเป็นจําเลยในคดีอาญาจะได้รับอิสรภาพไม่ว่าจากการได้รับการประกันตัวหรือ จากการที่ศาลพิพากษาให้ยกฟ้อง
สิ่งเหล่านี้บุคคลที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการย่อมทราบดี และพึงปฏิบัตินับแต่วันที่เข้ารับราชการในฐานะผู้พิพากษาจนเกษียณอายุราชการ
ข้อเท็จจริงที่ได้จากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ความว่า ภายในอู่ซ่อมรถยนต์ออลสตาร์ มีการเปิดเป็นสํานักงานกฎหมายใช้ชื่อว่าสํานักงานกฏหมายออลสตาร์ มีป้ายติดไว้บริเวณกระจก หน้าห้องอย่างชัดเจนตามที่ปรากฏในภาพถ่ายที่มีการนำส่งเข้าสำนวนการไต่สวน โดยสํานักงานกฎหมายออลสตาร์แห่งนี้ มีนางนนทิวา เป็นเจ้าของผู้ดูแล โดยที่นางนนทิวาเองไม่ได้เป็นทนายความ ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านกฎหมาย และไม่ปรากฎว่าสํานักงานทนายความดังกล่าวมีทนายความประจําสํานักงานแต่ประการใด
ภายในสํานักงานซึ่งมีอยู่ห้องเดียวมีภาพถ่ายจําเลยขนาดใหญ่สองภาพเป็นภาพของจําเลยแต่งชุดปกติขาวเต็มยศภาพหนึ่ง และภาพของจําเลยและภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการเช่นเดียวกันแต่งชุดปกติขาวเต็มยศอีกภาพหนึ่งขนาดเท่ากันติดไว้บริเวณผนังภายในห้อง
ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวปกติเป็นภาพส่วนบุคคลที่จะติดไว้ภายในบ้านของบุคคลเจ้าของภาพ ไม่ใช่ภาพที่จะนําไปติดไว้ ณ สถานที่อื่นใดนอกจากบ้านของตนเอง และภาพถ่ายดังกล่าวนี้มิใช่ภาพที่จะมอบให้แก่บุคคลใด ๆ เป็นที่ระลึกหรือจะด้วยเหตุใดก็ตามโดยเฉพาะมิใช่บุคคลในครอบครัว
ดังนั้น ที่จําเลยเบิกความต่อศาลว่า เคยให้ภาพถ่ายขนาดเล็กแก่นางนนทิวาไปและเข้าใจว่า นางนนทิวาเอาไปขยายแล้วนําไปติดที่สํานักงานนั้น
ย่อมไม่มีเหตุมีผลที่จะให้รับฟังได้
เมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่จําเลยและนางนนทิวามีความสัมพันธฉันชู้สาวกันแล้ว
ย่อมมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่า จําเลยมอบภาพถ่ายดังกล่าวให้นางนนทิวานําไปติดไว้ ที่สํานักงานกฎหมายออลสตาร์ เพราะมิฉะนั้นนางนนทิวาคงไม่กล้าที่จะนําภาพดังกล่าวไปติดไว้เอง และเมื่อพิจารณาข้อมูลส่วนตัวของนางนนทิวาแล้วไม่ปรากฏแน่ชัดว่านางนนทิวาจบการศึกษาในระดับใด ประกอบอาชีพการงานใดขณะอยู่กินกับนาย พ. นอกจากกิจการอู่ซ่อมรถยนต์ ทั้งนางนนทิวาเองไม่ใช่บุคคล ที่มีชื่อเสียง ไม่มีธุรกิจใหญ่โตหรือเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป
แต่ปรากฏว่านางนนทิวา ได้มีการทําสัญญาจ้างว่าความหรืออรรถคดีความกับบุคคลหลายคนตั้งแต่ปี 2551 ในนามของสํานักงานกฏหมายออลสตาร์โดยนางนนทิวาเอง ทั้งที่ตนเองไม่ได้เป็นทนายความ หรือมีความรู้ความสามารถทางฎหมาย โดยมีค่าตอบแทนในการดําเนินการเป็นจํานวนเรื่องละหลายล้านบาท
เช่น สัญญาที่ทํากับนางจรรยา เบญญาธนศรีศักดิ์ มารดาของนายเกรียงไกร เบญญาธนศรีศักดิ์ จําเลยในคดียาเสพติด ของศาลอาญา โดยในสัญญาดังกล่าวมีระบุเงื่อนไขการดําเนินงานในการทําเรื่องตัวในชั้นอุทธรณ์ของศาลอุทธรณ์เป็นเงินสูงถึง 7,000,000 บาท โดย ชําระให้ในวันทําสัญญาคือวันที่ 6 สิงหาคม 2551 จํานวน 3,500,000 บาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้อีก 3,500,000 บาท หลังจากศาลอนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความรู้ความสามรถของนางนนทิวาทั้งสิ้น
โดยที่ทางนําสืบของจําเลยเองหรือจากการให้ถ้อยคําของพยานรวมทั้งนางนนทิวาเองก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีทนายความคนใดที่เป็นผู้เข้ามาดําเนินการให้นางนนทิวา หรือผู้เข้ามาทําสัญญาดังกล่าวมีความเชื่อมั่น ความมั่นใจในตัวนางนนทิวาอย่างไร ถึงยินยอมทําสัญญาด้วยเงินจํานวนหลายล้านบาทเช่นนี้ และเมื่อพิจารณาดูเอกสารที่ได้จากการสอบสวนเป็นสมุดบันทึกประจําวันของนางนนทิวา ของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่เป็นข้อความบันทึกเกี่ยวกับการรับเงินในคดีต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับเงินจํานวนมากจากนายเควิน ซึ่งตามข้อมูลที่ปรากฏในการไต่สวนตรงกับชื่อเควินหรือชัช ลาภวิสุทธิสินในคดีปั่นหุ้นของกลุ่มบริษัทปิคนิคแก็สที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ในขณะนั้น
ในปี 2551 -2552 ในสมุดบันทึกดังกล่าว ยังมีข้อความการนัดหมายกับบุคคลที่ระบุว่าชื่อ "ท่านสมศักดิ์” กับ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือระบุว่ารับเงินค่าคดีแล้วจ่ายให้ “ท่าน” หลายครั้ง
เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างนางนนทิวา กับจําเลย มีเหตุผลความเป็นมาเพียงพอให้มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยอยู่เบื้องหลังการดําเนินการของนางนนทิวาทั้งหมดในเรื่องคดีความและการติดต่อกับลูกความ
โดยที่นางนนทิวาเป็นเพียงผู้ออกหน้าดําเนินการแทนจําเลย
ทั้งหมดเป็นข้อมูลสำคัญที่อีกชุด ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาว่า จําเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จําคุก 5 ปี ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยมาก่อน
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ผลเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป