ถ้าการตรวจหาเชื้อแบบเร็วด้วยวิธีการตรวจแบบแอนติเจนนั้นพบว่าผลเป็นบวก ผลการตรวจดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากผลไม่ได้เป็นบวก และคุณยังคงมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโควิด คุณควรที่จะจัดการกับตัวเองและระวังตัวกับผู้อื่น เสมือนว่าคุณนั้นมีเชื้อโควิดแล้ว
สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่ส่งผลทำให้ประเทศไทยนั้นมีผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ที่จำนวนเฉลี่ยประมาณ 23,000 รายต่อวัน และทำให้มีผู้ติดเสียชีวิตมากกว่า 100 ราย เป็นระยะเวลาสองวันติดต่อกันแล้ว
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ไปสืบค้นรายงานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดที่ต่างประเทศ ก็พบบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากประเทศแคนาดา ที่ระบุว่าสาเหตุหนึ่งของการระบาดที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้นอาจเป็นเพราะศักยภาพของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้การตรวจหาเชื้อแบบ ATK ไม่สามารถตรวจพบเจอการติดเชื้อได้ เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อหลายคนนั้นเป็นผู้ที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว นั่นก็อาจจะทำให้เกิดกรณีที่ผู้ติดเชื้อซึ่งไม่แสดงอาการนั้นกลายเป็นพาหะของการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
โดยรายละเอียดของรายงานมีดังต่อไปนี้
ในช่วงเวลาที่ประเทศแคนาดานั้นต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นระลอกที่หก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมาระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นอาจจะมีผลตรวจแบบแอนติเจนอย่างเร็ว (ATK) เป็นลบได้ในช่วงไม่กี่วันแรกๆที่มีอาการของไวรัสโควิด-19
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าการฉีดวัคซีนนั้นอาจจะล้างประมาณเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ติดเชื้อไปได้อย่างรวดเร็ว
“ถ้าหากการทดสอบด้วยวิธีการแบบแอนติเจนนั้นยึดโยงกับปริมาณของไวรัสที่อยู่ในระบบหายใจส่วนบน ก็หมายความว่าคุณก็เป็นผู้ติดเชื้อไปแล้วในช่วงสองสามวันแรก” นพ.เอิร์ล รูบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและผู้อํานวยการแผนกของโรคติดเชื้อในเด็กที่โรงพยาบาลเด็กมอนทรีออลกล่าว
“แต่ว่าร่างกายคุณอาจจะปลอดจากไวรัสไปได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะว่าคุณมีแอนติบอดี (สารภูมิคุ้มกัน) ที่ดีจากการฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงหมายความว่าเมื่อมีการตรวจ แอนติเจนให้กับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปแล้วก็อาจจะทำให้มีผลตรวจที่เป็นลบได้เร็วกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน” นพ.รูบินกล่าวเสริม
นพ.รูบินกล่าวต่อไปว่าในประเด็นที่ว่าผู้ฉีดวัคซีนนั้นหายจากไวรัสได้เร็วแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่าการตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบแอนติเจนจะไม่ได้ผลสำหรับกลุ่มประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วเสมอไป
รายงานข่าวความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในประเทศแคนาดา ทำให้ประเทศแคนาดาเร่งโครงการฉีดวัคซีนในโดสที่สี่ (อ้างอิงวิดีโอจาก The National)
“การทดสอบหาเชื้อด้วยวิธีแบบแอนติเจน นั้นเป็นวิธีการตรวจหาเชื้อที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมันก็เป็นวิธีที่เร็ว คุณไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านตัวเอง ดังนั้นมันจึงมีประโยชน์อยู่หลายประการ แต่ผมคิดว่าผู้คนต้องเข้าใจด้วยว่ามันก็มีข้อจำกัดเช่นกันเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีนี้” นพ.รูบินกล่าว
นพ.รูบินได้เน้นย้ำว่าจากกรณีเรื่องปัญหาการตรวจแอนติเจนดังกล่าว ทำให้มีข้อถกเถียงกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกันว่าการตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธีการตรวจแบบแอนติเจนนั้นนั้นจะไวพอไหม เมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพเช่นโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
“ยังเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการเปรียบเทียบในแบบเรียลไทม์ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น การตรวจหาโควิดแบบแอนติเจนยังไม่เป็นแพร่หลายเท่ากับที่มีอยู่ ณ เวลานี้ แต่ผมเชื่อว่าการตรวจหาโควิดด้วยวิธีดังกล่าว ยังคงใช้งานได้” นพ.รูบินกล่าว
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมากลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์โควิด-19 ของออนแทรีโอ ได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาก่อนการตีพิมพ์ ระบุว่าพบข้อบ่งชี้ว่าการตรวจหาเชื้อแบบแอนติเจนแบบรวดเร็วเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะมีอัตราความไวอยู่ที่ประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่มีอัตราความไวอยู่ที่ 91 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศแคนาดา ได้เผยแพร่บทความบนเว็บไซต์ของหน่วยงานตัวเองว่ายังไม่พบหลักฐานที่ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้นั้นจะมีศักยภาพไปกระทบต่อขีดความสามารถของวิธีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขของแคนาดา แต่อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานสาธารณสุขก็จะมีการตรวจสอบศักยภาพของวิธีการตรวจหาโควิดใหม่ๆอย่างใกล้ชิด
“ทุกวิธีการตรวจสอบเพื่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีกรณีผลการตรวจที่เป็นบวกอันเป็นเท็จ และผลการตรวจที่เป็นลบอันเป็นเท็จ” นพ.ทิม สลีย์ นักระบาดวิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณในคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไรเออร์สันกล่าว
“ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยสองวันก่อนที่กระบวนการตรวจหาเชื้อแบบเร็วนั้นจะสามารถตรวจจับหาแอนติเจนได้ เพราะเราต้องระลึกไว้ว่าการตรวจหาเชื้อแบบแอนติเจนนั้นจะเป็นการตรวจหาโปรตีน และมันต้องมีจำนวนของโปรตีนของไวรัสที่เพียงพอด้วย” นพ.สลีย์กล่าว
ข้อมูลการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,481 ราย เสียชีวิตใหม่ 15 ราย
นพ.สลีย์กล่าวต่อไปว่าในช่วงวันที่สามหลังจากการติดเชื้อกระบวนการตรวจหาเชื้อแบบเร็วนั้นจะสามารถตรวจจับหาแอนติเจนของไวรัสที่เริ่มมีการทวีคูณในร่างกายของเราได้
“นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงได้มีการแนะนำว่าควรจะมีการตรวจหาเชื้อแบบเร็วเป็นครั้งที่สองในช่วงเวลาประมาณหนึ่งหรือสองวันหลังจากการตรวจในครั้งแรก เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าผลตรวจนั้นเป็นลบจริงๆ” นพ.สลีย์กล่าว
นพ.สลีย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าปริมาณของภูมิคุ้มกันที่แต่ละบุคคลได้เสริมสร้างขึ้นมา,ไวรัสจากบุคคลที่ติดเชื้อจะแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้เร็วแค่ไหน และผู้ติดเชื้อจะมีการป่วยรุนแรงแค่ไหน ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าปริมาณของไวรัส (ไวรัลโหลด:viral load) ซึ่งหมายความว่าปริมาณไวรัสที่บุคคลนั้นมีในร่างกายของตัวเอง
นพ.รูบินได้กล่าวเสริมว่าการตรวจแบบแอนติเจนอย่างเร็วหรือที่เรียกว่า ATK นั้นจะมีการตรวจหาเชื้อเจอได้ไวมากถ้าหากบุคคลนั้นมีไวรัลโหลดที่สูงมาก
“การตรวจแอนติเจนนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเรียกว่าไวรัลโหลด และสิ่งที่เรียกว่าไวรัลโหลดนั้นก็เป็นสิ่งที่ระบุด้วยว่าขั้นตอนของอาการเจ็บป่วยของเรานั้นอยู่ ณ ตรงไหนแล้ว” นพ.รูบินกล่าว
อย่างไรก็ตามปัญหาที่แท้จริงจากมุมมองของนักระบาดวิทยาอย่าง นพ.สลีย์ก็คือพบข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อเป็นพาหะของไวรัสโควิด-19 จำนวนร้อยละ 40-70 นั้นพบว่าเป็นผู้ที่ไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด
“คุณไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าใครที่เดินๆอยู่นั้นเป็นผู้ที่จะมีผลไวรัสเป็นบวกบ้าง เพราะอาจจะเป็นผู้ที่นั่งอยู่ข้างๆคุณบนรถประจำทาง พวกเขาอาจจะสามารถแพร่กระจายไวรัสได้โดยทันทีเมื่อพวกเขาเปิดปากในทุกๆครั้งก็เป็นไปได้ และคุณไม่มีทางรู้เลย” นพ.สลีย์กล่าว
“นี่ทำให้เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงมาก และแน่นอน บางคนที่ผมบอกว่าไม่ได้ป่วยนั้นอาจจะสามารถพัฒนาอาการป่วยได้ในช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว และบางคนก็ไม่มีการพัฒนาของอาการป่วยเลย ซึ่งศักยภาพของไวรัสเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาและน่าปวดหัวเป็นอย่างยิ่ง” นพ.สลีย์กล่าว
นี่จึงหมายความว่าผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนั้นอาจจะไม่เคยได้รับการตรวจหาเชื้อเลยแม้แต่ครั้งเดียวเพราะพวกเขาไม่มีอาการป่วยอะไรเลย และพวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองป่วยเป็นโควิด-19 ด้วย ซึ่งถ้าหากพวกเขาไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 มันก็มักจะมีผลออกมาเป็นลบ
นพ.สลีย์กล่าวว่าดังนั้นจึงหมายความว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นจำนวนหลายครั้งเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาปลอดจากเชื้อโควิดจริงๆ
โดยจนถึง ณ วันนี้ รัฐบาลแคนาดาได้ออกมาประกาศบนเว็บไซต์ของตัวเองว่าการตรวจหาเชื้อนั้นจะอาศัยการตรวจในระดับโมเลกุลหรือตรวจแบบ PCR ที่กระทำบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก และการตรวจดังกล่าวถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทองคำสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อแบบเร็วนั้นก็ยังมีศักยภาพที่ดี เปรียบได้กับการโยนเหรียญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการตรวจนับตั้งแต่ในวันแรกๆ
“ถ้าการตรวจหาเชื้อแบบเร็วด้วยวิธีการตรวจแบบแอนติเจนนั้นพบว่าผลเป็นบวก ผลการตรวจดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากผลไม่ได้เป็นบวก และคุณยังคงมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโควิด คุณควรที่จะจัดการกับตัวเองและระวังตัวกับผู้อื่น เสมือนว่าคุณนั้นมีเชื้อโควิดแล้ว” นพ.รูบินกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://globalnews.ca/news/8742842/vaccinated-canada-covid-19-omicron-rapid-test/