"...การที่จําเลยปลอมเซ็คโดยแก้ไขจํานวนเงินในเช็คแล้วนําไปใช้แสดงต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวให้แก่จําเลย เงินที่จําเลยประสงค์จะได้รับส่วนเกินจํานวน 20,000 บาท จึงเป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หาใช่เงินของทางราชการหรือองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีที่จําเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือเก็บรักษาแต่อย่างใดไม่..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นางวราภรณ์ นาคพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ปลอมแปลงเอกสารสิทธิของทางราชการและเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการไปเป็นของตน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ที่พิพากษายกฟ้อง นางวราภรณ์ นาคพันธุ์ จำเลย
ข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ พฤติการณ์ข้อกล่าวหาในการกระทำความผิด และเหตุผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินยืน ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ยกฟ้อง นางวราภรณ์ นาคพันธุ์ จำเลยในคดีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า คดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้อง นางวราภรณ์ นาคพันธุ์ จำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พยายาม
ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุคำฟ้องโจทก์ ว่า จําเลย รับราชการตําแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง เจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชีขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีหน้าที่จัดการรักษาเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 เวลากลางวัน จําเลยปฏิบัติหน้าที่ฐานะหัวหน้าส่วนการคลังได้ขออนุมัติผลักส่งเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง จากบัญชีออมทรัพย์ เพื่อเข้าบัญชีกระแสรายวันสําหรับจัดทําฎีกาเบิกจ่ายเงิน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีต่อประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี และได้รับอนุมัติให้ผลักส่งเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อบัญชีองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง เลขที่ XXX-X-XXXXX-X จํานวน 29,861.62 บาท เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ชื่อบัญชีองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง เลขที่ XXX-X-XXXXX-X
ในวันเดียวกันจําเลยขออนุมัติถอนเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันและสั่งจ่ายเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง ในนามจําเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย และได้รับอนุมัติให้ถอนเงินฝากกระแสรายวัน ชื่อบัญชีองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง เลขที่ XXX-X-XXXXX-X จํานวน 29,861.62 บาท เพื่อนําเงินไปชําระหนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกิจกรรมงานวันเด็กประจําปี 2544 ที่องค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีจัดขึ้นโดยสั่งจ่ายเป็นเช็คที่ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีและปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจได้อนุมัติลงนามในใบถอนเงินและเช็ค 5 ฉบับ โดยเช็คแต่ละฉบับระบุชื่อจําเลยเป็นผู้รับเงิน และจําเลยได้รับมอบหมายให้ถอนเงิน ฝากเงิน เบิกเงิน และนําเงินไปชําระหนี้ในรายการต่าง ๆ ตามหน้าที่
หลังจากได้รับใบถอนเงินและเช็คมาแล้วจําเลยแก้ไขจํานวนเงินในใบถอนเงินจากจํานวน 29,861.62 บาท เป็นจํานวน 49,861.62 บาท แล้วนําไปยื่นต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง
เป็นเหตุให้นางสาวระเบียบ ยุเด็น เจ้าหน้าที่ของธนาคาร โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ XXX-X-XXXXX-X จํานวน 49,861.62 บาท เข้าบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ XXX-X-XXXXX-X
จากนั้นจําเลยแก้ไขเพิ่มเติมจํานวนตัวเลขและตัวอักษรในเช็คฉบับเลขที่ 385 1389 จากจํานวน 6,000 บาท เป็นจํานวน 26,000 บาท แล้วนําเช็คยื่นต่อธนาคารเพื่อเรียกเก็บ แต่เช็คเลขที่ 3851389 ที่ระบุจํานวนเงิน 26,000 บาท นั้น นางสาวระเบียบปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะพบพิรุธการเขียนเพิ่มเติมตัวเลขและตัวอักษรในเช็คฉบับดังกล่าว
จําเลยกระทําการดังกล่าวโดยเจตนาจะเบียดบังเอาเงินจํานวน 20,000 บาท ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ XXX-X-XXXXX-X ขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี ขณะที่อยู่ในครอบครองของจําเลย
ทั้งนี้ จําเลยลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผลเนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทําให้จําเลยไม่ได้รับเงินสมดังเจตนา อันเป็นความผิดฐานพยายามเบียดบังเงินขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีไปเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
เหตุเกิดที่ตําบลควนธานี และตําบลกันตัง อําเภอกันตัง จังหวัดตรัง เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 , 147
จําเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจําเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นอุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นเจ้าพนักงานตําแหน่งหัวหน้าส่วนการคลัง องค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี อําเภอกันตังจังหวัดตรัง มีหน้าที่เก็บรักษาเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 จําเลยขออนุมัติผลักส่งเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกระแสรายวันขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี จํานวน 29,861.62 บาท เพื่อจัดทําฎีกาเบิกจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีและขออนุมัติถอนเงินฝากในบัญชีกระแสรายวันเพื่อนําไปชําระหนี้ในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวม 5 รายการ ซึ่งผู้มีอํานาจขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีได้ลงนามสั่งจ่ายเช็ค 5 ฉบับ เช็คแต่ละฉบับระบุชื่อจําเลยเป็นผู้รับเงินและจําเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เบิกถอนเงินเพื่อนํามาใช้จ่ายในกิจการขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีตามหน้าที่
แต่เมื่อจําเลยได้รับใบถอนเงินและเช็คแล้วได้แก้ไขจํานวนเงินในใบถอนเงินจากจํานวน 29,861.62 บาท เป็นจํานวน 49,861.62 บาท เป็นเหตุให้นางสาวระเบียบ ยุเด็น เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เข้าบัญชีกระแสรายวันขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี จํานวน 49,861.62 บาท
ทั้งจําเลยยังแก้ไขตัวเลขและตัวอักษรในเช็คธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง เลขที่ 3851389 ซึ่งองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีเป็นเจ้าของบัญชี จากเดิมจํานวน 6,000 บาท เป็น 26,000 บาท แล้วนําเช็คฉบับดังกล่าวยื่นต่อธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน
แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารพบพิรุธในเช็คจึงปฏิเสธการจ่ายเงิน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานพยายามยักยอกทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ ได้เบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนได้มาหรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่
คดีนี้จําเลยได้รับมอบหมายให้เรียกเก็บเงินตามเช็ค 5 ฉบับ รวมทั้งเช็คเลขที่ 3851389 จํานวน 6,000 บาท จากบัญชีเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีที่เปิดไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขากันตัง เพื่อเบิกถอนเงินมาใช้จ่ายในกิจการขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี
โดยจําเลยมิได้รับมอบหมายให้เบิกถอนเงินตามเช็คจํานวน 26,000 บาท
แต่เป็นเจตนาของจําเลยที่ต้องการได้เงินส่วนเกินจํานวน 20,000 บาทโดยมิชอบ จึงแก้ไขตัวเลขและตัวอักษรในเช็ค เลขที่ 3851389 จากจํานวน 6,000 บาท เป็นจํานวน 26,000 บาท
อันเป็นการปลอมเช็คโดยการแก้ไขจํานวนเงินในเช็คซึ่งเป็นการกระทําเพื่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารจ่ายเงินส่วนที่เกินดังกล่าว
แม้เงินดังกล่าวจะอยู่ในบัญชีเงินฝากขององค์การบริหารส่วนตําบลควนธานี แต่เมื่อเงินดังกล่าวฝากไว้กับธนาคารซึ่งการฝากเงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินอันเดียวกันกับที่ฝากผู้รับฝากมีสิทธิที่จะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้
เงินที่ฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝาก ธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจํานวนนั้นเท่านั้น
ดังนั้น การที่จําเลยปลอมเซ็คโดยแก้ไขจํานวนเงินในเช็คแล้วนําไปใช้แสดงต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวให้แก่จําเลย
เงินที่จําเลยประสงค์จะได้รับส่วนเกินจํานวน 20,000 บาท จึงเป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หาใช่เงินของทางราชการหรือองค์การบริหารส่วนตําบลควนธานีที่จําเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือเก็บรักษาแต่อย่างใดไม่
เมื่อเงินดังกล่าวที่จําเลยประสงค์จะได้รับมิใช่เงินของทางราชการที่จําเลยจะได้มาหรือถือไว้เพื่อจัดการตามหน้าที่ การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานพยายามยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 80
แม้จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
แต่เมื่อการกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องแล้ว กรณีก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจําเลยตามฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 มีมติไม่เห็นชอบกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
ผลการต่อสู้คดีในชั้นฎีกา จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป