"...หลังจากนี้จะประชุมวางแผนในส่วนของผู้เช่าช่วงที่เช่าอาคารพาณิชย์ด้านล่างจำนวน 8 คูหาที่ทางเอกชนไปปล่อยเช่าต่อเอง คงให้เช่าต่อ ในส่วนของตัวโรงแรมตรัง ยังมีอีกหลายขั้นต้องไปตรวจสอบก่อน อาทิ ทรัพย์สินมีแค่ไหน เสียหายอย่างไร ถ้าเสียหายก็ต้องว่ากันตามกฎหมายอีก..."
กรณีเจ้าหน้าที่เทศบาลนครตรัง พร้อมด้วยนิติกรเจ้าของสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง ยกขบวนเข้าปิดประกาศบังคับคดี ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดตรัง คดีหมายเลขดำที่ พ.36/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ พ.730/2562 เพื่อขับไล่ บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือบริษัทเกาะวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือ บริษัทอ่าวสวรรค์ จำกัด เอกชนคู่สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทางเทศบาล ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารโรงแรมตรัง เลขที่ 135/2-5 รวมทั้งอาคารพาณิชย์ เลขที่ 136/6 , 136/8 , 136/10 , 136/12 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา โดยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ มิฉะนั้นจะดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรังคนปัจจุบัน ออกมาระบุว่า ยอดหนี้ค่าเช่าและค่าต่าง ๆ ที่บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด โดยนายธนิต อ่าวสกุล คู่สัญญา ค้างชำระเป็นยอดรวมกว่า 50 ล้านบาท ในระยะที่เช่ามาราว 10 ปี แต่หากคิดเป็นมูลค่าการประกอบธุรกิจถือว่าเสียโอกาสมากเกินกว่า 100 ล้านบาท
- ค้างค่าเช่าบาน 50 ล.! ทน.ตรัง ลุยปิดประกาศบังคับคดี รร.ตรัง ขับไล่ 'เอกชน-บริวาร'
- มหากาพย์ : โรงแรมตรัง ก่อน ทน.ตรังเสียหาย 50 ล. ทำเลทองที่หลายคนหมายปอง
หากนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปปิดประกาศบังคับคดี จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 12 วันแล้ว ความเคลื่อนไหวของฝ่ายลูกหนี้ยังคงเงียบอยู่ ไม่มีการประกาศชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป มีเพียงการปิดไฟ ปิดประตูโรงแรมตรังทุกด้าน ไร้พนักงานและผู้คนอยู่ภายใน
เมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลทางธุรกิจ บริษัท อ่าวสวรรค์ จำกัด (ชื่อปัจจุบัน) พบว่า ยังไม่ได้แจ้งยกเลิกกิจการแต่อย่างใด
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจค้า ระบุว่า บริษัท อ่าวสวรรค์ จำกัด ระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้ง 20 ธันวาคม 2550 ทุนปัจจุบัน 10,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 134/2-5 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
แจ้งประกอบกิจการบริการห้องพัก และสถานที่พักตากอากาศให้บริการจำหน่าย ติดตั้ง ซ่อมแซม แผงโซลาเซลล์ และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ โรงแรมและรีสอร์ท
ปรากฎชื่อ นาย ธนิต อ่าวสกุล นาง ผกาพร อ่าวสกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ 80% มูลค่า 8,000,000 บาท หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาง ผกาพร อ่าวสกุล นางสาว เพ็ญทิพย์ บุญยัง
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่ามีรายได้รวม 5,187,961.66 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 3,620,286.86 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,237,310.52 บาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อนายธนิตเพื่อสอบถามรายละเอียดว่าจะดำเนินการชำระหนี้อย่างไรต่อไป โดยได้โทรไปยังเบอร์มือถือหมายเลข 092-815-xxxx ซึ่งนายธนิตได้แจ้งไว้กับทางเทศบาลเมื่อครั้งทำสัญญาเช่า แต่ปรากฏว่าหมายเลขดังกล่าวไม่สามารถติดต่อได้ รวมทั้งทุกหมายเลขที่ทางโรงแรมตรังได้แจ้งไว้ต่อสาธารณะเพื่อติดต่อเข้าพัก ติดต่อห้องจัดเลี้ยง ก็ไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน
ขณะที่ นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า หากกรณีเช่นนี้ศาลบังคับขับไล่แล้ว แต่ทางผู้เช่าและบริวารไม่ยอมออก หรือไม่ชำระค่าเสียหายนั้น ก็จำเป็นต้องร้องต่อศาลให้ปิดโรงแรม และดำเนินการทางกฎหมาย อาจต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ถ้าขัดขืนก็จำเป็นต้องจับ ว่ากันตามกฎหมาย ตามกระบวนการ ส่วนกรณีข้าราชการเทศบาลทั้ง 3 สามคนที่ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วนั้น คณะกรรมการเทศบาลจังหวัดตรัง (กทจ.ตรัง) ได้มีมติให้ไล่ออกตามมติป.ป.ช.แล้ว ส่วนคดีอาญาอยู่ในกระบวนการของศาล
“ส่วนประเด็นที่ทั้ง 3 คนปล่อยให้มีการผ่อนผันเงินประกันสัญญา ตอนนี้เทศบาลได้สอบละเมิดแล้ว เขาต้องชดใช้ค่าเสียหาย เราจะดำเนินการต่อไปเรื่องการชดใช้คืนของแต่ละคน ก็ว่าไปในคดีความทางแพ่งให้ศาลดำเนินการ เพื่อเรียกค่าชดเชย เงินที่เทศบาลสูญเสียไป จากการกระทำละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย”นายสัญญา กล่าว
@ นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง
นายสัญญากล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกันเรื่องกำหนดวันประมูล ต้องรอให้เรียบร้อยก่อน เพราะหากไม่สิ้นสุด เอกชนยังมีการยื่นศาลเพื่อให้ศาลปกป้อง ก็ต้องรอให้ผ่านจุดนั้นก่อนแล้วค่อยเปิดประมูลต่อไป แต่ในการประมูลครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ซึ่งตามหลักกฎหมายได้ระบุชัดแล้วว่า หลักประกันสัญญาไม่สามารถผ่อนได้ ดังนั้นถ้าหากปฏิบัติตามกฎหมายจะไม่มีปัญหา หลังจากนี้จะประชุมวางแผนในส่วนของผู้เช่าช่วงที่เช่าอาคารพาณิชย์ด้านล่างจำนวน 8 คูหาที่ทางเอกชนไปปล่อยเช่าต่อเอง คงให้เช่าต่อ ในส่วนของตัวโรงแรมตรัง ยังมีอีกหลายขั้นต้องไปตรวจสอบก่อน อาทิ ทรัพย์สินมีแค่ไหน เสียหายอย่างไร ถ้าเสียหายก็ต้องว่ากันตามกฎหมายอีก
"ตอนนี้เรารู้บริบทของโรงแรมตรัง การประมูลต่อไปต้องตั้งราคาที่เหมาะสม การประมูลครั้งต่อไปตนจะให้ผู้ชนะประมูลเป็นคนรีโนเวทเอง เพราะเทศบาลไม่มีงบประมาณรีโนเวท และจะกำหนดระยะเวลาเช่าและค่าเช่าตามความเหมาะสม ราคากลางคงจะกำหนดเท่าเดิม อยู่ที่ประมาณเดือนละ 3 แสนบาทเศษ" นายสัญญาระบุ
ด้านนายกัมปนาท อินทองมาก หรือ “ทนายหมี” อดีตสมาชิกสภาเทศบาลนครตรังสมัยนายอภิชิต วิโนทัย เป็นนายกเทศมนตรี ผู้เปิดประเด็นกรณีเอกชนค้างค่าเช่าโรงแรมตรังในที่ประชุมสภาเทศบาลนครตรังและติดตามมาโดยตลอด กล่าวกับอิศราว่า แนวทางเรื่องนี้โดยหลักการหลังจากขับไล่ออกไปแล้วภายใน 15 วัน หมายบังคับคดีเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังอยู่(ผู้เช่าช่วงอาคารพาณิชย์8คูหา)ไปยื่นหนังสือได้ว่าไม่ได้เป็นบริวาร แต่มันเป็นไปไม่ได้ว่าไม่ได้เป็นบริวาร เพราะทุกคนเป็นผู้เช่าช่วงต่อจากผู้เช่ากับเทศบาลนครตรัง หากมีใครไปยื่นก็แค่ลากคดีเพื่อให้ได้อยู่ต่อ ฉะนั้นเทศบาลต้องไล่ทุกคนออกไปก่อน โดยบริษัทเกาะหวังฯผู้เช่า ได้เช่าทั้งตึก และนำบางส่วนไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ ตั้งแต่ร้านขายกาแฟ ร้านยา ร้านข้าวหน้าเป็ด/ก๋วยเตี๋ยว คลินิกหมอ และร้านที่อยู่ตรงบันไดหนีไฟ
"เทศบาลต้องไปดูในรายละเอียดสัญญาเช่าว่าให้ผู้เช่านั้นเช่าอะไรไปบ้าง โดยรายละเอียดผู้เช่าช่วงดังกล่าวเป็นคู่สัญญากับบริษัทเกาะหวังฯ ไม่ได้เช่าโดยตรงกับเทศบาล สิทธิในการเช่านั้นควรจะหมดไป หากมีใครต้องการเช่าตรงนั้น ก็ต้องเปิดให้มีการประมูลตามระบบ ใครจะเช่าก็มาประมูลแข่งกันใหม่ และหลังจากนี้เทศบาลต้องสำรวจทรัพย์สินภายในโรงแรม เช่น เตียงนอน ตู้ ตึก ส่วนควบ หรือสิ่งของที่เป็นของเทศบาลต่างๆ ว่าเทศบาลให้เช่าด้วยหรือไม่ หากมีความชำรุดเสียหายต้องมาดูว่าจะคิดค่าเสียหายอย่างไร ซึ่งค่าเสียหาย 50 ล้านบาท คือเงินที่เทศบาลต้องได้"
@ นายกัมปนาท อินทองมาก หรือ “ทนายหมี”
“ความคิดเห็นส่วนตัวของผม คิดว่า 50 ล้านนั้น ไม่มีโอกาสได้เลย เพราะแม้กระทั่งผมทราบข่าวว่า ผู้เป็นลูกจ้างของบริษัทยังไม่ได้ค่าจ้าง ต้องไปร้องเรียนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมีลูกจ้าง 2 คน ไปฟ้องศาลแรงงาน โดยศาลพิพากษาให้จ่ายเงินให้ลูกจ้างคนละ 3-4 หมื่นบาท แค่เงิน 3-4 หมื่นบาท เขายังจ่ายไม่ได้ นับประสาอะไรกับเงิน 50 ล้าน ถ้าทางบริษัทจ่ายไม่ได้ อย่างมากก็แค่ฟ้องล้มละลาย สุดท้ายเงินที่เขาเก็บได้ไปก่อนหน้านี้ เขาคงเขาเงินนั้นไปซื้อฟูกนอนไว้แล้ว คนเช่าล้มบนฟูก เรื่องนี้นับแต่ปี 2557 ที่เริ่มมีปัญหาค้างเช่า เทศบาลเริ่มฟ้องปี 2561 ศาลพิพากษาปี 2562 มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เขาจะอยู่ประกอบการต่อ เพราะตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุค่าเสียหาย 26 ล้านกว่าบาท และยังให้เป็นไปตามศาลจังหวัดตรังที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 5.9 เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะโควิด ผมคิดว่าระหว่างที่ยื้อเวลามานั้นทางผู้เช่าได้เก็บค่าเช่าช่วงจากอาคารพาณิชย์ได้มาก ที่ยังลากจนถึงวันนี้เพราะเขาสามารถเก็บค่าเช่าช่วงได้ 1-3 แสนบาทต่อเดือน ผมมองว่ามีใครได้ประโยชน์จากการเก็บเงินของโรงแรมตรังที่ไปเก็บจากผู้เช่าช่วง”นายกัมปนาทกล่าว
นายกัมปนาทกล่าวว่า ถ้าเอาหนี้ 50 ล้านบาทมาไม่ได้ ต้องกลับไปดูว่าเงินจากเรื่องเดิมที่ข้าราชการเทศบาล 3 คน และอดีตนายเทศมนตรีซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งป.ป.ช.ชี้มูล และมีการฟ้องคดีอาญานั้น ในส่วนของข้าราชการทั้ง 3 คน เป็นคณะกรรมการผ่อนผันเงินประกันสัญญาที่เป็นปัญหาจนมาสู่ค่าเสียหาย 50 ล้านบาท
ดังนั้นนั้นตั้งแต่ปี 2558-2561 น่าจะมีคณะกรรมการมาตรวจสอบทางแพ่งด้วย ว่าด้วยทำไมปล่อยให้เกิดความเสียหายกับเทศบาลนครตรังสูงถึง 50 ล้านบาท
(ฟังคำชี้แจงอีกด้านของ เจ้าหน้าที่ในข่าวประกอบ : กทจ.ตรัง ลงดาบไล่ออก 'รองปลัดฯ-พวก' คดีค่าประกันสัญญา รร.- สู้ต่อในชั้นศาล)