"...กรณีการนำรถยนต์ของทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน นับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญยิ่งและเป็นบทเรียนสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการประจำ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องสอดส่องดูแลการใช้รถยนต์ราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และใช้ในราชการเท่านั้น หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอย่างเช่นคดีนี้ ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย..."
กรณีเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ นำรถยนต์ราชการ หรือ รถหลวง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องฟ้องศาลดำเนินการคดีอาญา ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายประกิต พรจันทรารักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด อำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย และ นางสาวพัชรินทร์ ทิพยพลาดิกุล อดีตธนารักษ์พื้นที่พะเยา จังหวัดพะเยา เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 รายล่าสุด ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับเงิน จากการนำรถยนต์ราชการ หรือ รถหลวงไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดข้อมูลทั้ง 2 คดี มาเสนอ ณ ที่นี้
@ นายประกิต พรจันทรารักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด อำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย
กรณีนี้ นายประกิต พรจันทรารักษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด อำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย ถูกกล่าวหาว่า นำรถยนต์ทางราชการไปใช้ส่วนตัวแล้วประสบอุบัติเหตุไม่รายงานตามระเบียบฯ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาว่า นายประกิต พรจันทรารักษ์ จำเลย มีความผิดตามมาตรา 151 เมื่อเป็นความผิดอันเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลย จำคุก 5 ปี และปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คง จำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นที่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี
@ นางสาวพัชรินทร์ ทิพยพลาดิกุล อดีตธนารักษ์พื้นที่พะเยา จังหวัดพะเยา
ในเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาตัดสินคดีกล่าวหา นางสาวพัชรินทร์ ทิพยพลาดิกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ธนารักษ์พื้นที่พะเยา จังหวัดพะเยา นำรถยนต์ของราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เบียดบังเวลาราชการและรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา
ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 และ 162 (1), (4) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาว่า นางสาวพัชรินทร์ ทิพยพลาดิกุล จำเลย มีความผิดตามมาตรา 151 , 162 (1) (4)
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 151 ซึ่งมีอัตราโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลย 5 ปี และปรับ 40,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 2 ปี 6 เดือนและปรับ 20,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุก ไว้มีกำหนด 2 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในกรณีที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับกรณีการประพฤติมิชอบนำรถยนต์ราชการ หรือ รถหลวง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวนั้น ในช่วงปลายปี 2563 -2564 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องดำเนินคดีทางอาญา ไปแล้วหลายราย บางรายถูกหน่วยงานต้นสังกัดลงโทษวินัยร้ายแรงด้วยการไล่ออกราชการด้วย ดังนี้
-นายกรีฑา ยกย่อง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวและเครือญาติ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 พิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตามมาตรา 151 และ 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางไต่สวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 3 กระทง 9 ปี 12 เดือน
-นายวิบูลย์ เลิศวัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปศุสัตว์จังหวัดเลย มีพฤติการณ์นำรถยนต์ราชการหมายเลขทะเบียน บพ 4112 เลย ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กรมปศุสัตว์ลงโทษไล่ออกราชการ ในช่วงเดือน เม.ย. 2564
-นายรณรงค์ ทรัพย์ปรุง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครตรัง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ชี้มูลความทางอาญาในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 กรณีกล่าวหา ว่านำรถยนต์ของทางราชการหมายเลขทะเบียน กง 5459 ตรัง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวจากทางราชการโดยมิชอบ โดยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 72/2564 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็น เอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า นายรณรงค์ ทรัพย์ปรุง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ได้ใช้อำนาจครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ แล้วนำรถไปใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไป – กลับ ระหว่างบ้านพักเลขที่ 80/3 ซอย 4 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง กับสำนักงานเทศบาลนครตรังเป็นประจำทุกวัน เดินทางไปร่วมงานสังคมต่างๆ เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน และงานประเพณีต่างๆ และเดินทางไปบ้านของมารดาของภรรยานายรณรงค์ ทรัพย์ปรุง ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง บ่อยครั้ง เสมือนว่าเป็นรถส่วนบุคคล ขณะที่ในการใช้รถยนต์คันดังกล่าว ได้เบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากเทศบาลนครตรังทุกครั้งเดือนละประมาณ 100 ลิตร อันเป็นการเบียดบังน้ำมันเชื้อเพลิงของเทศบาลนครตรัง รวมทั้งได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตนเองตลอดมาโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น และไม่มีการขออนุญาตจากนายกเทศมนตรีนครตรังเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ต่อมาเทศบาลนครตรัง ที่ 1447/2564 ลงนามโดย นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ลงโทษไล่ออกจากราชการ นายรณรงค์ ทรัพย์ปรุง พนักงานเทศบาล ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครตรัง (นักบริหารงานสวัสดิการสังคม ระดับกลาง) เงินเดือน 55,840 บาท ได้กระทำผิดวินัย กรณีนำรถยนต์ส่วนกลางของทางราชการหมายเลขทะเบียน กง 5459 ตรัง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวจากทางราชการโดยมิชอบ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 ถึง เดือน พ.ค.2559 เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเอง หรือบุคคลอื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจไม่ปฏิบัติกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามข้อ 3 วรรคสาม ข้อ 5 วรรคสอง และข้อ 6 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลนครตรัง เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนการลงโทษทางวินัย พ.ศ.2558 และคณะกรรมการพนักงานเทศบาลนครตรังในการประชุมครั้งที่ 10/2564 วันที่ 26 ต.ค.64 มีมติให้ลงโทษไล่ออก นายรณรงค์ ทรัพย์ปรุง ออกจากราชการ อาศัยอำนาจตามมาตรา 15 มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และข้อ85 แห่งประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลนครตรัง เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวนการลงโทษทางวินัย พ.ศ.2558
- ใช้รถหลวงมิชอบ! ป.ป.ช.ชี้มูล ผอ.กองสวัสดิการสังคม ท.นครตรัง - เบิกน้ำมัน 100 ลิตร/ด.
- ทน.ตรังไล่ ผอ.สวัสดิการสังคมออก หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลใช้รถหลวงไปบ้านเมียนาน 8 ปี
- เผยโฉม 'รถหลวง' คดีอดีตผอ.สวัสดิการสังคม ทน.ตรัง ใช้ไปบ้านเมียนาน 8 ปี ก่อนโดนไล่ออก
- นายรุ่งรัก ลูกบัว ผู้อำนวยการกองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร กับพวก ใช้รถหลวงไปตีกอล์ฟ ไป-กลับ บ้านพัก โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช.ยโสธร ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายรุ่งรัก ลูกบัว กรณีนี้เป็นทางการ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนรับฟังได้ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 นายรุ่งรัก ลูกบัว ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อนายสถิรพร นาคสุข นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และเดือนกรกฎาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ได้จัดทำใบขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางเสนอต่อนายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรเพื่อขออนุญาตนำรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน กค 7127 ยโสธร ไปจอดเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของตน บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 3 ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร และได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทางไป - กลับ ระหว่างบ้านพักและองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร โดยไม่เคยนำรถยนต์มาจอดเก็บรักษาไว้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟกรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา
พฤติกรรมของนายรุ่งรัก ลูกบัว จึงเป็นการนำรถยนต์ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ สำหรับนายสถิรพร นาคสุข และนายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ ได้อนุมัติให้นายรุ่งรัก ลูกบัว นำรถยนต์ของทางราชการไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านพัก และใช้เป็นพาหนะในการขับขี่ ไป-กลับ ระหว่างบ้านพักและที่ทำงาน และสนามกอล์ฟ การกระทำของบุคคลทั้ง 2 รายดังกล่าว จึงได้กระทำไปโดยเอื้อให้นายรุ่งรัก ลูกบัว ได้ใช้รถยนต์ของทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ดังกล่าว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติว่า
1.การกระทำของนายรุ่งรัก ลูกบัว มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2562 มาตรา 192 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ในส่วนของคดีอาญา อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด ส่วนมูลความผิดทางวินัย ได้มีคำสั่งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ได้สั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562
2. การกระทำของนายสถิรพร นาศสุข และนายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123 /1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
หากนับรวมจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปรากฏชื่อถูกคดีกล่าวหานำรถยนต์ของทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ตามที่นำเสนอไป จะมีจำนวนถึง 8 ราย
เบื้องต้น มีหลายคดีที่เรื่องอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ขณะที่การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุดผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
แต่กรณีการนำรถยนต์ของทางราชการนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน นับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญยิ่งและเป็นบทเรียนสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการประจำ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องสอดส่องดูแลการใช้รถยนต์ราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และใช้ในราชการเท่านั้น หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอย่างเช่นคดีนี้ ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ดังที่เกิดขึ้นในกรณี นายรุ่งรัก ลูกบัว และ นายสถิรพร นาศสุข นายพงษ์ศิริ เหมือนชาติ สองผู้บังคับบัญชาที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
กรณีรถยนต์หลวง จึงนับเป็นคดีสำคัญในสังคมไทยที่ไม่ควรถูกมองข้ามอย่างเด็ดขาด