"...สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ปัจจุบัน รวม 5 กรณี จะต้องมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง ...ท้ายที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป..."
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้ถูกคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตีตกข้อกล่าวหาเฉพาะ กรณีกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด -19
ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วเท่านั้น
หากแต่ ยังมีข้อกล่าวหาอีก 4 กรณี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ตีตกไปด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดข้อกล่าวหาทั้ง 4 กรณี มานำเสนอ ณ ที่นี้
ข้อกล่าวหาที่ 1
ผู้ถูกล่าวหา : 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ข้อกล่าวหา : ร่วมกันหรือเป็นผู้สนับสนุนให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย โดยใช้แอปพลิเคชันของ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้บริการรถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ และไม่ได้เป็นผู้รับจ้างสาธารณะดำเนินการขนส่ง ไม่ยับยั้งให้หยุดบริการ ไม่เสนอบทลงโทษก่อนแก้กฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ บริษัท แกร็บแท็กซี่ฯ
พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-2 กระทำความผิดตามที่กล่าวหา เห็นควรไม่รับเรื่อง
สำหรับผู้ถูกร้องที่ 3 ไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 4 ไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เบื้องต้น คณะอนุกลั่นกรองฯ มีมติให้ตรวจสอบเพิ่มเติม จำนวน 4 ประเด็น เกี่ยวกับการนำส่งงบการเงิน/การชำระภาษีเงินได้ของบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด /เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างกฎกระทรวงคมนาคม และ การจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุคุ้มครองผู้โดยสาร
พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1-2 กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
เห็นควรไม่รับเรื่อง
ข้อกล่าวหาที่ 2
ผู้ถูกกล่าวหา : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ข้อกล่าวหา : 1. ใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 2. บริหารจัดการแผ่นดิน ส่อไปในทางที่มิชอบ ให้ตกอยู่ในกลุ่มของคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ทางการเมือง
พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า คำกล่าวหา ไม่ปรากฏข้อมูลหรือรายละเอียดเพียงพอ
เห็นควรไม่รับเรื่อง
ข้อกล่าวหา ที่ 3
ผู้ถูกกล่าวหา : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ข้อกล่าวหา : ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่องกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค.2557 โดยมิชอบ
พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า การออกประกาศทั้ง 2 ฉบับ เป็นการใช้อำนาจของบุคคลที่มิได้อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐ และเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
เห็นควรไม่รับเรื่อง
ข้อกล่าวหา ที่ 4
ผู้ถูกกล่าวหา : 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2. เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ข้อกล่าวหา : 1. งดเว้นไม่สั่งการให้ตำรวจรีบสอบสวนไต่สวนกับบุคคลที่ให้ข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดฐานที่ลวงชาวบ้านไปเปิดบัญชีเพื่อฟอกเงิน
2. เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ประวิงเวลาล่าช้าไม่รับสอบสวนไต่สวนนำตัวผู้ที่มีอิทธิพลและนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีฐานฟอกเงิน
พนักงานเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดตามที่กล่าวหา
เห็นควรไม่รับเรื่อง
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ปัจจุบัน รวม 5 กรณี จะต้องมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง
ท้ายที่สุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
รวมถึงกรณีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย 2 กรณี คือ การยืมนาฬิกาหรู จำนวน 25 เรือน ของเพื่อนมาใช้ และ การรับเหล็กไหล เป็นของขวัญวันเกิด ที่นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ด้วย
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกันประกอบ
- อนุฯ ป.ป.ช.ตีตกปม 'ประวิตร' รับนาฬิกาหรูเกิน3พัน-กรมศุลฯ ขายของคืนลูกสาว'ปัฐวาท'19 ล.
- 2 คดีรวด! จากนาฬิกาหรู สู่เหล็กไหล 'บิ๊กป้อม' ส่อรอดข้อกล่าวหารับทรัพย์สินเกิน 3 พัน
- คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล: ผมไม่ได้ให้เหล็กไหล 'บิ๊กป้อม' แค่หินสวยงามหลักร้อย ไร้ใบเสร็จ