“..โครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพเกือบทั้งหมด อยู่ในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก มีมากถึง 144 โครงการ ในจำนวนนี้มี 91 โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่ดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 27 โครงการ คิดเป็น 29.7% โดยส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ..”
ความสำเร็จของการดำเนินงานวางแผนครอบครัวในประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงเหลือต่ำกว่า 1.5/1,000
ประชากรในปัจจุบัน แม้ว่าอัตราการเกิดจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าในการเกิดดังกล่าวถึงกว่า 25% เป็นการเกิดที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่มีความพร้อม และในจำนวนนี้เป็นการเกิดที่มาจากมารดาวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี ถึง 47% โดยอัตราการเกิดมีชีพในเด็กหญิงอายุ 10 - 14 ปีเท่ากับ 1.1/1,000 และหญิงวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี พบ 31.1/1,000 เมื่อเทียบกับประชากรหญิงวัยเดียวกัน
สถานการณ์การเกิดที่ลดลง ร่วมกับสภาวการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อความพร้อมในการมีบุตรและการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ พบภาวะเสี่ยงสูงต่อการตายทั้งมารดาและทารก คู่สมรสมีบุตรช้าลงมีปัญหาภาวะมีบุตรยาก และพบความพิการแต่กำเนิดถึง 24,000 - 40,000 รายต่อปี จากการเกิดทั้งหมด 500,000 คนต่อปี
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเด็กมีการเจริญเติบโตไม่สมวัย พัฒนาการล่าช้า มีภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็กยากจน ขาดความรู้ความตระหนัก และไม่มีเวลาใส่ใจดูแลเด็กเท่าที่ควร
จากสถานการณ์ ‘เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ’ นี้ ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาประเทศและผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ที่นำประเทศไปสู่มั่นคงและยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
โดยมีหลักแนวคิดที่สำคัญ ดังนี้
-
พัฒนาและส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ของประชากรตั้งแต่ก่อนวัยเจริญพันธุ์ ลดการสมรส และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ส่งเสริมการคุมกำเนิดกึ่งถาวรเพื่อชะลอการมีบุตรในการตั้งครรภ์ถัดไป จนกว่าจะมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สนับสนุนการเรียนต่อให้เลี้ยงดูตัวเองได้ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคุมกำเนิด ทางเลือกและการตัดสินใจเรื่องการมีบุตร รวมทั้งจัดบริการให้คำปรึกษาและรักษาในผู้มีบุตรยาก
-
สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวและมีบุตร สร้างสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่นเกื้อกูลต่อการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวและมีบุตร สร้างสมดุลชีวิตครอบครัวและการทำงานส่งเสริมบทบาทหญิงชายในครอบครัว สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของหญิงทำงานที่ตั้งครรภ์ ครอบคลุมถึงสถานดูแลเด็กในที่ทำงาน การเพิ่มวันลาพักของทั้งพ่อแม่เพื่อการเลี้ยงดูบุตร
-
พัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ คลอดและเลี้ยงดูจนเติบโต
-
ส่งเสริมความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชากรทุกคนมีทางเลือกที่จะมีบุตรตามจำนวนที่ต้องการโดยไม่มีอคติหรือข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจ
มีเป้าประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการเกิดด้วยความสมัครใจให้เพียงพอต่อการทดแทนประชากรโดยที่การเกิดทุกรายต้องมี การวางแผน มีความตั้งใจและความพร้อมในทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกมีสุขภาพแข็งแรงพร้อม ที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพ
สำหรับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
-
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนากฎหมาย นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
-
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม
-
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบการจัดสวัสดิการ
-
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสารสังคม
ที่ผ่านมา โครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพเกือบทั้งหมด อยู่ในการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก มีมากถึง 144 โครงการ ในจำนวนนี้มี 91 โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่ดำเนินการแล้วเสร็จเพียง 27 โครงการ คิดเป็น 29.7% โดยส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ ขณะที่การดำเนินงานในการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการสังคม มีการดำเนินงานค่อนข้างน้อย มีการดำเนินงานแผนเพียง 21.2%
สำหรับปัญหา อุปสรรคของกระบวนการดำเนินงานในโครงการที่สำคัญ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
โครงการวิวาห์สร้างชาติและโครงการสาวไทยแก้มแดง
พบปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกซื้อวิตามินโฟลิกในระดับพื้นที่ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญน้อยเมื่อเทียบกับยาเพื่อการรักษา อีกทั้ง งบประมาณจำกัด และการขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะดำเนินการในระดับส่วนกลางเน้นการผลักดันเชิงนโยบาย
ทำให้การแจกจ่ายวิตามินโฟลิกในระดับพื้นที่ไม่ทั่วถึง การเข้าถึงวิตามินโฟลิกของกลุ่มเป้าหมายมีน้อย ขาดความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์ของวิตามินโฟลิก เนื่องจากหน่วยงานขาดการประชาสัมพันธ์เชิงรุก การจัดกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่ดำเนินการเป็นครั้งคราวไม่ต่อเนื่อง
การดำเนินงานยังมุ่งเน้นเฉพาะจุดตามงบประมาณที่จัดสรรลงในพื้นที่ไม่ผนวกเข้ากับงานประจำ จึงขาดความต่อเนื่องและขาดกลไกของการทำงานเชิงระบบที่จะดึงเอาหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เข้ามาร่วมบริหารจัดการ
โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต
พบปัญหาด้านระบบฐานข้อมูลเพื่อติดตามกำกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ยังไม่เชื่อมโยงระหว่างสถานบริการที่ผู้ใช้สิทธิ์ไปใช้บริการ
ขาดการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อสนับสนุนการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ขาดการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงานข้ามกระทรวง และขาดกลไกติดตามกำกับความสำเร็จของการดำเนินงาน
โครงการเฝ้าระวังมารดาตายและห้องคลอดคุณภาพ
พบปัญหาเรื่องภาวะซีดตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงตั้งครรภ์ เนื่องจากขาดสารอาหารเพราะยากจน
มีปัญหาด้านวัฒนธรรมและความเชื่อในท้องถิ่นที่อิงกับหลัก คำสอนทางศาสนาในเรื่องการคุมกำเนิดเพื่อเว้นระยะห่างมีบุตร ทำให้ต้องคลอดซ้ำบ่อย ๆ และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดและคลอดบุตรด้อยคุณภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลยังมีความเชื่อที่ผิดต่อการมาฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ
อีกทั้ง กลุ่มแรงงานย้ายถิ่นฝากครรภ์ไม่ต่อเนื่อง จึงเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะคลอดและหลังคลอด
นอกจากนี้ ยังพบหญิงตั้งครรภ์ และทารกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการติดเชื้อและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
โครงการดูแลหลังคลอดและการวางแผนครอบครัว
พบปัญหาเรื่องการติดตามเยี่ยมหลังคลอดในชุมชนที่มีประชากรแฝง และย้ายถิ่นพักอาศัยในสถานที่ที่เข้าถึงยาก เช่น หอพัก และคอนโดมีเนียม
วัยรุ่นไม่มารับบริการคุมกำเนิดและข้อห้ามทางศาสนาต่อการฝังยาคุมกำเนิดทำให้กลุ่มแม่หลังคลอดมีโอกาสตั้งครรภ์ซ้ำได้สูง
โครงการส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่
พบปัญหาเรื่องข้อกำหนดในสิทธิการลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่ 6 เดือน
การลาหยุดงานของสามีเพื่อช่วยเลี้ยงดูบุตรทำได้ยากเพราะส่งผลต่อการขาดรายได้
อีกทั้งเจ้าของสถานประกอบการไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดมุมนมแม่เพราะเกรงจะกระทบต่อกระบวนการผลิต
ส่งผลให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูโดยแม่ไม่ถึง 6 เดือน แล้วถูกส่งให้ปู่ ย่า ตา ยายเป็นผู้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องการเตรียมนมแม่ จึงใช้นมผงแทนซึ่งสะดวกกว่า
คลินิกสุขภาพเด็กดีและส่งเสริมพัฒนาการ
พบปัญหาเรื่องการไม่พาบุตรไปรับบริการต่อเนื่อง เพราะย้ายไปประกอบอาชีพต่างพื้นที่ และบางส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีความยากลำบากในการเข้ารับบริการ
คลินิกให้คำปรึกษาคู่สมรสและรักษาผู้มีบุตรยาก
พบปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงบริการและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากรัฐยังไม่สนับสนุนให้การรักษาภาวะมีบุตรยากรวมอยู่ในสิทธิของการรักษา แนวทางการรักษาจะเชื่อมโยงถึงค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องสนับสนุน
สำหรับแนวทางการพัฒนานั้น หน่วยงานในระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนผนวกกิจกรรมที่มีความคล้ายคลึงกันเข้าด้วยกันและจัดทำชุดโครงการร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงานในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน และเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถขยายความครอบคลุมของการดำเนินงานได้มากขึ้น
อีกทั้ง หน่วยงานส่วนกลางของแต่ละกระทรวง ควรกำหนดมาตรการดำเนินงานเพื่อผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติในโครงการที่สำคัญ และนำไปสู่การลดผลกระทบ (Impact) ในกลุ่มเป้าหมาย และควรสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในทุกปีงบประมาณ
รวมถึง หน่วยงานส่วนกลางควรจัดทำคู่มือหรือแนวปฏิบัติการทำงานที่ระบุมาตรการดำเนินงาน และตัวชี้วัดหลักของการดำเนินงาน เพื่อใช้ควบคุมกำกับการทำงาน แจกจ่ายให้กับหน่วยงาน ในระดับพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและง่ายต่อการติดตามกำกับ และประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงานอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ คือปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการโครงการส่งเสริมการเจริญพันธุ์ที่สำคัญต่างๆ จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่ภาครัฐขาดคือความต่อเนื่องในการติดตามและกำกับดูแล ฉะนั้นจะต้องติดตามต่อไปว่า โครงการทั้ง 7 นี้ จะได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างไร เพื่อเป้าหมายใหญ่ในการแก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ’