“…กว่า 30% จะประสบกับปัญหาภาวะลองโควิด แม้ว่าจะเคยเป็นผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการน้อยหรือไม่มีอาการมาก่อนก็ตาม แต่บุคคลที่มีอาการป่วยโควิดรุนแรงในตอนแรกมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยจากผลการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อมกราคมที่ผ่านมา พบว่า ใน 1 ปี หลังจากผู้ป่วยโควิดออกจากโรงพยาบาล มีจำนวนน้อยกว่า 3 ใน 10 ราย ที่รายงานว่ารู้สึกฟื้นตัวอย่างเต็มที่…”
‘โควิด’นับเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะผู้ป่วยบางราย แม้จะปลอดเชื้อแล้ว แต่ร่างกายกลับไม่หายป่วย ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า โควิดเรื้อรัง หรือ ลองโควิด (Long Covid)
ภาวะลองโควิด มีความซับซ้อนมากและมีอาการมากมาย ซึ่งยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง สมองเสื่อมถอย หรือสูญเสียรสชาติและกลิ่นไปอย่างถาวร ขณะที่สำหรับบางคน อาจแปรสภาพไปเป็นความทุพพลภาพขั้นรุนแรงได้ และมีข้อมูลว่า ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน ทำได้เพียงรักษาไปตามอาการ
-
ทำความรู้จัก Long Covid เมื่อคนไข้ปลอดเชื้อ แต่ร่างกายกลับไม่หายป่วย
-
วิเคราะห์อาการข้างเคียง-ความเสี่ยงระยะยาวจากโควิด-19 หลังพบไวรัสส่งผลกระทบถึงระบบสมอง
ล่าสุด เว็บไซต์ Verywell Health เปิดเผยข้อมูลใหม่ โดย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงมา ว่า สำหรับความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในปี 2564 มีทีมนักวิจัยผู้ป่วยโควิด ‘Patient-Led Research Collaborative (PLRC)’ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาครั้งแรกใน Medrixv เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 รวบรวมอาการของภาวะลองโควิดมาได้ทั้งหมด 200 อาการ ที่แสดงให้เห็นว่าภาวะดังกล่าวนี้สามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกายได้ทุกส่วน และยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ
นอกจากนี้ ในเดือนเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังประกาศและผลักดันให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะลองโควิดและมีอาการเข้าข่ายทุพพลภาพ จะต้องได้รับสิทธิ สวัสดิการ การช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายคนพิการ เช่น การอำนวยความสะดวกและบริการในที่ทำงานและโรงเรียน ระบบบริการสุขภาพ “ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าภาวะลองโควิดอาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ความทุพพลภาพ การหายใจ อาการปวดเรื้อรัง ความเหนื่อยล้าต่างๆ หรือในปี 2563 เจอการเกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog) ซึ่งเป็นภาวะที่จะสามารถจดจำได้แค่ระยะสั้นๆ รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ โดยในปี 2564 มีข้อมูลว่า อาการดังกล่าวเกิดมาจากสมองได้รับความเสียหาย การอักเสบของเส้นประสาทในระดับเซลล์ หรือไวรัสที่ติดอยู่ในสมอง
สำหรับอาการลองโควิดที่ผู้ป่วยเป็นกันมากที่สุด คือ ความเหนื่อยล้า ซึ่งในปี 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่อยู่เบื้องหลังโมโนนิวคลีโอสิส ถูกกระตุ้นอีกครั้ง และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้านั้น
ทั้งนี้ ภาวะลองโควิด ยังทำให้เจอโรคไข้สมองอักเสบจากกล้ามเนื้อ หรืออาการเมื่อยล้าเรื้อรัง (ME/CFS) ที่มีอาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ ฝ้าในสมอง และอาการป่วยไข้หลังออกแรง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลงหลังทำกิจกรรม และโรคระบบประสาทอัตโนมัติเสียศูนย์ (dysautonomia) เป็นข้อยืนยันว่าโรคนี้สามารถกระตุ้นอาการได้ในทุกระบบอวัยวะได้จจริงๆ
รวมถึงยังทำให้เกิดอาการเส้นเลือดอุดตันในร่างกาย เพราะโดยธรรมชาติของโควิด อาจทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยโรคไตมาก่อน ถึงแม้จะหายป่วยและออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว แต่ก็ยังเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจอักเสบ หรือหัวใจวายได้
และในเดือนธันวาคม 2564 นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) พบว่า เชื้อโควิดยังสามารถคงอยู่ในสมอง ลำไส้ และอวัยวะอื่นๆ ได้นาน 7 เดือนหลังการติดเชื้อครั้งแรก ดังนั้นความหวังก็คือข้อสังเกตและการค้นพบเหล่านี้จะสามารถสร้างภาพทางคลินิกที่จะช่วยบรรเทาอาการและการรักษาภาวะลองโควิดต่อไปได้
ภาพ: ภาวะลองโควิดกระตุ้นไวรัส EBV ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า
ภาพ: ภาวะลองโควิดกับอาการทุพพลภาพและลิ่มเลือดอุดต้น
ภาพ: ภาวะลองโควิดกับโรคหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทในระยะยาว
ทั้งนี้ สามารถสรุปอาการที่พบได้บ่อยดังนี้
- อาการทั่วไป: ความเหนื่อยล้า, ไข้ และเจ็บปวดร่างกาย
- ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และหลอดเลือด: หายใจไม่ออก, ไอ, แน่นหน้าอก, เจ็บหน้าอก และใจสั่น
- ระบบประสาท: ภาวะสมองล้า, ปวดศีรษะ, รบกวนการนอนหลับ, เวียนหัว และภาวะสับสนเฉียบพลัน (ในผู้สูงอายุ)
- ระบบทางเดินอาหาร: ปวดท้อง, ท้องเสีย, เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
- กล้ามเนื้อและกระดูก: ปวดข้อ และเจ็บกล้ามเนื้อ
- จิตเวช: ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
- หู จมูก และคอ: หูอื้อ, ปวดหู, เจ็บคอ และสูญเสียรสชาติ/กลิ่น
- ผิวหนัง: ผื่น
ความผิดปกติที่หลากหลาย ต่างกันไปในแต่ละคน
เว็บไซต์ Verywell Health เปิดเผยอีกว่า โนอาห์ กรีนสแปน (Noah Greenspan) นักกายภาพบำบัดโรคหัวใจและหลอดเลือดในนครนิวยอร์กที่รักษาผู้ป่วยโควิดและภาวะลองโควิด ว่า หนึ่งในส่วนที่ยากที่สุดในการรักษาลองโควิด คือ อาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ที่แตกต่างกันแบบเป็นเดือนต่อเดือน หรือแม้แต่นาทีต่อนาที ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด ทำให้การสร้างแนวทางการรักษาให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันเป็นไปได้ยาก
“สิ่งที่ใช้ได้ผลสำหรับผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้ผลและอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามสัญญาณและอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจและจังหวะ ความดันโลหิต และความอิ่มตัวของออกซิเจน” กรีนสแปน กล่าว
แม้ว่าคลินิกโรคโควิดที่ดำเนินมายาวนานหลายแห่งที่เปิดในปี 2564 จะพยายามรักษาผู้มีภาวะลองโควิด แต่ก็มีอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
“คลินิกหลายแห่งไม่ยอมรับผู้ป่วย หากไม่มีผลตรวจโควิดเป็นบวกมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขัน เพราะผู้ป่วยลองโควิดส่วนใหญ่จะเป็นคนอายุน้อย และส่วนมากจะเป็นผู้หญิงที่ป่วยมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 ทำให้คนที่ไม่มีผลตรวจ หรือพักพิงที่บ้าน หลายคนที่ควรเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ก็ถูกปฏิเสธการรักษา” กรีนสแปน กล่าว
เว็บไซต์ Verywell Health
ยังไม่มียารักษาที่แน่ชัด
อเล็กซิส มิสโค วัย 34 ปี เป็นหนึ่งคนที่ต้องลาออกจากงานเป็นนักกิจกรรมบำบัดเนื่องจากป่วยภาวะลองโควิดเป็นเวลานาน ซึ่งวิธีการฟื้นฟูแบบเดิมๆ มักใช้ไม่ได้ผลกับการรักษาอาการของเขา
“ยังมีการขาดความเข้าใจอย่างมากว่าความเจ็บป่วยนี้อาจร้ายแรงถึงขั้นทุพพลภาพ และทำให้ร่างกายอ่อนแอ บางคนที่เข้าไม่ถึงคลินิกรักษาลองโควิดต้องอยู่บ้านหรือติดเตียง หรือแม้แต่กระทั่งจะเดินทางไปคลินิกก็อาจทำให้อาการกำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าขั้นตอนการติดตามผลสำหรับคลินิกลองโควิดเป็นอย่างไร หมายความว่าพวกเขาอาจออกจากโรงพยาบาลในฐานะหายดี โดยไม่รู้ว่าบุคคลนั้นจะกลับมาเป็นอีกภายหลัง” กรีนสแปน กล่าว
ภาวะลองโควิด เป็นอาการที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะการรักษาหรือพักฟื้นเร็วเกินไปอีกก็อาจทำให้อาการของผู้ป่วยลองโควิดแย่ลง ระหว่างทำกิจกรรมผู้ป่วยจำนวนมากดูดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็อาจประสบกับอาการป่วยไข้หลังออกแรง ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยจะต้องดูเป็นรายบุคคลอย่างระมัดระวัง ต้องมีการเว้นจังหวะและเพิ่มกิจกรรมทีละน้อยตามเวลาที่ยอมรับได้
ส่วนยารักษาภาวะลองโควิดนั้น ขณะนี้ยังไม่มียารักษาได้อย่างชัดเจน แต่หลายสถานบันด้านสาธารณสุขต่างก็กำลังศึกษากัน โดยในเดือนกันยายน 2564 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ได้มอบเงินจำนวน 470 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการ ‘RECOVER Inititive’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแหล่งที่มาของอาการลองโควิด และมองหาวิธีการรักษาที่เป็นไปได้แล้ว คาดว่าเราจะได้เห็นผลลัพธ์ในการศึกษาภายในปีนี้
มีโอกาสเกิดลองโควิดมากถึง 30%
สำหรับโอกาสเกิดลองโควิด เว็บไซต์ Bloomberg เปิดเผยว่า มีข้อมูลจากกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกษาของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าในจำนวนผู้ป่วยโควิด จะมีประมาณกว่า 7% ที่จะมีอาการของภาวะลองโควิดอย่างน้อย 1 อาการหลังจากหายป่วยโควิดมาแล้วนาน 6 เดือน ซึ่งโอกาสการเกิดภาวะลองโควิดนี้จะแตกต่างไปตามอายุ เชื้อชาติ เพศ และสถานะสุขภาพพื้นฐานของแต่ละคน
ขณะที่ผลการศึกษาขนาดเล็กตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการติดตามผู้ป่วยโควิดนาน 9 เดือน พบว่า กว่า 30% จะประสบกับปัญหาภาวะลองโควิด แม้ว่าจะเคยเป็นผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการน้อยหรือไม่มีอาการมาก่อนก็ตาม แต่บุคคลที่มีอาการป่วยโควิดรุนแรงในตอนแรกมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า
ยกตัวอย่าง ผลการศึกษาจากเวอร์จิเนีย พบว่า ภาวะลองโควิดที่เกิดขึ้นนานกว่า 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนแรกของการเจ็บป่วย จะพบในกลุ่มที่ไม่เคยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 4.1% กลุ่มเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 16% และกลุ่มเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ 23% ขณะเดียวกันก็มีผลการศึกษาพบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้หญิง วัยกลางคน และคนอ้วนมากกว่า
เว็บไซต์ Bloomberg
วัคซีนลดโควิดเรื้อรัง 41%
แต่สายพันธุ์ของโควิดจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะลองโควิดหรือไม่ เว็บไซต์ Bloomberg เปิดเผยอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะฟันธงว่าเกี่ยวข้องหรือไม่
อย่างไรก็ตามการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิดอาจเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะลองโควิด และการฉีดวัคซีนอาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ที่สำคัญยังบรรเทาแนวโน้มที่จะป่วยโควิดรุนแรงได้ด้วย โดยผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ ช่วยลดการเกิดภาวะลองโควิดลดลงถึง 41%
เหมือนระเบิดเวลา นับถอยหลังก่อความรุนแรงได้
ภาวะลองโควิด ดูเหมือนจะไม่อัตรายถึงชีวิต แต่เว็บไซต์ Bloomberg เปิดเผยว่า การหายใจลำบาก ความเหนื่อยล้า หรือแม้แต่อาการทุพพลภาพ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง นอกจากนี้สำหรับผู้หายป่วยโควิดบางราย อาจไม่ปรากฏภาวะลองโควิดใดๆ เป็นเวลาหลายเดือน แต่ภาวะลองโควิดนี้ก็เหมือนระเบิดเวลา ซึ่งหากปรากฏภายหลังก็อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดอุดตันที่ปลอด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเป็นโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้แพทย์หลายคนยังสังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เชื่อมโยงกับโรคโควิดด้วย
ทั้งนี้เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา มีข้อมูลจากศูนย์ดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกาพบว่าไวรัสอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของบุคคลได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าบุคคลนั้นจะเคยป่วยโควิดแบบมีอาการน้อย ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ตาม และการศึกษาอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี พบว่าผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีความเสี่ยงที่จะเข้ามารักษาซ้ำหรือเสียชีวิตในอีก 6-12 เดือน
ใน 1 ปี มีน้อยกว่า 3 ใน 10 ฟื้นตัวอย่างเต็มที่
เว็บไซต์ Bloomberg เปิดเผยต่อว่า ภาวะลองโควิดดูเหมือนจะอยู่ต่อกับเราไปอีกยาวนาน โดยผลการศึกษาการอู่ฮั่น เมืองจีน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2564 พบว่าผู้ป่วยโควิดเกือบ 1 ใน 2 ราย จะมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปถึง 1 ปี
และผลการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่เพิ่งตีพิมพ์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า 1 ปี หลังจากผู้ป่วยโควิดออกจากโรงพยาบาล มีจำนวนน้อยกว่า 3 ใน 10 ราย รายงานว่ารู้สึกฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เป็นไปได้ว่าการใช้การรักษาสำหรับโควิด รวมถึงการบำบัดด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) และยาต้านไวรัส ช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะลองโควิดนี้ แม้ว่าสิ่งนี้จะยังไม่ได้รับการพิสูจน์แต่มีหลักฐานปรากฏใหม่ว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีขึ้น
จากข้อมูลที่มีขณะนี้ จะเห็นได้ว่า 'ภาวะลองโควิด' นับเป็นอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากถึง 30% อย่างไรก็ตามยังไม่มียารักษาแบบเฉพาะเจาะจง เป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น ดังนั้นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ป่วยโควิดคงจะเป็นวิธีที่ดีสุด โดยอาจเคร่งครัดมาตรการ เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และฉีดวัคซีน จะเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยเราป้องกันได้
อ้างอิงจาก :