ศาลปกครองสูงสุด ระบุตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4506/2562 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งปวงประกอบกับพยานหลักฐานยต่างๆ แล้ว การที่ ป.ป.ช. เห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการตามที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในกิจการใดบ้าง จึงฟังว่าผู้ฟ้องคดีทุจริต จึงฟังไม่ขึ้น ... พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 339/2558 ลงวันที่ 26 ก.พ.2558 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ
เป็นกรณีที่ศึกษาที่น่าสนใจ!
สำหรับคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลคดีทุจริต แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล ผลสุดท้ายศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
เป็นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ‘นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์’ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์) ประเภทวิชาการระดับผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชการในเขตตรวจราชการที่ 6 เมื่อปี 2552 กรณีเรี่ยไร่เงินจากโรงพยาบาล โดยอ้างว่าจะนำไปซื้อรถตู้ เพื่อใช้ในราชการ อันเป็นการข่มขืนใจและจูงใจให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่จำเลย
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน จำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
ในคดีเดียวกัน ยังมีการพิจารณาในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2565 ศาลพิพากษาเห็นว่า นพ.จักรกฤษณ์ ไม่มีความผิดฐานทุจริตและพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง
ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง 'นพ.จักรกฤษณ์' ฟังไม่ได้ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลคำพิพากษาศาลฎีกา และ ศาลปกครองสูงสุด มานำเสนอ ดังนี้
ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 ระบุตอนหนึ่งว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์) ประเภทวิชาการระดับผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการในเขตตรวจราชการที่ 6 และได้รับมอบอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ การบริหารงานบุคคล การพิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นเกี่ยวกับตัวบุคคลและคำขอประเมินบุคคล เพื่อประกอบการพิจารณาในการดำรงตำแหน่งทางวชาการ พิจารณาความดีความชอบแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะในเขตตรวจราชการที่ 6 รวม 4 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง
วันที่ 8 เม.ย.2552 นพ.ธรรมนูญ สุขุมานันท์ ผู้อำนวยการ รพ.เกาะสมุย โอนเงินสวัสดิการ 200,000 บาท และ พญ.หญิงสุพรรณี ประดิษฐสถาวงษ์ ผู้อำนวยการ รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โอนเงินสวัสดิการ 500,000 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี ชื่อบัญชี แม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี
วันที่ 9 เม.ย.2552 นพ.ชัยศิลป์ ดำด้วง ผู้อำนวยการ รพ.พัทลุง โอนเงินสวัสดิการ 1,500,000 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี ชื่อบัญชี แม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี 1,000,000 บาท และบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยกระทรวงสาธารณสุข ชื่อบัญชี สวัสดิการเขตตรวจราชการที่ 6 จำนวน 500,000 บาท
นพ.ประวง เอื้อนนทัช ผู้อำนวยการ รพ.สุราษฎร์ธานี โอนเงินสวัสดิการ 400,000 บาท และ นพ.สมชาย นิ้มวัฒนากุล ผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช โอนเงินสวัสดิการของโรงพยาบาล 1,001,020 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี ชื่อบัญชีแม่บ้านสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี
เพื่อให้จำเลยนำไปใช้จัดซื้อรถตู้ ยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น CARAVELLE 3.2 V 6 BUSINESS LINE สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน ฮจ 9889 กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในราชการของเขตตรวจราชการที่ 6 จำเลยได้จองซื้อรถตู้คันดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2552 ราคา 3,100,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 ส.ค.2552 มีการจดทะเบียนผู้เป็นเจ้าของรถตู้ดังกล่าวในนามของบริษัทเวิลด์สยามกรุ๊ป จำกัด จากนั้นวันที่ 28 ต.ค.2552 ได้จดทะเบียนโอนให้แก่โรงพยาบาลพัทลุงเป็นเจ้าของรถตู้
ปลายปี 2552 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ต.ค.2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคณะหนึ่ง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตทั้งปวงในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ขณะเดียวกันได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับจำเลย ทำหน้าที่ผู้ตรวจราชการเขตตรวจราชการที่ 6 พยายามประจบเอาใจ รมว.สาธารณสุข โดยการเรี่ยไรเงินจากโรงพยาบาลใน 4 จังหวัด จัดซื้อรถตู้ให้รัฐมนตรีไว้ใช้งานระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการในภาคใต้
คณะกรรมการทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า การจัดซื้อรถตู้น่าจะไม่โปร่งใส มีเงื่อนงำ เห็นควรส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวน กระทั่ง ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อใหเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง มาเบิกความเป็นพยาน ประกอบกับเอกสารที่พยานต่างเคยให้การต่อ ป.ป.ช.ในทำนองเดียวกันว่า ต้นปี 2552 จำเลยเดินทางมาตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 หลังจากดำเนินการประชุมตามวาระเสร็จสิ้น จำเลยได้พูดปรารถว่า เขตตรวจราชการที่ 6 ไม่มีรถยนต์ประจำให้ผู้ตรวจราชการไว้ใช้สอย ทำให้มีความยุ่งยากในการมาตรวจราชการ จำต้องขอใช้รถยนต์ที่มีอยู่ในสำนักสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ จำเลยจึงขอสนับสนุนเงินสวัสดิการของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มาซื้อรถตู้
พยานโจทก์ดังกล่าวได้ปรึกษากับรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นควรช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ตรวจราชการมีรถยนต์ใช้เป็นยานพาหนะเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว หลังจากนั้น น.ส.อัญชลี ภุมมา ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขตตรวจราชการที่ 6 โทรศัพท์มาถึงพยานโจทก์ทั้งห้าปาก ให้โอนเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ เมื่อจัดการนำเงินไปซื้อรถตู้แล้ว พยานโจทก์เห็นจำเลยนำรถตู้ไปใช้ในการตรวจราชการเป็นครั้งคราว
ส่วนจำเลยเบิกความต่อสู้ว่า พยานทราบจากหัวหน้าผู้ตรวจราชการว่า รมว.สาธารณสุข (นายวิทยา แก้วภราดัย) เป็น ส.ส.ภาคใต้ คาดว่าจะต้องมีผู้บริหารระดับกระทรวง อธิบดี ลงพื้นที่ในเขตภาคใต้บ่อย จะต้องจัดหาบุคลากร รถยนต์ ให้พร้อมเพื่อรองรับนโยบาย ต้นปี 2552 จึงนำเรื่องดังกล่าวเสวนานอกรอบกับผู้บริหาร อาทิ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ สสจ.สุราษฎร์ธานี อ้างว่ารถยนต์ที่ใช้อยู่มีสภาพเก่าเคยประสบอุบัติเหตุ ผู้บริหารที่มาประชุมต่างให้การสนับสนุนในการจัดหารถยนต์คันใหม่ จึงมอบหมายให้ น.ส.อัญชลี ไประดมความเห็นในการรับบริจาคเงินจากโรงพยาบาลต่างๆ โดยไม่มีการบังคับ จนทราบว่า แต่ละโรงพยาบาลจะนำเงินสวัสดิการของโรงพยาบาลซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณมาบริจาค ได้เงิน 3 ล้านบาทเศษ
ต่อมามีการจัดงานมอเตอร์โชว์ พยานมาเที่ยงานแล้วตกลงซื้อรถตู้ ราคา 3.1 ล้านบาท พยานได้จองซื้อในนามตนเองไว้ก่อนเป็นเงิน 50,000 บาท ในตอนแรก นพ.ณัฐวุฒิเสนอให้จดทะเบียนในนามสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วโอนเป็นชื่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีผู้รับบริจาค แต่ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล พยานจึงคิดว่านาจะให้สมาคมแม่บ้านกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับโอน แต่ น.ส.อัญชลี เกรงว่าสมาคมจะนำรถตู้ไปใช้สอยเองตามลำพัง จึงเสนอให้โอนใส่ชื่อบริษัทเวิลด์สยามกรุ๊ป จำกัด ไว้ก่อน เพราะรู้จักกรรมการบริษัทดังกล่าว จากนั้นให้บริจาครถตู้กลับคืนมาในภายหลัง
ขณะเดียวกันมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเวลาที่จะต้องจดทะเบียนรถยนต์ ทางผู้บริหารโรงพยาบาลต่างๆ เสนอให้โรงพยาบาลพัทลุงเป็นผู้รับโอนในฐานะผู้รับบริจาค เพราะโรงพยาบาลพัทลุงบริจาคเงินมากที่สุด
เห็นว่า การที่จำเลยนำเรื่องปัญหาอุปสรรคการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการตรวจราชการเขตตรวจราชการที่ 6 ให้สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งทราบและขอความสนับสนุนความร่วมมือหรือความอนุเคราะห์ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อซื้อรถยนต์คันใหม่นั้น เป็นเพราะจำเลยไม่อาจดำเนินการจัดซื้อให้ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีอยู่ก่อนแล้ว
ผู้เข้าร่วมประชุมได้ปรึกษาหารือกันนอกรอบถึงเรื่องดังกล่าว 2-3 ครั้งในที่สุดตกลงให้ซื้อรถตู้ ราคาประมาณ 3 ล้านบาท โดยจำนวนเงินที่บริจาคให้เป็นไปตามความสมัครใจ และตกลงต่อไปว่าให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามฟ้องเพื่อให้จำเลยดำเนินการจัดซื้อรถตู้ตามลำดับ แสดงว่า การโอนเงินสวัสดิการของผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง เกิดจากความคิดเห็นของจำเลย แต่การตัดสินใจว่าจะนำเงินมาร่วมบริจาคเกิดจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลและผู้บริหารฝ่ายต่างๆ
แม้จะได้ความว่าผู้บริหารบางคนมีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะนำเงินไปบริจาคก็ตาม แต่ในที่สุด กรรมการเสียงส่วนใหญ่ทุกโรงพยาบาลก็ตกลงยินยอมให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง อนุมัติเงินสวัสดิการเพื่อจัดซื้อรถตู้
อีกทั้งเงินที่บริจาคก็เป็นเงินสวัสดิการของโรงพยาบาลที่ได้มาจากหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่มอบแก่โรงพยาบาลไว้ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ การกุศล รวมถึงช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทุกคนในยามจำเป็นเท่านั้น เงินดังกล่าวเป็นเงินนอกงบประมาณ ผู้อำนวยการและกรรมการสามารถอนุมัติการจ่ายได้ตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
นอกจากนี้ยังปรากฏตามหนังสือรับมอบรถยนต์ จำเลยระบุชื่อผู้รับมอบรถตู้คือ สสจ.สุราษฎร์ธานีตามที่แนะนำไว้แต่แรก มิได้จดทะเบียนเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด และจำเลยเคยใช้รถตู้คันนี้เดินทางไปตรวจราชการในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบด้วยถด้วย
บ่งบอกว่าจำเลยนำเงินบริจาคไปใช้ซื้อรถตู้เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอย่างแน่แท้ สำหรับเงินสวัสดิการที่โอนมาให้ซื้อรถตู้คัน มีเงินเหลือฝากเข้าบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการที่ 6 ประมาณ 500,000 บาท ได้ความว่า จำเลยได้เบิกเงินเป็นค่าปรับปรุงรถตู้ เช่น เปลี่ยนสภาพเป็นเบาะไฟฟ้า ติดฟิล์มกรองแสง จานดาวเทียม เพื่อให้รถตู้มีความทันสมัย สะดวกสบาย เพื่อใช้รองรับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่ต้องเดินทางมาตรวจราชการ จ่ายเป็นค่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซูก้า เคน ในการผลิตสื่อเกี่ยวกับงานด้านสาธารณสุข ซึ่งบันทึกออกรายการชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ หลายตอน ตลอดจนนำเงินมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายให้วิทยากรจากหน่วยงานอื่นที่มาบรรยายให้ความรู้
แม้จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยขอเรี่ยไรไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็นำเงินมาใช้เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ อีกทั้งยังนำเงินที่เหลืออยู่ฝากเข้าบัญชีสวัสดิการเขตตรวจราชการที่ 6 ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นอกจากนี้ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา มีอำนาจรายงานผลการปฏิบัติราชการ ตลอดจนพิจารณาความดีความชอบของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรต่างๆ ซึ่งตนมีหน้าที่รับผิดชอบ แต่จำเลยไม่เคยทำรายงานหรือพิจารณากลั่นแกล้งผู้หนึ่งใดโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลใดได้รับความเสียหาย
พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่ง มอบให้หรือหามาให้ซึ่งเป็นตามจำนวนที่บริจาคแก่ตนเองหรือผู้อื่น และจำเลยไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง
ในคดีเดียวกัน ยังมีการพิจารณาในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2565 ศาลพิพากษาเห็นว่า นพ.จักรกฤษณ์ ไม่มีความผิดฐานทุจริตและพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง มีรายละเอียด ดังนี้
คดีนี้ นพ.จักรกฤษณ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 – 3 ตามลำดับ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2558 นพ.จักรกฤษณ์ ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ และวันที่ 19 มี.ค. 2558 มีการแก้คำสั่งตามมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีพฤติการณ์แสวงหาประโยชน์จากการจัดซื้อรถตู้ ต่อมา นพ.จักรกฤษณ์ ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ แต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2560 มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของตุลาการผู้แถลงคดี และตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำให้การเพิ่มเติม และคำแถลงของคู่กรณีแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการไล่ออกจากราชการ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นนอกเหนือจากความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายแล้วเห็นว่า ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย หากกการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยฐานอื่น มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ย่อมไม่ผูกพันให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จะถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย และจะผูกพันเฉพาะกรณีชี้มูลความผิดว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตเท่านั้น
ส่วนความผิดอื่น ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จึงจะมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษทางวินัยต่อไปได้
ดังนั้นคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 339/2558 ลงวันที่ 26 ก.พ.2558 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 471/2558 ลงวันที่ 19 มี.ค.2558 เรื่องแก้ไขคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้เป็นไปตามมติ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งไม่อาจถือว่า รายงานเอกสารและความเห็นของ ป.ป.ช.ในส่วนนี้ เป็นสำนวนการสอบสวนวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย การที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 คำสั่งไล่ออกจากราชการ ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์เพราะเหตุดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของ นพ.จักรกฤษณ์ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หรือไม่
ศาลปกครองสูงสุด ระบุตอนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4506/2562 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2562 เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งปวงประกอบกับพยานหลักฐานยต่างๆ แล้ว การที่ ป.ป.ช. เห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการตามที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในกิจการใดบ้าง จึงฟังว่าผู้ฟ้องคดีทุจริต จึงฟังไม่ขึ้น
การที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และการที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์คำสั่ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีฟังขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น ๆ เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนไป
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 339/2558 ลงวันที่ 26 ก.พ.2558 เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 471/2558 ลงวันที่ 19 มี.ค.2558 เรื่องแก้ไขคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เรื่องดำที่ 5810027 เรื่องแดงที่ 0056160 ลงวันที่ 27 มิ.ย.2560 ให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2557
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามกฎหมายและระเบียบต่อไป
ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิด นพ.จักรกฤษณ์ สรุปสาระแห่งคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ไว้ดังนี้
ที่มาแห่งคดี
เริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัย นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องไทยเข้มแข็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น คือ นายวิทยา แก้วภราดัย ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ มาตรวจสอบเรื่องทุจริตไทยเข้มแข็ง คณะกรรมการได้แถลงการณ์ออกข่าวว่ามีการทุจริตโดยพยายามเชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ตัว รัฐมนตรี วิทยา ขณะนั้น ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุขในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หลังจากนั้นเรื่องราวได้ปรากฏชัดเจนว่า นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกรณีไทยเข้มแข็งทั้งสิ้น ทางนพ.จักรกฤษณ์ จึงได้ดำเนินการทางคดีและฟ้องคณะกรรมการในข้อหาหมิ่นประมาท ( ซึ่งต่อมาศาลยกฟ้องเนื่องจากเหตุผลว่าฟ้องซ้ำกับกรณีของรัฐมนตรีวิทยา )
ขณะที่ฟ้องเรื่องหมิ่นประมาทดำเนินการอยู่นั้นได้มีกรรมการท่านหนึ่งโทรศัพท์มาข่มขู่ให้ถอนฟ้องมิฉะนั้นจะมีเรื่องราวต่อไปอีก แต่ทางนพ. จักรกฤษณ์ แจ้งว่าให้ประสานกับทางทนายความเพราะตอนกรรมการแถลงข่าวไม่ได้ดูให้รอบคอบชัดเจนก่อน ทำให้เกิดความเสียหาย
จากนั้นได้มีเรื่องร้องเรียนเรื่องการจัดหารถตู้ไว้ใช้งานที่เขตตรวจราชการโดยใช้เงินสวัสดิการส่งไปให้ ป.ป.ช เพื่อดำเนินการสอบสวน ประเด็นของเรื่องคือ เป็นการจัดหารถยนต์สมรรถนะสูงไว้ประจำเขตตรวจราชการ โดยใช้เงินสวัสดิการซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณเป็นเงินบริจาคที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์จาก โรงพยาบาลประจำจังหวัดสนับสนุนกันคนละส่วนตามกำลัง ได้มีการตั้งข้อหาเรื่องทุจริตและบังคับขู่เข็ญ ทาง ป.ป.ช ดำเนินการสอบสวนอยู่ เกือบ 5 ปี โดยประธานอนุกรรมการสอบสวน คือ นายภักดี โพธิศิริ ได้มีมติว่า นพ. จักรกฤษณ์ กระทำผิดจริง
โดยข้อมูลที่ทาง ป.ป.ช เชื่อมั่นและใช้ในการตัดสินมาจากจำเลยอีกราย ที่ถูกกันไว้เป็นพยาน และได้ส่งมติให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งไล่ นพ.จักรกฤษณ์ ออกจากราชการ ในวันสุดท้ายที่เกษียณอายุราชการพอดีคือ 30 กันยายน 2557
จากนั้นได้ส่งเรื่องไปดำเนินคดียังศาลอาญาเพื่อลงโทษทางอาญาอีกด้านหนึ่งด้วย
ผลการพิจารณาของศาล
กระบวนการพิจารณาโทษทางอาญาทางศาลอาญา ได้พิจารณาครบ 3 ศาล ศาลชั้นต้น สั่งลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือนเมื่อ 23 ก.พ 2559 ประกันตัวมาสู้คดี ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องเมื่อ7 ธ.ค.2559 ศาลฎีกา พิพากษายืน ตามศาลอุทธรณ์ เมื่อ 22 ก.ค 2562
นพ.จักรกฤษณ์ ได้ยื่นขอความเป็นธรรมกรณีทางวินัยที่ทาง กระทรวงสาธารณสุขสั่งลงโทษตามมติชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช ต่อทางศาลปกครองสูงสุด คดีได้ดำเนินการตามขั้นตอนของทางศาลปกครองสูงสุดท้ายสุดทาง
ตุลาการผู้แถลงคดี และคณะตุลาการ ในองค์คณะทั้ง 5 ท่าน ได้มีคำพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกของ กระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่ง และให้คืนสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายและระเบียบ ได้อ่านคำพิพากษา เมื่อ 25 ก.พ 2565
รวมเบ็ดเสร็จ คดีความทั้ง 2 ด้าน นพ.จักรกฤษณ์ ใช้เวลาต่อสู้คดีนับจากวันเกษียณอายุ ราชการ จำนวน 7 ปี 4 เดือน 25 วัน
นับเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับคดีทุจริตในแวดวงแพทย์ของไทย ทั้งในส่วนข้อกล่าวหา การต่อสู้คดีของจำเลย ที่น่าสนใจอีกหนึ่งคดีในสังคมไทย
อ่านประกอบ :
- สั่งฟันวินัยร้ายแรง"หน.ผู้ตรวจสธ."เรี่ยไร 3.6 ล.ซื้อรถตู้ให้รมต.ลงพื้นที่
- เผยมติ"อ.ก.พ.สธ."สั่งเชือด"นพ.จักรกฤษณ์"คดีเรี่ยไร3.6ล.ซื้อรถตู้ให้รมต.ใช้
- ย้อนผลสอบคดีเรี่ยไรเงินซื้อรถให้"รมต."ใช้-หมอจักรกฤษณ์ โวยถูกป้ายสี
- "วิทยา"ยันไม่เคยสั่ง "นพ.จักรกฤษณ์" ซื้อรถตู้ให้นั่ง แลกตำแหน่งผู้ตรวจฯ
- ศาลฎีกา พิพากษายืน ยกฟ้อง 'นพ.จักรกฤษณ์' คดีเรี่ยไร 3.6 ล.ซื้อรถตู้ให้รมต.ใช้ลงพื้นที่