"...นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรังคนปัจจุบัน ออกมาระบุว่า ยอดหนี้ค่าเช่าและค่าต่าง ๆ ที่บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด ค้างชำระเป็นยอดรวมกว่า 50 ล้านบาท ในระยะที่เช่ามาราว 10 ปี แต่หากคิดเป็นมูลค่าการประกอบธุรกิจถือว่าเสียโอกาสมากเกินกว่า 100 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องดำเนินการขับไล่ ไม่เช่นนั้นตัวเองจะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้..."
นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ทางเทศบาลนครตรัง (ทน.ตรัง) พร้อมนิติกรเจ้าของสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง ยกขบวนเข้าปิดประกาศบังคับคดี ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดตรัง คดีหมายเลขดำที่ พ.36/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ พ.730/2562 เพื่อขับไล่ บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือบริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือ บริษัทอ่าวสวรรค์ จำกัด เอกชนคู่สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทางเทศบาล ในฐานะลูกหนี้ ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารโรงแรมตรัง เลขที่ 135/2-5 รวมทั้งอาคารพาณิชย์ เลขที่ 136/6 , 136/8 , 136/10 , 136/12 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
โดยประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของบริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือบริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือ บริษัทอ่าวสวรรค์ จำกัด ลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ มิฉะนั้นจะดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายต่อไป
ในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้นเอง อาคารโรงแรมตรังได้ปิดไฟ ปิดประตูเงียบ ไร้พนักงานเจ้าหน้าที่คอยดูแล จากที่ก่อนหน้านี้เปิดทำการแบบกะปริบกะปรอยมาหลายปี
จนสภาพล่าสุดในวันที่ปิดประกาศ บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา สภาพโดยรวมค่อนข้างเก่า ไม่พบนักท่องเที่ยวหรือแขกเข้าพัก และไม่ปรากฏผู้ใดแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ คู่สัญญา หรือผู้บริหารโรงแรมแต่อย่างใด พบเพียงพนักงานของบริษัท และหลานชายของเจ้าของบริษัทฯ คอยเฝ้าเท่านั้น
นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรังคนปัจจุบัน ออกมาระบุว่า ยอดหนี้ค่าเช่าและค่าต่าง ๆ ที่บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด ค้างชำระเป็นยอดรวมกว่า 50 ล้านบาท ในระยะที่เช่ามาราว 10 ปี
แต่หากคิดเป็นมูลค่าการประกอบธุรกิจถือว่าเสียโอกาสมากเกินกว่า 100 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องดำเนินการขับไล่ ไม่เช่นนั้นตัวเองจะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
@ นายสัญญา ศรีวิเชียร
หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการเข้าไปล้างปัญหาคาราคาซังที่ผู้บริหารชุดก่อนชุดของ “นายกฯแจ๊ค” นายอภิชิต วิโนทัย อดีตนายกเทศฒนตรีนครตรัง(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้เป็นผู้เริ่มสัมปทานเอาไว้
แต่สิ่งที่โจษจันกันไปทั่วเมืองตรังในเวลานี้ คือ ทางเทศบาล ปล่อยให้เอกชนค้างค่าเช่าจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไรถึง 10 ปี
แม้วันนี้ได้มีประกาศบังคับคดีเพื่อขับไล่แล้ว แต่จะติดตามหนี้สินดังกล่าวมาอย่างไร หากติดตามไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ใคร? จะรับผิดชอบ
แม้ศาลจะสั่งให้ชำระ แต่ในทางแพ่ง จะนำสืบทรัพย์จำเลยเพื่อมาชำระหนี้อย่างไร เพราะเชื่อว่า ได้มีการผ่องถ่ายออกไปจากตัวลูกหนี้ก่อนหมดแล้ว และคงต้องต่อสู้กันอีกยาวนาน
ซึ่งเรื่องนี้ ดูเหมือนเป็นอาถรรพ์หรืออย่างไร กับ โรงแรมตรัง ที่ในอดีตมีความรุ่งเรืองคึกคัก ตั้งอยู่บนทำเลทอง เป็นชิ้นเนื้อปลามัน หัวมุมสี่แยกหอนาฬิกาเมืองตรังที่เป็นแลนมาร์คในกลางเมือง ใกล้ย่านการค้า ศูนย์ราชการ โรงเรียน
แม้กระทั่งห่างจาก “บ้านวิเศษกุล” ซึ่งเป็นบ้านของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และครอบครัวหลีกภัยไปเพียงแค่ร้อยเมตร
อีกทั้งอาคารมีทั้งห้องพักนับร้อยห้อง ห้องจัดเลี้ยงสัมมนาขนาดใหญ่ ลานจอดรถ ร้านอาหาร สปา แถมมีอาคารพาณิชย์ด้านล่างถึง 8 คูหาที่มีผู้เช่าตลอด ให้ผู้สัมปทานเก็บค่าเช่าไว้เองเป็นรายได้กินเปล่า 18,000-25,000 บาท/เดือน/คูหา อีกด้วย และที่ฝ่ายเอกชนเคยมีหนังสือผ่อนผันชำระหนี้โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 นั้น ก็ดูจะไม่สมกับความเป็นจริง
เพราะสถานการณ์โควิดเพิ่งเกิดในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้กับทางเทศบาล ค้างยาวนานมากว่า 10 ปี
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชิ้นเนื้อปลามันบนทำเลทองนี้เอง ที่มีนักเสี่ยงโชคผู้หวังลงทุนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประมูล เพราะมีโอกาสทำกำไรสูง นอกจากทำเลดี สาธารณูปโภคครบครันแทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว ยังเก็บค่าเช่ากินเปล่าจากอาคารพาณิชย์ได้อีก
โดยเฉพาะสัญญาสัมปทานที่ยาวนานถึง 20 ปี การทำกำไรจึงไม่ใช่เรื่องยาก การทำให้เจ๊งนั้นยากกว่า นายทุนใหญ่ในเมืองตรัง จึงลงเล่นสนามนี้มาแล้วหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มทุนค้าไม้ กลุ่มธุรกิจโรงแรม รวมไปถึงกลุ่มการเมือง แต่ส่วนใหญ่อยู่ไม่ครบเทอมแทบทั้งสิ้น ต้องมีอันเป็นไป จบแบบไม่สวย
ปัญหาเรื่องเอกชนไม่จ่ายค่าเช่า เกิดขึ้นมาโดยตลอดเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้น ไม่เพียงผู้สัมปทานล่าสุดเท่านั้น ในอดีตก็เกิดขึ้นมาแล้ว และต้องจบที่ฟ้องขับไล่ ปิดประกาศบังคับคดีเช่นกัน
เอกชนบางรายไม่ยอมออก ต้องนำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพื้นที่กันเลยทีเดียว
แหล่งข่าวจาก ทน.ตรัง ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุของปัญหาคือ ในการประมูลแต่ละครั้ง มักมีผู้มีอำนาจ “จัดตั้ง” และ “พามา” ทำให้ในเบื้องลึกแล้ว ไม่ได้หวังลงทุนประกอบธุรกิจด้านโรงแรมอย่างจริงจัง ไม่มีความชำนาญ เพราะย่ามใจคิดว่า มีแต่ได้กับได้ แต่พอลงมือจริง กลับไม่เป็นไปตามที่ย่ามใจ
กรณีล่าสุดก็เช่นกัน ย้อนกลับไปวันที่เริ่มต้น ในปี 2555 กลุ่มทุน บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด มี นายธนิต อ่าวสกุล หรือ “เสี่ยปุ้ย” เป็นเจ้าของ เข้าประมูลและรับสัมปทาน
แรกเริ่มเข้าใจว่ามีความชำนาญในธุรกิจโรงแรม เพราะมีกิจการโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยสัญญาเช่าโรงแรมตรัง ระหว่างเทศบาลนครตรัง บริษัทเกาะหวังฯ ลงนามเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 โดยผู้เช่าต้องชำระค่าเช่าอาคารรวมทั้งที่ดินในอัตรา ปีที่ 1-5 เดือนละ 300,000บาท ปีที่ 6-10 เดือนละ 330,000บาท ปีที่ 11-15 เดือนละ 363,000บาท และปีที่ 16-20 เดือนละ 399,300 บาท โดยผู้เช่านำหลักประกัน เงินสดจำนวน 900,000 บาท และมีการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือน จำนวน 300,000 บาท รวมควบรวมอาคารพาณิชย์ 8 ห้อง เดือนละ 50,00บาท เป็นเงินค่าเช่าเดือนละ 350,000บาท
แต่หลังจากผู้เช่าเข้าดำเนินการ เกิดปัญหาไม่จ่ายค่าเช่าประมาณ 6 เดือน ทางเทศบาล มอบหมายให้กองคลังติดตามค่าเช่า โดยนิติกรได้ติดตามทวงหนี้ จากนั้นมาชำระเพียง 1 งวดแล้วก็หายไป มีการติดตามทวงหนี้มีหนังสือแจ้งเตือนมาโดยตลอด แต่ปรากฎว่าทางบริษัทฯผิดสัญญาเช่า
ต่อมาเทศบาล ได้บอกเลิกสัญญากับทางบริษัทฯ ไปเมื่อ วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 หลังจากบอกเลิกสัญญาผู้เช่าติดต่อขอชำระค่าเช่า เมื่อบอกเลิกสัญญญา จึงมีการส่งเรื่องให้อัยการจ.ตรัง ดำเนินคดีฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายในเดือน กรกฎาคม 2559 ระหว่างพนักงานอัยการพิจารณาคดี เทศบาลมีการสำรวจค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยการตั้งคณะกรรมการของเทศบาลขึ้นมา 1 ชุด ลงพื้นที่สำรวจค่าเสียหาย ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือนหลังจากนั้นแจ้งไปยังพนักงานอัยการจ.ตรัง โดยมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท สำนักงานอัยการ ภาค 9 ตรวจสำนวนประกอบการพิจารณาคดี นัดไต่สวนมูลฟ้องคดี เดือนพฤษภาคม 2560 และมีคำสั่งฟ้องในที่สุด
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักประกันสัญญาที่ทางบริษัทฯนำหลักประกันเป็นเงินสด จำนวน 900,000บาท เพื่อเป็นการประกันการปฎิบัติตามสัญญา ระหว่างปี 1-5 ส่วนหลักประกันสัญญาในปีต่อไปให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาเช่า โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าการวางเงินประกันสัญญา 5 ปีถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ทั้งนี้ บริษัทฯทำสัญญาเช่าในระยะเวลา 20 ปี จ่ายเงินประกันไม่น้อยกว่า 5% และไม่เกิน 10% ของค่าเช่า รวม 20 ปี ซึ่งต้องจ่ายเงินค้ำประกันจำนวน 4,200,000 บาท เนื่องจากหลักประกันสัญญาไม่ใช่หนี้สินผ่อนไม่ได้ ความเสียหาย 50 ล้านบาท แต่หลักประกันเพียง 900,000 บาท ถือว่าเกินกว่าหลักประกันสัญญา จะคุ้มกันได้อย่างไร การทำสัญญาเช่าที่เรียกเก็บหลักประกันสัญญาเช่าไม่ครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2543 ข้อ 17
อีกทั้งภายหลังพบว่า มีการขอผ่อนปรนเปลี่ยนหลักประกันสัญญาจากเงินสดเป็นแคชเชียร์เช็ค ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้วหลายราย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง ในการประชุมครั้งที่ 37/2563 กรณีดำเนินโครงการประมูลราคาให้เช่าอาคารโรงแรมตรัง ตามประกาศเทศบาลนครตรัง เรื่อง ประมูลให้เช่าอาคารโรงแรมตรัง (ครั้งที่ 2) ลงวันที่ 19 มกราคม 2552 โดยมิชอบ ดังนี้ การกระทำของ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่ มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
สำหรับนายอภิชิต วิโนทัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธิ นำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
ต่อมาป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องและทำความเห็นเสนอมายังคณะกรรมการเทศบาลจังหวัดตรัง (กทจ.ตรัง) เพื่อดำเนินการตามมติ ป.ป.ช. ซึ่ง กทจ. ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยมีมติดำเนินการตามที่ป.ป.ช.เสนอมา คือ ให้ "ไล่ออก” ผู้ถูกชี้มูลกรณีดังกล่าว ได้แก่ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร ส่วนนายอภิชิต วิโนทัย นั้น ได้เสียชีวิตไปแล้ว การดำเนินการจึงระงับไป ส่วนคดีอาญาของผู้ถูกชี้มูลฯก็ว่าไปตามกระบวนการศาล และผู้ถูกชี้มูลฯมีสิทธิอุธรณ์คำสั่งไล่ออกต่อศาลปกครองได้ตามกระบวนการ
@ นายยงยุทธ เบญจวรางกูล
@ นายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม
(ฟังคำชี้แจงอีกด้านของ เจ้าหน้าที่ในข่าวประกอบ : กทจ.ตรัง ลงดาบไล่ออก 'รองปลัดฯ-พวก' คดีค่าประกันสัญญา รร.- สู้ต่อในชั้นศาล)
เรื่องราวของทรัพย์สินของเทศบาลนครตรัง ที่เกิดปัญหา ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเกิดเป็นความเสียหาย สำหรับกรณีนี้เป็นเพียงกรณีหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการ ตั้งแต่แรกเริ่มการประมูล การบังคับใช้กฎหมาย และระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น หากไม่ยกเครื่องแก้ให้ตรงจุดอย่างโปร่งใส
ปัญหาเหล่านี้จะวนเวียนกลายเป็น “มหากาพย์” ไม่มีวันจบสิ้น
ว่ากันว่า ขณะนี้ กลุ่มทุนรายใหม่เริ่มเตรียมการเข้ามาต่อมือแล้ว ส่วนจะมี ใคร? พามา? อีกหรือไม่ คงต้องช่วยกันติดตาม