“….เรื่องหนึ่งที่ควรจะพูดก่อนจบ คือ ความสัมพันธ์กับรัฐบาล ตลอด 5 ปีของการเป็นผู้ว่าการ ผมจะเลี่ยงเสมอกับคำว่า ‘อิสระ’ เพราะธนาคารกลางจะไปอิสระจากรัฐบาลกลางที่มาจากประชาชนไม่ได้ แต่ก็ต้องให้เครดิตกับผู้ว่าการคนก่อนๆ ที่พยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า Protocol ที่ชัดเจนกว่าในอดีต เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน...”
.................................
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนา ‘เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอดีตผู้ว่าการ ธปท. 6 คน เข้ามาร่วมให้มุมมองในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความท้าทายและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพื่อส่งต่อแนวคิดสู่อนาคต ดังนี้
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงปี 2540-41 กล่าวตอนหนึ่งว่า ในช่วงปี 2534 เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมาก และต่อมาปี 2536 ประเทศไทยมีนโยบายเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มที่ มีการเปิดสำนักงานวิเทศธนกิจ (BIBF) มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุน และให้นำเงินดอลลาร์สหรัฐมาปล่อยกู้ในประเทศได้ โดยมีเจตนา คือ ต้องการให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย แม้จะมีข้อดี แต่ก็สร้างผลเสียในระยะยาว เพราะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
“ในปี 2536 ช่วงนั้น มีนโยบายเปิดเสรีทางการเงินเต็มที่ มีการเปิดสำนักงานวิเทศธนกิจ (BIBF) มีการจัดตั้ง investment bank มีการเอาดอลลาร์มาปล่อยกู้ในประเทศ ซึ่งเจตนาของการทำ ก็เพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงเงินทุนง่ายขึ้น แม้มีข้อดี แต่ก็สร้างข้อเสียในระยะยาว โดยปรากฏผลในปี 2539 คือ มีการขยายสินเชื่ออย่างมากมาย และไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนผู้กู้ยืมก็ไม่ระวังความเสี่ยง เพราะคิดว่าค่าเงินบาทมั่นคง ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรง เกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ประกอบกับในช่วงปี 2534 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู โชติช่วงชัชวาล ทุกอย่างดีหมด ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง เป็นแรงกดดันต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนรัฐบาลมีการใช้จ่ายเยอะ ทำให้ขาดดุลการคลัง จึงเข้าหลัก Twin Deficits (ขาดดุลแฝด)
และเมื่อฟองสบู่แตกในปี 2540 ราคาที่ดินที่ตกอย่างรวดเร็ว ก็ไปกระทบกับหลักประกันของสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทเงินทุนทั้งระบบมีปัญหา แบงก์พาณิชย์หลายแห่งก็กระทบไปด้วย ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศตกต่ำ เงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งกดดันค่าเงินบาทอย่างแรง
จุดเริ่มต้นของการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรอบใหม่ในปี 2539-40 ทำให้แบงก์ชาติต้องเข้าไปรับมือ 2 ด้าน คือ เศรษฐกิจทรุด และสถาบันการเงินอ่อนแอ ซึ่งเป็นความร้ายแรงขั้นวิกฤติ และยังเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘วงจรอุบาทว์’
เพราะเมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ แบงก์พาณิชย์ก็อ่อนแอไปด้วย พอแบงก์พาณิชย์อ่อนแอ การปล่อยสินเชื่อก็ทำงานได้น้อยลง เศรษฐกิจก็ทรุด นักลงทุนถอนเงินออกไป เพราะไม่เชื่อมั่นในประเทศในประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย หรือเกาหลีใต้ กลายเป็นวิกฤติลามไปทั่วเอเชีย” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
@ปัญหาอยู่ตรงไหนแก้ให้รุนแรง-ที่รับไม่ได้ต้อง ‘ยุติ’
สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนั้นแบงก์ชาติมองว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกิดจาก Excess Demand (ภาวะที่มีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน) จึงต้องเข้าไปเข้มงวดในเรื่องการเงิน โดยแบงก์ชาติพยายามขอให้รัฐบาลลดการขาดดุลการคลัง ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง และให้ค่าเงินบาทลอยตัวเสรี แต่การดำเนินนโยบายที่เข้มงวดของแบงก์ชาติก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนและรัฐบาลเช่นกัน
ส่วนการดูแลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสถาบันการเงิน นั้น แบงก์ชาติได้เข้าไปแทรกแซงแบงก์พาณิชย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร การปรับปรุงระบบใหม่ และให้แบงก์พาณิชย์เพิ่มทุน รวมทั้งแก้ปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงิน โดยการปล่อยสภาพคล่องผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) เพื่อให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องพอเพียง และต่อมากองทุนฟื้นฟูฯ ยังถูกขอให้ทำหน้าที่ในการค้ำประกันเงินฝากด้วย
“มีการเข้าไปแทรกแซงแบงก์พาณิชย์ เช่น เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ปรับระบบใหม่ และมีการให้เพิ่มทุน ซึ่งบางแบงก์ ทางการได้เข้าไปเพิ่มทุนด้วย โดยมีหลักการ คือ จะแยก Good Bank กับ Bad Bank โดย Good Bank ที่ทำหน้าที่ได้ ก็จะทำให้ทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็น Bad Bank ก็ให้ปิดการดำเนินการ และให้ดูแลผู้ฝากเงิน มีการตั้งองค์กรเพื่อดูแลการปฏิรูปแบงก์ที่มีปัญหา มีตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ บบส.
ซึ่งหลักการนี้ ตอนนี้ก็ยังใช้ได้ เพราะเป็นการชี้ให้เห็นว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ก็แก้ให้รุนแรง แต่ถ้าอันไหนที่รับไม่ได้ ก็ต้องยุติมัน เพราะในช่วงที่ประชาชนตื่นกลัวว่า สถาบันการเงินจะอยู่ไม่ได้ คนจะแห่ไปถอนเงิน แบงก์พาณิชย์ก็อยู่ยาก
แม้แต่แบงก์พาณิชย์ซึ่งเคยปกติดี ถ้าคนแห่ไปถอนเงิน ก็กลายเป็นแบงก์ที่ค่อนข้างอ่อนแอไปเลย ดังนั้น ประเด็นสำคัญ คือ ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมการเงิน หรือแบงก์ชาติ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
(ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์)
@มองนโยบายที่ดีต้องมี 3 ข้อ ‘พอดี-คล่องตัว-ระมัดระวัง’
ดร.ชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ตนเองดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แม้จะไม่นาน แต่ได้เจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และภารกิจหลักที่ต้องทำอย่างมากในช่วงนั้น คือ การสร้างความเชื่อมั่น และมีหลายเรื่องต้องโต้แย้งกับ IMF เช่น ข้อเสนอ IMF ที่ต้องการให้ใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงๆ และการเร่งรัดให้แบงก์พาณิชย์เพิ่มทุนมากๆ และเร็ว เป็นต้น
“ช่วงนั้นผมทำงานเรื่องสร้างความเชื่อมั่นค่อนข้างเยอะ มีการขอความร่วมมือจากองค์กรในบ้านเราที่มีความเข้มแข็ง และใช้เงินตราต่างประเทศได้ ช่วยกู้ยืมเงินต่างประเทศเข้ามา
ส่วนทำงานกับ IMF นั้น มีบางมาตรการที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะเข้มงวดเกินไป เช่น ตอนที่ต้องการให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ โดย IMF บอกให้ขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆเพื่อดึงเงินเข้ามา แต่ผมบอกว่ามันสูงมากแล้ว นักลงทุนไม่เข้ามาเพราะหวังผลตอบแทนสูง แต่ดูเรื่องความมั่นคงด้วย
เพราะถ้าดอกเบี้ยสูง เศรษฐกิจทรุด นักลงทุนก็จะไม่เข้ามา และเราต้องผ่อนคลายเมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นตัวอย่างของความคล่องตัว ส่วนการเพิ่มทุนของแบงก์พาณิชย์ IMF บอกว่าต้องเพิ่มทุนเยอะๆ เร็วๆ เพื่อให้คนมั่นใจ
แต่เราโต้แย้งว่าการปรับตัวต้องใช้เวลา และถ้าไปบังคับมากๆ ทุนต่างประเทศก็กลืนกิจการแบงก์พาณิชย์ไทยหมด นี่เป็นตัวอย่างว่า การใช้นโยบายจะต้องมีความระมัดระวัง และต้องมีความพอดีด้วย” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ดร.ชัยวัฒน์ ย้ำว่า การทำงานช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นช่วงที่ยากลำบาก เพราะประชาชนและรัฐบาลไม่มีความเชื่อถือต่อแบงก์ชาติ และไม่พอใจนโยบายที่เข้มงวดทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าตนจะอยู่ในตำแหน่งในระยะสั้นเพียง 9 เดือน แต่ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่และเชื่อว่าสิ่งที่ทำก็ได้ผลออกมาระดับหนึ่ง และที่ทำงานได้ผล เพราะได้ทีมงานของแบงก์ชาติ และทำงานแข่งกับเวลา นี่คือจุดแข็งของแบงก์ชาติ เรามีองค์กรที่มีบุคลากรที่เข้มเข็ม และมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อส่วนร่วม
“ผมยังเชื่อว่าหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ดี มี 3 ข้อ คือ พอดี คล่องตัว และความระมัดระวัง” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว
@สั่งเปลี่ยนวิธีทำงาน หลังเงื่อนไข IMF ทำประเทศเป็น ‘อัมพาต’
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงปี 2541-2544 กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศไทย เพราะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เหลืออยู่เลย IMF ยังส่งเจ้าหน้าที่ IMF เข้ามากำกับดูแลการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยด้วย โดยวิกฤตครั้งนี้ไทยได้ลงนาม letter of intent กับ IMF รวม 6 ฉบับ และลงนาม secret letter ระหว่าง IMF และผู้ว่าการ ธปท. รวม 7 ฉบับ
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่มีการกำหนดไว้ใน letter of intent ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามกับ IMF นั้น พบว่า มีหลายเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นอัมพาต ไม่มีใครลงทุนและค้าขาย ตนจึงต้องสั่งการให้ปรับเปลี่ยนในบางเรื่องที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน letter of intent แต่นั่นก็ทำให้ประเทศไทยกลับสู่สภาพที่เป็นไปได้
“ตอนนั้นเราไม่มีเงินสำรองฯเหลืออยู่เลย จะซื้อของแต่ละครั้ง ต้องไปขอเบิกเงิน IMF ซึ่งเบิกรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง และทุกครั้งต้องมีหนังสือ letter of intent เพื่อบอก IMF ว่า เราจะทำอะไร และอย่างไร โดยเป็นการเขียนกว้างๆให้โลกรู้ ว่าประเทศไทยจะทำอะไรอย่างไรต่อไป เช่น อัตราดอกเบี้ยที่จะใช้จะเป็นเท่าไร่ เป็นต้น พอเสร็จแล้ว ก็จะมีการลงนาม secret letter ระหว่าง IMF กับผู้ว่าแบงก์ชาติต่อไป
แต่ในตอนนั้น มีการระบุเงื่อนไขใน letter of intent ว่า ดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรจะกำหนดไว้ที่ 20% และอัตราเงินเฟ้อจะต้องอยู่ที่ 2% ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครแก้ เพราะ ธปท.เป็นอัมพาต และ IMF ก็กลัวพลาด ประเทศไทยก็เลยเป็นอัมพาต เพราะไม่มีใครลงทุนหรือค้าขายได้ในสภาพเช่นนั้น
ผมจึงสั่งให้ฝ่ายการตลาดเข้าไปเทรด โดยบอกว่าซื้อราคาเท่าไหร่ก็ได้ ขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้ได้วอลุ่ม 30% ของตลาด ไม่ต้องกลัวขาดทุน เพราะ ธปท.ไม่มีล้มละลาย ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ก็เป็นนโยบายการเงิน
ถ้าขาดทุนเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ ขอจดให้ถูกก็แล้วกัน รวมถึงเพิ่มทุนและลดทุนให้สอดคล้องกัน พอทำได้ซักพัก ผมก็สั่งให้ซื้อขายกันที่ดอกเบี้ย 2% ตลาดก็ตามทันทีในวันนั้นเลย เพราะเอกชนไม่ได้โง่ ประเทศก็กลับเข้าสู่สภาพที่เป็นไปได้” ม.ร.ว.จัตุมงคล ระบุ
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวด้วยว่า ตนทราบถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมค่าเงินบาทในช่วงเดือน ธ.ค.2540 จึงอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยหมดตั้งแต่ ก.ค.2540 แล้ว แต่ไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ
“เงินสำรองหมดไปตั้งแต่ 2 ก.ค.2540 แล้ว ทำไมอัตราแลกเปลี่ยนยังคงที่พอสมควร แต่พอมาถึงเดือน ธ.ค. วันเดียวค่าเงินบาทโดดไป 50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผมทราบเหตุผล แต่ไม่อยากพูด เพราะจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ แต่ถ้าใครอยากได้แนวทางวิเคราะห์เรื่องนี้ ก็มาถามผมได้ ผมจะแนะให้” ม.ร.ว.จัตุมงคลระบุ
ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังให้มุมมองว่า คนเก่งๆ โดยเฉพาะคนที่ไปทำงานเอกชนแล้วกลับเข้ามาทำงานกับราชการ นั้น นอกจากจะต้องรู้กฎหมายแล้ว จะต้องรู้ว่ากฎหมู่ของข้าราชการว่ามีอะไรบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้การบริหารงานยุ่งยาก
“ผมรู้สึกมานานแล้วว่า ข้าราชการมีกฎหมาย และมีกฎหมู่ กฎหมายต้องปฏิบัติไม่อย่างนั้นยุ่ง กฎหมู่ข้าราชการเขารู้กันว่า ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติก็ยุ่ง ทำให้คนเก่งๆ ที่เข้ามาบริหารราชการในภายหลังต้องยุ่ง เพราะไม่รู้กฎหมู่ของข้าราชการมีอะไรบ้าง ผมจึงตั้งสถาบันเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งเป็นเอกชน มีเงินเดือนดีพอสมควร เพื่อให้คนเก่งได้มีที่ทำงานกับราชการระยะหนึ่งก่อนไปทำงานกับเอกชน หากวันหลังได้กลับเข้ามา จะได้ไม่พลาด” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
@โจทย์สำคัญ ‘ปรีดิยาธร’ เร่งฟื้นความเชื่อมั่น ธปท.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในช่วงที่ตนเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงปี 2544 มีโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งทำ คือ การสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาให้กลับคืนสู่ ธปท. เพราะหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว ความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อ ธปท. ของประชาชนทั่วไปตกต่ำลงมาก สะท้อนได้จากผลสำรวจของสำนักผู้ว่าการฯเมื่อปลายปี 2544 ซึ่งพบว่ามีประชาชนเพียง 10% เท่านั้น ที่ยังเชื่อมั่นต่อ ธปท. ส่วนอีก 90% ไม่เชื่อมั่นศรัทธา
“ก่อนต้มยำกุ้งคนเชื่อมั่นและศรัทธาใน ธปท. เต็มที่ เชื่อว่า ธปท.เป็นองค์กรที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจจริง และเชื่อว่าถ้าเกิดปัญหาเศรษฐกิจแล้วจะแก้ไขได้ แต่หลังเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ความเชื่อเหล่านั้นสลายไปเลย ซึ่งในการที่ผมได้พบปะกันพนักงานของ ธปท. พนักงานถามว่า โจทย์สำคัญของผมคืออะไร เป้าหมายสำคัญคืออะไร ผมตอบไปว่า เป้าหมายสำคัญ คือ เรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาในธปท. กลับมาให้มากที่สุด เท่าที่เวลาจะอำนวย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า จากนั้นตัวเขาได้ต้องมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมาเชื่อถือศรัทธาใน ธปท. อีกครั้ง และตอนนั้นก็คิดว่า การทำงานตามปกติ แม้ว่าจะทำให้คนได้เชื่อถือได้ แต่คงไม่สามารถทำให้ศรัทธาของประชาชนกลับเต็มที่ได้ จึงต้องหาเรื่องอะไรใหญ่ๆแล้วทำให้สำเร็จ สมบูรณ์ และต้องสำเร็จเกินความคาดหมายด้วย จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 เหตุการณ์ ที่ทำให้คน 90% กลับมาเชื่อมั่นศรัทธาต่อ ธปท. ได้อีกครั้ง
เหตุการณ์แรก ในช่วงต้นปี 2545 มีรายงานจากฝ่ายตรวจสอบสถาบันการเงินว่า ธนาคารศรีนคร มีฐานะการเงินแย่มาก มีหนี้เสีย (NPLs) 80% มีรายได้ดอกเบี้ยรับต่ำกว่าดอกเบี้ยจ่ายมาก และขาดทุนมหาศาลทุกเดือน หากปล่อยไว้อย่างนั้น ธนาคารคงจะล้ม เมื่อธนาคารล้ม จะเกิดการแห่กันถอนเงินฝาก และอาจจะลุกลามไปถึงธนาคารอื่นๆได้ เมื่อได้รับรายงานแล้ว สิ่งที่ ธปท. ต้องทำ คือ ต้องแก้ปัญหาให้เสร็จ และต้องแก้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
“เมื่อคิดแล้ว ก็แอบไปคุยกับคณะกรรมการฯของ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารศรีนคร และธนาคารนครหลวงไทย คุยทีละธนาคาร โดยชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือที่จะเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งทั้ง 2 ธนาคาร ก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ก่อนถึงวันดีเดย์ คือ 1 เม.ย.2545 ผมส่งคนของ ธปท. 4-5 คน เข้าไปฝังตัวในธนาคารนครหลวง เพื่อเตรียมการในการรับโอนลูกหนี้ดี เงินฝาก พนักงาน สาขา และสินทรัพย์ถาวร เพื่อที่ว่า เมื่อถึงวันดีเดย์ก็ทำได้เลย
พอถึงวันดีเดย์ 8 โมงครึ่ง คณะกรรมการธนาคารศรีนครเริ่มประชุมและมีมติให้ขายลูกหนี้ โอนเงินฝาก ขายสินทรัพย์ถาวรและสาขา ให้ธนาคารนครหลวงไทย ต่อมา 9 โมงครึ่ง คณะกรรมการธนาคารนครหลวงไทยเริ่มประชุม และมีมติซื้อลูกหนี้ รับโอนเงินฝาก และซื้อทรัพย์สินถาวรจากศรีนคร เมื่อได้มติแล้วก็ส่งเรื่องให้ รมว.คลัง อนุมัติ เรื่องส่งกลับมาที่ผมตอน 13.00 น. และพอบ่าย 3 โมง ก็มีการแถลงเรื่องการรวม 2 ธนาคาร ซึ่งทำเสร็จใน 1 วัน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า กล่าวว่า “เมื่อทำสิ่งที่ยากๆได้ในเวลาอันสั้น และทำได้สมบูรณ์แบบ ความรู้สึกของวงการธนาคารที่มีต่อ ธปท. ก็เปลี่ยนไปทันที วงการธนาคารเห็นว่า ธปท. ทำเป็น ทำอะไรได้ผล และทำสำเร็จรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง ไม่มีผลเสียต่อวงการธนาคารเลย ผู้ฝากเงินพอใจ ซึ่งเป็นการเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาได้ส่วนหนึ่ง”
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
เหตุการณ์ที่สอง ในเดือน มิ.ย.2545 มีการรายงานสรุปยอดหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ซึ่งมี 1.4 ล้านล้านบาท และก่อนหน้านี้มีการเสนอให้สภาฯออกพันธบัตรล้างหนี้ไปแล้ว 5 แสนล้านบาท ขณะที่ ธปท.ออกพันธบัตรไปชำระหนี้อีก 1.12 แสนล้านบาท ยังเหลือหนี้ที่ค้างอยู่ 7.8 แสนล้านบาท แต่หนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ที่ ‘หมกไว้’ เพราะ ธปท.ใช้วิธีหมุนเงินระยะสั้น โดยการออกตั๋วระยะ 3 เดือน มาหมุนเวียนชำระหนี้เรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อได้เข้าไปตรวจสอบก็พบว่า มีหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ 3 แสนล้านบาท จาก 7.8 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสียไปแล้ว ธปท.จำเป็นออกพันธบัตรฯ 3 แสนล้านบาท เพื่อมาล้างหนี้ดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หากข่าวที่กองทุนฟื้นฟูฯหมกหนี้ไว้ 7.8 แสนล้านบาท และใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการ ‘หมุนหนี้’ รั่วไปถึงต่างชาติ ก็จะทำให้ประเทศไทยเสียเครดิตได้ ตนจึงนำเรื่องไปปรึกษากับ รมว.คลัง และเสนอนายกฯว่า จำเป็นต้องออกพันธบัตร 3 แสนล้านบาท
“นายกฯก็ตัดสินและบอกว่า เชื่อว่าผู้ว่าการ (ธปท.) จะทำได้ แล้วโยนให้ ธปท. ทำ เมื่อผมรับเรื่องมา ผมก็ไปหาพระอาจารย์มหาบัว (หลวงตามหาบัว) ไปเล่าให้ท่านฟัง และขอใช้ชื่อว่า ‘พันธบัตรช่วยชาติ’ และได้ไปคุยกับผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ถามว่า ถ้า ธปท.จะออกพันธบัตรระยะยาวดอกเบี้ย 6% ซึ่งดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ที่ 4% แล้วให้ค่านายหน้ากับธนาคาร 0.25% จะขายได้หรือไม่ ทุกคนบอกว่าขายได้
จากนั้นผมได้กลับมาแล้วไปหาธนาคารพาณิชย์ และขอความร่วมมือให้เขา เป็นนายหน้าในการขายพันธบัตรช่วยชาติ โดยใช้สาขาของธนาคาร 4,000 สาขาทั่วประเทศเป็นที่ขาย เขาก็หายไป 2 อาทิตย์ ก่อนที่ทุกคนจะตกลงขายให้ แต่ขอเวลา 1 เดือนครึ่ง และกำหนดวันขาย 2 ก.ย. โดยจะต้องขายพันธบัตร 3 แสนล้านบาทให้หมด เพราะถ้าไม่หมด ตำแหน่งผมจะแขวนอยู่บนเส้นด้ายทันที เพราะเรารับปากเขามาแล้ว และถ้าทำได้ คนจะเชื่อมั่นใจใน ธปท.ขึ้นอีก
เมื่อถึงวันจันทร์ (วันขายพันธบัตร) พอสิ้นวัน สมาคมธนาคารไทยรายานว่า ขายได้แล้ว 2 แสนล้านบาท เมื่อถึงวันพุธก็ขายหมด ก็ตกใจเหมือนกันที่ขายได้หมด 2 วันครึ่ง ทั้งๆที่ตั้งใจว่าจะใช้เวลา 3 เดือน เป็นความสำเร็จเกินคาดหมาย เมื่อข่าวออกไป สำนักผู้ว่าการฯ ได้สำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนอีกครั้ง พบว่าเดิมที่คน 90% ไม่เชื่อมั่น ธปท. ตอนนี้ลดเหลือ 30% และคนเชื่อมั่นที่เดิมมีอยู่ 10% ตอนนี้เพิ่มเป็น 70% แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นเต็มที่” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
@ฟ้อง‘พี่ชายรมต.’ก่อนเจอวิบาก-สุดท้ายคนเชื่อมั่นเพิ่ม 90%
เหตุการณ์ที่สาม ในช่วงปลายปี 2546 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบธนาคารกรุงไทยแล้วไปเจอว่า มีการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ชอบมาพากล มีการไซฟ่อนเงินจากบริษัทที่รับเงินกู้ และมีการนำเงินกู้ไปใช้ที่อื่นด้วย ซึ่งถือว่าผิด จากนั้น ธปท.ได้ดำเนินการไปหลายอย่าง กระทั่งในที่สุดมีการฟ้องคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีประธาน เป็นพี่ชายรัฐมนตรี และมีกรรมการผู้จัดการเป็นคนที่การเมืองสนับสนุนเต็มที่ แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะฟ้อง ก็เกิดวิบากกรรรมพอสมควร
“เกิดกระบวนการปลดและล้มผู้ว่าการ (ธปท.) ให้ได้ โดยกระบวนการเริ่มวันที่ 11 ส.ค. มีการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผู้ว่าการ สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯขายหุ้นกรุงไทย คนก็เชื่อ แล้วก็แห่ขายหุ้น ทำให้หุ้นกรุงไทยตกรวดเร็ว และตกไม่หยุดจนถึงตลาดปิด พอเปิดตลาดวันจันทร์ ตลาดก็ถล่มกรุงไทยอีก แล้วฝ่ายที่เดินเรื่องนี้ ก็จะบอกว่าเป็นความผิดผู้ว่าการฯ แล้วใช้ตัวนี้เป็นตัวปลดผู้ว่าการฯ พอผมสืบรู้ ผมเตรียมการเต็มที่ และมีทางเดียว คือ สู้
แล้วก็ต้องเอาตัวเองเข้าสู้ อย่าไปหวังใคร จากนั้นผมได้ร่างแถลงการณ์ให้นักข่าว แล้วสั่งเจ้าหน้าที่ให้แจ้งนักข่าวว่า ผู้ว่าการฯ จะแถลงข่าวเรื่องกรุงไทยเวลา 10.00 น. ให้เรียกนักข่าวมา ทุกคนวิ่งมา พอถึงเวลา 10.00 น. ผมลุกขึ้นไปแถลงว่า ที่มีข่าวว่าผู้ว่าการ ธปท. สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯขายหุ้นกรุงไทยนั้น ไม่เป็นความจริง และแสดงข้อมูลว่า จำนวนหุ้นในวันนี้ยังมีเท่าเดิม และกล่าวถึงฐานะของกรุงไทยว่าแข็งแรงมาก มีการตั้งสำรองเป็นอย่างไร และแข็งแรงอย่างไร
พอแถลงข่าวเสร็จ สู้เต็มที่แล้ว ปรากฏว่า การขายหุ้นกรุงไทยหยุดทันที จากนั้นตอนเที่ยงหุ้นก็กลับมาที่เดิมได้ พอเราสู้ชนะ และข่าวพวกนี้นักข่าวรู้ดีว่าใครเป็นคนทำ จากนั้นความเชื่อมั่นของ ธปท.เพิ่มขึ้นทันที พอถึงสิ้นปี 2546 เราได้ทำสำรวจความเชื่อมั่นของ ธปท.อีกครั้ง คราวนี้คนเชื่อมั่นที่เคยอยู่ที่ 70% ตอนนี้เพิ่มเป็น 90% ส่วนคนที่ไม่เชื่อมั่นลดจาก 30% เหลือ 10% ตอนนั้นผมก็รู้ว่า หมดภาระ และโจทย์สำคัญ ผมได้ทำเสร็จแล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ปิดท้าย
@การสร้างความ ‘เชื่อมั่น’ เป็นสิ่งสำคัญในช่วงวิกฤติ
ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งดำรงตำแหน่งในปี 2549-2553 กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้าย เพราะในช่วงที่ทำงานที่ ธปท. ตนต้องเผชิญกับวิกฤติถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งขณะนั้นท่านผู้ว่าการ ธปท. ชัยวัฒน์ ได้ขอให้มาช่วยงาน และครั้งที่ 2 คือ วิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ซึ่งตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. พอดี อย่างไรก็ตาม ในการบริหารงานภายใต้วิกฤติทั้ง 2 ครั้งนั้น การสร้างความเชื่อมั่น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“ตอนวิกฤติ 40 ตอนนั้นทำงานด้านอื่นอยู่ แล้วท่านผู้ว่าการฯชัยวัฒน์บอกว่า ขอให้มาช่วยสายงานสถาบันการเงิน เพราะมีปัญหาต้องสางกันเยอะ เหมือนเข้าสมรภูมิ มีเรื่องที่ต้องแก้เยอะ จากนั้นก็จะต้องสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมา ซึ่งการที่ผู้ว่าการฯหลายท่านพูดถึงเรื่องความเชื่อมั่น ขอย้ำอีกแรงว่า เรื่องความเชื่อมั่น มีความสำคัญมาก และไม่ใช่แค่ไปพูดให้เขาเข้าใจ แต่ต้องมีผลงานปรากฏว่าเราทำจริง ซึ่งพวกนี้จะสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมา” ดร.ธาริษา กล่าว
ดร.ธาริษา กล่าวต่อว่า ในช่วงการทำงานของผู้ว่าการ ธปท. แต่ละท่านนั้น ล้วนแล้วแต่มีความท้าทายทั้งสิ้น เช่น ตอนที่ตนเป็นผู้ว่าการ ธปท. นั้น ได้เกิดปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากและแข็งค่าอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้ ธปท. ต้องตัดสินใจใช้มาตรการสำรองฯ 30% สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการถกเถียงเรื่องนี้ในวงการวิชาการ แต่ในมุมมองของ ธปท. ในขณะนั้น เห็นว่าการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็น
“ในด้านเศรษฐกิจ ปัญหาแรก คือ เงินบาทแข็งค่าอย่างมากและรวดเร็ว ที่สำคัญตอนนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจแทบจะไม่ทำงาน มีเฉพาะการส่งออกที่เป็นพระเอก ส่วนเรื่องอื่นๆไม่ได้แข็งแกร่งมาตั้งแต่เดิมแล้ว แล้วยังมีรัฐประหาร ส่วนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็ต่ำ ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก และการที่ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด เศรษฐกิจเล็ก เงินเข้าเงินออกทีหนึ่ง ก็กระทบรุนแรง เป็นปัญหาที่คุยกันในเวทีสากลก็เยอะ แต่ไม่มีทางออกอะไร
และเราได้ใช้มาตรการอ่อนๆไปซักระยะหนึ่ง แต่ผลมันไม่ไม่เวิร์ค สุดท้ายเราก็ต้องใช้ยาแรง คือ การออกมาตรการสำรอง 30% สำหรับเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ซึ่งในแง่วิชาการการถกเถียงคงมีได้ แต่สถานการณ์ ณ ตอนนั้น เรามองว่า อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น และน่าจะทำได้คล่องตัวมากที่สุด โดยได้ศึกษาเหตุการณ์ในประเทศอื่นๆที่ใช้มาตรการนี้ แล้วก็พบว่าสามารถสกัดการไหลเข้าของเงินได้ระดับหนึ่ง แต่พวกนี้เป็นมาตรการระยะสั้น
จากนั้นก็เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวค่าเงินเป็นลักษณะ 2 ทาง คือ มีแข็งบ้าง อ่อนบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และยังเป็นการซื้อเวลาให้เราในการทำระบบข้อมูลของเราในการติดตามว่า เงินเข้าเงินออกเป็นอย่างไร และมีปัจจัยเบื้องหลังอย่างไร ซึ่งสิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องนี้ คือ เรื่องค่าเงิน เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา เพราะมาตรการของแบงก์ชาติ จะมีผลกระทบต่อแต่ละภาคเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน” ดร.ธาริษา กล่าว
ดร.ธาริษา ระบุว่า ธปท. ยังพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจแต่ละตัวแข็งแรงและทำงานได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งได้มีพูดคุยกับเอกชนด้วย เช่น ปัญหาเรื่องค่าเงิน
“ที่เราพยายามทำ คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจและเครื่องจักรแต่ละตัวในภาคเศรษฐกิจมีความแข็งแรงในการทำงานได้ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าถึงเวลาก็พึ่งได้เฉพาะบางตัว อย่างตอนนี้ หลังจากโควิด ในอดีตเราเคยพึ่งพาการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เครื่องจักรกลตัวนี้ไม่ทำงานแล้ว ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น เพื่อลดความจำเป็นที่แบงก์ชาติจะเข้าไปดูแล ในกรณีไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นแล้ว” ดร.ธาริษา กล่าว
(ดร.ธาริษา วัฒนเกส)
@แนะ ‘ธปท. ’ต้องสื่อสารนโยบายให้ประชาชนยอมรับ
ดร.ธาริษา กล่าวต่อว่า ความท้าทายถัดมา คือ เรื่องเงินเฟ้อ เพราะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 เงินเฟ้อสูงมาก เพราะน้ำมันแพง ราคาน้ำมันดิบขึ้นไป 144 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นไปถึง 9% กว่า ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุเป้าขึ้นไปเป็น 3.7% กนง.ก็เริ่มให้สัญญาณในเดือน พ.ค.2551 ว่า คงต้องพิจารณาเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็มีแรงถล่มค่อนข้างแรง เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องของน้ำมัน การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน
“เป็นแรงถล่มค่อนข้างแรง เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องของน้ำมัน เป็นเรื่องซัพพลายไซด์ การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการไปซ้ำเติมประชาชนตาดำๆ แต่จริงๆแล้วถ้ามองที่ core inflation เงินเฟ้อพื้นฐาน มันขึ้นทะลุเป้าหมาย มันก็แสดงว่าดีมานด์เศรษฐกิจก็ยังมีค่อนข้างแรงอยู่ ไม่ใช่เรื่องซัพพลายไซด์อย่างเดียว ดังนั้น การสื่อความมีความจำเป็นมาก และตอนที่เราขึ้นดอกเบี้นไปตอนเดือน มิ.ย. และก.ค. ครั้งละ 25 สตางค์ ประชาชนก็ยอมรับ
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากสิ่งนี้ คือ ถ้ามีสื่อสารและทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมา เราก็เป็นที่ยอมรับได้ และจริงๆก็มีนักวิชาการที่เราไม่ได้ไปขอให้เขาเขียนเชียร์ทั้งสิ้น เขาก็ออกมาสนับสนุน ถ้าเราทำหน้าที่ของเราอย่างมีหลักการ มีการอธิบาย มีการสื่อสารอย่างดี เขารู้ที่มาที่ไป ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาสนับสนุนเราด้วย” ดร.ธาริษา กล่าว
ขณะที่ความท้าทายอันเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 นั้น ในความจริงแล้ว ผลกระทบน้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพราะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เราเหมือนอยู่ใจกลางสมรภูมิ อยู่กลางภูเขาไฟระเบิดพอดี แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลก เราอยู่ข้างนอก และขณะนั้นธนาคารพาณิชย์ของเราใช้เงินฝากเป็นแหล่งเงินที่สำคัญ ไม่ได้พึ่งพาเงินจากตลาด inter bank เหมือนในต่างประเทศ จึงไม่มีปัญหาตรงนั้น แต่ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด
“อานิสงส์ที่เราแก้ปัญหาและยกระดับสถาบันการเงินหลังวิกฤติปี 2540 มีการปรับระบบประเมินธนาคารพาณิชย์ มีการส่งสัญญาณในสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ทำให้เขารู้ว่าอะไรที่มีความเสี่ยง เช่น สถาบันการเงินในสหรัฐที่พังกันเยอะ เพราะไปลงทุนพวก CDO แต่แบงก์ไทยมีแค่ 2 ธนาคารที่ไปลง และลงน้อยมาก ดังนั้น ผลกระทบจากสินทรัพย์เป็นพิษก็น้อย ซึ่งต้องยกเครดิตให้ธนาคารพาณิชย์ที่บริหารจัดความเสี่ยงของตัวเองเป็นอย่างดี” ดร.ธาริษา ระบุ
@ฝาก ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะได้รับผลกระทบตามมา
ดร.ธาริษา กล่าวถึงความท้าทายด้านการเมืองว่า ตนอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. 4 ปี นั้น มี 4 นายกรัฐมนตรี และ 5 รมว.คลัง ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ใช้นักการเมืองเปลืองมาก และมีผลกระทบต่อการทำงานแน่นอน
ประเด็นแรก เป็นผลในแง่ดี คือ ตอนนั้นมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามา และสมาชิกส่วนหนึ่งจะมาจากภาคธุรกิจและภาคการเงิน จึงมีความเข้าใจเรื่องการทำธุรกิจและกฎหมาย ทำให้ ธปท. สามารถผลักดันกฎหมายได้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ของธนาคารแห่งประเทศไทย ,พ.ร.บ.ของสถาบันการเงิน และ พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก ส่วน พ.ร.บ.ประกันเงินตรา นั้น เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า มีความสุ่มเสี่ยงและอ่อนไหว จึงไม่ได้เสนอ สนช.
ประเด็นสอง มีเหตุการณ์หนึ่งที่ฝ่ายการเมืองอยากเอาคนของตัวเองเข้ามาเป็น กรรมการในธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้ถือหุ้น แต่บังเอิญว่าบุคคลคนๆนั้น มีประวัติด่างพร้อยและมีชื่อเสียงในทางลบ จึงคิดว่าน่าจะไม่เหมาะให้เข้ามาเป็นกรรมการ และเมื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ กรรมการฯก็เห็นว่าไม่เหมาะ ตนในฐานะประธาน จึงไม่ดำเนินการให้ และก็ประสบความสำเร็จในการไม่ให้บุคคลท่านนั้นเข้ามาได้ แต่ก็มีกระทบตามมาในที่สุด
“ถ้ามีเหตุที่เราเห็นว่าผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ มีธรรมภิบาลไม่ดี และอาจเกิดความเสียหายกับธนาคารได้ เรามีหน้าที่ต้องหยุดการดำเนินการนั้น ถึงแม้ว่าจะมีผลพวงตามมาในแง่การเมืองก็ตาม จึงอยากจะฝากไปถึง ผู้ว่าธปท.ท่านปัจจุบันและท่านต่อๆไปว่า ถ้ามีกรณีอะไรทำนองนี้ ซึ่งมันกระทบจะถึงชื่อเสียงของแบงก์ชาติว่า ทำไมไม่ดูให้ดี ทำไมไม่แยกเรื่องธรรมาภิบาลให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะมีผลพวงมาก็ตาม
ซึ่งกรณีนี้ ทำให้ตนถูกคณะกรรมการตรวจสอบฯ พยายามหาเหตุว่า การทำธุรกรรมบางอย่างของกองทุนฟื้นฟูฯ มีเหตุที่ทำให้ประธานกองทุนฟื้นฟูฯเข้าข่ายว่า ประมาทเลินเล่อหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่ เรื่องลากยาก 1-2 ปี ตอนหลังเปลี่ยนรัฐบาล มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่ ก็สรุปว่าไม่มีอะไรที่ผิด ไม่มีอะไรบกพร่อง เรื่องก็เลยตกไป นี่เป็นตัวอย่างที่อยากเตือนสติว่า เราต้องยึดความถูกต้อง โดยไม่คิดว่าผลพวงที่ตามมาจะเป็นอย่างไร” ดร.ธาริษาระบุ
ประเด็นที่สาม ในปี 2552-53 เป็นช่วงที่มีการประท้วง มีความขัดแย้งระหว่างเสื้อหลากสี มีการประท้วงตามจุดต่างๆ ในฐานะที่ ธปท.กำกับดูแลแบงก์ ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และกำกับภายใน ธปท. เอง จึงต้องพิจารณาว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง เช่น ในเรื่องระบบการชำระเงิน การดูแลพนักงานที่เดินทางมาทำงานที่ ธปท. และลูกค้าที่จะมาซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล และไปใช้บริการที่ธนาคารพาณิชย์มีความสุ่มเสี่ยงหรือไม่ นโยบายควรจะเป็นอย่างไร
@ ‘ธปท.’ เป็นสถาบันที่ต้องประกอบด้วย 3 เสาหลัก
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. ระหว่างปี 2553-2558 กล่าวว่า ธปท. มีความเป็นสถาบัน และความเป็น ‘สถาบัน’ ของ ธปท. นั้น จะต้องประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
เสาที่ 1 การมีกรอบนโยบายการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส และมีเพียงพอที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ณ ขณะนั้น หากมีไม่เพียงพอก็จะติดอ่านกันต่อไป
เสาที่ 2 การมีบุคลากรที่สามารถ มีระบบงาน และการทำงานขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ
เสาที่ 3 การมีประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม มีระบบค่านิยมที่ดี และเป็นระบบค่านิยมที่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
“ความสำเร็จของสถาบัน (ธปท.) นี้ อยู่ที่ว่า จะสามารถบริหารจัดการปัจจัยต่างๆที่อิงกับทั้ง 3 เสาหลักนี้ ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับกาลเทศะ ณ ขณะนั้น ได้ดีมากน้อยแค่ไหน โดยมี leadership (ความเป็นผู้นำ) เป็นปัจจัยที่ 4 ซึ่งการมี leadership นั้น จะมีทั้ง leadership ที่เป็น individual leadership และ Corrective leadership ที่จะต้องอิงกับ 3 เสาหลักนี้ และจัดการกับทั้ง 3 เสาหลักนี้ และดูว่าสามารถทำได้ดีแค่มากน้อยไหน” ดร.ประสาร กล่าว
@ 3 โจทย์ท้าทายของ ธปท. หลังเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 51
ทั้งนี้ ดร.ประสาร ยกตัวอย่างเสาหลักที่ 1 หรือการมีกรอบนโยบายที่มีความยืดหยุ่น ว่า ในช่วงปี 2553-58 เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยรุมเร้าพอสมควร เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ตลาดการเงินมีความผันผวนมาก เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว มีการพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง การขาดการลงทุนมาเป็นระยะเวลานาน การขาดการพัฒนาเทคโนโลยี การขาดแคลนแรงงาน และการขาดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้การบริโภคและการลงทุนค่อนข้างอ่อนแรง
โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วงปี 2553 จากเงินทุนไหลเข้า ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้ใช้เพียงเครื่องมือดอกเบี้ยในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ยังใช้เครื่องมืออื่นๆร่วมด้วย รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร
“ในตอนนั้นแนวนโยบายโดยรวม โดยเฉพาะนโยบายการเงิน จะมุ่งดูแลให้สภาวะการเงินของประเทศโดยรวมให้ผ่อนปรนและมีความคล่องตัวเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจบางส่วนที่พอจะทำได้ และไม่ผิดหลักการของเรา โดยเราได้เข้าไปประคับประคองส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่ากลุ่มอื่น เช่น ครัวเรือนฐานราก พวก SME และพยายามรักษาสมดุลของเศรษฐกิจและการเงิน
แต่โดยรวมเรายังโชคดี เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคขณะนั้นอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมั่นคง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการทำงานหนัก และพยายามแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ตั้งแต่หลังวิกฤติปี 40 มาถึงปี 53 ก็ทำหลายๆอย่าง ทำให้สถานะเศรษฐกิจมหภาคของเรายังมีความมั่นคง แต่ความท้าทายขณะนั้น คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนั้นปี 2553 มันเพิ่งสดๆร้อน จากปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤติการเงินโลก สหรัฐ ยุโรป และเศรษฐกิจใหญ่ๆ โดนกันเยอะ จากนั้นก็จะมีการฟื้นตัวบ้าง
แต่สำหรับเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเอเชีย และอาเซียน รวมถึงไทย ซึ่งได้รับบาดเจ็บไม่เท่ากับทางตะวันตก นั้น มีการดำเนินนโยบายต่างกันออกไป มีกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเมื่อเทียบกับสหรัฐ ยุโรป จึงเกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้เกิดความท้าทายเรื่องค่าเงินบาทแข็ง โดยขณะนั้นเราใช้กรอบการบริหารที่ยืดหยุ่นพอสมควร เราไม่ได้ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเสรีสุดๆ และพยายามทำให้สมดุลทั้งการดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ
และเตรียมเครื่องมือให้พร้อมในกระเป๋า เช่น มีเครื่องมือที่บริการจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย เพราะเราเข้าใจในทฤษฎีที่ว่า ถ้าปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีแล้ว การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ จะไม่สามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามเป้าหมายได้ ซึ่งในภาคปฏิบัติเอง กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ก็ให้ความสนใจกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่สม่ำเสมอ” ดร.ประสาร กล่าว
ความท้าทายต่อมา คือ เรื่องมั่นคงทางการเงิน (financial stability) ขณะนั้น ธปท. พูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร จะตั้งสายงานใหม่และจะกล้าออก financial stability Report หรือไม่ แต่ก็มีความพยายามเก็บข้อมูลหลายด้าน เช่น หนี้สินภาคครัวเรือน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะการดูอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวคงไม่พอ รวมทั้งพิจารณาว่าจะมีการใช้เครื่องมือ macroprudential (นโยบายดูแลป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ) หรือไม่
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า ความท้าทายถัดมา คือ การพัฒนาระบบการเงินที่เหมาะสม โดยวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบการเงินยังเหมือนเดิม เช่น ให้ตลาดการเงินเป็นแหล่งระดมทุนที่กว้างและคล่องตัว พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีการแข่งขันกัน เข้าถึงง่าย และมีความเชื่อมโยง รวมทั้งอยากได้รับบการชำระเงินที่ถูก ดี และปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ใหม่ที่ต้องคิดให้ละเอียดลึกซึ้ง เช่น บทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น
(ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
@ธปท.จะเป็น ‘อิสระ’ จากรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่ได้
ดร.ประสาร ขยายความถึงเสาหลักที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องบุคคลกับองค์กร ว่า เป็นความท้าทายหนึ่งของการเป็นผู้ว่าการ ธปท. เพราะเป็นส่วนสำคัญของความเป็นสถาบันของแบงก์ชาติ ซึ่งก็คล้ายกับหน่วยงานอื่นๆ เราอยากได้คุณสมบัติเหล่านี้ เช่น เรามีความชัดเจนเรื่องวิสัยทัศน์ขององค์กร เราอยากได้ความเชื่อมั่น (trust) จากผู้เกี่ยวข้อง และการเข้าถึงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น โดยคุณสมบัติดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นทั้งภายใน ธปท. และคนนอกที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. ด้วย
ขณะที่เสาหลักที่ 3 หรือ ประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม ซึ่งเป็นเรื่องนี้มีความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรที่มีอายุ 80 ปี เพราะด้วยเวลาที่ยาวนาน ค่านิยมจะมีการตกผลึกเป็นรากฝังก่อให้เกิดวัฒนธรรมขององค์กรขึ้น และมีส่วนสำคัญในการนำพาสมาชิกในการประพฤติปฏิบัติ หรือแม้แต่ชุดความคิดต่างๆ ดังนั้น ค่านิยมพวกนี้มีส่วนต่อความเชื่อมั่น (trust) ของสาธารณะ ขณะที่ ธปท.เองก็พยายามลงจาก ‘หอคอยงาช้าง’ และลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงในพื้นที่มากขึ้น
“เรื่องหนึ่งที่ควรจะพูดก่อนจบ คือ ความสัมพันธ์กับรัฐบาล ตลอด 5 ปีของการเป็นผู้ว่าการ ผมจะเลี่ยงเสมอกับคำว่า ‘อิสระ’ เพราะธนาคารกลางจะไปอิสระจากรัฐบาลกลางที่มาจากประชาชนไม่ได้ แต่ก็ต้องให้เครดิตกับผู้ว่าการคนก่อนๆ ที่พยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า Protocol ที่ชัดเจนกว่าในอดีต เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่วนการเลือกเครื่องมือและเวลา เราขอมีอิสระพอสมควร
แต่ทั้งหมดที่ยกขึ้นมานี้ หัวใจของ Protocol คือ transparency (ความโปร่งใส) และ accountability (ความรับผิดชอบ) นี่เป็นข้อต่อในช่วงเหลียวหลัง 5 ปี จาก 80 ปีของ ธปท. และเวลา 5 ปีนี้ก็จะเล็กลงเรื่อยๆ แล้วก็หวังว่าจะมีประโยชย์ต่อการแลหน้าไปอีกหลายปี” ดร.ประสาร กล่าว
@ออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ‘ระบบการเงินเงา-นอนแบงก์’
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ในช่วงปี 2558-2563 ระบุ ในช่วง 5 ปี ที่ตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แม้ว่าเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน แต่มีเหตุการณ์ในช่วงชีวิตที่มีความสำคัญมาก และแม้ว่าในช่วง 5 ปี ที่ตนเข้าดำรงตำแหน่งนั้น สถานการณ์ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจจะแตกต่างไปจากที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. แต่ละท่านได้พูดไป แต่ต้องขอขอบคุณอดีตผู้ว่าการฯทุกท่าน ที่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินไทย
“เราไม่ต้องเผชิญกับความอ่อนแอของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 5 ปี ที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราก็ดีมาก ถึงแม้ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เราพูดกัน ประเทศไทยสามารถรับแรงปะทะได้ค่อนข้างดี เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัญหาที่ผมเจอในช่วง 5 ปี คือ เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของเราเป็นส่วนใหญ่” ดร.วิรไท กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.วิรไท กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่ตนต้องเผชิญในช่วง 5 ปีของดำรงตำแหน่ง คือ ขณะนั้นเป็นโลกที่มีความผันผวนสูงมาก มีความไม่แน่นอนสูงมาก และเป็นโลกที่มีซับซ้อน คลุมเครือในเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ หรือ VUCA รวมทั้งเป็นโลกที่อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกอยู่ในระดับต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำด้วย
“เวลาที่สภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ก็ทำให้ทุกคนต้องพยายามแสวงหาผลตอบแทนให้สูง หรือที่เรียกว่า search for yield ซึ่งเกิดขึ้นในระบบการเงินของเราค่อนข้างมากในช่วง 5 ปี และเราต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก เช่น geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์โลก) ประเทศใหญ่ๆเขามีปัญหาทางเศรษฐกิจ และมาตรการหลายอย่างที่ทำ ก็จะกลับมากระทบกับเรา โดยที่ไม่ตั้งใจ” ดร.วิรไท กล่าว
ดร.วิรไท กล่าวต่อว่า ในเรื่องเสถียรภาพ ในช่วงที่ 5 ปี ที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. ความท้าทายอาจไม่ใช่เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่างประเทศ หรือเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ ธปท. มีความกังวลเกี่ยวกับระบบการเงินเงา หรือ shadow banking โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนอนแบงก์ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ของการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ระบบการเงินเงา หรือ นอนแบงก์ มีระบบที่ไม่เข้มงวดเท่ากับระบบการกำกับดูแลของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเงินก็เหมือนน้ำย่อมไหลไปในที่ที่มีอุปสรรคน้อยกว่า มีกฎเกณฑ์กติกาน้อยกว่า หรือให้ผลตอบแทนน้อยกว่า และมีอย่างน้อย 3 จุด ที่มีโอกาสสร้างความเสี่ยงให้กับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้ ได้แก่
1.เรื่องตลาดทุน เรามีปัญหาหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ High Yield Bond และออกช่วงสั้นๆ 3-6 เดือน และเกิดปัญหาว่าบริษัทผู้ออกตราสารเหล่านี้บางแห่งมีปัญหาไม่สามารถชำระได้ รวมทั้งอาจเกิดปัญหาลุกลามได้
โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.2563 โดยที่ทุกคนไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่และอย่างไร ส่งผลกระทบต่อตลาดบอนด์ มีการเทขายพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ ธปท. ต้องเรียกประชุม กนง.เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในคืนวันศุกร์ และมีการมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมอีกมาก เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ ไฟก็จะลามทุ่ง แล้วโยงมาสู่เสถียรภาพการเงินทั้งระบบ
2.เรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งที่ดึงดูดเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ อัตราดอกเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ในระดับสูง แต่หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์มีปัญหา ทั้งเรื่องการทุจริต และการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น แต่ก็ยังโชคดีที่ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเราได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
3.เรื่องสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในช่วงที่ผ่านมามีการทำนโยบายกึ่งประชานิยมที่อาศัยสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไก ทำให้เกิดเสียหายต่างๆ และแม้ว่าจะมีการบันทึกความเสียหายไว้ แต่การบันทึกตรงนั้น ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ ธปท. ซึ่งรับบทบาทในการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย จึงออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
(ดร.วิรไท สันติประภพ)
@จัดการปัญหาที่เป็น ‘ระเบิดเวลา’ ก่อนกระทบเสถียรภาพการเงิน
ดร.วิรไท กล่าวว่า ธปท.ยังเข้าไปดูเรื่องที่ยังไม่ได้เป็นปัญหาหรือกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในวันนี้ แต่จะเป็นปัญหาในวันข้างหน้า หรือเป็นระเบิดเวลาที่สร้างปัญหาเสถียรภาพในอนาคต ได้แก่ เรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งธปท.ได้เข้าไปมีบทบาทในมีการออกกฎเกณฑ์เข้ามากำกับดูแล เช่น การใช้มาตรการ macro prudential อาทิ การกำกับดูแลบัตรเครดิต และการออกมาตรการ LTV เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเงินทอน เป็นต้น
อีกจุดหนึ่งที่จะเป็นระเบิดเวลาได้ในอนาคตหากไม่จัดการ คือ ภัยเกี่ยวกับไซเบอร์ เพราะเกิดขึ้นบ่อยมาก ดังนั้น ธปท.ต้องทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างจริงจัง เพื่อสร้างเกราะคุ้มภัยเรื่องไซเบอร์
“เรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน แม้โจทย์ที่ท้าทายจะต่างไปจากเดิม แต่หลักการจะคล้ายกัน และพูดกันมาในช่วง 5 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ คือ เราจะต้องจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันอย่าให้ลาม” ดร.วิรไท กล่าว
สำหรับงานในด้านการพัฒนานั้น เมื่อเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในภาวะที่ดี ทำให้ ธปท. มีเวลาในการเข้าไปแก้ปัญหาต่างๆได้มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ธปท.ได้เข้าไปพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบพร้อมเพย์ ระบบ Thai QR Code เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์คนไทยตัวเล็กตัวน้อย และลดการบิดเบือนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการชำระเงิน
นอกจากนี้ ธปท.ยังผลักดันเรื่องระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงการออก market conduct เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน การปรับเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด และเข้าไปกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ทบทวนกฎกติกาที่ล้าหลัง หรือที่เรียกว่า Regulatory Guillotine
“เราต้องเผชิญกับแรงกดดันหลากหลายด้าน และทุกอย่างที่เราทำอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ มีทั้งผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์ก็มักจะนั่งเฉยๆ แต่ผู้เสียประโยชน์ก็มักจะรวมกลุ่มกัน แล้วมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทย พนักงานจึงต้องมีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่สำคัญ” ดร.วิรไท กล่าวตอนท้าย
อ่านประกอบ :
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : ‘แก่น’ ของ ‘ธนาคารกลาง’ มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน