ประเทศที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่สุดที่ใช้บริการเครดิตสวิสนั้นคือประเทศอย่างเวเนซุเอลาและประเทศอียิปต์ ซึ่งมีผู้เปิดบัญชีเครดิตสวิสประเทศละประมาณ 2,000 บัญชี และประเทศยูเครนกับประเทศไทย ที่มีผู้เปิดบัญชีอยู่ที่ประเทศละประมาณ 1,000 บัญชี
สืบเนื่องจากที่สื่อต่างประเทศหลายสำนักได้รายงานข่าวการเปิดโปงครั้งใหญ่อันเกี่ยวข้องกับธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของโลกอันได้แก่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) โดยการเปิดโปงดังกล่าวนั้นได้บอกเล่าถึงวิธีการที่ลูกค้าผู้ร่ำรวยของธนาคารนั้นได้ดำเนินการปกปิดความมั่งคั่งของพวกเขา ซึ่งความมั่งคั่งดังกล่าวนั้นมีที่มาอันไม่ถูกกฎหมาย อาทิ มาจากการทรมาน การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน และการทุจริตเป็นต้น
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานข่าวส่วนหนึ่งของสำนักข่าวการ์เดียน ซึ่งเป็นสำนักข่าวแรกๆที่รายงานการเปิดโปงนี้มานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การเปิดโปงข้อมูลบัญชีลูกค้าจำนวนกว่า 30,000 บัญชีของธนาคารเครดิตสวัสจากทั่วโลกที่อยู่ในเอกสารที่รั่วไหลนั้นได้แสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านฟรังก์สวิส (3,538,151,085,000 บาท) ที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ในหนึ่งในสถาบันการเงินอันเป็นที่รู้จักดีที่สุดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และการเปิดโปงดังกล่าวนี้นั้นยังเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความล้มเหลวในกระบวนการตรวจสอบของธนาคารเครดิตสวิส แม้ว่าจะมีการให้คำมั่นสัญญาจากทางธนาคารมาโดยตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่าจะขจัดลูกค้าและเงินทุนอันน่าสงสัยออกไป
อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานของสำนักข่าวการ์เดี้ยนร่วมกับสำนักข่าวอื่นๆนั้นพบว่าเครดิตสวิสยังคงมีการคงบัญชีและเปิดบัญชีใหม่ให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงในด้านอาชญากรรมทั่วโลก ซึ่งอาชญากรรมที่ว่านี้ก็รวมไปถึงกรณีการค้ามนุษย์ในประเทศฟิลิปปินส์,ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ที่ฮ่องกงที่ต้องโทษจำคุกเพราะกรณีการจ่ายสินบน,มหาเศรษฐีผู้สั่งให้ฆาตกรรมแฟนสาป๊อปสตาร์ชาวเลบานอนที่ตอนนี้กำลังต้องต่อสู้ในหลายคดี,ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจน้ำมันของเวเนซูเอลา รวมไปถึงนักการเมืองผู้ทุจริตในยูเครนไปจนถึงอียิปต์
มีรายงานต่อไปด้วยว่าหนึ่งในบัญชีที่ถูกเปิดนั้น เจ้าของบัญชีเป็นผู้อยู่ในนครรัฐวาติกัน และยังพบด้วยว่าบัญชีนี้มีการใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนกว่า 350 ล้านปอนด์ (15,403,082,194 บาท) อันเกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ไม่โปรงใสในอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงลอนดอน ซึ่งจากการสืบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีนี้นั้น ก็ทำให้เกิดกรณีการฟ้องร้องไปยังจำเลยหลายคนรวมไปถึงพระคาร์ดินัล
อนึ่งที่ไปที่มาของการเปิดโปงข้อมูลจำนวนมหาศาลดังกล่าวนั้นมาจากผู้เปิดโปงอันไม่ระบุนามที่ได้ให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมนีชื่อว่า Süddeutsche Zeitung ซึ่งทางด้านของผู้เปิดโปงได้กล่าวว่าตัวเขาเชื่อว่ากฎระเบียบเรื่องความลับของธนาคารสวิสนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรมและข้ออ้างในเรื่องของการปกป้องความเป็นส่วนตัวทางการเงินนั้นแท้จริงแล้วเป็นการปกปิดบทบาทของธนาคารสวิสในการทำงานร่วมกันกับผู้หลีกเลี่ยงภาษี
โดยธนาคารสวิสนั้นได้เคยกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าเนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความลับทางธนาคารที่เข้มงวดมากที่สุด ส่งผลทำให้ทางธนาคารไม่อาจจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับลูกค้าคนใดคนหนึ่งของธนาคารได้
“เครดิตสวิสได้ยืนยันอย่างหนักแน่นในการปฏิเสธข้อกล่าวหาและการคาดการณ์ต่างๆอันเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร” ธนาคารได้ระบุในแถลงการณ์และแย้งว่าประเด็นการเปิดโปงที่ถูกผู้สื่อข่าวหยิบยกขึ้นมานั้นมาจากการเลือกข้อมูลบางส่วนอันส่งผลทำให้เกิดการตีความที่ผิดๆต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร
ธนาคารได้ระบุต่อไปว่าข้อกล่าวหาส่วนใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และในบางข้อกล่าวหานั้นก็ย้อนไปได้ถึงช่วงเวลาที่กฎหมาย หลักปฏิบัติอันเกี่ยวกับสถาบันทางการเงินนั้นมีความแตกต่างเป็นอย่างมากจากในเวลานี้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบนั้นพบว่ามีแค่บางบัญชีเท่านั้นที่ถูกเปิดขึ้นย้อนไปถึงช่วงส่งครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่บัญชีอีกจำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ถูกพบว่าเปิดขึ้นหลังจากปี 2543 เป็นต้นมา ขณะที่อีกหลายบัญชีก็เพิ่งจะถูกเปิดในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ และก็ยังคงมีจำนวนหนึ่งที่ถูกเปิดมาจนถึงปัจจุบัน
โดยการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวนี้อาจจะไปซ้ำเติมปัญหาของธนาคารเครดิตสวิสให้หนักขึ้นไปอีกหลังจากที่ไม่นานมานี้ธนาคารแห่งนี้ถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาการทุจริตต่างๆ และล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ก็มีกรณีที่นายอันโตนิโอ ฮอร์ตา-โอโซริโอ ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานธนาคารเนื่องจากเขาละเมิดมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง
ต่อมาในเดือนนี้ธนาคารเครดิตสวิสก็เจอข้อครหาอีกว่าธนาคารนั้นมีส่วนช่วยฟอกเงินจากการค้าโคเคน ที่กระทำโดยกลุ่มมาเฟียชาวบัลแกเรีย
แต่ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่าผลกระทบจากการเปิดโปงข้อมูลนั้นอาจจะครอบคลุมมากกว่าแค่ธนาคารเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จะอาจจะส่งผลเป็นลูกโซ่ไปจนถึงขั้นระดับวิกฤติสำหรับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายความลับในด้านธนาคารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีรายงานสถาบันทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์นั้นได้มีส่วนจัดการทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ากว่า 6.3 ล้านล้านปอนด์ (277,286,103,171,000 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นทรัพย์สินที่ลูกค้าชาวต่างชาตถือครอง
โครงการเปิดโปงความลับเครดิตสวิสดังกล่าวนั้นยังเป็นเสมือนการส่องแสงไฟไปยังหนึ่งในศูนย์การเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งได้เติบโตขึ้นเพื่อดำเนินการการในเงามืด โดยมีการระบุบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นทั้งผู้ต้องหาและผู้มีพฤติกรรมฟอกเงิน ซึ่งสามารถจะเปิดบัญชีธนาคาร หรือว่าเก็บบัญชีธนาคารเหล่านี้เปิดต่อไปได้อีกหลายปีหลังจากที่พฤติกรรมอาชญากรรมของเจ้าของบัญชีเหล่านี้ถูกเปิดโปง และโครงการนี้ก็ยังเปิดโปงว่ากฎหมายว่าด้วยความลับทางธนาคารของประเทศสวิตเซอร์แลนด์อันมีชื่อเสียงนั้นอำนวยความสะดวกในการลักลอบนำเอาทรัพย์สินจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปได้อย่างไร
@ตัวอย่างลูกค้าผู้ทุจริต
ในช่วงปี 2543 ปรากฎกรณีว่านายโรนัลด์ หลี่ ฟุกชิว อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้เปิดบัญชีธนาคารสวิส ซึ่งก็ไม่มีรายงานว่ามีการตรวจสอบเขาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม อดีตเจ้าพ่อตลาดหลักทรัพย์รายนี้นั้นต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำความมั่นคงสูงสุดในข้อหารับสินบนจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2557
นายโรนัลด์ หลี่ ฟุกชิว อดีตเจ้าพ่อตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง
ทั้งนี้ในช่วงปี 2533 มีการเปิดโปงพฤติกรรมการกระทำความผิดของนายหลี่ว่าเขาได้รับสินบนเพื่อแลกกับการให้บริษัทนั้นได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ช่วงสิบปีหลังจากนั้นกลับมีรายงานว่านายหลี่ยังสามารถเปิดบัญชีที่มีมูลค่ากว่า 26.3 ล้านปอนด์ (1,157,559,446 บาท)
อนึ่งในช่วงปี 2560 นั้นมีรายงานว่าหน่วยงานตรวจสอบด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดเผยขั้นตอนการฏิบัติงานภายในของธนาคารในเวลานั้นว่าลูกค้าทุกคนนั้นจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกับกรณีที่ลูกค้าคนนั้นมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสุง หรือว่าผู้นั้นมีความเสี่ยงว่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย อาทิ การพนัน,การค้าอาวุธเป็นต้น
โดยผู้จัดการฝ่ายความสัมพันธ์ลูกค้านั้นเป็นบุคคลที่ถูกคาดว่าจะทำหน้าที่ในการใช้ทุกช่องทางภายนอกเพื่อตรวจสอบยืนยันตัวลูกค้าและประเมินระดับความเสี่ยง รวมไปถึงการใช้ข้อมูลจากบทความข่าวต่างๆในการตรวจสอบประกอบกันด้วย ซึ่งมาตรการเหล่านี้มักถูกใช้ในกระบวนการตรวจสอบทางการเงินเพื่อปักธงความเสี่ยงกรณีมีผู้ที่ถูกจับหรือสอบสวนว่าเกี่ยวกับอาชญากรรม
และมาตรการตรวจสอบดังกล่าวนั้นก็ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีที่นายโรดอลจุบ ราดูโลวิช ชาวเซอร์เบียซึ่งถูกสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริการะบุว่ามีพฤติกรรมฉ้อโกงในปี 2544 นั้นเปิดบัญชีกับธนาคารสวิสได้ แต่อย่างไรก็ตามในข้อมูลเอกสารที่รั่วไหลนั้นระบุว่าเขานั้นเป็นผู้ลงนามร่วมเพื่อเปิดบัญชีธนาคารสวิสจำนวน 2 บัญชีด้วยกัน โดยบัญชีแรกเปิดไปเมื่อปี 2542 หรือ 1 ปีหลังจากที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯได้มีข้อกล่าวดังกล่าว
ทั้งนี้จากการตรวสอบพบว่าหนึ่งในบัญชีบริษัทของนายราดูโลวิชนั้นมีเงินอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านปอนด์ (96,812,139 บาท) ก่อนที่จะปิดบัญชีในปี 2553 ซึ่งไม่นานมานี้เขาได้ถูกศาลในกรุงเบลเกรด ประเทศบัลแกเรียพิพากษาจำคุก 10 ปี ในข้อหาว่าลักลอบขนโคเคนจากอเมริกาใต้ให้กับกลุ่มอาชญากรรมของนายดาร์โก ซาร์ริก ซึ่งทนายความของนายราดูโลวิชไม่ได้ตอบคำถามในกรณีดังกล่าวนี้
อย่างไรก็ตาม ในมาตรการการตรวจสอบของธนาคารนั้นมีการระบุชัดเจนว่าธนาคารจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีต่างๆของลูกค้าทุกคนที่มีอยู่และจะต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังด้วย โดยรายงานที่ออกมาในปี 2560 ทางธนาคารสวิสได้ยืนยันว่าธนาคารดำเนินการตรวจสอบกับลูกค้าทุกคนด้วยระยะเวลา 3 ปีครั้ง และอาจจะตรวจสอบประมาณปีละ 1 ครั้ง สำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยทนายความของธนาคารสวิสได้ยืนยันกับสำนักข่าวการ์เดี้ยนว่ามีการดำเนินการตรวสอบลูกค้าเป็นระยะๆอยู่แล้ว โดยตรวจสอบข้อมูลลูกค้าที่ได้เปิดบัญชีนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบจริงตามที่มีการกล่าวอ้างแล้ว ก็น่าจะตรวจสอบพบเจอกับกรณีลูกค้าสัญชาติเยอรมนีที่ชื่อว่านายเอดูอาร์ด ซีเดล ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมการให้สินบนในช่วงปี 2551 โดยนายซีเดลนั้นเคยเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทซีเมนส์ แต่เมื่อบริษัทนี้ได้กลายเป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำในประเทศไนจีเรีย ก็พบว่านายซีเดลได้เข้าไปมีส่วนเข้าไปจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองผู้ฉ้อฉลเพื่อแลกกับการได้สัญญามูลค่ามหาศาล
ทั้งนี้หลังจากที่ทางการเยอรมนีได้เข้าไปตรวจค้นที่ทำการของบริษัทซีเมนส์ในปี 2549 นายซีเดลก็ได้ออกมารับสารภาพว่าเขามีส่วนในกระบวนการให้สินบน แต่ยืนยันว่าเขาไม่เคยขโมยทรัพย์สินจากบริษัท หรือสร้างสร้างกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ที่มิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลความเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าวนั้นปรากฏอยู่บนฐานข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์สในปี 2550
แต่จากข้อมูลที่รั่วไหลออกมานั้นแสดงให้เห็นว่าบัญชีของเขายังคงเปิดอยู่ในระยะเวลาอย่างน้อยในช่วงสิบปีให้หลัง โดยในช่วงเวลาหนึ่งหลังจากที่นายซีเดลออกจากบริษัทซีเมนส์ พบว่าบัญชีหนึ่งมีเงินหมุนเวียนถึง 24 ล้านปอนด์ (1,056,155,760 บาท) แต่ทางทนายความของนายซีเดลได้ปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่บัญชีของลูกความของเขา
นากจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งก็คือนายสเตฟาน เซเดอร์โฮล์ม นักเทคนิคคอมพิวเตอร์ชาวสวีเดนที่เปิดบัญชีด้วยเครดิตสวิส ในปี 2551 และก็สามารถที่จะคงบัญชีดังกล่าวได้อีกประมาณ 2 ปีครึ่งหลังจากที่เขาถูกตัดสินว่ามีส่วนในการค้ามนุษย์ในฟิลิปปินส์และต้องโทษตลอดชีวิต
นายสเตฟาน เซเดอร์โฮล์ม อาชญากรซึ่งถูกตรวจสอบพบว่าเปิดบัญชีธนาคารสวิสที่ประเทศไทย
โดยกรณีการเปิดโปงความผิดของนายเซเดอร์โฮล์มนั้นเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในมะนิลาได้บุกไปยังหน้าร้านซึ่งเปิดเป็นที่ทำการท้องถิ่นที่อ้างว่าให้การสนับสนุนขบวนการสันติภาพของประชาชนชาวมินดาเนา และเมื่อสืบค้นภายในร้านก็พบว่ามีผู้หญิงจำนวน 17 คน ขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และในแต่ละห้องก็มีกล้องติดตั้งเอาไว้เพื่อให้บริการเซ็กส์โชว์สำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนี้ทำให้นายเซเดอร์โฮล์มถูกตัดสินว่ามีความผิดในปี 2554
ขณะที่ตัวแทนของนายเซเดอร์โฮล์มกล่าวว่าเครดิตสวิสไม่เคยปิดบัญชีของนายเซเลอร์โฮล์มจนกระทั่งปี 2556 เมื่อเขาไม่สามารถจะดำเนินการตามเงื่อนไขการตรวจสอบได้
ทั้งนี้เมื่อถามว่าทำไมนายเซเดอร์โฮล์มถึงต้องการบัญชีในสวิส ตัวแทนของนายเซเดอร์โฮล์มกล่าวว่านายเซเดอร์โฮล์มเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่บัญชีนี้เปิดขึ้น และยังได้ถามกล่าวว่า “คุณช่วยบอกได้ไหมว่าต้องการจะเอาเงินไปใส่ในที่ไหนมากกว่ากันระหว่างธนาคารไทยหรือธนาคารสวิส”
ทั้งนี้จากข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่าประเทศที่มีลูกค้าเป็นจำนวนมากที่สุดที่ใช้บริการเครดิตสวิสนั้นคือประเทศอย่างเวเนซุเอลาและประเทศอียิปต์ ซึ่งมีผู้เปิดบัญชีเครดิตสวิสประเทศละประมาณ 2,000 บัญชี และประเทศยูเครนกับประเทศไทย ที่มีผู้เปิดบัญชีอยู่ที่ประเทศละประมาณ 1,000 บัญชี
ประเทศต่างๆที่พบว่ามีการเปิดบัญชีธนาคารสวิสมากที่สุด ซึ่งมีประเทศไทยอยู่ร่วมใน 4 อันดับแรก
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://www.theguardian.com/news/2022/feb/20/credit-suisse-secrets-leak-unmasks-criminals-fraudsters-corrupt-politicians,https://www.theguardian.com/news/2022/feb/22/how-swiss-banking-secrecy-global-financial-system-switzerland-tax-elite