ส่วนข้อมูลจากสหราชอาณาจักรก็ปรากฏคล้ายๆกับในรายงานของซีดีซี ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนบูสเตอร์นั้นมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไปอยู่ที่ประมาณ 75-85 เปอร์เซ็นต์เมื่อระยะเวลาหลังจากการฉีดบูสเตอร์ผ่านไปประมาณ 4-6 เดือน ขณะที่ประเทศอิสราเอลก็รายงานข้อมูลว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ว่าลดต่ำลงเมื่อผ่านไปได้หลายเดือนแล้ว
จากสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ที่มีรายงานข้อกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพอันถดถอยของวัคซีนที่สอดคล้องกันของทั้งประเทศไทยและในต่างประเทศเนื่องจากว่ามีรายงานข่าวที่สอดคล้องกันว่าการฉีดวัคซีนในโดส 3 เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 นั้นพบว่าก็มีประสิทธิภาพที่ลดลงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นจากผลการศึกษาใน จ.เชียงใหม่ พบข้อมูลว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยเฉพาะช่วงครึ่งเดือนหลัง มากกว่า 80% จะเป็นสายพันธุ์โอไมครอนนั้น พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 โดส จะไม่มีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อฯได้เหมือนก่อนหน้านี้ แต่ยังช่วยลดการตายได้กว่า 89% แต่หากได้รับวัคซีนโดสกระตุ้นหรือฉีดโดสที่ 3 ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ประมาณ 68%
โดยจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้เกิดข้อกังวลว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงไปอีก เราจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในโดสที่ 4 เพื่อป้องกันโรคกันอีกหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้สำรวจรายงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศก็พบรายงานที่น่าสนใจจากสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ระบุเกี่ยวกับความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในโดสที่ 4 มีรายละเอียดดังนี้
แม้ว่าข้อมูลใหม่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนบูสเตอร์นั้นจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ทีมที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโจ ไบเด้น ก็ยังไม่มีแผนการที่จะออกคำแนะนำว่าต้องมีการฉีดวัคซีนในโดสที่ 4 ในเร็ววันนี้
“เราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะรู้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่” นพ.ปีเตอร์ มาร์ค ผู้เป็นหัวหน้าแผนกสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอที่ควบคุมวัคซีนกล่าวในสัปดาห์นี้
ขณะที่ นพ.แอนโทนี่ เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ประจําทําเนียบขาว ได้กล่าวว่าวัคซีนนั้นยังคงเป็นป้อมปราการที่สำคัญต่อกรณีการป่วยรุนแรง แม้ว่าข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อหรือซีดีซีจะแสดงให้เห็นว่าวัคซีนโดสบูสเตอร์นั้นเริ่มที่จะอ่อนแอลงหลังจากที่มีการฉีดไปแล้ว 4-5 เดือน
งานวิจัยของซีดีซีที่ปรากฏต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการวิเคราะห์ถึงการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล,การเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน และในคลินิกดูแลเร่งด่วนใน 10 รัฐ พบข้อมูลว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นาและจากบริษัทไฟเซอร์นั้น พบว่าระดับของภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตกลงจากระดับ 91 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนหลังจากการฉีดโดส 3 มาอยู่ที่ประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลา 4-5 เดือน ขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการป้องกันการเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินนั้นตกลงจาก 87 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
รายงานของซีดีซีที่ระบุว่าวัคซีนบูสเตอร์จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 4 เดือน (อ้างอิงวิดีโอจาก WTHR)
โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีการตรวจสอบปัจจัยสำคัญอื่นๆ อาทิ ช่วงอายุ,ภาวะการขาดภูมิคุ้มกัน หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความเป็นไปได้ว่าต้องมีการฉีดวัคซีนในโดสที่ 4
“มีคำถามที่หลายคนถามมามากมายว่าควรจะไปฉีดโดส 4 หรือไม่ คำตอบก็คือว่าถ้าเราดูข้อมูล ณ ตอนนี้ มันก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการป้องกันที่ดีอยู่ อัตราที่ 78 เปอร์เซ็นต์นั้นยังถือว่าดี” นพ.เฟาซีกล่าว
ทั้งนี้ฝ่ายกลยุทธ์ด้านวัคซีนของฝ่ายบริหารในทำเนียบขาวนั้นยังคงมีการตรวสอบข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเด้น เข้ามารับตำแหน่ง โดย นพ.เฟาซีกล่าวต่อไปว่าการตัดสินใจนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโดสบูสเตอร์นั้นจะมีความเสถียรมากน้อยแค่ไหน หรือว่าตกลงมากน้อยแค่ไหนในระยะเวลา 4-5 เดือน และถ้าหากตัวเลขนนี้มันยังคงลดลง ก็ต้องดูอีกว่าลดลงในรูปของความชันมากน้อยแค่ไหน
ดังนั้นนี่จึงมีความหมายอีกนัยยะหนึ่งว่าความไม่แน่นอนที่เริ่มจะมากขึ้น สำหรัวชาวอเมริกันที่เริ่มจะอ่อนล้ากับคำแนะนำด้านวัคซีนที่ถูกเปลี่ยนเป็นระยะเวลาบ่อยครั้งแล้วด้วยเช่นกัน นพ.สเตอร์ลิง แรนโซน ประธานสถาบันแพทย์ครอบครัวอเมริกัน กล่าวและกล่าวต่อด้วยว่าคนไข้ของเขาก็ถามเช่นกันว่าจำเป็นต้องมีวัคซีนโดส 4 หรือไม่ และถ้าจำเป็นจำฉีดกันเมื่อไร ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เขาหงุดหงิดมากเพราะไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนออกมา
ส่วน นพ.เจมส์ ดับเบิลยู. จาร์วิส ผู้นำในด้านนโยบายแนวทางการตอบสนองต่อไวรัสโควิด-19 ที่เมืองบังกอร์ ในรัฐเมน กล่าวว่าตัวเขาได้ย้ำกับคนไข้ว่าวัคซีนนั้นยังคงทำงานได้ดีอยู่แม้จะมีความต้องการในบูสเตอร์โดส หรือว่าไม่ได้ให้การป้องกันที่สมบูรณ์แบบก็ตาม
“ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าวัคซีนยังคงทำงานได้ดีอยู่” นพ.จาร์วิสกล่าว
ส่วนข้อมูลจากสหราชอาณาจักรก็ปรากฏคล้ายๆกับในรายงานของซีดีซี ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนบูสเตอร์นั้นมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไปอยู่ที่ประมาณ 75-85 เปอร์เซ็นต์เมื่อระยะเวลาหลังจากการฉีดบูสเตอร์ผ่านไปประมาณ 4-6 เดือน ขณะที่ประเทศอิสราเอลก็รายงานข้อมูลว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ว่าลดต่ำลงเมื่อผ่านไปได้หลายเดือนแล้ว
โดยอิสราเอลได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนในโดส 4 แล้วเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ทว่าเป็นการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ขณะที่ซีดีซีก็ได้มีการแนะนำว่าผู้ที่มีข้อบกพร่องด้านภูมิคุ้มกันที่ได้รับวัคซีนเป็นจำนวน 3 โดสแล้วในการฉีดเริ่มต้น ควรจะตามด้วยโดสที่ 4 ในฐานะโดสบูสเตอร์
รายงานการฉีดวัคซีนโดสที่ 4 ในประเทศอิสราเอล ซึ่งในภายหลังพบว่ามีประสิทธิภาพแค่บางส่วนกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเท่านั้น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
ส่วนทางด้านทีมงานของประธานาธิบดีไบเด้นได้กล่าวว่าพบข้อมูลว่ามีจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่เข้าข่ายการฉีดบูสเตอร์นั้นได้รับวัควีนบูสเตอร์ไปแล้วนับตั้งแต่ที่มีการอนุมัติเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีก็เพิ่งได้รับการอนุมัติเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ นพ.มาร์คจากซีดีซีก็กล่าวว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์อีกโดสหนึ่งนั้นน่าจะอยู่ที่ฤดูใบไม้ร่วง (23 ก.ย.) ซึ่งเวลาดังกล่าวนั้นคาดว่าจำนวนผู้ติดโควิดจะพุ่งสูงอีกครั้งหนึ่ง
“เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่เราอาจจะเจอกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆอีก ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็อาจจะเป็นการออกนโยบายการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้มีความสอดคล้องกันกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในครั้งถัดไป และต้องให้มีผู้เข้ามาฉีดวัคซีนบูสเตอร์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นพ.มาร์คกล่าว
เช่นเดียวกับ นพ.แรมโซนที่กล่าวว่าคนไข้ทั่วไปนั้นก็มีความหวังเช่นนั้นเหมือนกัน
นพ.มาร์คกล่าวต่อไปว่าในการประชุมร่วมกันระหว่างเอฟดีเอและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ตัวเขาก็คาดหวังว่าวัคซีนแค่โดสสามน่าจะเพียงพอสำหรับการปกป้องจากไวรัสโควิด-19 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ทั้งเขาและ นพ.เฟาซีก็เห็นตรงกันอีกเช่นกันว่ายังเป็นการยากที่จะคาดการณ์อะไร เมื่อไม่เห็นข้อมูลมากกว่านี้
อนึ่งเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.เฟาซีได้เคยแนะนำที่ทำเนียบขาวว่ามีแนวโน้มเหมือนกันว่าการฉีดบูสเตอร์นั้นจะถูกแนะนำให้กับผู้อยู่ในช่วงอายุที่มีความเสี่ยงมากที่สุดและผู้ที่มีปัญหาพื้นฐานด้านสุขภาพเพื่อที่จะลดจำนวนการรักษาในโรงพยาบาลก่อนน่าจะดีที่สุด
เรียบเรียงจาก:https://www.nytimes.com/2022/02/17/us/fourth-dose-covid-vaccine.html