ถ้าคำตัดสินของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ต่อกรณี พล.อ.ประวิตรซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้ยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อนนักธุรกิจนั้นไม่ถือว่าเป็นการรับประโยชน์แต่อย่างใด คำตัดสินของ ป.ป.ช. ดังกล่าวก็อาจเป็นเหมือนการสนับสนุนการรับสินบนทางอ้อมได้ และอาจจะส่งผลทำลายระบบตรวจสอบอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน
หนึ่งในข่าวการตรวจสอบที่ยังคงเป็นที่สนใจของคนไทย และถูกพูดถึงจนถึง ณ เวลานี้ ก็คือกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
@จุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหา
ที่ไปที่มาของกรณีดังกล่าวนั้นย้อนกลับไปได้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2560 ในระหว่างรอถ่ายรูปหมู่กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 5" พล.อ.ประวิตรได้ยกมือขึ้นบังแดด ก่อนกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลาย เมื่อสื่อสังคมออนไลน์สังเกตเห็นนาฬิกาที่ข้อมือของรองนายกฯ เป็นยี่ห้อ ริชาร์ด มิลล์ สนนราคาตั้งแต่หลักล้านถึง 10 ล้านบาท
ทำให้ทางเพจออนไลน์ CSI LA ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลมาจากรูปถ่ายต่างๆมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2561 สรุปข้อมูลว่า พล.อ.ประวิตร ใส่ “นาฬิกาหรู” ที่ปรากฏภาพจากข่าวของสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 อย่างน้อย 22 เรือนด้วยกัน (รูปซ้ำกัน 3 เรือน)
นาฬิการิชาร์ด มิลรุ่น RM29 ที่ถูกระบุว่าเป็นรุ่นเดียวกับที่อยู่บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตร ในวันถ่ายรูป ครม."ประยุทธ์ 5"
แต่ปัญหาก็คือว่านาฬิกาหรูดังกล่าวนั้นไม่เคยมีการชี้แจงอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลย ขณะที่ทางด้านของตัว พล.อ.ประวิตรเองก็ได้ชี้แจงว่านาฬิกาที่ปรากฏอยู่ในข่าวนั้นเป็นนาฬิกาซึ่งยืมเพื่อนมาและได้คืนไปหมดแล้ว โดยในภายหลังก็มีการสืบทราบว่าเพื่อนที่ พล.อ.ประวิตรพูดถึงนั้นก็คือนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เจ้าของธุรกิจเครือคอม-ลิ้งค์ และยังเป็นเพื่อนนักเรียนสมัยเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งนายปัฐวาทเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2560
จากกรณีดังกล่าวทำให้ทาง ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตรวจสอบประเด็นเกี่ยวข้องต่างๆ
โดยประเด็นที่ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบไปแล้วก็คือกรณีที่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้แจ้งรายละเอียดนาฬิกาไว้ในบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.มีมติไปแล้วปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 เสียง ให้ตีตกเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไม่มีมูลเพียงพอ ว่า พล.อ. ประวิตร จงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
แต่ยังคงเหลืออีกข้อกล่าวหาหนึ่ง ที่พล.อ.ประวิตรต้องเผชิญ ก็คือว่าการยืมนาฬิกาดังกล่าวนั้นจะถือว่าเป็นการรับทรัพย์ หรือว่าผลประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาทหรือไม่ ซึ่งจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 128 วรรคที่หนึ่งของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่ระบุว่าห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
ส่วนมาตรา 169 ก็ได้ระบุบทบัญญัติโทษเอาไว้ว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 128 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยประเด็นพิจารณาความผิดฐานรับผลประโยน์อื่นใดนั้นก็ได้มีความคืบหน้าจากทาง ป.ป.ช.มาเป็นลำดับ นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางด้านของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญของ ป.ป.ช.ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร โดยรายละเอียดของคำวินิจฉัยบางช่วงบางตอนมีดังต่อไปนี้
"พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้องยืมนาฬิกา จำนวน 22 เรือน มาจากนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และเมื่อใช้เสร็จก็ได้คืนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการยืมใช้คงรูป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 640, 641 ดังนั้น การได้รับประโยชน์ใช้สอยจากนาฬิกาจึงเป็นประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายที่ผู้ยืมพึงมีสิทธิได้รับ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 เห็นควรไม่รับเรื่อง "
ทั้งนี้มติของคณะอนุกรรมการฯ ป.ป.ช. ดังกล่าวนั้นยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เพราะจะต้องมีการนำเอามตินั้นเข้าไปสู่ที่ประชุมป.ป.ช. ใหญ่อีกครั้งหนึ่ง (อ่านประกอบ:อนุฯ ป.ป.ช.ตีตกปม 'ประวิตร' รับนาฬิกาหรูเกิน3พัน-กรมศุลฯ ขายของคืนลูกสาว'ปัฐวาท'19 ล.)
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ก็ได้กล่าวเสริมถึงประเด็นที่จะพิจารณาต่อไปในอนาคตว่า “กรณีนี้ที่เพื่อนซึ่งให้ยืมกันเอง การคิดมูลค่า ตรงนี้นั้นจะสามารถคิดมูลค่าเป็นเงินได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันอาจจะเป็นเรื่องน้ำใจ หรือว่าเขามีสิ่งของซึ่งเขาอาจจะให้ยืมไปก่อนหรืออะไรต่าง ๆ นั้นตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยพอสมควร”
@หวั่นคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ทำลายมาตรฐานนักการเมือง-กระทบภาพลักษณ์กระบวนการตรวจสอบ
แต่คำวินิจฉัยของอนุกรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร และถ้าหากที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้มีมติไปในทางเดียวกับอนุกรรมการฯ ป.ป.ช.ว่าให้ตีตกข้อกล่าวหาด้วยเช่นกัน ก็จะส่งผลกระทบได้ทั้งในแง่ลบต่อมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และต่อภาพลักษณ์การทำหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.ได้
เพราะในอนาคตนั้นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะสามารถใช้ข้ออ้างว่าตัวเองมีเพื่อนที่รู้จักกันว่าเป็นเศรษฐี สามารถไปยืมของที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้มาใช้งานได้เช่นกัน อย่างเช่นรถยนต์ ก็สามารถยืมมาขับประมาณ 4-5 เดือน เบื่อแล้วก็ยืมยี่ห้อใหม่ได้และยืมต่อไปเรื่อยๆเช่นกัน โดยอ้างมาตรฐาน พล.อ.ประวิตรเพื่อใช้กับตัวเอง
ประเด็นที่สำคัญต่อมาก็คือว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าในช่วงเวลาที่ทั้งผู้ให้ยืมและผู้ยืมที่เรียนด้วยกันอยู่นั้น ทั้งสองคนนั้นก็อาจจะไม่ได้สนิทหรือว่ารู้จักกันเลยแต่กลับเพิ่งจะมามีความสนิทสนมกันตอนที่อีกฝ่ายหนึ่งเพิ่งจะมามีอำนาจทางการเมืองเพื่อที่จะหาผลประโยชน์บางประการอาทิ “เพื่อนคนหนึ่งเป็นนักธุรกิจ เพื่อนอีกคนเป็นนักการเมือง เพื่อนคนที่เป็นนักธุรกิจให้ของหรูหราแก่เพื่อนนักการเมืองยืมไปใช้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เพื่อนนักการเมืองจะอนุมัติโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักธุรกิจ” กรณีดังกล่าวนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
ถ้าคำตัดสินของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ต่อกรณี พล.อ.ประวิตรซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้อื่นได้ยืมนาฬิกาหรูจากเพื่อนนักธุรกิจนั้นไม่ถือว่าเป็นการรับประโยชน์แต่อย่างใด คำตัดสินของ ป.ป.ช. ดังกล่าวก็อาจเป็นเหมือนการสนับสนุนการรับสินบนทางอ้อมได้ และอาจจะส่งผลทำลายระบบตรวจสอบอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน
ดังนั้นภาระจึงตกอยู่ที่ ป.ป.ช. ที่จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงของการตัดสินไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพื่อสร้างความกระจ่างต่อเหตุผลของการตัดสินให้สังคมได้รับรู้
@ ป.ป.ช. แจงต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป การยืมแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน
ขณะที่นายนิวัติไชยก็ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องข้อกังวลต่อมติของ ป.ป.ช.ว่าอาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ดีให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกล่าวว่าความจริงแล้วเรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่มาตรฐาน เพราะว่าข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องเกี่ยวกับการยืมของนั้นมีความไม่เหมือนกัน อย่างเช่นกรณีของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ก็อ้างว่าเพื่อนให้ยืมรถมา แต่เราพิสูจน์ได้แล้วว่ารถนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยืมเพื่อนมา เป็นเรื่องที่มีการยักย้ายถ่ายเทและมีการซุกซ่อนทรัพย์สิน แต่กรณีของ พล.อ.ประวิตรนั้นเป็นนาฬิกาที่ถูกพิสูจน์ว่ามันเป็นของอีกคนหนึ่ง แต่เขาเอามาใช้ ซึ่งข้อเท็จจริงของ 2 กรณีนั้นถือว่ามีความแตกต่างกันออกไป ก็ต้องแยกแยะก่อน ไม่สามารถจะไปเหมารวมว่าจะเป็นบรรทัดฐานได้ อยู่ที่การพิสูจน์ ตรวจสอบทรัพย์สินกันเป็นหลัก
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อถึงประเด็นการให้คุณให้โทษ ว่าถ้ามีนักการเมืองอนุมัติในอะไรบางอย่างที่เป็นการให้ประโยชน์ให้กับผู้ให้ยืมนั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นผลประโยชน์ที่ได้แลกเปลี่ยน ฟังได้ว่ามูลเหตุในการจูงใจการกระทำความผิด มาจากการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินโดยให้ยืม เรื่องนี้นั้นจะถือว่าเป็นข้อเท็จจริงอีกแบบหนึ่งแล้ว
“แต่สำหรับคดีของ พล.อ.ประวิตร มันไม่ได้บอกเลยว่าคนที่ให้ยืมมาเขาไปทำธุรกิจอะไรในกระทรวงกลาโหมที่ พล.อ.ประวิตรเคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ ผมยกตัวอย่าง อย่างเช่น ผมขาดเงิน ผมไปยืมเงินเพื่อน เงินให้ยืมตรงนี้ต้องแสดง เพราะเงินมันเป็นการสิ้นเปลือง แต่ถ้าเขาบอกว่าขอยืมรถไปใช้หน่อย วันนี้รถเสีย ตรงนี้จะมีการตีราคากันอย่างไร มันก็เป็นผลประโยชน์เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ผลประโยชน์ในทางธุรกิจ และก็ไม่ใช่เป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง เพราะว่าต้องคืนรถเขา เพียงแต่ว่าต้องขอยืมไปใช้เท่านั้นเอง ดังนั้นวันนี้ต้องแยกข้อเท็จจริงไปเป็นเรื่องๆ แต่ถ้าการยืมนั้นมีมูลเหตุจูงใจบอกว่าให้ผลประโยชน์ผมในเรื่องนี้ ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วผมจะให้ยืมรถไปใช้ ถ้านักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องในสัญญาด้วย ก็ฟังได้ว่าเป็นมูลเหตุจูงใจที่เขากระทำผิด” นายนิวัติไชย กล่าว และย้ำว่าทุกอย่างต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงประกอบกันด้วย เพราะการยืมมันก็มีหลายกรณี อย่างเช่นการให้ยืมด้วยผลประโยชน์แอบแฝง ให้ยืมแบบลูกดูแลพ่อ ดูแลเพื่อนฝูง ก็ต้องดูเป็นกรณีไป ประเด็นสำคัญคือต้องดูด้วยว่ามันมีอะไรตามมาทีหลังหรือไม่
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวทิ้งท้ายว่าดังนั้นการยืมต้องตามไปดูมูลเหตุจูงใจด้วย ซึ่งต่อให้เป็นการยืมตามกฎหมาย แต่ว่ามีมูลเหตุจูงใจนั้น เรื่องนี้ก็ถือว่าทำไม่ได้
และนี่ก็คือคำชี้แจงของเลขาธิการ ป.ป.ช.ล่าสุด ต่อกรณีข้อกังวลว่าคำตัดสินของ ป.ป.ช.จะกลายเป็นมาตรฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคตหรือไม่
ทั้งนี้คำตัดสินของ ป.ป.ช.ต่อข้อกล่าวหาว่า พล.อ.ประวิตรรับผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยการยืมนาฬิกาหรูจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด และเจาะลึกในรายละเอียด เพราะไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ประเด็นถกเถียงที่จะตามมานั้นก็จะเกิดขึ้นต่อไปอีกนานนับตั้งแต่วันที่มีคำตัดสินของ ป.ป.ช.
อ่านประกอบ :
-
อนุฯ ป.ป.ช.ตีตกปม 'ประวิตร' รับนาฬิกาหรูเกิน3พัน-กรมศุลฯ ขายของคืนลูกสาว'ปัฐวาท'19 ล.
-
ทำความเข้าใจช่องทางถอด กก.ป.ป.ช. ปมตีตกคดีนาฬิกาหรู-‘พรเพชร’ตัวแปรสำคัญ?
-
'ศรีสุวรรณ'ล่า 2 หมื่นชื่อชงถอดถอน 5 กก.ป.ป.ช.ข้างมากตีตกคดีนาฬิกา'บิ๊กป้อม'
-
ชอตต่อชอต! เทียบคดีนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' - รถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’
-
เบื้องหลัง กก.ป.ป.ช. เสียงข้างมาก ลงมติ 5:3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม' ยืมเพื่อนไม่ผิด!
-
ยืมเพื่อนไม่ผิด! ป.ป.ช.มติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกาหรู'บิ๊กป้อม'
-
ปิดม่านมหากาพย์นาฬิกาเพื่อน‘บิ๊กป้อม’ ป.ป.ช.ตีตก-เหลือปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พัน?