อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 มี.ค.2565 นี้จะมีการประชุมปรึกษาคดี มีรายงานด้วยว่า ฝ่ายตุลาการรัฐธรรมนูญที่ต้องการทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนจะเสนอให้มีการหารือเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกไปอีก อาจมีผลกระทบถึงการวินิจฉัยคดีหลังจากนี้ เพราะอาจถูกตีความเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่หากหมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว อาจทำให้คำวินิจฉัยที่ออกมาหลังจากนี้มีปัญหาไปด้วย
กำลังเกิดข้อถกเถียงภายในศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเงื่อนไขและวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นกรณีของ 'วรวิทย์ กังศศิเทียม' ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 ทำให้ขณะนี้อยู่ในตำแหน่ง 7 ปี 6 เดือน และเพิ่งมีอายุครบ 70 ปีเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 (เกิดวันที่ 1 มี.ค.2495)
ทั้งนี้ 'วรวิทย์' ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2550 และระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง ก็มี รธน.ปี 2560 ทำให้เกิดปัญหาที่ต้องถกเถียงกันว่า วาระการดำรงตำแหน่งจะต้องยึดตาม รธน.ฉบับใด
รธน.ทั้ง 2 ฉบับ มีข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง และ เงื่อนไขในการพ้นจากตำแหน่ง ดังนี้
รธน.ปี 2550 กำหนดให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี (มาตรา 208) และพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 70 ปี (มาตรา 209)
รธน.ปี 2560 กำหนดให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี (มาตรา 207) และพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 75 ปี (มาตรา 208)
เท่ากับว่า หากยึดตาม รธน.ปี 2550 ‘วรวิทย์’ จะติดเงื่อนไขอายุครบ 70 ปี แต่หากยึดตาม รธน.ปี 2560 จะเท่ากับว่าเขามีวาระดำรงตำแหน่งเกิน 7 ปี หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ขณะที่บทเฉพาะกาล มาตรา 79 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ระบุว่า ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตาม รธน.ปี 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.ปี 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18
โดยมาตรา 18 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ที่ (4) กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่อมีอายุครบ 75 ปี
ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดการถกเถียงกันในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ซึ่งประกอบด้วย
- นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด
- ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด
- ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
- ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์
- นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ
- นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ
มีรายงานว่า การหารือกันอย่างไม่เป็นทางการก่อนหน้านี้ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน เห็นว่า 'วรวิทย์' ต้องพ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย ศ.ดร.นครินทร์ , ศ.ดร.ทวีเกียรติ , ศ.พิเศษ ดร.จีรนิติ และ นายอุดม ส่วนอีก 4 คน ยังไม่แสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ศ.ดร.นครินทร์ , ศ.ดร.ทวีเกียรติ , ศ.พิเศษ ดร.จีรนิติ และ นายอุดม (ตามลำดับ)
นายวิรุฬห์ , นายบรรจงศักดิ์ , นายปัญญา , นายนภดล (ตามลำดับ)
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือแจ้งเวียนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทราบ เรื่องความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ท่ามกลางความสับสนภายในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึงที่มาที่ไปของหนังสือเวียนดังกล่าว รวมถึงอำนาจหน้าที่ในการตีความข้อกฎหมาย
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 และเสนอความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือกราบเรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 เพื่อโปรดทราบความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นายวรวิทย์ กังศศิเทียม จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ตามที่บัญญัติไว้ รธน.ปี 2550 ในวันที่ 9 ก.ย.2566 โดยไม่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปีในวันที่ 1 มี.ค.2565 แต่อย่างใด
- ป.ป.ช.ชี้มูล‘เลขาฯศาล รธน.-พวก’เอื้อเอกชนจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 281 เครื่อง 13 ล.
- อัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดี ป.ป.ช.ชี้มูล เลขาฯศาล รธน.-พวก เอื้อจัดซื้อคอมฯ
อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงกันถึงหนังสือเวียนข้างต้นที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และมีรายงานว่า ช่วงปลายเดือน ก.พ.2565 ได้มีการหารือกันอย่างไม่ทางการอีกครั้งระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน
โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนที่ยืนยันว่าควรทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน โดยเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรวินิจฉัยเรื่องของตัวเอง และควรทำหนังสือสอบถาม 'คณะกรรมการสรรหา' เพื่อให้ได้ข้อยุติ
แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว และยังมีความพยายามที่หารือเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม วันที่ 16 มี.ค.2565 นี้จะมีการประชุมปรึกษาคดี มีรายงานด้วยว่า ฝ่ายตุลาการรัฐธรรมนูญที่ต้องการทำเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนจะเสนอให้มีการหารือเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อออกไปอีก อาจมีผลกระทบถึงการวินิจฉัยคดีหลังจากนี้ เพราะอาจถูกตีความเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่หากหมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว อาจทำให้คำวินิจฉัยที่ออกมาหลังจากนี้มีปัญหาไปด้วย
ดังนั้นวันที่ 16 มี.ค.2565 จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า วาระร้อนเรื่อง 'วรวิทย์' จะถูกหยิบขึ้นมาหารือเพื่อนำไปสู่ความชัดเจนทางใดทางหนึ่ง ที่สุดแล้วยังไม่มีใครทราบว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร