"...คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ได้กำหนดราคาที่เหมาะสมในการจัดซื้อไว้ที่ไร่ละ 190,000 บาท เป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่มีการซื้อขายกันจริงในท้องตลาดในช่วงนั้น เนื่องจากเมื่อพิจารณาทั้งราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง สาขาควนขนุน ซึ่งในส่วนนี้ได้พิจารณาไว้แล้วว่า ในเบื้องต้นราคาที่เหมาะสมในการจัดซื้อคำนวณให้ในราคาที่สูงที่สุดไม่ควรเกินกว่าไร่ละ 100,000 บาท..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่โรงแรมลำปำรีสอร์ท อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพัทลุง ได้แถลงผลการชี้มูลคดีกล่าวหาทุจริตผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และข้าราชการ พื้นที่ภาคใต้ ในรอบปี 2564 และปี 2565 ครั้งที่ 3 จำนวน 1 คดี คือ กรณีกล่าวหา นายคณนาถ หมื่นหนู เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กับพวก รวม 7 คน กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดิน เพื่อก่อสร้างตลาดน้ำของเทศบาลตำบลทะเลน้อย ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ดินที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ และราคาแพงกว่าความเป็นจริง ในปีงบประมาณ 2556 รวม 4 สัญญา
ขณะที่ นายคณนาถ หมื่นหนู ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ว่า ได้รับทราบมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้แล้ว โดยมีนัดหมายไปรายงานตัวต่อสำนักงานอัยการภาค 9 วันที่ 11 เมษายน 2565 เพื่อนำตัวไปส่งฟ้องศาลสู้คดีตามขั้นตอนทางกฎหมายซึ่งมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง และเชื่อมั่นในการพิจารณาคดีของศาลที่จะให้ความเป็นธรรมในการตัดสินคดีนี้
"การตัดสินใจซื้อที่ดิน เพื่อทำตลาดในช่วงปี 2556 ปัจจุบันสร้างผลตอบแทนอย่างมาก ทั้งในเชิงธุรกิจและมูลค่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนราคาที่ดินไม่ได้ซื้อแพงเกินความจริงตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ และป.ป.ช.นำสำนวนไปใช้ประกอบการชี้มูล ไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ความเป็นผู้บริหารในการมองการณ์ไกลด้วย " นายคณนาถกล่าว
@ นายคณนาถ หมื่นหนู
เมื่อถามว่า การถูกชี้มูลความผิดครั้งนี้ จะมีผลต่อการดำรงตำแหน่ง โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือไม่ นายคณนาถ ตอบว่า "ในเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม จะมีผลต่อการดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง แต่ตำแหน่งโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ผมเป็นอยู่ ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง มีลักษณะเป็นคณะทำงาน แต่งตั้งตามคำสั่ง และที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากตำแหน่งนี้ด้วย ซึ่งเรื่องทั้งหมดคงจะรายงานให้รัฐมนตรีรับทราบเป็นทางการต่อไป"
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดพฤติการณ์-ข้อกล่าวหาการกระทำความผิดของ นายคณนาถ หมื่นหนู และพวกรวม 7 ราย รวมถึงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการชี้มูลความผิดคดีนี้
กรณีกล่าวหา
นายคณนาถ หมื่นหนู เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กับพวก รวม 7 คน ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดิน เพื่อก่อสร้างตลาดน้ำของเทศบาลตำบลทะเลน้อยทั้งๆ ที่เป็นที่ดินที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ และราคาแพงกว่าความเป็นจริง ในปีงบประมาณ 2556 รวม 4 สัญญา
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
(1) กรณีการจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 2/2556 และ 3/2556 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 นายคณนาถ หมื่นหนู นายกเทศมนตรีตำบลทะเลน้อย ได้จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างตลาดน้ำ โดยจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 31 จำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 2/2556 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ในราคาไร่ละ 190,000 บาท จากนางใจทิพย์ เหมือนสังข์ เป็นเงิน 2,916,500 บาท และจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 160 จำนวนเนื้อที่ - ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 3/2556 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ในราคาไร่ละ 190,000 บาท จาก นายจรูญ นุ่นคง เป็นเงิน 171,000 บาท โดยนายคณนาถฯ ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการเองในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อ เพื่อให้มีการจัดซื้อที่ดินที่เป็นเพียงสิทธิครอบครอง ทั้งที่ที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ตามกฎหมาย ไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนของตำแหน่งที่ตั้ง จำนวนเนื้อที่ และมีความเสี่ยงที่จะทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ทะเลน้อยและลำคลองสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้มีการทักท้วงการจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 มาโดยตลอดแล้วว่าที่ดินดังกล่าว ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งกรณีจัดซื้อที่ดินในราคา ไร่ละ 190,000 บาท
จากการตรวจสอบการซื้อขายที่ดินกับสำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง สาขาควนขนุน ราคาที่ดินที่เหมาะสมในการจัดซื้อซึ่งเป็นที่ดินที่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์กันได้คำนวณให้ในราคาสูงที่สุดไม่ควรเกินกว่าไร่ละ 100,000 บาท และหากเป็นที่ดินที่เป็นเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 ราคาก็จะต่ำกว่านี้ การจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 31 และที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 160 ในราคาไร่ละ 190,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง อีกทั้งในการจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 31 นายคณนาถ หมื่นหนู ยังมีพฤติการณ์ร่วมกันกับนางใจทิพย์ เหมือนสังข์ ซึ่งเป็นญาติ จัดทำหนังสือเสนอราคาซึ่งกำหนดเงื่อนไขแลกเปลี่ยนในการเสนอราคา อันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นางใจทิพย์ เหมือนสังข์ ได้รับประโยชน์จากที่ดินที่กันส่วนไว้จำนวน 1 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนหน้าที่เป็นทางเข้า-ออก ของตลาดน้ำ ย่อมมีมูลค่าสูงกว่าพื้นที่ในส่วนอื่นๆ และ นางใจทิพย์ เหมือนสังข์ ยังสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจได้อีกหลายช่องทาง
(2) กรณีการจัดซื้อโฉนดที่ดิน ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 4/2556 และ 5/2556 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 นายคณนาถฯ ได้จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างตลาดน้ำ โดยจัดซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 40767 เลขที่ดิน 23 หน้าสำรวจ 1414 จำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 93 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 4/2556 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ในราคาไร่ละ 190,000 บาท จากนางสาวศิริญญา นิ่มแก้ว เป็นเงิน 1,089,000 บาท และจัดซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 47500 เลขที่ดิน 13 หน้าสำรวจ 2310 จำนวนเนื้อที่ 3 ไร่ – งาน 25 4/10 ตารางวา ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 5/2556 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ในราคาไร่ละ 190,000 บาท จากนางสมพร คงแก้ว เป็นเงิน 582,000 บาท
คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ได้กำหนดราคาที่เหมาะสมในการจัดซื้อไว้ที่ไร่ละ 190,000 บาท เป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่มีการซื้อขายกันจริงในท้องตลาดในช่วงนั้น เนื่องจากเมื่อพิจารณาทั้งราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง สาขาควนขนุน ซึ่งในส่วนนี้ได้พิจารณาไว้แล้วว่า ในเบื้องต้นราคาที่เหมาะสมในการจัดซื้อคำนวณให้ในราคาที่สูงที่สุดไม่ควรเกินกว่าไร่ละ 100,000 บาท ซึ่งราคาในการจัดซื้อที่กำหนดไว้ในราคาไร่ละ 190,000 บาท ดังกล่าว เป็นราคาที่นายคณนาถฯ ได้เคยพิจารณากำหนดไว้เมื่อครั้งจัดซื้อที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 160 และ ส.ค.1 เลขที่ 31 และในส่วนของการจัดซื้อที่ดินของนางสาวศิริญญา นิ่มแก้ว ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 4/2556 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2555 นายคณนาถ หมื่นหนู, นายสมนึก นิ่มแก้ว และนางสาวศิริญญา นิ่มแก้ว มีพฤติการณ์น่าเชื่อได้ว่าเป็นการร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากราคาจัดซื้อที่ดินที่กำหนดไว้สูงกว่าความเป็นจริง เป็นการ ซื้อมาในลักษณะของพ่อค้าคนกลางและนำไปเปลี่ยนมือขายต่อให้กับเทศบาลตำบลทะเลน้อยเพื่อทำกำไร
สำหรับคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย นายปิยธัชหรือศราวุฒิ เอียดดำ ตำแหน่งปลัดเทศบาล ประธานกรรมการ นายนพดล หมื่นรอด ตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัด กรรมการ และ นายวชิร ใจดี ตำแหน่งนิติกร กรรมการ ในการจัดซื้อครั้งนี้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเฉพาะการลงนามตามบันทึกหลักฐานการต่อรองราคาลงวันที่ 13 ธันวาคม 2555 จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งได้มีการต่อรองราคามาแล้วและจัดทำนำเอกสารมาให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษลงนาม โดยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ไม่ได้ไปดำเนินการต่อรองราคาแต่อย่างใด แต่ได้ลงนามตามหลักฐานการต่อรองราคาดังกล่าว โดยไม่ได้พิจารณาว่าราคาที่นายกเทศมนตรีตำบลทะเลน้อย ได้พิจารณาสั่งการไว้ที่ไร่ละ 190,000 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไปหรือไม่ เป็นผลให้มีการจัดซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลง ในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่มีการซื้อขายทั่วไป
ผลการพิจารณา คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในการประชุมครั้งที่ 101/2564 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 วาระที่ 3.17 พิจารณาสํานวนการไต่สวนเบื้องต้นเรื่องดังกล่าวแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ดังนี้
การกระทำของนายคณนาถ หมื่นหนู ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็น เจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 91 และมีมูลความผิด ฐานปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการ ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือ แก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73
การกระทำของนางใจทิพย์ หรือนางภปภา เหมือนสังข์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นายสมนึก นิ่มแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 นางสาวศิริญญา นิ่มแก้ว หรือนางศิริญญา เหมือนพรรณราย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่ง โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
อย่างไรก็ดี ในคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้กันผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไว้เป็นพยาน ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ในการกันบุคคลไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลของทั้งสองฝ่ายจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป