สธ.ประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 จ่อปิดสถานที่เสี่ยง ให้ทำงานที่บ้าน ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด และจำกัดการรวมกลุ่ม หลังเริ่มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เตรียมชง ศบค.เข้มมาตรการกักตัว 7 ม.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 เวลา 08.30 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวด่วนจากจังหวัดภูเก็ตว่า สถานการณ์โควิด ขณะนี้อัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตลดลง แต่จากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ด้วยการเข้าใช้บริการสถานที่ระบบปิดในร้านอาหารกึ่งผับ บาร์ มีกิจกรรมงานเลี้ยง งานบุญทางศาสนา ที่อาจมีการระวังไม่เพียงพอ จึงทำให้การระบาด การเดินทางต่างๆ ก็มีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อ
ดังนั้นประชาชนที่กลับมาจากต่างจังหวัดอยากให้สังเกตตัวเอง อย่างน้อย 14 วัน หากทำงานที่บ้านได้จะเป็นการดี โดยเฉพาะสัปดาห์แรกตรวจ ATK เป็นประจำ เพื่อให้เราพบเชื้อได้เร็ว และควบคุมป้องกันอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จังหวัดต่างๆ ต้องเน้นบังคับใช้กฎหมาย กรณีพบผู้ติดเชื้อเช่นเดียวกับที่ร้านอาหารหรือสถานบริการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ให้ปฏิบัติตามมาตรการ Covid free setting
“กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศเพิ่มระดับการเตือนจากเดิมอยู่ที่ระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 ซึ่งจะมีข้อแนะนำและมาตรการเพิ่มขึ้น เช่น อาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงแพร่โรค เพิ่มมาตรการควบคุมโรคให้เกิดความปลอดภัย ให้ทำงานที่บ้าน การเดินทางต่างๆ ข้ามไปต่างจังหวัดก็ขอให้ชะลอ เพราะการเคลื่อนย้ายของคนก็ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ และจำกัดการรวมกลุ่มต่างๆ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด คือ รับวัคซีนตามที่กำหนด ป้องกันตัวขั้นสูงสุดทุกที่ทุกเวลา สถานประกอบการมีระบบ Covid free setting ให้ผู้ประกอบการทำให้เป็นมาตรฐาน และตรวจ ATK สม่ำเสมอ ทั้งนี้ขอย้ำว่าเมื่อติดเชื้อไม่แสดงอาการจะเน้นการรักษาที่บ้าน ฟากมีอาการก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
สำหรับระดับของการเตือนภัยจากโรคโควิดสำหรับประชาชนและสถานประกอบการ ตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด ได้แก่
-
ระดับ 1 ใช้บริการได้ทุกแห่ง ร่วมกิจกรรได้แบบ New Normal โดยสารขนส่งสาธารณะได้ และเดินทางเข้าออกประเทศได้ตามปกติ
-
ระดับ 2 กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และผู้รับวัคซีนไม่ครบงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ปิด/แออัด เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท เลี่ยงเดินทางไปต่างประเทศ และเข้าประเทศแบบกักตัว
-
ระดับ 3 ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ปิด/แออัด กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ และผู้รับวัคซีนไม่ครบ เลี่ยงร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงเดินทางไปต่างประทศ และเข้าประเทศแบบกักตัว
-
ระดับ 4 ทุกคน งดไปรับประทานร่วม/ดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท งดไปต่างประเทศ และเข้าประเทศแบบกักตัว
-
ระดับ 5 ทุกคนงดออกนอกบ้าน หากจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ตรวจ รักษา ซื้ออาหาร ของใช้ งดรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน งดใกล้ชิดกันในบ้าน (ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน) งดออกนอกบ้าน หากจำเป็นให้ใช้รถส่วนตัวและคัดกรอง ห้ามไปต่างประเทศ และเข้าประเทศแบบกักตัว
เดินทางข้ามจังหวัดได้เฉพาะจำเป็น-ชง ศบค.เข้มกักตัว 7 ม.ค.
เมื่อเวลา 11.00 น. ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงข่าวเน้นย้ำการประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดด้วยว่า ระดับการเตือนภัยนี้ เป็นการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่จะมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงออกเป็นพื้นที่สีต่างๆ และจะมีการกำหนดข้อบังคับ ข้อห้ามทำกิจกรรมต่างๆ ตรงนี้คงเป็นมาตรการหลัก
อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่าการประกาศยกระดับนี้อาจมีปิดสถานที่เสี่ยง คือ สถานที่ที่มีองค์ประกอบ 3 ปัจจัย คือ 1.มีสภาพแวดล้อมระบายอากาศไม่ดี 2.มีการรวมตัวกันอย่างแออัด และ 3.มีกิจกรรมถอดหน้ากากอนามัย โดยตัวอย่างที่เราเห็นชัดหลายๆ คลัสเตอร์คือร้านอาหารกึ่งผับบาร์ในกาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เป็นต้น
ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัด ยังให้ทำได้ แต่ขอให้เดินทางเฉพาะจำเป็นเท่านั้น หากไม่จำเป็นขอให้หลีกเลี่ยง ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศขณะนี้พบว่าประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศติดเชื้อกลับมาจำนวนมาก ดังนั้นตอนนี้หากไม่จำเป็นขอให้งดเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับต้องถูกกักตัว ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ให้เข้มงวดในเรื่องของการปรับมาตรการเพิ่มเติม
นพ.โอกาส กล่าวอีกว่า กรณีโรงงานพบผู้ติดเชื้อ จะแนะนำให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal แทนการสั่งปิดโรงงาน เพื่อป้องกันการเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น ส่วนโรงเรียนนั้นไม่ถือว่าเป็นสถานที่เสี่ยง เพราะโรงเรียนมีมาตรการรองรับแล้ว และมีการคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาเป็นระยะๆ
เช็คอาการเบื้องต้นป่วยโอไมครอน 'ไอ-เจ็บคอ-มีไข้'
นพ.โอภาส กล่าวถึงการป้องกันโอไมครอนว่า ไม่ได้แตกต่างจากการป้องกันตัวต่อสายพันธุ์เดลต้ามากนัก มาตรการที่เราทำ ยังสามารถทำได้เหมือนเดิม แม้โอไมครอนจะก่อโรคน้อยกว่า คือ จะมีอาการคล้ายไข้หวัดมาก อาทิ มีอาการไอ เจ็บคอ และไม่มีไข้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการลักษณะดังกล่าวขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นการติดเชื้อโอไมครอนได้ มาตรการแรกที่ควรทำคือหากตรวจ ATK ได้ ขอให้ตรวจก่อน หรือหากไม่มั่นใจในอาการให้เดินทางไปตรวจวินิจฉัยที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
"การวินิจฉัยโรคโควิด จริงๆไม่ต้องกังวลว่าเป็นสายพันธุ์ใด สายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าด้วยซ้ำ แต่การที่เราต้องตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนออกมา ก็เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และช่วยในการปรับมาตรการเพื่อควบคุมโรค" นพ.โอภาส กล่าว