“…การฉีดวัคซีนในผิวหนังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้วัคซีนในปริมาณที่น้อยกว่าถึง 1 ใน 5 ของปริมาณการฉีดวัคซีนเดิม กล่าวคือเดิมฉีดได้ 1 คน อาจจะฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนังได้ถึง 5 คน ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำและกระทรวงสาธารณสุขไทยเองก็ยังให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เว้นแต่ในบางจังหวัดที่มีความพร้อมและต้องการเร่งฉีดวัคซีน แต่ในกรณีที่ไทยมีวัคซีนไม่เพียงพอ ในอนาคตอาจมีการพิจารณาให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แบบใต้ผิวหนังได้เหมือนอย่างภูเก็ต…”
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยผลการทดสอบการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 กระตุ้นในผิวหนัง จำนวน 95 คน พบว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังใช้ปริมาณโดสน้อยถึง 1 ใน 5 ของปริมาณวัคซีนเดิม แต่ได้ภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเต็มขนาดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นับว่าการฉีดวัคซีนในผิวหนังจะเป็นตัวช่วยในยามวัคซีนขาดแคลนให้ชาวไทยได้รับวัคซีนครอบคลุม
‘การฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง’ หรือ Intradermal (ID) เป็นเทคนิคการฉีดวัคซีนที่มีมานานแล้ว โดย ศ.นพ.ธีะวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เคยโพสต์เฟซบุ๊ก Thiravat Hemachudha เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ระบุไว้ว่า การฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังเริ่มต้นในปี 1987 โดยคนไทยเองแก้ปัญหาขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการฉีดวัคซีนในปริมาณ 0.1 ซีซี แทนที่จะใช้ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ก่อนจะนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) จนกระทั่งได้รับการยอมรับใช้ทั่วโลกในปี 1991 และยังเป็นที่รับรองจนถึงปัจจุบัน
ในการควบคุมการระบาดของโควิด วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่วัคซีนป้องกันโควิดนั้นขาดแคลนทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเริ่มทำการวิจัยฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง แทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพราะการฉีดในผิวหนังนั้นใช้ปริมาณวัคซีนที่น้อยกว่า หากทำแล้วได้ผลดี จะสามารถกระจายวัคซีนได้มากขึ้น
ดังนั้นแล้วการฉีดวัคซีนโควิดในผิวหนังมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากจากนานาประเทศ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
เว็บไซต์ News Medical Life Sciences เปิดเผยว่า เมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ได้ทดสอบการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข้าในผิวหนัง พบว่า การฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข้าในผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันแอนติบอดี (Antibody Response) ได้ดี และมีความปลอดภัย โดยไม่มีใครพบอาการไม่พึงประสงค์เฉียบพลันภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง
ในการทดสอบนั้น ได้คัดเลือกกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองที่มีอายุ 18-30 ปี และสุขถาพแข็งแรงดี จำนวน 38 คน แล้วแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในผิวหนังขนาด 10 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส เว้นระยะห่าง 28 วัน และ 2. กลุ่มที่ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาทั้งในผิวหนังและเข้ามกล้ามเนื้อในขนาด 20 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส เว้นระยะห่าง 28 วัน เพื่อเปรียบเทียบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ผลการวิจัยพบว่า หลังฉีดวัคซีนโมเดอร์นา 43 วัน ผู้เข้าร่วมทดลองฉีดวัคซีนในผิวหนังขนาด 10 ไมโครกรัม มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 1,696 BAU/mL และผู้เข้าร่วมทดลองฉีดวัคซีนในผิวหนังขนาด 20 ไมโครกรัม มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น 2,057 BAU/mL ขณะที่ผู้เข้าร่วมทดลองฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อขนาด 20 ไมโครกรัม มีภูมิคุ้มกันขึ้นเพียง 1,406 BAU/mL เท่านั้น และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีน เข้าชั้นกล้ามเนื้อขนาดปกติ 100 ไมโครกรัม จะได้ภูมิคุ้มกันที่ 1,558 BAU/mL ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับระดับภูมิคุ้มกันสำหรับคนที่หายป่วยโดยธรรมชาติ จะพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันเพียง 107 หน่วย ต่างกันถึง 14-20 เท่า
เว็บไซต์ News Medical Life Sciences
กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง-อาการข้างเคียงต่ำ
ส่วนอาการข้างเคียง เว็บไซต์ News Medical Life Sciences เปิดเผยผลการทดสอบจากนักวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์อีกว่า อาการข้างเคียงในการฉีดวัคซีนมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ อาการข้างเคียงทางผิวหนัง และอาการข้างเคียงทางกาย โดยอาการข้างเคียงทางผิวหนัง พบว่า ในผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มที่ 1 ประมาณ 70% รายงานว่า มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดทั้งหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็ม 2 นอกจากนั้นยังเกิดผื่นแดงเล็กน้อย ปวด และคันบริเวณฉีด ส่วนในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มที่ 2 รายงานว่า มีอาการคันและเกิดผื่นแดงบริเวณฉีด รวมถึงมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดด้วย โดยผู้เข้าร่วมทดลองรายหนึ่งกล่าวว่า มีผื่นแดงขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร กินเวลานาน 6 วัน
อาการข้างเคียงทางกาย พบด้วยว่า ในผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มที่ 1 มีเพียงรายเดียวที่รายงานอาการปวดศีรษะปานกลาง หลังการฉีดวัคซีนครั้งแรก และในผู้เข้าร่วมทดลองกลุ่มที่ 2 มีรายงานอาการข้างเคียงทางกายที่พบบ่อยที่สุด คือปวดศีรษะและเมื่อยล้าหลังการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2
สรุปได้ว่าผลการทดสอบนี้ การฉีดวัคซีนในผิวหนังปลอดภัย ไม่มีผู้ใดเกิดผลข้างเคียงรุนแรง คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนในผิวหนังทั้งในขนาด 10 ไมโครกรัม หรือ 20 ไมโครกรัมก็ตาม หากมีผลข้างเคียงก็จะน้อยมากๆ และไม่รุนแรง เพียงแต่เมื่อใช้ปริมาณโดสมากขึ้น อาจพบอาการข้างเคียงได้บ่อยกว่า ที่สำคัญการฉีดวัคซีนในผิวหนังยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี นับเป็นตัวช่วยในยามวัคซีนขาดแคลน
เว็บไซต์ หอสมุดแห่งชาติการแพทย์ สหรัฐอเมริกา
ฉีดวัคซีนในผิวหนังสู้ 12 โรค สร้างภูมิคุ้มกัน 20-60%
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ หอสมุดแห่งชาติการแพทย์ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยการศึกษาการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนใต้ผิวหนัง จากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ณ วันที่ 29 ส.ค.2564 ว่า ด้วยสถานการณ์โควิดที่มีประชากรโลกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอย่างสมบูรณ์ ทำให้หลายคนยังไม่ได้รับการป้องกัน เป็นสาเหตุให้ต้องศึกษาวิธีประหยัดวัคซีน อย่างการฉีดวัคซีนในผิวหนัง ที่เคยใช้มาแล้วกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสตับอักเสบบี
โดยการศึกษานี้เป็นการทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัย 156 เรื่อง ที่เปรียบเทียบการฉีดวัคซีนในผิวหนัง (Intradermal) กับการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) และการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) ที่ครอบคลุมวันซีน 12 ตัว คือ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบเอ โรคโปลิโอ โรคหัด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคคอตีบบาดทะยัก โรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ฮิวแมนแพพพิลโลมาไวรัส วาริเซลลางูสวัดและไข้เหลือง ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าการฉีดวัคซีนในผิวหนังที่ลดปริมาณวัคซีนลงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันแอนติบอดีได้ 20-60% แต่ในโรคโปลิโอ และหัดนั้นยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าสามารถลดปริมาณวัคซีนเพื่อฉีดวัคซีนในผิวหนังได้หรือไม่
เบลเยียมเตรียมทดสอบฉีด‘ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า’ในผิวหนัง
นอกจากนี้ เว็บไซต์ หอสมุดแห่งชาติการแพทย์ สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยผลการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เรื่องการฉีดวัคซีนโควิดในผิวหนังของกลุ่มชาวดัตซ์ที่มีสุขภาพดี อีกว่า การฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในผิวหนังขนาด 10 ไมโครกรัม และ 20 ไมโครกรัม จำนวน 2 โดส เทียบกับ การฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 20 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3
ส่วนในเบลเยียมก็กำลังทดลองทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบขนาดของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในผิวหนังขนาด 6 ไมโครกรัม (หนึ่งในห้าของขนาดวัคซีนมาตรฐาน) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในผิวหนังขนาด 0.1 มิลลิลิตร (หนึ่งในห้าของขนาดวัคซีนมาตรฐาน) กับการฉีดวัคซีนขนาดมาตรฐาน
ทั้งนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เปิดเผยอีกว่า นักวิจัยจาก Duke Global Health Innovation Centre คาดว่าประชากรโลกจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องโควิดครบในปี 2566 ซึ่งเป็นเวลาอีก 2 ปีนับจากนี้ อย่างไรก็ตาม หากการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนในผิวหนังที่ใช้ปริมาณวัคซีนหนึ่งในห้าของปริมาณวัคซีนมาตรฐานนั้น ช่วงเวลานี้อาจสั้นลงโดยจะเหลือเวลาเพียงหกเดือนเท่านั้น
เว็บไซต์ Nature Medicine
องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในผิวหนัง
ด้าน เว็บไซต์ Nature Medicine เปิดเผยบทความเรื่องข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนในผิวหนัง ณ 22 ก.ย.2564 อีกว่า แม้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จะรับรองการใช้วัคซีนอย่างประหยัดสำหรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า และโปลิโอมาก่อน แต่การลดปริมาณขนาดวัคซีนลง อาจเปลี่ยนการสร้างภูมิคุ้มกัน และเพิ่มการเกิดปฏิกิริยต่างๆ ต่อวัคซีน รวมถึงอาจต้องมีการลงทุนอย่างมากในการฝึกอบรม เพราะการฉีดในผิวหนังต้องใช้เทคนิคสูง และอาจต้องใช้ควบคู่กับเข็มฉีดยาชนิดพิเศษ ทำให้ในสถานการณ์โควิดนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้กันอยู่ ด้วยปริมาณวัคซีนมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกเคยรับรองเอาไว้
ส่วนการฉีดวัคซีนในผิวหนังจะทำได้ ต่อเมื่อมีงานวิจัยที่มากเพียงพอเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย เพราะยังไม่มีมีผลการวิจัยการสร้างภูมิคุ้มกันที่แน่ชัดในการป้องกันโควิด นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องระยะเวลาในการป้องกันโควิด แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วระดับภูมิคุ้มกันแอนติบอดีสูงขึ้นจะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพและระยะเวลาที่ดีกว่า
โดยได้รายงานผลการทดลองการฉีดวัคซีนในผิวหนังทางคลินิกระยะที่ 3 แห่งหนึ่ง เปิดเผยออกมาดังนี้
-
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 ขนาดครึ่งหนึ่ง ให้ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 เต็มขนาด
-
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 ขนาดครึ่งหนึ่ง และฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เต็มขนาด ให้ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนเต็มขนาด 2 เข็ม
-
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม ขนาดครึ่งหนึ่ง ให้ภูมิคุ้มกันที่ลดลงหลังครึ่งหนึ่งด้วยหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2
-
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 เต็มขนาด และฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ขนาดครึ่งหนึ่ง ให้ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าการฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็ม ขนาดเต็ม
ขณะที่ในการทดสอบฉีดวัคซีนในผิวหนังของวัคซีนโมเดอร์นานั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ออกมาแล้วว่า การฉีดวัคซีนในผิวหนังขนาด 50 ไมโครกรัม มีภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนขนาด 100 ไมโครกรัม
แต่การฉีดในผิวหนังนี้จะสามารถสู้สายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดแน่นอน อย่างไรก็ตามแม้เราจะทราบถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในผิวหนังว่าจะช่วยประหยัดขนาดวัคซีน เพื่อเพิ่มปริมาณการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะแนะนำให้ทำได้ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในพื้นที่ต่อไป
ผลวิจัยในไทยชี้กระตุ้นภูมิสูงเท่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ-สู้เดลต้าได้
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยเรื่องการฉีดวัคซีนในผิวหนังกลายมาเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตประสบความสำเร็จในการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากกผู้เข้าร่วมทดลอง 242 ราย พบว่า การฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง โดยใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 20% จากปริมาณวัคซีนเดิม หรือเพียง 0.1 มิลลิลิตร สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบทั่วไป และช่วยประหยัดวัคซีน เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้มากขึ้น 5 เท่า
ทั้งนี้ ทางภูเก็ตได้เสนอผลการฉีดวัคซีนในผิวหนังเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และได้รับการรับรองให้สามารถฉีดได้ โดยจะให้เริ่มที่จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 24 ก.ย.นี้
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเปิดเผยผลการทดสอบการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผิวหนัง จากกรมวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ด้วยว่า ผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมด 95 ราย หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มกระตุ้นปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร 14 วัน ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี โดยสร้างภูมิคุ้มกันแอนติบอดี (Antibody Response) ได้สูง 1,300 AU ใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1,652 AU และสามารถสร้างการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์ในการกำจัดไวรัส (T-Cell Response) ได้สูง 52 AU ในช่วง 4-8 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีน ขณะที่ช่วง 8-12 สัปดาห์ได้สูง 58 AU ซึ่งมากกว่าการฉีดซิโนเแวค 2 เข็มที่อยู่ในระดับ 32 AU
ส่วนการกระตุ้นภูมิเพื่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้านั้น พบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นในผิวหนังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในช่วง 4-8 สัปดาห์ ได้ 234.4 AU และในช่วง 8-12 สัปดาห์ได้ 172.1 AU ซึ่งมากกว่าการฉีดซิโนเแวค 2 เข็มหลายเท่าตัว
แสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในผิวหนังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้วัคซีนในปริมาณที่น้อยกว่าถึง 1 ใน 5 ของปริมาณการฉีดวัคซีนเดิม กล่าวคือเดิมฉีดได้ 1 คน อาจจะฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนังได้ถึง 5 คน ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำและกระทรวงสาธารณสุขไทยเองก็ยังให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เว้นแต่ในบางจังหวัดที่มีความพร้อมและต้องการเร่งฉีดวัคซีน แต่ในกรณีที่ไทยมีวัคซีนไม่เพียงพอ ในอนาคตอาจมีการพิจารณาให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 แบบใต้ผิวหนังได้เหมือนอย่างภูเก็ต
อ่านข่าวประกอบ:
-
ศบค.เคาะฉีดบูสเตอร์โดส คนรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม 3 ล้านคน เริ่ม 24 ก.ย.นี้
-
สธ.เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นในผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี
เรียบเรียงจาก:
-
https://www.news-medical.net/news/20210802/Intradermal-administration-of-low-dose-mRNA-COVID-19-vaccine-induces-strong-immune-response-study-finds.aspx
-
https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.27.21261116v1
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage