“…การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นแบบเข้าชั้นผิวหนัง แม้จะสามารถลดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนได้มากเมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มขนาด แต่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังน้อยกว่าการฉีดกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดเต็มโดส แต่ข้อดีคืดความสามารถในการรับมือโควิดสายพันธุ์เดลต้า อยู่ในระดับพอๆ กันกับกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่ม…”
หลังจากศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โพสต์เฟซบุ๊ก CVC กลางบางซื่อ ประกาศเพิ่มทางเลือกให้บริการฉีดวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ในรูปแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular: IM) ขนาดครึ่งโดส 15 ไมโครกรัม และแบบฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal: ID) ตั้งแต่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา
โดย พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ประชาชนสามารถเลือกรับวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ได้ตามความสมัครใจ แบ่งเป็น การฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดยาปกติเต็มโดส 30 ไมโครกรัม หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดครึ่งโดส 15 ไมโครกรัม mL หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 10 ไมโครกรัม
“ขอเน้นย้ำเป็นไปตามความสมัครใจ และอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ใช่เป็นเพราะปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ ซึ่งทางเลือกดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีการศึกษาและพิจารณาข้อมูลในทางการแพทย์ โดยพบว่า ให้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรโดยภาพรวมขณะนี้ยังคงฉีดวัคซีนในปริมาณตามปกติ” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว
ทั้งนี้ การให้บริการรูปแบบพิเศษอยู่ที่โซนประตู 2 แยกต่างหากจากจุดให้บริการปกติ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการบริหารวัคซีน และการฉีดวัคซีนรูปแบบพิเศษนี้จะปรากฏใน ‘หมอพร้อม’ ตามปกติ ซึ่งรายละเอียดการฉีดและขนาโดสของวัคซีนที่ได้รับจะปรากฏเฉพาะในฐานข้อมูลของศูนย์ฯ เท่านั้น
ในช่วงกลางปี 2564 วัคซีนโควิดเป็นที่ต้องการทั่วโลก ทำให้หลายประเทศ รวมถึงไทยเริ่มมองหาอีกทางเลือกหนึ่งในการฉีดวัคซีนที่ใช้ปริมาณโดสที่น้อยกว่า แต่สร้างภูมิคุ้มกันได้ประสิทธิภาพดี
‘การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง’ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่บุคลากรการแพทย์ และประชาชนหลายคนให้ความสนใจ เพราะเป็นเทคนิคที่มีนานานแล้ว ซึ่งประเทศไทยเคยใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนในปี 1987 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้วิธีนี้ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ขณะเดียวกันก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีโรคประจำตัว หรือมีอาการแพ้ยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นแล้วการฉีดวัตซีนเข้าผิวหนังนี้เหมาะสำหรับกลุ่มใด และมีประสิทธิผลอย่างไรบ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมผลการศึกษาในไทยและต่างประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
เว็บไซต์ เมดอาซีฟ (MedRxiv) รายงานผลการวิจัยเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงการศึกษาความทนทาน ความปลอดภัย และการสร้างภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนชนิด mRNA วัคซีนโมเดอร์นาเข้าชั้นผิวหนัง ของนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์
โดยทำการทดสอบในกลุ่มผู้ใหญ่วัย 18-30 ปี จำนวน 40 คน ให้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข้าชั้นผิวหนังจำนวน 2 เข็ม คือ วันที่ 1 และวันที่ 29 หรือห่างกัน 28 วัน (4 สัปดาห์) มีรายละเอียดดังนี้
-
กลุ่มที่ 1 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 10 ไมโครกรัม
-
กลุ่มที่ 2 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 20 ไมโครกรัม
-
กลุ่มที่ 3 ฉีดเข้าชั้นผิวหนังขนาด 20 ไมโครกรัม
-
กลุ่มที่ 4 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 100 ไมโครกรัม
พบว่า เมื่อผ่านไป 43 วัน แอนติบอดีชนิด IgG ของกลุ่มที่ 1 อยู่ที่ 1,696 BAU/ml ของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 1,406 BAU/ml ของกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 2,057 BAU/ml และของกลุ่มที่ 4 อยู่ที่ 1,558 BAU/ml
การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนแต่ละรูปแบบ
ขณะที่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มีรอยดำ 10% รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อ 40% คัน 20% ปวดบริเวณฉีด 70% บวม 10% และมีผื่น 30% ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 ปวดกล้ามเนื้อ 73.3% รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อ 80% บวม 6.7% และมีผื่น 6.7% ปวดกล้ามเนื้อ 6.7% ปวดหัว 6.7% ท้องเสีย 6.7% หนาวสั่น 6.7% และเหนื่อยล้า 13.3% ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่มที่ 3 มีรอยดำเล็กน้อย 6.7% รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อเล็กน้อย 20% คันเล็กน้อย 80% ปวดบริเวณฉีดเล็กน้อย 73.3% บวมน้อย 33.3% บวมปานกลาง 53.3% มีผื่นเล็กน้อย 60% มีผื่นปานกลาง 73.3% มีผื่นอาการหนัก 80% ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย 13.3% ปวดหัวเล็กน้อย 20% ปวดหัวปานกลาง 26.7% หนาวสั่นเล็กน้อย 6.7% เหนือยล้าเล็กน้อย 20% และเหนื่อยล้าปานกลาง 26.7%
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในแต่ละรูปแบบ
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในแต่ละรูปแบบ
ขณะที่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มีรอยดำ 11.1% คัน33.3% ปวดบริเวณฉีด 44.4% บวม 11.1% มีผื่น 44.4% ทั้งหมดมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อเล็กน้อย 66.7% ปวดบริเวณฉีดเล็กน้อย 60% บวมเล็กน้อย 13.3% มีผื่นเล็กน้อย 13.3% ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย 13.3% ปวดกล้ามเนื้อปานกลาง 26.6% ปวดหัวเล็กน้อย 20% ปวดหัวปานกลาง 33.3% หนาวสั่นเล็กน้อย 6.7% หนาวสั่นปานกลาง 13.4% เหนื่อยล้าเล็กน้อย 13.3% และเนื้อล้าปานกลาง 26.6%
กลุ่มที่ 3 รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อเล็กน้อย 40% รู้สึกฝืดที่กล้ามเนื้อปานกลาง 46.7% คันเล็กน้อย 66.7% ปวดบริเวณฉีดเล็กน้อย 73.3% ปวดบริเวณฉีดปานกลาง 86.6% บวมน้อย 20% บวมปานกลาง 40% มีผื่นเล็กน้อย 20% มีผื่นปานกลาง 80% ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้เล็กน้อย 13.3% อาเจียน 6.7% ปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย 13.3% ปวดหัวเล็กน้อย 20% ปวดหัวปานกลาง 33.3% หนาวสั่นเล็กน้อย 6.7% เหนือยล้าเล็กน้อย 20% และเหนื่อยล้าปานกลาง 40%
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในแต่ละรูปแบบ
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในแต่ละรูปแบบ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการวิจัย 38 ราย จาก 40 ราย ทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์นาขนาด 10 ไมโครกรัม และ 20 ไมโครกรัม ไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง แต่ในกลุ่มที่ได้รับขนาดยาเพิ่มสูงขึ้น จะพบอาการไม่พึงประสงค์ในร่างกายได้เยอะกว่า
ทีมนักวิจัยสรุปได้ว่า การให้วัคซีนโมเดอร์นาแบบฉีดเข้าชั้นผิวหนังขนาด 10 ไมโครกรัมและขนาด 20 ไมโครกรัมนั้นมีความปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งและยาวนานได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน
งานวิจัยไทยชี้ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง กระตุ้นภูมิดี-ผลข้างเคียงต่ำ
ขณะที่ผลการวิจัยของนักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเข็มที่ 3 แบบฉีดเข้าผิวหนัง ในกลุ่มประชาชนทั่วไปวัย 18-60 ปีที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบ 2 โดสมานานกว่า 8 สัปดาห์ จำนวน 91 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
-
กลุ่มที่ 1 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดเต็มโดส 30 ไมโครกรัม จำนวน 30 คน
-
กลุ่มที่ 2 ฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดครึ่งโดส 15 ไมโครกรัม จำนวน 30 คน
-
กลุ่มที่ 3 ฉีดเข้าชั้นผิวหนังขนาด 6 ไมโครกรัม จำนวน 31 คน
พบว่า เมื่อผ่านไป 14 วัน ระดับแอนติบอดีชนิด IgG ของกลุ่มที่ 1 เฉลี่ยอยู่ที่ 3,884 BAU/ml ของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 2,837 BAU/ml และของกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 1,962 BAU/ml
และเมื่อผ่านไป 28 วัน ระดับแอนติบอดีชนิด IgG ของกลุ่มที่ 1 ลดลงมาอยู่ที่ 2,622 BAU/ml ของกลุ่มที่ 2 อยู่ที่ 1,952 BAU/ml และของกลุ่มที่ 3 อยู่ที่ 1,205 BAU/ml
การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนแต่ละรูปแบบ
ขณะที่อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ในช่วง 30 นาทีแรก มีเพียงประชากรตัวอย่างในกลุ่มที่ 3 เพียง 1 รายที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีนอย่างฉับพลัน ส่วนที่เหลือนั้นพบอาการข้างเคียงในภายหลัง
โดยในช่วง 7 วัน หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเข็มที่ 3 แต่ละกลุ่มมีอาการข้างเคียงดังนี้
กลุ่มที่ 1 ปวดบริเวณฉีด 27 ราย คิดเป็น 90% บวมบริเวณฉีด 23 ราย คิดเป็น 76.7% มีผื่นแดง 2 ราย คิดเป็น 6.7% บวมเป็นตุ่มเล็กๆ 6 ราย คิดเป็น 20% มีไข้ 5 ราย คิดเป็น 16.7% หนาวสั่น 5 ราย คิดเป็น 16.7% เหนื่อยล้า 3 ราย คิดเป็น 10% ปวดหัว 10 ราย คิดเป็น 33.3% และปวดกล้ามเนื้อ 15 ราย คิดเป็น 50%
กลุ่มที่ 2 ปวดบริเวณฉีด 17 ราย คิดเป็น 56.7% บวมบริเวณฉีด 2 ราย คิดเป็น 6.7% มีผื่นแดง 4 ราย คิดเป็น 13.3% บวมเป็นตุ่มเล็กๆ 4 ราย คิดเป็น 13.3% มีไข้ 12 ราย คิดเป็น 40% หนาวสั่น 2 ราย คิดเป็น 6.7% เหนื่อยล้า 4 ราย คิดเป็น 13.3% ปวดหัว 5 ราย คิดเป็น 16.7% และปวดกล้ามเนื้อ 7 ราย คิดเป็น 23.3%
กลุ่มที่ 3 ปวดบริเวณฉีด 9 ราย คิดเป็น 29% บวมบริเวณฉีด 16 ราย คิดเป็น 51.6% มีผื่นแดง 27 ราย คิดเป็น 87.1% บวมเป็นตุ่มเล็กๆ 16 ราย คิดเป็น 51.6% มีไข้ 1 ราย คิดเป็น 3.2% หนาวสั่น 1 ราย คิดเป็น 3.2% เหนื่อยล้า 5 ราย คิดเป็น 16.1% ปวดหัว 2 ราย คิดเป็น 6.5% และปวดกล้ามเนื้อ 2 ราย คิดเป็น 6.5%
ทีมวิจัยสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นแบบเข้าชั้นผิวหนัง แม้จะสามารถลดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนได้มากเมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มขนาด แต่การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังน้อยกว่าการฉีดกระตุ้นแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาดเต็มโดส แต่ข้อดีคืดความสามารถในการรับมือโควิดสายพันธุ์เดลต้า อยู่ในระดับพอๆ กันกับกลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งสองกลุ่ม
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละรูปแบบ
ข้อดี-ข้อเสียการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุถึงการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง เพื่อความผลอดภัยสูงสุด เด็กๆ ในครอยครัว ตนเองและญาติผู้ใหญ่ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า การฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังสามารถฉีด 1 โดส ได้ 3-5 คน
สาเหตุที่ใช้โดสน้อยแต่ยังได้ผล เพราะในผิวหนังมีเซลล์ APC (Antigen Presenting Cell) ที่ทำหน้าที่คอยจับเชื้อโรคแล้วส่งข่าวบอกให้เม็ดเลือดขาวออกไปต่อสู้ หรือสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่าในกล้ามเนื้อ เมื่อฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง APC ก็จะจับเชื้อในวัคซีนไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตามที่ไม่มีการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น เนื่องจากการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อสะดวกกว่า แต่ฉีดเข้าผิวหนังจะยากกว่า และอาจทำให้เกิดอาการอักเสบตรงตำแหน่งฉีดมากกว่า
ส่วนข้อดีและข้อเสียของการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังนั้น คือ ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยมากเพียง 10 ไมโครกรัมเท่านั้น ที่สำคัญผลข้างเคียง (Systemic Side Effect) ยังน้อยกว่าแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่จะมีตุ่มนูนแดงที่ผิวหนังนาน 7-10 วัน ซึ่งจะยุบไปเอง และผลการขึ้นของภูมิคุ้มกันยังเท่ากันกับการฉีดวัคซีนแบบเข้ากล้ามเนื้อ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค เพราะผลข้างเคียงน้อยและปลอดภัย
จากข้อมูลทั้งหมดนับได้ว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ขนาดวัคซีนในปริมาณที่น้อยกว่า แต่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ใกล้เคียงกันได้ ที่สำคัญยังลดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน
อ้างอิงจาก :