"...จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าดาบตำรวจ สายัณ อบเชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญ กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ตามคำสั่ง กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 73/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน 2553 ได้รับเงิน จากผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 91,618,000 บาท..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีการชี้มูลความผิดกรณีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 3 ราย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 151,067,518 บาท และมีอีก 1 กรณี คือ นายมโน ชูนุตร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา จังหวัดพังงา จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
****************
การชี้มูลคดีที่สำคัญ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) ได้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นหรือคำวินิจฉัยว่าผู้ใดร่ำรวยผิดปกติทั้งสิ้น 3 เรื่อง โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 151,067,518 บาท
รายที่ 1 ดาบตำรวจสายัณ อบเชย ตำแหน่งผู้บังคับหมู่กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญกองโยธาธิการ มีมูลค่าความเสียหาย 97,616,150 บาท
รายที่ 2 นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูมิ ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ มีมูลค่าความเสียหาย 52,491,368 บาท
รายที่ 3 นายปัญญา เขียวธง ตำแหน่งนายกเทศมนตรี ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูนและ นางสาวอาภาภรณ์ พุทธปาน ตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูน มีมูลค่าความเสียหาย 960,000 บาท
@ กรณีนายปัญญา เขียวธง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ตำบลต้นธง จังหวัดลำพูน ร่ำรวยผิดปกติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติมอบหมายคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น เรื่องกล่าวหานายปัญญา เขียวธง เมื่อครั้งดำรงนายกเทศมนตรีตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ร่ำรวยผิดปกติ
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายปัญญา เขียวธง ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูล อันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 960,000 บาท ตามรายการหนี้สินค่าเช่าซื้อรถยนต์ ดังต่อไปนี้
1. รถยนต์นั่งสองตอนท้ายบรรทุก ยี่ห้อ FORD หนี้สินค่าเช่าซื้อลดลงจำนวน 210,000 บาท
2. รถยนต์เก๋งสองตอน ยี่ห้อ BENZ รุ่น หนี้สินค่าเช่าซื้อลดลง 750,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
การกระทำของนายปัญญา เขียวธง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลต้นธง ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมา โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 960,000 บาท ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่แจ้ง โดยให้ถือว่ากระทำ การทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า ต่อไป
หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหา ได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ราย ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
@ กรณีกล่าวหา ดาบตำรวจ สายัณ อบเชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญ กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่ำรวยผิดปกติ
สืบเนื่องจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) ขนาด 30 ครอบครัว สูง 5 ชั้น จำนวน 163 หลัง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งดาบตำรวจ สายัณ อบเชย เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ จำนวน 163 หลัง ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ว่าการกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 151 และ 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงนั้น
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เพื่อดำเนินการขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าดาบตำรวจ สายัณ อบเชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กลุ่มงานวิชาชีพและเชี่ยวชาญ กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้ง เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 ตามคำสั่ง กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 73/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน 2553 ได้รับเงิน จากผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 91,618,000 บาท
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ได้มีการโอนหรือยักย้ายถ่ายเทเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากของตนหรือไปยังบัญชีเงินฝาก ที่ตนเอง และคู่สมรสของตนเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกันอีกหลายครั้งจนกระทั่งมีการถอนเงินไปซื้อที่ดิน จำนวน 10 แปลง เมื่อพิจารณาจากรายได้ของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย และคู่สมรส จากรายการแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบกับประวัติการรับราชการของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย แล้วมีรายได้และฐานะทางการเงินไม่สัมพันธ์ กับทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่าดาบตำรวจ สายัณ อบเชย ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมา โดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 91,618,000 บาท
ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกผู้ถูกกล่าวหาภายในหกสิบวัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ต่อไป หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปี ตามนัยมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ด้วย
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 ราย ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานที่สำคัญมีดังนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 102 และมาตรา 103 ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อออกประกาศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมถึงตรวจสอบ ความเปลี่ยนแปลงของรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จำนวนทั้งสิน 25,971 บัญชี โดยแยกเป็น สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง จำนวน 3,536 บัญชี และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 22,435 บัญชี
2. การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 106 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 102 (1) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลตามมาตรา 102 (2) (3) (7) และ (9) รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน และภาพถ่ายทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยปิดประกาศที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และเปิดเผยทางเว็ปไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวนทั้งสิ้น 702 ฉบับ แบ่งเป็น สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง จำนวน 116 ฉบับ และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 586 ฉบับ
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณากรณีผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินนั้น และได้มีมติ กรณีดังกล่าวส่งให้ศาลที่มีเขตอำนาจวินิจฉัยในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) จำนวนทั้งสิ้น 1 เรื่อง คือ นายมโน ชูนุตร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา จังหวัดพังงา กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน