ทางด้านของ นพ.มาร์ติน ฮิบเบิร์ด จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนได้กล่าวว่าตัวเขานั้นคิดว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา นครเซี่ยงไฮ้นั้นไม่ได้ใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมเท่าที่ควรเมื่อต้องรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ
สถานการณ์โควิด-19 ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ชื่อของมหานครเซี่ยงไฮ้นั้นเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เนื่องจากมีผู้ติดโควิดเป็นจำนวนมากกว่าสองหมื่นรายต่อวันมาหลายวันติดแล้ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่มากดังกล่าวนั้นก็ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่านโยบายการคุมโควิดอย่างเข้มข้นของประเทศจีนซึ่งเคยได้ผลมาตลอดนั้น มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิดที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูงอย่างสายพันธุ์โอไมครอน
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้ทำบทวิเคราะห์ฉบับหนึ่งในชื่อว่าเกิดอะไรขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ กับการปรับเปลี่ยนแผนการรับมือโควิด-19 โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ประชาชนกว่า 25 ล้านคนในนครเซี่ยงไฮ้นั้นอยู่ภายใต้มาตรการการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น หลังจากการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
ทั้งนี้นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่นครเซี่ยงไฮ้ได้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เพราะจนถึงเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น นครเซี่ยงไฮ้ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีแนวทางผ่อนปรนต่อมาตรการโควิดมากกว่าเมืองอื่นๆ
@เกิดอะไรขึ้นในเซี่ยงไฮ้
ผู้คนในนครแห่งนี้นั้นถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน และส่วนมากทุกคนต้องสั่งอาหารและน้ำและรอให้รัฐบาลส่งของที่จำเป็นอาทิ ผัก,เนื้อและไข่
โดยมีการแชร์วิดีโอผ่านโซเชียลมีเดียหลายแห่ง แสดงให้เห็นถึงเสียงบ่นมาจากชาวเมืองที่โกรธแค้นเมื่อต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนอาหารและเวชภัณฑ์ที่ไม่เพียงพอ
นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ต้องเผชิญกับประสบการณ์การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง เพราะจนถึงเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นครแห่งนี้ก็ได้ใช้วิธีการควบคุมโรคด้วยการล็อกดาวน์เฉพาะจุดเล็กๆเท่านั้น
สำหรับคำว่าการล็อกดาวน์ในจุดเล็กๆนั้นหมายถึงว่าจะมีการล็อกดาวน์แค่เฉพาะคอมเพล็กซ์ที่อยู่อาศัย ที่ประกอบไปด้วยผู้อยู่อาศัยจำนวนหลายร้อยคนในบริเวณนั้น แทนที่จะดำเนินการล็อกดาวน์ในทั้งเมือง ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าวิธีการนี้จะได้ผลในการรับมือกับโรคระบาด
แม้กระทั่งจำนวนผู้ติดเชื้อของเมืองนี้พุ่งขึ้นถึง 1,800 ราย ในช่วงเดือน มี.ค. 2564 เซี่ยงไฮ้ก็ยังไม่ได้มีการใช้นโยบายล็อกดาวน์ทั้งเมืองแต่อย่างใด
เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของเมืองซีอาน ซึ่งมีประชากรอยู่ที่ 13 ล้านคน แต่เมื่อเมืองซีอานเผชิญกับผู้ติดเชื้อจำนวนไม่ถึงร้อยรายต่อวันในช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ก็มีการสั่งให้ปิดเมืองแห่งนี้โดยทันที
ขณะที่เมืองหยูโจวในมณฑลเหอหนานก็ได้มีการออกคำสั่งให้ล็อกดาวน์เมืองที่มีประชากรกว่า 1.1 ล้านคนให้อยู่บ้านเช่นกัน เพราะพบว่ามีผู้ติดเชื้อแค่สามราย
อัตราการติดเชื้อในนครเซี่ยงไฮ้จนถึงวันที่ 5 เม.ย.ที่มีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
แต่ในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้เริ่มจะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในวันที่ 27 มี.ค.มากกว่า 2,500 ราย
นครแห่งนี้จึงได้มีการออกคำสั่งให้ล็อกดาวน์โดยแบ่งเป็นระยะๆไป เริ่มตั้งแต่ระยะแรกที่มีการล็อกดาวน์ในเขตตะวันออก แล้วตามมาด้วยเขตตะวันตกในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น
พื้นที่ล็อกดาวน์ 2 ระยะในนครเซี่ยงไฮ้ โดยระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. (สีส้ม) และระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-5 เม.ย. (สีม่วง)
ทว่าเมื่อผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น ทางการเซี่ยงไฮ้จึงได้ละทิ้งแนวทางว่าจะเปิดเมืองต่อไป และหลังจากนั้นจึงได้มีการออกคำสั่งล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทางด้านของ นพ.มาร์ติน ฮิบเบิร์ด จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนได้กล่าวว่าตัวเขานั้นคิดว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา นครเซี่ยงไฮ้นั้นไม่ได้ใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมเท่าที่ควรเมื่อต้องรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่มีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ
“การล็อกดาวน์เฉพาะกลุ่ม ล็อกดาวน์เฉพาะคอมเพล็กซ์ที่อยู่อาศัยนั้นดูแล้วเหมือนว่าจะไม่ใช่การจำกัดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีของการแพร่เชื้อจากผู้ที่ไม่มีอาการป่วยเกิดขึ้น” นพ.ฮิบเบิร์ดกล่าว
@ทำไมเซี่ยงไฮ้ถึงแตกต่างจากส่วนที่เหลือของประเทศจีน
เหตุผลที่สำคัญก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะว่าเซี่ยงไฮ้นั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศจีนทั้งหมด และมีมูลค่าอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของการค้าของประเทศจีนทั้งหมดในช่วงปี 2561
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักข่าวท้องถิ่นไคซินก็ระบุเช่นกันว่าสนามบินในเซี่ยงไฮ้หลายแห่งนั้นมีส่วนช่วยในการจัดส่งเวชภัณฑ์และชุดพีพีอี (ชุดป้องกันการติดเชื้อ) เป็นจำนวนเกือบครึ่งของทั้งหมดที่ประเทศจีนต้องการในช่วงต้นของการระบาด
โดยข้อมูลในปี 2563 พบว่ามีเที่ยวบินขนส่งไปยังสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตงเพื่อจัดส่งสินค้าจำนวนทั้งสิ้น 3.4 ล้านตัน ซึ่งจำนวนนี้มากกว่าสินค้าที่จัดส่งไปยังสนามบินในกรุงปักกิ่ง,กว่างโจวและเซินเจิ้นรวมกันถึงกว่าหนึ่งล้านตัน
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาล็อกดาวน์สองสัปดาห์ที่ผ่านมาในมหานครใหญ่ๆอย่างเช่นกรุงปักกิ่งหรือว่านครเซี่ยงไฮ้นั้นอาจจะส่งผลทำให้จีนเสียค่าไช้จ่ายอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในแต่ละเดือน
โดยจีดีพีต่อเดือนของประเทศจีนในช่วงปี 2564 นั้นอยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 9.5 ล้านหยวน (50.03 ล้านล้านบาท) ดังนั้นถ้าหากมีการล็อกดาวน์ต่อไปแล้วก็หมายความว่าประเทศจะต้องเสียรายได้ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1.9 แสนล้านล้านหยวน (1.001 ล้านล้านบาท)
@วิธีการเหล่านี้ได้ผลหรือไม่เมื่อต้องรับมือกับโอไมครอน
นพ.ฮิบเบิร์ดกล่าวว่ามาตรการอันเข้มข้นดังกล่าวที่มีการใช้ในเซี่ยงไฮ้นั้นอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับโควิดที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูงอย่างสายพันธุ์โอไมครอนได้
เขากล่าวต่อไปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะลดผลกระทบของโควิดได้นั้นก็คือการกระตุ้นให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบางเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
โดย ณ เวลานี้ประเทศจีนมีการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 1.1 หมื่นล้านโดส และมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว
ทว่าอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปีที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดนั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่นๆ
อัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละช่วงอายุในประเทศจีน
ทำให้ ณ เวลานี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนได้ออกมากล่าวว่าการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุควรจะเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับหน่วยงานท้องถิ่น และ ณ เวลานี้ประเทศจีนได้มีการทดลองทางคลินิกสำหรับการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิดแบบ mRNA เป็นจำนวนสองโดสแล้ว
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศจีนได้พึ่งพาวัคซีนที่ผลิตในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งพบในภายหลังว่าไม่เพียงพอจะรับมือกับโควิดโอไมครอน
โดยคณะกรรมาธิการสุขภาพเคยออกมากล่าวว่า “วัคซีน ณ เวลานี้มีประสิทธิภาพในการรับมือกับโอไมครอน” แต่ว่าคำกล่าวนั้นก็ไม่ได้เจาะจงว่าครอบคลุมไปถึงวัคซีนของจีนแต่อย่างใด
@เมื่อไรจึงจะมีการผ่อนปรนล็อกดาวน์
นครเซียงไฮ้นั้นได้มีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างแล้ว โดยใช้การแบ่งเมืองออกเป็นสามโซน ประกอบด้วยโซนล็อกดาวน์,ส่วนควบคุมและโซนที่ควรเฝ้าระวัง
โดยโซนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่นั้นจะถูกกำหนดให้เป็นโซนที่ควบคุมแล้ว ถ้าหากเป็นโซนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่เกิดสองสัปดาห์จะมีการปรับระดับเป็นโรคที่เฝ้าระวัง ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในโซนที่มีผู้ติดเชื้อที่น้อยกว่าหรือว่าไม่มีผู้ติดเชื้อนั้นจะมีเสรีภาพมากกว่าในบางประการ อาทิ การได้รับอนุญาตให้ออกมาได้แค่ในบริเวณที่พักอาศัยของตัวเองได้เป็นต้น
เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-asia-china-61023811