"...จากการตรวจสอบในเบื้องตันพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกถอนเงินและบันทึกข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากเท็จ ซึ่ง มีนางศิริพร รัตนปราการ หัวฝ่ายการเงิน และ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2565..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น
ภายหลังจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเรื่องนี้มาเปิดประเด็นให้สาธารณชนรับทราบ ตั้งแต่ในช่วงเช้าวันที่ 2 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
- งานเข้า ก.เกษตรฯ! จนท.สหกรณ์ออมทรัพย์ ทุจริตเงินบัญชีสมาชิกมากกว่า 30 ล.
- ยอดเสียหายพุ่ง 200ล.! สหกรณ์ก.เกษตรฯ ลุยแจ้งความ 'จนท.-ผจก.' คดียักยอกเงินแล้ว
- ทุน 2.4 พันล.! เปิดตัวสหกรณ์ก.เกษตรฯ ก่อนเกิดกรณีทุจริตจนท.ยักยอกเงินหลายสิบล้าน
- 2ผู้ต้องสงสัยหนีนานแล้ว! เกษตรฯเร่งแก้ทุจริตสหกรณ์ กันทุนสำรอง4ล./วัน รับมือสมาชิกแห่ถอน
ล่าสุด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นทางการแล้ว
เมื่อสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรางเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกคำสั่งที่ 8/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการ
ระบุเนื้อหาในคำสั่งว่า ด้วยสหกรณ์ได้เปิดให้บริการระบบสมาชิกออนไลน์เพื่อให้สมาชิกได้ตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมกับสหกรณ์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ปรากฏว่า มีสมาชิกหลายรายแจ้งว่า ข้อมูลจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษของระบบสมาชิกออนไลน์มีจำนวนเงินน้อยกว่าข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากที่สมาชิกมาทำธุรกรรมกับสหกรณ์เป็นจำนวนมาก และได้มายื่นเรื่องขอตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 เรื่อยมา
จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกถอนเงินและบันทึกข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากเท็จ ซึ่ง มีนางศิริพร รัตนปราการ หัวฝ่ายการเงิน และ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2565
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 70 (20) แห่งข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด พ.ศ. 2563 และข้อ 62 ของระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยผู้จัดการ ผู้ปฏิบัติงาน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 ประกอบกับมติคณะกรรมการดำเนินการ ชุดที่ 50 ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565
จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วย
1. นายไพฑูรย์ โกเมนท์ ประธานกรรมการ
2. นางสุพิศ พูลคุณานุกูร กรรมการ
3. นายมนูญ รัตนอุบล กรรมการ
4. นายชัยภัทร เกษมณี กรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยผู้จัดการ ผู้ปฏิบัติงาน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 และที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงผู้อื่น ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบและพิจารณาสั่งการ
สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 (ดูคำสั่งประกอบ)
ขณะที่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยแพร่ข่าวสาร เรื่องสหกรณ์ เร่งจัดการปัญหาการทุจริต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ว่า สืบเนื่องจากการเปิดใช้ระบบสมาชิกออนไลน์ ของสหกรณ์เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 เพื่อให้สมาชิกตรวจสอบการทำธุรกรรมกับสหกรณ์ แล้วพบว่าเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ของสมาชิกหายไปเป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการจึงได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 65 เพื่อแก้ขปัญหา ดังนี้ 1) ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกตรวจสอบข้อมูลสมุดคู่ฝากบัญชีฯ เทียบกับในระบบสมาชิกออนไลน์หากไม่ตรงกันให้แจ้งสหกรณ์โดยด่วน 2) ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีทุจริต และ 3) กำหนดแนวทางบริหารเพื่อรองรับปัญหา สมาชิกขาดความเชื่อมั่น แห่ลาออก/ถอนเงินจะทำให้ขาดสภาพคล่อง และได้มีสารจากประธานสหกรณ์ชี้แจงในเบื้องต้นผ่านทางสื่อออนไลน์
@ เร่งแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่
ภายหลังจากมีการรับคำร้องจากสมาชิกตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 65 เรื่อยมา สหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและหาหลักฐานในเบื้องต้นเพื่อระบุตัวผู้ต้องสงสัยในการทุจริต ซึ่งพบบัญชีผิดปกติบางรายย้อนหลังกว่าสิบปี สหกรณ์ได้ไปแจ้งความในวันที่ 3 เม.ย. 65 เพื่อดำเนินคดีที่สถานีตำรวจนครบาสนางเลิ้ง ท้องที่เกิดเหตุ กับเจ้าหน้าที่ 2 ราย โดยมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น 200 กว่าล้านบาท จากสมาชิกผู้เสียหาย37 ราย
ต่อมาในวันที่ 4 เม.ย. 65 ได้แจ้งข้อมูลทรัพย์สินในเบื้องต้นของผู้ต้องหาและบริวาร ให้ตำรวจดำเนินการอายัดฯ ต่อไป
@ สั่งตรวจข้อมูลการเงิน 100%
ทั้งนี้ วันที่ 4 เม.ย. 65 กรมส่งเสริมสหกรณ์นำโดยรองอธิบดี นายประกอบเผ่าพงศ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นำโดยรองอธิบดี นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ เข้าช่วยแก้ไขปัญหา โดยมีประธานสหกรณ์ นางสุภาพร พิมลลิขิต ร่วมการหารือ ทั้ง 2 หน่วยงาน ให้สอบทานหนี้ ข้อมูลการเงินทั้งหมด 100% เพื่อทราบมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง แจ้งโดยตรงไปที่สมาชิกทั้งหมด 4,000 กว่าคน ร่วมตรวจสอบภายใน 7 วัน แล้วให้ส่งไปที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ
นอกจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน จะส่งผู้แทนมาช่วยตรวจสอบคำร้องบัญชีเงินฝากที่ถูกทุจริตไป เพื่อเร่งจ่ายเงินคืนแก่สมาชิกโดยเร็ว สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา
สหกรณ์ตระหนักดีว่ามูลค่าความเสียหายในการตรวจเจอครั้งนี้ แม้จะมีจำนวนมาก เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วสหกรณ์ยังมีเงินที่ล้นระบบไม่มีสมาชิกกู้อยู่อีกจำนวน 600 กว่าล้านบาท ฝากไว้กับสหกรณ์/สถาบันการเงินอื่น เป็นทุนหมุนเวียนได้ในขณะนี้
จึงยังไม่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และมีทุนสำรองหากประสบปัญหาอีก 140 กว่าล้านบาท
ดังนั้น สหกรณ์ยังมีความมั่นคงทางการเงิน ในการให้บริการแก่สมาชิก
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ 2 ผู้ต้องสงสัยในคดีทุจริตครั้งนี้ คือ นางศิริพร รัตนปราการ หัวฝ่ายการเงิน และ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในส่วนของ นางศิริพร เคยมีข่าวว่า ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้เข้ามาทำงาน แต่ล่าสุดจากสอบถามข้อมูลคนในครอบครัว ทราบว่า นางศิริพร หายตัวไปนานแล้ว และไม่มีใครรู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เช่นเดียวกันกับ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ก็ไม่มีใครติดต่อได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศรา เพิ่มเติมว่า การทุจริตในคดีนี้น่าจะเริ่มทำมาหลายปีแล้ว อาจจะถึงปี 2558 และเชื่อว่าน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการนี้ มากกว่าแค่ นางศิริพร และ นางพวงทิพย์ เท่านั้น