"...โควิดเรื้อรัง หรือ Long Covid คือ อาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์กับผู้เคยติดเชื้อโควิด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 35 - 49 ปี และอายุระหว่าง 50 - 69 ปี และ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์ อาจเกิดได้ตั้งแต่อาการเบาไปจนถึงหนัก ซึ่งรุนแรงถึงขั้นหลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การอาบน้ำ ซื้อของ หรือแม้กระทั่งการจดจำคำศัพท์..."
………………………………………………
'โควิด' เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ก่อให้เกิดอาการป่วยตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงหนัก ซึ่งอาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายขาดภายใน 12 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เกิดภาวะที่เรียกว่า 'โควิดเรื้อรัง' หรือ Long Covid ที่แม้ว่าร่างจะปลอดเชื้อโควิดไปแล้ว แต่อาการเจ็บป่วยเหล่านั้นยังคงอยู่ติดตัวกับพวกเขา
แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีการพูดประเด็นนี้กันมากนัก แต่ในหลายประเทศทั่วโลกได้เตรียมมาตรการรับมือกับอาการดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวบมานำเสนอ ดังนี้
พญ.วีณา ซิงค์ อธิบดีสาธารณสุขแห่งรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย เปิดเผยผ่านสัมมนา ‘การบริหารภาวะวิกฤติโควิด ประสบการณ์ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าจากด่านหน้าของอินเดีย’ ว่า นอกจากพบผู้ป่วยโควิดทั่วไปแล้ว ในอินเดียยังพบว่ามีหลายรายที่ประสบกับภาวะ Long Covid คือ ยังมีอาการอ่อนเพลีย และมีความเครียด ซึ่งมาจากไวรัสหรือความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราได้เปิดหน่วยศูนย์ดูแลผู้ป่วย Long Covid เพื่อบำบัดรักษาผู้มีอาการป่วยหลังติดเชื้อโควิด โดยจะมีการประเมินทางคลินิก การเข้าช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยา และการดูแลฟื้นฟู
สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) ว่า ‘โควิดเรื้อรัง’ หรือ Long Covid บางแห่งเรียกว่า Long-haul Covid คือ อาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์กับผู้เคยติดเชื้อโควิด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 35 - 49 ปี และอายุระหว่าง 50 - 69 ปี ตามลำดับ โดยพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และ 1 ใน 5 ของผู้ป่วย จะมีอาการดังกล่าว หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
โดยผู้ป่วยหลายคนมีหลายอาการเกิดขึ้น ตั้งแต่อาการเบาไปจนถึงหนัก บางคนรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การอาบน้ำ ซื้อของ หรือแม้กระทั่งการจดจำคำศัพท์
สำหรับอาการที่พบในกลุ่มผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง มีดังนี้
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- หายใจหอบเหนื่อย
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
- มีปัญหาในเรื่องความจำ และการจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
- มีปัญหาการนอนหลับ
- ใจสั่น
- เวียนหัว มึนงง
- มีความรู้สึกเหมือนมีของแหลมที่บริเวณผิวหนัง
- หูอื้อ ปวดหู
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง
- มีไข้ ไอ เจ็บคอ การรับรสและได้กลิ่นเปลี่ยนไป
- ปวดหัว
ภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี
@ สาเหตุการเกิดภาวะโควิดเรื้อรัง
สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ยังไม่มีใครทราบสาเหตุของการเกิดภาวะโควิดเรื้อรัง แต่มีความเป็นไปอย่างหนึ่ง คือ การติดเชื้อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคนบางคนทำงานหนักเกินไป ไม่เพียงแต่โจมตีโควิดเท่านั้น แต่ยังโจมตีเนื้อเยื่อของตัวเองด้วย ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
หรืออีกสาเหตุหนึ่ง คือ ชิ้นส่วนของไวรัสบางส่วนอาจเหลืออยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจกลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งทฤษฎีนี้เคยเกิดขึ้นในไวรัสอื่นๆ เช่น เริม และไวรัส Epstein Barr ที่ทำให้เกิดไข้ต่อม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับโควิด
@ ผู้ใหญ่เสี่ยงเกิดภาวะโควิดเรื้อรังมากกว่าเด็ก
เกี่ยวกับภาวะโควิดเรื้อรังในเด็ก สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลว่า เด็กมีโอกาสติดเชื้อโควิดน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะมีภาวะโควิดเรื้อรัง แต่บางคนจะมีอาการหลงเหลือจากการติดเชื้ออยู่บ้าง โดยจากผลการศึกษาของ King's College London พบว่า เด็กกว่า 98% จะประสบกับอาการหลงเหลือจากการติดเชื้อ และจะหายเป็นปกติภายใน 8 สัปดาห์ ซึ่งต่ำว่าคำจำกัดความของ สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ ที่ระบุว่าภาวะโควิดเรื้อรังคือผู้มีอาการคงอยู่นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กที่มีปัญหากับอาการดังกล่าว แนะนำว่าต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ทั่วไป และครอบครัวควรรับฟังด้วย
ส่วนการทดสอบว่าเป็นภาวะโควิดเรื้อรังหรือไม่ สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทดสอบ ปัจจุบันเป็นเพียงการวินิจฉัยเท่านั้น โดยแพทย์จะวินิจฉัยหาสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ ก่อน พวกเขาจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ป่วยกำลังป่วยด้วยสาเหตุอื่นหรือไม่ เช่น โรคเบาหวาน การทำงานของต่อมไทรอยด์ และการขาดธาตุเหล็ก หากพบว่าไม่ได้ป่วยด้วยสาเหตุอื่นๆ ก็ถือได้ว่ามีภาวะโควิดเรื้อรัง
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ในอนาคตอาจสามารถตรวจสอบด้วยผลตรวจเลือด หรืออาจมีการพัฒนาเครื่องมือให้สามารถระบุความเสียหายของอวัยวะต่างๆ ได้
@ ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งอาการดีขึ้นหลังรับวัคซีน
สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงผลการวิจัยของผู้ป่วยโควิดเรื้อรั้งประมาณครึ่งหนึ่ง มีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน โดยอาจเกิดจากการที่วัคซีนสามารถเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันช่วยให้ร่างกายสามารถโจมตีชิ้นส่วนของไวรัสส่วนที่เหลืออยู่ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่นๆยังช่วยป้องกันการเป็นภาวะโควิดเรื้อรังได้ สำหรับการรักษาด้วยยา ในขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์ แต่การทดลองทางคลินิกอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาคาดว่าจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้
@ อังกฤษเผย 5 แผนดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง
นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลทิ้งท้ายด้วยว่า ในอังกฤษได้มีการจัดตั้งศูนย์ประเมินโรคโควิดเรื้อรังโดยผู้เชี่ยวชาญ 89 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเปิดในไอร์แลนด์เหนือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในขณะที่ผู้ป่วยในสกอตแลนด์และเวลส์ จะถูกส่งต่อไปยังบริการต่างๆ ตามที่แพทย์ประจำตัวประเมินตามอาการของผู้ป่วย
โดย สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) ได้เปิดเผยแผนการดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรังของอังกฤษด้วยว่า แผนตั้งแต่เดือน ต.ค.2563 องค์กรได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 5 แผนดังนี้
1. คำแนะนำสำหรับแพทย์และข้อมูลสำหรับผู้ป่วย โดยให้สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (National Institute for Health and Care Exllence: NICE) เผยแพร่ความหมายของภาวะโควิดเรื้อรัง ในเดือน พ.ย.2563 และให้คำแนะนำทางคลินิกเกี่ยวกับการจัดการภาวะโควิดเรื้อรัง ในเดือน ธ.ค.2563
2. การจัดตั้งศูนย์ประเมินโรคโควิดเรื้อรังโดยผู้เชี่ยวชาญ 89 แห่ง เพื่อเสนอการประเมินทางกายภาพ ความรู้ความเข้าใจ หรือจิตวิทยา ซึ่งจะมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์กุมารเวชศาสตร์โควิดเรื้อรัง’ 15 แห่ง ทั่วอังกฤษ เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบกับภาวะโควิดเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
3. จัดทำเว็บไซต์เพื่อการรักษาผู้ป่วยภาวะโควิดเรื้อรัง โดยปัจจุบันมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมกว่า 1.5 ล้านครั้ง และมีการให้บริการฟื้นฟูกว่า 100 รายการ จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนผู้ป่วยให้ใช้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผ่านช่องทางออนไลน์ได้
4. สนับสนุนด้านการวิจัย ได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาความเข้าใจในภาวะโควิดเรื้อรังได้ โดยขณะนี้มีงบประมาณ 50 ล้านปอนด์ที่มุ่งมั่นทำการวิจัย
5. การได้รับความช่วยเหลือจากการทำงานของคณะทำงาน NHS Long COVID ได้แก่ ผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวกับภาวะโควิดเรื้อรัง เจ้าหน้าที่ NHS และนักวิจัย
ภาพ: เว็บไซต์สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS)
@ ‘คัดกรอง-ประเมิน-ให้การรักษา’ ขั้นตอนการดูแลจากคลินิกอังกฤษ
สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ เปิดเผยแผนสำหรับการจัดตั้งศูนย์ประเมินโรคโควิดเรื้อรังอีกว่า ศูนย์นี้จะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านสหวิชาชีพกายภาพ ความรู้ความเข้าใจ จิตวิทยา และจิตเวช ให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะโควิดเรื้อรัง ทั้งผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาอาการป่วยโควิดในโรงพยาบาล หรือผู้ที่ไม่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือการตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งจะมุ่งเน้นให้บริการกลุ่มมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับความเท่าเทียมกันทางสุขภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและให้แน่ใจว่าไม่มีใครท้อแท้ หรือไม่สามารถรับประโยชน์ได้
โดยจากการสันนิษฐานผู้ป่วยโควิดราว 2.9% จะประสบกับภาวะโควิดเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษในการดูแลรักษา ซึ่งคาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ 342,000 คน
ขั้นตอนแรกของการดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรังจะเริ่มจากการคัดกรองก่อน จากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพประเมินและให้การรักษาตามที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ผ่านการนัดหมายทางคลินิก ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโควิดเรื้อรังหลังจากได้รับการรักษาทางคลินิกครั้งแรกแล้ว ประมาณ 30-50% ของผู้ป่วยโควิดเรื้อรังที่มีอาการหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก และมีปัญหาสุขภาพทางจิต สามารถดูแลรักษาจัดการตนเอง (ระดับ 1: T1) ขณะที่ผู้ป่วยอีก 18-30% ที่มีอาการทางระบบประสาท มีความเหนื่อยล้า มีปัญหาสุขภาพทางจิต และหายใจไม่ออก สามารถรักษาได้ในระดับปฐมภูมิและในชุมชน (ระดับ 2: T2) และผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง 20-50% ที่มีอาการเหนื่อยล้า เจ็บหน้าอก ปอดเป็นพังผืด มีอาการทางระบบประสาทโรคลิ่มเลือดอุดตัน ต้องเข้ารับบริการกับผู้เชี่ยวชาญและต้องฟื้นฟูสมรรถภาพต่อไป (ระดับ 3: T3)
ภาพ: ขั้นตอนการดูผู้ป่วยภาวะโควิดเรื้อรังของอังกฤษ
ภาพ: ช่องทางการติดต่อให้ผู้มีอาการหลงเลือจากโควิดเข้ารับการดูแลรักษา
@ เปิด 3 ช่องทาง ดูแลผู้มีอาการหลงเหลือจากโควิด
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ประสบกับอาการหลงเหลือจากการป่วยโควิดมากว่า 4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ เปิดเผยว่า อังกฤษได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสบกับอาการดังกล่าวสามารถติดต่อแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GP) เพื่อนัดหมายไปตรวจทางคลินิกผ่านทาง เว็บไซต์ โทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชันที่จัดทำพิเศษสำหรับประชาชนชาวอังกฤษได้ ซึ่งแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการและอาจมีการให้ตรวจสอบบางอย่างเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ตรวจความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ และการเอ็กซเรย์หน้าอก
ทั้งนี้หากอาการดังกล่าวสามารถรักษาที่บ้านได้ แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง แต่หากอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมาก แพทย์จะส่งต่อไปยังหน่วยบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลโดยเฉพาะต่อไป
ภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิร์ลรีพอร์ท
@ สหรัฐฯเปิด ‘คลินิกแบบครบวงจร’ ใน 40 รัฐ
ไม่เพียงแต่อังกฤษจะมีแผนในการดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง ในสหรัฐอเมริกาก็มีเช่นเดียวกัน โดยสำนักข่าว ยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิร์ลรีพอร์ท เปิดเผยข้อมูลว่า เนื่องจากมีผู้ป่วยภาวะโควิดเรื้อรังจำนวนมาก เข้าสู่ระบบการรักษา ทำให้โรงพยาบาลและกลุ่มแพทย์บางแห่งได้จัดตั้งคลินิกเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดเรื้อรังโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกนี้ใน 40 รัฐแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าคลินิกทุกแห่งจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองในเมืองใหญ่
โดยคลินิกนั้นจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสหวิชาชีพ เนื่องจากภาวะโควิดเรื้อรังมีอาการที่มีความหลากหลายและซับซ้อน ดังนั้นการจัดตั้งคลินิกให้เป็น ‘คลินิกแบบครบวงจร’ หรือ ‘One Stop Service’ จึงง่ายกว่า ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญภายในคลินิก จะประกอบด้วย แพทย์โรคหัวใจ, ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก, ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ, นักไตวิทยา, นักประสาทวิทยา, แพทย์เฉพาะทางด้านกายภาพบำบัด, แพทย์เฉพาะทางด้านกายภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์ระบบทางเดินหายใจ แพทย์โรคข้อ และจิตแพทย์
สำหรับตัวอย่างการรักษาภายในคลินิก ประกอบด้วย การให้ยาหรือการบำบัดผู้มีปัญหาที่หัวใจหรือผู้ป่วยที่หายใจลำบาก การฝึกดมกลิ่น สำหรับผู้สูญเสียการดมกลิ่นเป็นเวลานาน หรือการบำบัดหรือรักษาโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เป็นต้น
สำนักข่าว ยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิร์ลรีพอร์ท เปิดเผยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอหน์ฮอปกินส์ ระบุถึงข้อกังวลใจด้วยว่า เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อในอเมริกากว่า 33 ล้านคน ซึ่ง 10-30% ของผู้ติดเชื้อโควิด ต้องเผชิญกับภาวะโควิดเรื้อรัง ซึ่งหมายความว่าทุกๆ 3.3 ล้านถึง 10 ล้านคน ดังนั้นผู้ป่วยโควิดเรื้อรังอาจต้องการคลินิกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ต้องการเห็นคลินิกมีผู้ให้บริการมาจากหลากหลายสหวิชาชีพ และยังต้องการให้มีแผนในการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีอาการโควิดเรื้อรังด้วย ซึ่งอาจเป็นก้าวต่อไปของการดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรังในอนาคตของอเมริกา
@ ยังไม่มียารักษา แต่มีเคล็ดลับรับมือ 4 ประการ
ทั้งนี้ สำนักข่าว ยูเอสนิวส์ แอนด์ เวิร์ลรีพอร์ท ได้เปิดเผยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอเมริกา ถึงการเข้ารักษาภาวะผู้ป่วยโควิดว่า แม้จะไม่มียาใดที่จะรักษาภาวะโควิดเรื้อรังได้ แต่มีเคล็ดลับ 4 ประการจะช่วยให้อาการดีขึ้น ดังนี้
- ค้นหาคลินิกดูแลผู้ป่วยภาวะโควิดเรื้อรัง (กรณีที่สามารถทำได้)
- ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติระบบสาธารณสุข
- การคิดในเชิงบวกตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและมีแสงหว่างที่ปลายอุโมงค์
- การพูดคุยกับแพทย์ว่า คุณควรได้รับวัคซีนหรือไม่ หากสามารถรับได้ ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน
ภาพ: เว็บไซต์สำนักข่าวอินเดียทูเดย์
@ อินเดียพบภวะแทรกซ้อนในกลุ่มผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง
ขณะที่สำนักข่าวอินเดียทูเดย์ เปิดเผยอีกว่า ภาวะโควิดเรื้อรังเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ยังมีอาการป่วยหลงเหลืออยู่ หลังการติดเชื้อโควิด โดยทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ผลกระทบต่อปอด ไต หัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง สมอง เส้นประสาท และการติดเชื้อราดำ
โดย Dr. Arbhisek Bansal ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาล Diyos ได้กล่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวอินเดียทูเดย์อีกว่า โควิดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เหมือนกับไวรัสอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ตามมาในระยะยาว ซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยะหลายส่วน โดยเฉพาะปอด ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโควิด มีอาการหลงเหลือหลังจากการติดเชื้อ 4-5 สัปดาห์ และประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยโควิดมีอาการหลงเหลือเรื้อรังถึง 12 สัปดาห์
“แม้จะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่บางคนอาจประสบกับภาวะโควิดเรื้อรัง เพราะการคงอยู่ของไวรัสในบางส่วนของร่างกายที่ได้รับการปกป้องจากะบบภูมิคุ้มกัน” Dr. Arbhisek Bansal กล่าว
สำนักข่าวอินเดียทูเดย์ เปิดเผยถึงการดูแลผู้ป่วยโควิดเรื้อรังตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย จะโทรศัพท์ติดตามผู้ป่วยโควิดที่รักษาการติดเชื้อหายแล้วใน 7 วัน หลังจากออกโรงพยาบาล หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการหลงเหลืออยู่จะส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อป้องกันการใช้ยาที่หลากหลายชนิดของประชาชนที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่ตามมาได้
อ้างอิงจาก:
Long-term effects of coronavirus (long COVID)
Long Covid: What is it and what are the symptoms?
Long COVID: the NHS plan for 2021/22
How Do Post-COVID Care Clinics Help Long COVID Patients?
Recovered from Covid-19? Here's what you should do and keep in mind
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage