“…การเตือนภัยโควิดระดับ 4 ครั้งนี้ เป็นการให้คงสถานะเอาไว้ก่อน หลังจากเริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและหลายพื้นที่เริ่มไม่เน้นการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ให้คุมเข้มมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไป…”
จากสถานการณ์โควิด ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ อัตราของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และในอีก 1-2 สัปดาห์คาดการณ์ว่าตัวเลขอาจจะยังสูงอยู่ ล้อไปกับสถานการณ์ทั่วโลก
กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศคงระดับเตือนภัยโควิดในระดับ 4 ทั่วประเทศ พร้อมจัดแถลงข่าวเมื่อบ่ายวันนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมา มีรายละเอียดดังนี้
โดย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น ล้อไปกับสถานการณ์ทั่วโลก โดยเฉพาะเอเซีย ทุกประเทศมีแนวโน้มสูง และคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มสถานการณ์โควิดไทยจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่หากเทียบกับอัตราผู้เสียชีวิตยังน้อยกว่าการระบาดครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดกระจายไปยังกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวก็จะสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะกลุ่มวัยทำงานที่มีการรวมกลุ่มกัน สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน หากติดเชื้อก็จะนำเชื้อไปยังกลุ่มเปราะบางได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องช่วยกัน จะต้องช่วยกันชะลอการติดเชื้อ
"การเตือนภัยโควิดระดับ 4 ครั้งนี้ เป็นการให้คงสถานะเอาไว้ก่อน หลังจากเริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและหลายพื้นที่เริ่มไม่เน้นการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ให้คุมเข้มมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไป โดยจะให้สถานที่เสี่ยงเปิดเฉพาะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เน้นให้ Work From Home ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ และที่สำคัญคือการรวมกลุ่มยังสามารถทำได้ตามระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของโรครายจังหวัด จากเดิมที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุเอาไว้ว่า ให้ทุกคนเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้านและงดกิจกรรมรวมกลุ่ม" นพ.ธงชัย กล่าว
-
ไทยป่วยโควิด 18,883 ตาย 32 ฉีดวัคซีน 2 เข็มก็ไม่รอด จับตานครศรีฯ ติดเชื้อพุ่งเกือบพัน
-
สธ.ประกาศยกระดับ 4 เตือนภัยโควิด จ่อปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอเดินทางข้ามจังหวัด
การกระจายเชื้อครั้งนี้ โรคโควิดเดินด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยพวกเราเป็นพาหะ ซึ่งมากกว่า 90% มีอาการเล็กน้อย และมากกว่า 50% ไม่มีอาการ เมื่อไม่มีอาการก็ไม่ระวังตัวเอง สิ่งสำคัญหากเริ่มมีอาการให้ตรวจ ATK หากเป็นบวกให้กักตัวเองและประสานสายด่วนโทร 1330 หรือหากเป็นบวกและมีอาการรุนแรงให้โทร 1669 ย้ำว่า มาตรการป้องกันและควบคุมโรคยังเป็นเรื่องสำคัญ
โควิดเอเชียอยู่ในช่วงขาขึ้น
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิดทั่วโลกกว่า 424,000,000 ราย เฉพาะวันนี้มีรายงานกว่า 1,200,000 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 5,900,000 ราย วันนี้รายงาน 5,200 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.39% อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 1,000,000 1 ราย สะสมทั้งสัปดาห์วันละ 12,400,000 ราย เสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ 66,266 ราย
ภาพรวมยุโรป อเมริกาผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง แต่ในเอเชีย รัสเซียยังสูงอยู่ที่ 1,200,000 ราย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่เวียดนามตัวเลขก็ยังสูง ทั้งสัปดาห์ติดเชื้อ 260,000 ราย เรียกว่า รอบๆบ้านเราติดเชื้อขาขึ้น จึงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง สรุปได้ว่า ภาพรวมทั่วโลกเริ่มลดลงในฝั่งยุโรป อเมริกา แต่มาเพิ่มฝั่งเอเชีย ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก
โอไมครอน BA.2 ลามไทยกว่า 50%
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่รายงานเข้ามาในระบบช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารวม 108,625 ราย เป็นคนไทย 104,404 คิดเป็น 96.1% เมียนมา 1,711 คิดเป็น 1.6% รัสเซีย 473 ราย คิดเป็น 0.4% กัมพูชา 435 ราย คิดเป็น 0.4% และอื่นๆ 1,602 ราย คิดเป็น 1.5%
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าว ส่วนใหญ่จะติดเชื้อมาจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ หรือมีลักษณะการติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์โรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน สถานประกอบการ รวมถึงร้านอาหาร คิดเป็น 54% อีก 44.5% มาจากการสัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว ส่วนในเรือนจำและบุคลากรการแพทย์รวมกันแล้วอยู่ที่ 1%
“สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ตอนนี้สายพันธุ์โอไมครอนลามไปทั่วประเทศเกือบ 100% แล้ว กรณีสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดทั่วโลกหลักๆ มี BA.1 และ BA.2 มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกสายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียง BA.1 แต่ BA.2 จะแพร่ได้เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า จากการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยตอนนี้ เริ่มพบ BA.2 ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว" นพ.จักรรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ 53.1% จะไม่มีอาการ ที่เหลืออีก 46.9% มีอาการป่วย ซึ่งจะมีอาการสำคัญ คือ ไอ เจ็บคอ หรือมีไข้ต่ำๆ แต่ในกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หรือกลุ่ม 608 หากป่วย อาจจะมีอาการรุนแรง จากเชื้อลงปอดได้ ดังนั้นหากใครมีอาการลักษณะดังกล่าว ขอให้ตรวจ ATK จะได้ทราบว่าตนเองมีโอกาสติดเชื้อมากน้อยเพียงใด
ส่วนในกลุ่มที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อมาก แม้ในภาพรวมกลุ่มอายุที่ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่างๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปีและมีโรคประจำตัว ก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
อัตราติดเชื้อ-เสียชีวิตเพิ่ม คงระดับเตือนภัยโควิดทั่วประเทศ
“ส่วนสาเหตุที่ต้องเตือนภัยโควิดในระดับ 4 นั้น เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้เราแบ่งออกเป็นสีต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (13-19 ก.พ. 2565) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
สำหรับกลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพมหานคร ก็เพิ่มขึ้น และลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์พยากรณ์โรค เส้นสีน้ำเงินของผู้ติดเชื้อแต่ละวันได้ทะลุการคาดการณ์เส้นสีน้ำตาลแล้ว แสดงว่าตอนนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาจละเลย เมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มตาม แม้จะไม่ได้เพิ่มมาก แต่ต้องระวังกลุ่มผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง (กลุ่ม 608)
ยันเตียงยังเพียงพอ-ไฟเขียวเด็ก 5 ปีขึ้นไปรักษาตัวที่บ้าน
นอกจากนี้ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงว่า การรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ส่วนของผู้ป่วยอาการหนักไม่ได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์การใช้เตียงของประเทศ รวมเขตสุขภาพที่ 1-13 รวมประมาณ 170,000 เตียง ขณะที่สัดส่วนการครองเตียงทั่วประเทศอยู่ที่ 49% โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเตียงระดับ 1 คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว 56.4% ขณะที่อัตราครองเตียงผู้ป่วยสีเหลือและสีแดงอยู่ที่ 10-20% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้
สำหรับสถานการณ์เตียงใน 10 จังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา ระยอง นครปฐม และบุรีรัมย์ ส่วนใหญ่มีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 50% ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมเตียงภายใน Home Isolation หรือ Community Isolation
ส่วนสถานการณ์เตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่หลายคนกังวล เมื่อรวมจำนวนเตียงจากทุกสังกัดแล้ว มีอัตราครองเตียงอยู่ที่ 25,886 เตียง จากทั้งหมด 55,201 เตียง คิดเป็น 46.9% โดยจำนวนกว่า 23,608 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยสีเขียว คิดเป็น 50.5%
“ผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ 80-90% ไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยสามารถใช้เตียงเบาได้ และผู้ครองเตียงกว่า 2 หมื่นคนใช้เตียงในโรงพยาบาลเอกชน นั่นหมายความว่าในภาครัฐเอง ก็จะมีเตียงที่จะรองรับหรือขยายได้อีก ขอให้ประชาชนสบายใจได้” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ การรักษาขณะนี้ได้เปลี่ยนแล้ว โดยทุกรายไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่สามารถทำการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ได้ รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปด้วย ย้ำว่ากรณีที่ผู้ป่วยตรวจพบเชื้อด้วย ATK แล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ และขอให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรักษาตัวในระบบ Home Isolation และ Community Isolation ก่อน โดยให้ติดต่อ 1330 ส่วนผู้ที่มีอาการหนัก ให้ติดต่อ 1669 จะมีรถมารับไปส่งโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาการประสานผ่าน 1330 อาจติดขัดบ้าง แต่ตอนนี้ได้เพิ่ม 1,000 คู่สายแล้ว ทั้งนี้หากรายใดยังประสานไม่ได้ให้ติดต่อผ่านช่องทางไลน์ หรือเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพยายามติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง