ภาวะสงครามนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งกับระบบสาธารณสุข เพราะว่าสงครามนั้นอาจจะไปจำกัดการดูแลทางการแพทย์ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ที่ป่วยอาการหนักได้ และมักจะทำให้เกิดความแออัดของผู้คนซึ่งต้องเข้าไปหลบอยู่ในพื้นที่คับแคบ อาทิ สถานที่หลบภัยและบนรถไฟ ดังนั้นนี่จึงเปรียบเสมือนกับพายุที่สมบูรณ์แบบในการสร้างความท้าทายจากครั้งหนึ่ง ไปสู่อีกครั้งหนึ่ง
จากปัญหาวิกฤติรัสเซียบุกยูเครน ที่สร้างความกังวลต่อประชาคมโลก ณ เวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าวิกฤติดังกล่าวนั้นอาจจะส่งผลทำให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส นั้นกลับมาเลวร้ายขึ้นไปอีก
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานจากนิตยสารไทม์ของสหรัฐอเมริกามานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ที่ผ่านมา ประเทศยูเครนนั้นประสบปัญหาความยากลำบากเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว แม้กระทั่งก่อนที่ประเทศรัสเซียจะเข้ารุกรานยูเครน ซึ่งประเทศนี้นั้นมีการเริ่มของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นๆหลายประเทศในทวีปยุโรป ในขณะที่รัฐบาลยูเครนได้เร่งให้ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกัน แต่ปรากฏว่ามีทั้งผู้ที่ดิ้นรนเพื่อจะเข้ารับการฉีดวัคซีน,ผู้ที่ไม่ต้องการจะได้รับการฉีดวัคซีน และผู้ที่ไม่เชื่อทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน
โดยก่อนการรุกรานในวันที่ 24 ก.พ. พบว่ามีแค่ 35 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยูเครนเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนมาก แม้ว่าจะมีบางประเทศอาทิโปแลนด์และฮังการี ที่มีอัตราส่วนการสูงวัคซีนสูงกว่าประเทศอื่นๆใกล้เคียงก็ตาม ในขณะที่ระบบสุขภาพที่แตกต่างกันออกไปและทัศนคติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันออกไปนั้น ก็ส่งผลทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาพในแต่ละประเทศมีลักษณะที่ตัดกันออกไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้กรณีที่ประเทศยูเครนมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำนั้น ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการกระชากขึ้นของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่จำนวนมากทั้งจากในประเทศยูเครนเอง และประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่มีผลกระทบมาจากสงคราม ซึ่งประเทศยูเครนก็เหมือนกับประเทศอื่นๆที่ต้องเผชิญกับการกระชากของจำนวนผู้ติดเชื้อที่มาจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่ยอดผู้ติดเชื้อนั้นจะพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. และแน่นอนว่าเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ ก็ทำให้ในกลางเดือน ก.พ. พบข้อมูลว่า ในอัตราร้อยละ 60 ของผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดนั้นมีผลการตรวจเป็นบวก
และอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำดังกล่าวนั้นถือว่าไม่เพียงพอต่อการจะควบคุมไวรัสที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูงเช่น SARS-CoV-2 ได้ ซึ่งทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนก็ได้กล่าวเพิ่มด้วยว่าและเมื่อเพิ่มภาวะสงคราม ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ด้วยว่าจะเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา อันจะส่งผลทำให้ทั่วทั้งโลกนั้นมีความเสี่ยง
โดยการฉีดวัคซีนและมาตรการบรรเทาสถานการณ์ต่างๆ อาทิ การสวมใส่หน้ากาก,การเว้นระยะห่างทางสังคม,และสุขอนามัยขั้นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการควบคุมการระบาดของ SARS-CoV-2 แต่ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะคงมาตรการเหล่านี้ไว้ต่อไปในช่วงเวลาที่ประเทศนั้นกำลังถูกโจมตี ซึ่ง ณ เวลานี้นั้นมีรายงานว่ากลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน ได้ดำเนินการแจกอุปกรณ์การรักษาและฝึกฝนบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองมาริปูลให้รับมือกับสถานการณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
“สงครามนั้นถือว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับโรคระบาด” นพ.ไมเคิล ออสเตอร์โฮล์ม ผู้อํานวยการศูนย์วิจัยและนโยบายโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตากล่าวและกล่าวต่อไปว่า “ภาวะสงครามนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งกับระบบสาธารณสุข เพราะว่าสงครามนั้นอาจจะไปจำกัดการดูแลทางการแพทย์ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ที่ป่วยอาการหนักได้ และมักจะทำให้เกิดความแออัดของผู้คนซึ่งต้องเข้าไปหลบอยู่ในพื้นที่คับแคบ อาทิ สถานที่หลบภัยและบนรถไฟ ดังนั้นนี่จึงเปรียบเสมือนกับพายุที่สมบูรณ์แบบในการสร้างความท้าทายจากครั้งหนึ่ง ไปสู่อีกครั้งหนึ่ง”
เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนของประเทศยูเครนเมื่อเทียบกับทั้งโลก
ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้รายงานข้อมูลพบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ ของโรคติดเชื้อโดยมากแล้วเกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 90 ซึ่งโรคเหล่านี้นั้นก็มีจากกลุ่มประชากรผู้ลี้ภัยและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดย นพ.เลส โรเบิร์ต ศาสตราจารย์กิตติคุณของวิทยาลัยสาธารณสุขเมลแมน มหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าว ซึ่งเคยทำงานอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคในพื้นที่ได้กล่าวว่ากลุ่มประชากรในพื้นที่ความขัดแย้งเหล่านี้มีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อไวรัสโควิด-19
“เมื่อร่างกายคุณอยู่ภายใต้ความเครียด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไม่ทำงานได้ดีนัก คุณไม่ได้กินอย่างเพียงพอ ร่างกายคุณก็จะรับมือกับโรคระบาดได้ไม่ดีเช่นกัน” นพ.โรเบิร์ตกล่าวและกล่าวต่อไปว่า “และในช่วงเวลาของความขัดแย้งนั้นคุณจะต้องย้ายที่ไปเรื่อยๆ และโดยมากมักจะไปจบลงหลุมหลบระเบิด,ชั้นใต้ดินหรือรถบรรทุก ที่เป็นที่แออัด ไม่มีการไหลเวียนของอากาศที่ดีนัก ซึ่งผมคิดว่าผู้คนไม่เคยตระหนักรู้เลยว่าสงครามนั้นจะสามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโรคได้อย่างไร” นพ.โรเบิร์ตกล่าว
โดยมีรายงานว่ามีประชาชนกว่า 670,000 รายที่ต้องหนีออกจากประเทศยูเครนแล้วนับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้น และการเพิ่มขึ้นของการเดินทางนั้นก็เกือบจะทำให้ประเทศพรมแดนติดกับยูเครนมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อแทบจะในทันทีทันใด ยกตัวอย่างเช่นในประเทศโปแลนด์ ฮังการี สโลวาเกีย โรมาเนีย และมอลโดวา ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยังได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งข้อมูลจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประเทศโปแลนด์นั้นต้องรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว
“ไวรัสโควิด-19 นั้นแพร่ะกระจายไปเหมือนกับฟ้าผ่า ณ เวลานี้” นพ.เจฟฟรีย์ ชาแมน ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวและกล่าวต่อไปว่าสถานที่อย่างเช่นประเทศโปแลนด์และสถานที่ในแถบยูเครนตะวันตกที่ผู้คนกำลังหลบหนีจากภัยสงครามนั้น มีโอกาสอันมหาศาลมากสำหรับไวรัสที่จะทำความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง โดยก่อนหน้าจะมีการไหลบ่าของผู้ลี้ภัย พบว่าอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศโปแลนด์อยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับการป้องกันการกระชากขึ้นของการติดเชื้อ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาอีก เนื่องจากความต้องการการบริการระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้น
บรรยากาศที่สถานีรถไฟกรุงเคียฟ (อ้างอิงวิดีโอจาก Olha Zhurba)
“เราได้ออกมาเตือนมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการบรรจบกันระหว่างความขัดแย้งและเรื่องของการระบาดวิทยา สิ่งที่เลวร้ายหลายเรื่องอาจจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อสิ่งเหล่านี้มาบรรจบกัน” นพ.เอริค โทนเนอร์ นักวิชาการอาวุโสที่ศูนย์ความมั่นคงสุขภาพจอห์นฮอปกินส์กล่าวและกล่าวต่อไปว่าแน่นอนว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายซึ่งประชากรต้องเผชิญอยู่ ณ เวลานี้นั้น ทำให้การสวมใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่างทางสังคม และการกักตัวเป็นเรื่องที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเมื่อผู้คนต้องหนีจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ภาพของรถบัส รถยนต์ และรถไฟที่แน่นขนัด และการไปจบลงที่โรงแรม การไปพักอาศัยอยู่กับญาติ หรือไปพักพิงกันในสถานสำหรับผู้ลี้ภัย ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สถานะที่ดีสำหรับการควบคุมโรคระบาดอย่างโควิด-19 แม้แต่น้อย
โดยสถานที่อย่างโรงพยาบาลนั้นดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนึกจากการไหลบ่าของของผู้ลี้ภัยในช่วงสงคราม และการบาดเจ็บที่มาจากสงครามนั้นจะมีความสำคัญ และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเหนือกว่าการดูแลผู้ป่วยจากโควิด-19 และนี่ก็จะทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งการหยุดชะงักของการดูแลผู้ติดเชื้อนั้นจะนำไปสู่การที่บุคลากรทางการแพทย์จะติดเชื้อมากขึ้นจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
“โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ และทรัพยากรต่างๆนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อที่จะรับมือกับการเจ็บป่วยที่มาจากความขัดแย้ง” นพ.ชาแมนกล่าว และกล่าวต่อไปว่า “ในระยะยาว ผมจินตนาการว่าผลจากสงครามจะส่งผลลามไปถึงการเสื่อมสภาพของขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพในประเทศยูเครน” และหลังจากนี้ ถ้าหากมีการกระชากขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้าน นั่นก็จะส่งผลกดดันอย่างยิ่งต่อระบบบริการสุขภาพในทั่วทั้งภูมิภาค
“ควรต้องมีการแนะนำให้ประชาคมโลกได้จัดหาเสบียงและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างกันชนป้องกันผลกระทบที่มาจากชาวยูเครนที่ย้ายถิ่นฐานและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนโปแลนด์” นพ.ชาแมนกล่าว
นพ.ชาแมนและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขรายอื่นๆยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของความขัดแย้งอันจะส่งลต่อการควบคุมโควิด-19 ซึ่งการศึกษานั้นแสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อการฉีดวัคซีนผ่านไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะเริ่มตก ดังนั้นการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสจึงมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อจะทำให้ยังคงภูมิคุ้มกันในการป้องกันการเจ็บป่วยร้ายแรงอันจะนำไปสู่การต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้นถ้าหากความขัดแย้งในประเทศยูเครนยังคงอยู่ต่อไป นี่หมายความว่าแม้แต่ประชาชนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการได้รับวัคซีนบูสเตอร์ได้เนื่องจากว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโยกเวชภัณฑ์ไปดูแลผู้บาดเจ็บจากสงคราม และต้องให้ความสำคัญกับภารกิจนี้เหนือกว่าภารกิจด้านการฉีดวัคซีน
สถานการณ์ดังที่กล่าวมานี้นั้นยังเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของเครือข่ายในการป้องกันภัยทางชีวภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต่อการป้องกันไวรัสโคโรนาที่มีศักยภาพในการติดเชื้อสูง ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งทางด้านการทหาร แต่ว่าความเหลื่อมล้ำในทรัพยากรด้านสุขภาพนั้นก็ได้นำไปสู่ความแตกแยกอย่างลึกซึ้งระหว่างประเทศที่สามารถจะควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถจะซื้อและแจกจ่ายวัคซีนได้ ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในแถบทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชียยังคงพยายามจะยับยั้งไวรัสเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเพียงพอ
ดังนั้นในช่วงเวลาที่วิกฤติแบบในยูเครนได้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ยังมีภาวะโรคระบาด,การขาดการทำงานอย่างสอดประสานในระดับโลก เพื่อจะจัดการเวชภัณฑ์นั้นได้กลายเป็นสิ่งที่น่าสลดยิ่งขึ้นไปอีก
“ผมไม่สามารถจะบอกได้เลยว่าวิธีการแก้ปัญหานั้นจะเริ่มต้นที่ตรงไหน WHO เองก็ไม่มีอำนาจหรือทรัพยากรในการที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ นี่ถือว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก อันเกี่ยวข้องกับทั้งการพัฒนา,อํานาจอธิปไตยของประเทศ,และความสามารถในการที่ประเทศอื่นๆนั้นจะสามารถช่วยเหลือชาติอื่นซึ่งกันและกันได้มากกว่าที่เราได้เคยเห็นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้” นพ.ชาแมนกล่าว
นพ.โรเบิร์ตกล่าวต่อไปว่ายังมีวิธีการที่จะสามารถมาใช้ได้เช่นกันในการจะลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอันมาจากกลุ่มผู้ลี้ภัย อาทิ การระดมฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้กับผู้ลี้ภัยก่อนจะเข้าสู่ที่พักพิง โดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
ขณะที่ นพ.ชาแมนกล่าวทิ้งท้ายว่าแต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า WHO นั้นไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะส่งไปถึงบุคลากรในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้ง อาทิ ที่ยูเครน และก็ขาดอำนาจทางการเมืองอันเกี่ยวกับอำนาจทางอธิปไตยในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าหน่วยงานย่อยต่างๆเช่นองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน นั้นจึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในวิกฤตินี้ แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรเหล่านี้ก็ยังได้รับข้อจำกัดในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือในระดับท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
“ถ้าเรายังมีปฏิกิริยา แบบวิกฤติต่อวิกฤติ ดังนั้นเราจะไม่สามารถที่จะมีระบบที่จะสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขได้เลย” นพ.ชาแมนกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://time.com/6153254/ukraine-russia-war-covid-19/