“..รัฐบาลควรประกาศเป็นนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ทั้งในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการรักษาและการฟื้นฟู รวมถึงบริการด้านการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ..”
จากโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา ‘เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ’ นั้น มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการมากมาย อาทิเช่น งบประมาณที่ไม่เพียงพอ การดำเนินการที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีการติดตามผลการทำงาน เป็นต้น
สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนการประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ (ระยะครึ่งแผน)
โดยระบุข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป มีรายละเอียด ดังนี้
คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ที่มีผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
ควรเร่งสั่งการให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจในการทำงานกับกลุ่มบุคลากรในสังกัด
รัฐบาลควรประกาศเป็นนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนและปฏิบัติได้
เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนได้รับสิทธิและเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ทั้งในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการรักษาและการฟื้นฟู รวมถึงบริการด้านการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ควรมีมาตรการที่ช่วยในการเพิ่มจำนวนการเกิดอย่างยั่งยืน
เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร รองรับสังคมสูงวัย และลดภาระพึ่งพิงวัยแรงงานในอนาคต
เช่น การส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มคนโสดรุ่นใหม่ เพิ่มสิทธิการรักษาภาวะมีบุตรยากให้อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มการให้เงินอุดหนุนบุตรแรกเกิดเป็น 1,000 บาท จนถึงอายุ 6 ปี ลดภาษีแบบก้าวหน้าในครอบครัวที่มีบุตรมากกว่า 1 คน สนับสนุนการศึกษาภาคบังคับฟรีจนถึง 12 ปี ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นต้น
ควรมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ระบบประกันสุขภาพของไทย
ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ควรมีคณะทำงานจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
เพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน เน้นทิศทางของการพัฒนาเชิงระบบโดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ร่วมกันวางแผนจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานในโครงการที่ มุ่งเป้ายุทธศาสตร์ยุบรวมโครงการย่อยๆ เข้าด้วยกัน
โดยจัดทำเป็นชุดโครงการ ใน 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะ ก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด จนถึงช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก และนำเอาแผนงานที่แต่ละกระทรวงมีอยู่แล้ว และสอดคล้องกับมาตรการในนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติมาจัดหมวดหมู่ และผนวกมาตรการในยุทธศาสตร์เข้ากับงานที่แต่ละกระทรวงมีอยู่เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทำงานระหว่างกระทรวง มีผู้รับผิดชอบหลักและงบประมาณสนับสนุน
ควรมีเวทีระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตามกำกับงานที่ต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค
เพื่อร่วมกันวางแผนจัดการแก้ไขร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีระบบพี่เลี้ยงเกื้อหนุนการทำงานกับบุคลากรใหม่ โดยมีคู่มือที่เป็นแนวปฏิบัติ หรือผังการทำงานที่ชัดเจนและปฐมนิเทศ ให้รับรู้ รวมทั้งการติดตามกำกับป้อนข้อมูลกลับเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน
กระทรวงสาธารณสุข ควรเน้นกลไกการสร้างความรอบรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิประโยชน์
เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในสังคม ที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง เช่น ผ่านโซเชียลมีเดีย ในรูปของคลิปวีดีโอสั้นที่สื่อสารเข้าใจง่าย เพื่อสร้างความตระหนักต่อความสำคัญของการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การฝากครรภ์คุณภาพ และการเลี้ยงดูบุตรให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย
โดยในส่วนของกรมอนามัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วย สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ สำนักส่งเสริมสุขภาพ สำนักโภชนาการ สำนักทันตสาธารณสุข สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กองกิจกรรมทางกาย ควรร่วมมือกันวางแผนกำหนดทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งแผนหลังของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ภายใต้การทำงานที่มีอธิบดีกรมอนามัยสั่งการภาพรวม และควรเลือกโครงการการดำเนินงานในเชิงผลักดันนโยบายที่ลงไปดำเนินการร่วมกันในชุมชน และมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เลือกตัวชี้วัดหลักที่สำคัญบางตัวไว้ติดตาม กำกับงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณ และมีความเป็นเอกภาพ และสะดวกต่อการติดตามและประเมินผล
กระทรวงศึกษาธิการ ควรผนวกเรื่องการพัฒนาประชากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงวัย โดยบรรจุสาระการเรียนรู้เรื่อง การส่งเสริมการเกิดและเจริญเติบโตที่มีคุณภาพในรายวิชาสุขศึกษา
กระทรวงมหาดไทย ควรผลักดันงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในท้องถิ่นหรือพื้นที่
เพื่อการดำเนินงาน ในโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการวิวาห์สร้างชาติ โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน โครงการพัฒนาสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือโครงการที่เอื้อต่อการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันให้การดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2ฯ มีประสิทธิภาพและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
เพื่อจัดบริการด้านสวัสดิการสังคมที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด บ้านพักเด็กและครอบครัว และการจัดหาครอบครัวทดแทน และควรประกาศเป็นนโยบายสาธารณะที่ชัดเจนและปฏิบัติได้
กระทรวงแรงงาน ควรส่งเสริมเลี้ยงการเลี้ยงดูบุตรคุณภาพ ทั้งสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตร มุมนมแม่ในสถานประกอบการ
โดยออกเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หรือ แนวปฏิบัติ ที่สถานประกอบการต้องจัดให้พนักงาน มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการที่จัดมุมนมแม่ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการดีเด่นมอบเกียรติบัตรให้เป็นสถานประกอบการต้นแบบและประกาศสู่สาธารณะ ควรจัดการฝึกฝนอาชีพแก่แม่วัยรุ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและสามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้
กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ควรประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงสิทธิการลดหย่อนภาษีของผู้มีรายได้และมีบุตร
หน่วยงานภาคีเครือข่ายในระดับจังหวัด ควรร่วมกันวางแผนจัดทำโครงการแบบบูรณาการ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (สปสช.)
เพื่อดำเนินงานในโครงการผลักดันเชิงนโยบาย ภายใต้กลไกการทำงานของคณะกรรมการระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง และควรแสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนเพิ่มเติม
หน่วยงานภาคีเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ ควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดเป้าหมายและภารกิจร่วมกัน
ภายใต้รูปแบบของคณะกรรมการระดับตำบล/ระดับอำเภอ/ระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการเป็นประธาน เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลากร อุปกรณ์ และงบประมาณ และควรมีคู่มือหรือแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้บุคลากรใช้ประกอบการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อให้มีทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังได้ระบุถึงแนวทางเพื่อการพัฒนาขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเจริญพันธุ์ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
กระทรวงสาธารณสุข
ควรรณรงค์ให้ความรู้แก่คู่สมรสใหม่ เรื่องการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์คุณภาพ จัดทำสื่อโซเชียลเผยแพร่ ที่เข้าถึงได้ง่ายเหมาะต่อการศึกษาด้วยตนเอง ควรจัดคลินิกให้คำปรึกษาและดำเนินการเชิงรุกในชุมชน โดยให้ความรู้ผ่านเวทีประชาคมเพื่อสร้างการรับรู้ และความตระหนักต่อการเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เช่น การตรวจเลือดคัดกรองหาความผิดปกติทางพันธุกรรม การรับประทานวิตามินโฟลิกเพื่อป้องกัน ความพิการแต่กำเนิด การดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ หลังคลอดและเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ การจัดตั้งโรงเรียนพ่อแม่เพื่อพัฒนาพ่อแม่มือใหม่ที่มีคุณภาพ โดยอาจจัดตั้งในโรงพยาบาลหรือร่วมกับศูนย์พัฒนาครอบครัวเพื่อจัดตั้งในชุมชน
กระทรวงศึกษาธิการ
ควรมีมาตรการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วัยเรียน โดยผนวกเนื้อหาเข้ากับการเรียนในรายวิชาสุขศึกษา เพื่อให้วัยเรียนและวัยรุ่นหญิงใส่ใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง และตระหนักถึงความสำคัญของวิตามินโฟลิกต่อการป้องกันความพิการแต่กำเนิด
คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีผู้แทนจาก 5 กระทรวงหลัก
ควรร่วมกันดำเนินงานในโครงการผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการวิวาห์สร้างชาติ โครงการส่งเสริมภาวะโภชนาการหญิงวัยเจริญพันธุ์ โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต และโครงการส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก 2 - 6 ปี โดยมีงบประมาณจากกองทุน สุขภาพระดับตำบล จัดสรรเพื่อการดำเนินงานเชิงรุก เช่น การแจกวิตามินโฟลิกให้กลุ่มเป้าหมายในชุมชน การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของชุมชนต่อความสำคัญของการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
กระทรวงการพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ควรจัดทำคู่มือเรื่องสวัสดิการสังคมและสิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด รวมทั้งบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางกฎหมายและสิทธิที่ด้านสวัสดิการสังคมที่กลุ่มเป้าหมายควรได้รับ โดยให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ
รวมถึงจัดสวัสดิการสังคมตามสิทธิที่กลุ่มเป้าหมายควรได้รับ ได้แก่ สวัสดิการการได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดถึง 6 ปี สวัสดิการการนำบุตรไปฝากเลี้ยงระหว่างแม่ไปทำงานที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หรือสวัสดิการเรื่องการลดหย่อนภาษีเมื่อมีบุตร การจัดหาครอบครัวทดแทน/ครอบครัวอุปถัมภ์ หรือสายด่วนเพื่อขอรับคำปรึกษา ฯลฯ
ทั้งนี้ อาจเผยแพร่ควบคู่ไปกับสื่อโซเชียลมีเดียในกลุ่มไลน์ แฟนเพจเฟซบุ๊ก มี QR code เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมจากคลิปวีดีโอสั้น โดยใช้ต้นแบบจากกระทรวงสาธารณสุขที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีกับการใช้สมุดคู่มือสุขภาพแม่และเด็กสีชมพู ร่วมกับการสแกน QR code เพื่อศึกษาความรู้ผ่านสื่อโซเชียล
กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นควรร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
เพื่อควบคุมมาตรฐานของการจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่อง ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มมารดาที่มีบุตรอายุ 2 - 6 ปีโดยการเยี่ยมบ้านและขึ้นทะเบียนกลุ่มที่อาศัย อยู่ในพื้นที่ให้บริการ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลเพื่อส่งเสริมการเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย
ทั้งหมดนี้ คือแนวทางและข้อเสนอแนะในการพัฒนาขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเจริญพันธุ์ เพื่อส่งเสริมการเกิดของประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต