“.. ในหนึ่งวัน เราจะไปไหน ถ้าไม่ได้อยากไปห้าง คนกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว หรือพลาซ่าพื้นแข็งมีต้นไม้ปกคลุมที่เราไม่ต้องเสียเงิน หรือขับรถไปไกลๆ เพื่อไปนั่งเล่น คิดว่าจะมีสักกี่คนที่จะมีใกล้บ้าน อันนี้ก็เป็นตัววัดได้แล้วว่าพื้นที่สีเขียวที่เรามีตอนนี้มันไม่พอ ..”
ในอดีตการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เมืองมีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ถนนหนทาง และรางรถไฟฟ้า ตอบรับการพัฒนาดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวอาจจะต้องแลกมาด้วยพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายลงไป แต่ปัจจุบันหลายประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียว แต่จะทำควบคู่ไปกับการรักษาหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมือง
‘พื้นที่สีเขียว (Green Space)’ คือ พื้นที่ใดๆ ก็ตามที่มีพืชพรรณขึ้นปกคลุม ทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (Well-being) ของคนเมือง ซึ่งเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองมีความหนาแน่นมากเท่าไหร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้นต่อสุขภาวะของคนเมือง โดยคุณค่าในที่นี้ หมายรวมคุณค่าที่มีต่อร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง และคุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองที่ให้อานิสงส์ในวงกว้าง
หลักเกณฑ์สำหรับเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ประชาชน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9-15 ตารางเมตร
แต่สำหรับ ‘กรุงเทพมหานคร (กทม.)’ มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะหรือสวนหย่อม แม้ว่าจะมีตัวเลขมากถึง 8,796 แห่ง หรือพื้นที่ราว 25,000 ไร่
แต่เป็นเพียงสัดส่วน 2.60 % ของพื้นที่ กทม.ทั้งหมด
นอกจากนั้นเมื่อนำมาเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์ราว 6 ล้านคน พบว่าพื้นที่สีเขียวเพียง 7 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน
หากนับรวมประชากรแฝง อาจทำให้ใน กทม.มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน นั่นหมายถึงจะมีพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อ 1 ประชากรคนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่าตัว
เป็นที่มาของความพยายามหลายครั้งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ที่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของประเทศ
สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้จัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ขึ้นเพื่อบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีศักยภาพและมีจิตสาธารณะในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยตั้งเป้าบรรลุโครงการ GREEN BANGKOK 2030 หรือ ในปี 2573 จะต้องบรรลุ 3 เป้าหมาย ดังนี้
-
เพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตารางเมตร/คน
-
มีพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในระยะเดิน 400 เมตร หรือ 5 นาที ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร
-
พื้นที่ร่มไม้ (Urban Tree Canopy) ต่อพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ นายนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประเมินสถานการณ์พื้นที่สีเขียวของ กทม.ในปัจจุบัน
นายนำชัย กล่าวว่า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ราว 6 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน เข้าใจว่าเป็นการนับรวมทุกพื้นที่ที่เป็นสีเขียว รวมถึงเกาะกลางถนน ในขณะที่เกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 9 ตารางเมตรต่อคน จึงถือว่า กทม.ยังขาดแคลนพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก
นอกจากพื้นที่สีเขียวที่มีไม่เพียงพอแล้ว การเข้าถึงก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คนใน กทม.บางพื้นที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พื้นที่สีเขียวที่อยู่ใกล้บ้านตัวเองที่สุดอยู่ตรงไหน ขณะที่บางแห่งก็ต้องใช้เวลาในการเดินทาง แทนที่ทุกคนจะหาความสุขได้อย่างง่ายๆ ในละแวกใกล้บ้าน หรือแค่เดินออกมาที่บริเวณริมทางเท้าก็ควรจะพบบรรยากาศรมรื่นมีร่มเงาต้นไม้ที่ได้รับการดูแลอย่างดี แต่ในความเป็นจริงนั่นไม่ใช่
“นอกจากนี้ คุณภาพของพื้นที่สีเขียวที่มี ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีพื้นที่สีเขียว แต่กลับไม่มีคุณภาพ ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีก” นายนำชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนพื้นที่และการเข้าถึงได้ง่ายแล้ว คุณภาพของพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ พื้นที่สีเขียวที่ดีควรออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงการดูแลรักษาง่าย ฉะนั้นขั้นตอนการออกแบบถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในกระบวนการสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะทำให้การวางแผนใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงมีความยั่งยืน
“ถ้ามีการออกแบบที่ดี เหมาะสม ก็จะไม่ต้องไปเพิ่มภาระการดูแลรักษา แต่แน่นอนว่า พอส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของรัฐหรือสาธารณะเนี่ย การมีนโยบาย วิสัยทัศน์ที่ดีในด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น” นายนำชัย กล่าว
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี กทม.
ด้าน ผศ.ปราณิศา เปิดเผยว่า นิยามของพื้นที่สีเขียวในเมือง ไม่ได้มีเพื่อประโยชน์เฉพาะทางด้านกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางด้านสุขภาพจิต สำหรับเป็นสถานที่ผ่อนคลายหรือพื้นที่พักใจ ฉะนั้นพื้นที่ 6 ตารางเมตรต่อคน ยังถือว่ามีไม่เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ดังกล่าว
“เป็นคำถามว่า ในหนึ่งวัน เราจะไปไหน ถ้าไม่ได้อยากไปห้าง คนกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว หรือพลาซ่าพื้นแข็งมีต้นไม้ปกคลุมที่เราไม่ต้องเสียเงิน หรือขับรถไปไกลๆ เพื่อไปนั่งเล่น คิดว่าจะมีสักกี่คนที่จะมีใกล้บ้าน อันนี้ก็เป็นตัววัดได้แล้วว่าพื้นที่สีเขียวที่เรามีตอนนี้มันไม่พอ ถ้าเรียกว่ามีเพียงพอ เราจะต้องรู้สึกเหมือนสิงคโปร์ที่แค่เดินออกไปไม่กี่ก้าว หรือทางเดินไปที่ทำงาน เขาก็ได้ผ่อนคลายจากพื้นที่สีเขียวแล้ว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณิศา กล่าว
ผศ.ปราณิศา กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของเมืองที่ควรมีพื้นที่สีเขียวให้เยอะที่สุด เพื่อที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่าย และดีต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นคำถามว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่
คำตอบคือ แม้ว่าเราจะเสียภาษี เราควรจะได้รับพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ของรัฐในกรุงเทพฯ มีน้อยมาก แม้ว่าที่ผ่านมา พื้นที่สีเขียวสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สวนหย่อมต่างๆ ล้วนมาจากการย้ายออกของหน่วยงานราชการ หรือการจัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ของหน่วยงานรัฐมีไม่มาก และถูกใช้งานค่อนข้างหนาแน่น ดังนั้น อีกฝ่ายที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงเทพฯ ได้ ก็คือพื้นที่ของเอกชน หรือกึ่งเอกชน
ที่พักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร คอนโดบางแห่ง ก็ใส่ใจเรื่องพื้นที่สีเขียวมาก โดยดึงมาเป็นจุดขาย ซึ่งบางครั้งการมีพื้นที่สีเขียวส่วนกลางก็เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจให้คนตัดสินใจซื้อหรืออยู่อาศัย เพราะทำให้มีความรู้สึกเหมือนมีสวนที่บ้าน มีที่พักผ่อน ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่เสริมพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้เช่นเดียวกัน
“ฉะนั้นเมื่อพูดถึงพื้นที่สีเขียว ก็ไม่ควรที่จะผลักภาระให้เป็นเพียงแค่หน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะเป็นจุดที่เราควรจะต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ถ้ารวมนับรวมพื้นที่สีเขียวของภาคเอกชนด้วย สถานการณ์พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ก็ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น” ผศ.ปราณิศา กล่าว
สวนบางแคภิรมย์ กทม.
ผศ.ปราณิศา ยังเล่าถึงแนวทางตัวอย่างในการจัดทำพื้นที่สีเขียว ว่า ประเทศสิงคโปร์ ใช้วิธีสร้างพื้นที่สีเขียวในเส้นทางที่ผู้คนจะต้องเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเดิน ทางจักรยาน แม้กระทั่งการสัญจรทางน้ำ ก็จะพยายามสร้างความร่มรื่นให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้มีพืชพรรณเพิ่มขึ้น ช่วยกรองอากาศต่างๆ หรือถ้าหากมีการจัดสรรให้ดี เพื่อให้คนได้เข้าไปใช้ประโยชน์ พักผ่อนหย่อนใจระหว่างเดินทาง หรือสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น พายเรือ ขี่จักยาน ทำให้เส้นทางสีเขียวเพิ่มขึ้นทั้งในแง่พื้นที่ทำกิจกรรม และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ในแง่มุมของภูมิสถาปัตยกรรมและหลักนิเวศวิทยา ระบุว่า พื้นที่สีเขียว คือ ธรมชาติ ซึ่งต้องการการหมุนเวียน ต้องการเส้นทางต่างๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีการเดินทางระหว่างบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน เป็นต้น
“การคิดพื้นที่สีเขียวจะต้องคิดเป็นระบบโครงข่าย เหมือนโครงข่ายเมืองที่จะมีสถานที่และเส้นเชื่อม คือถนน พื้นที่สีเขียวก็เช่นกัน เพราฉะนั้นการคิดแบบนี้ มันก็เหมือนกับที่มนุษย์ต้องการใช้สิ่งที่เป็นเส้น เช่น ถนน ทางสัญจร ทางระบายน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำสิ่งที่เป็นเส้นพวกนี้ให้เป็นเส้นเชื่อมพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นโครงสร้างหนึ่ง ที่ระบบนิเวศน์ต้องการอยู่แล้ว คือ ตัวโครงข่ายที่เป็นเส้นเชื่อมจุดต่างๆ” ผศ.ปราณิศา กล่าว
สำหรับอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มีเส้นทางที่เรียกว่า สร้อยคอมรกต (Emerald Necklace) เป็นโครงการภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยสวนสาธารณะขนาด 1,100 เอเคอร์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างสวนสาธารณะและพื้นที่ทางน้ำ
ผศ.ปราณิศา กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินการของ กทม.ถือว่ามาถูกทางแล้ว ส่วนประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เป็นรายละเอียดของแต่ละโครงการว่าจะทำได้ดีมากน้อยเพียงใด
ทั้งหมดนี้ คือ ‘พื้นที่สีเขียว’ สิ่งสำคัญของคน กทม.ที่ยังขาดอยู่ จะต้องติดตามและเอาใจช่วยว่าการดำเนินการของ กทม.จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การพักผ่อน การออกกำลังกายได้มากน้อยเพียงใด
แผนที่สร้อยคอมรกต (Emerald Necklace) เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา