“…สถานการณ์การระบาดของโควิด ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังวางใจไม่ได้ แต่อาจจะพอเบาใจในเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตได้ คาดในอนาคตจำนวนติดเชื้อสูงสุดไม่น่าเกิน 50,000 รายต่อวัน และอัตราเสียชีวิตไม่น่าเกิน 50 ราย …”
สถานการณ์การระบาดโควิดไทย วันนี้นับเป็นวันที่ 3 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) เจอผลตรวจเป็นบวกกว่า 4,000 ราย เป็นเวลา 6 วันแล้ว
ดังนั้นแล้วสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงนี้ มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเพราะสาเหตุใด และวางใจได้หรือไม่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมา มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 ม.ค.-7 ก.พ. 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานว่า วันที่ 31 ม.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,008 ราย, วันที่ 1 ก.พ. 7,422 ราย, วันที่ 2 ก.พ. 8,587 ราย, วันที่ 3 ก.พ. 9,172 ราย, วันที่ 4 ก.พ. 9,909 ราย และเริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหมื่นรายเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. 10,490 ราย, วันที่ 6 ก.พ. 10,879 ราย และวันที่ 7 ก.พ. 10,470 ราย โดยส่วนมากเป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศมากกว่าผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 31 ม.ค. พบ 2,065 ราย, วันที่ 1 ก.พ. 2,014 ราย, วันที่ 3 ก.พ. 4,012 ราย, วันที่ 4 ก.พ. 4,973 ราย, วันที่ 5 ก.พ. 4,527 ราย, วันที่ 6 ก.พ. 4,632 ราย และวันที่ 7 ก.พ. 4,527 ราย
ส่วนอัตราผู้เสียชีวิตยังทรงตัว วันที่ 31 ม.ค. พบ 16 ราย, วันที่ 1 ก.พ. 12 ราย, วันที่ 2 ก.พ. 22 ราย, วันที่ 3 ก.พ. 21 ราย, วันที่ 4 ก.พ. 22 ราย, วันที่ 5 ก.พ. 21 ราย, วันที่ 6 ก.พ. 20 ราย และวันที่ 7 ก.พ. 12 ราย
เจอคลัสเตอร์ รร.-ตลาด-พิธีกรรม หลายจังหวัด
ในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงาน ณ วันที่ 5 ก.พ. ว่า เกิดคลัสเตอร์ระบาดจำนวนมาก คลัสเตอร์โรงเรียน เจอใน 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ หนองบัวลำภู ยโสธร สุพรรณบุรี มหาสารคาม ศรีสะเกษ สระแก้ว กทม. และชลบุรี
คลัสเตอร์ตลาด เจอใน 21 จังหวัด ได้แก่ กทม. สระบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ น่าน ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปทุมธานี สุรินทร์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ตาก ขอนแก่น อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และสมุทรสาคร ทั้งนี้คลัสเตอร์ที่พบนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขจากการติดเชื้อในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะต้องจับตาอีกใน 1-2 สัปดาห์
คลัสเตอร์พิธีกรรม ได้แก่ งานศพ เจอใน 5 จังหวัด อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, อุดรธานี, เพชรบุรี และจันทบุรี งานแต่ง เจอใน 3 จังหวัด น่าน ศรีสะเกษ มหาสารคาม, งานบวช เจอในปราจีนบุรี และอีกหลายจังหวัดไม่ได้เป็นพื้นที่นำร่อง แต่มีรายงานการติดเชื้อสูง ซึ่ง ศบค.ชุดเล็กได้ตั้งข้อสังเกตว่า ศบค.มักจะเน้นย้ำให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมืองรองอาจไม่ได้รณรงค์มากเพียงพอ ล่าสุดได้แนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเฝ้าระวัง กำหนดการป้องกันให้ตรงจุด และฝากประชาชนป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) รวมถึงแม้จะเป็นร้านเล็กก็ต้องเข้มงวดมาตรการเช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. รายงานอีกว่า พบคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา 11 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว สุรินทร์ ยโสธร สุพรรณบุรี น่าน ราชบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร
คลัสเตอร์ตลาด เจอใน 15 จังหวัด ได้แก่ กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น น่าน หนองบัวลำภู ราชบุรี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และเพชรบุรี
คลัสเตอร์งานประเพณี เจอใน 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี มหาสารคาม สงขลา ร้อยเอ็ด ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และขอนแก่น
คลัสเตอร์สถานบันเทิง เจอใน 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี ชลบุรี อุดรธานี สงขลา ชุมพร แพร่ และน่าน
คลัสเตอร์สถานพยาบาล เจอใน 12 จังหวัด ได้แก่ กทม. ขอนแก่น ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ ลพบุรี สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต สระบุรี มหาสารคาม และปัตตานี
คลัสเตอร์โรงงาน เจอใน 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สุรินทร์ และอุดรธานี
โอไมครอนลาม ผลพวงจากสังสรรค์ช่วงปีใหม่
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค วิเคราะห์สถานการณ์โควิดในภาพรวมว่า การระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยเป็นผลพวงมาจากเทศกาลปีใหม่ที่มีการกินดื่มสังสรรค์กันมาก โดยกลุ่มที่พบการติดเชื้อสูงสุดเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 20-29 ปี จำนวน 21.5% รองลงมาเป็น 30-39 ปี จำนวน 18.7% และ 40-49 ปี จำนวน 14.2% ตัวเลขที่น่าสนใจ ที่หลายคนกังวลว่าโอไมครอนจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 0-9 ปีนั้น เริ่มมีการติดเชื้อที่ 10.3%
ทั้งนี้แม้ตัวเลขติดเชื้อจะขยับขึ้นสูง แต่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว
โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สธ.เคยคาดการณ์สถานการณ์เลวร้ายที่สุดเอาไว้ว่าอาจติดเชื้อ 30,000 รายต่อวัน ในช่วงแรกสถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มสูง แต่ด้วยการเคร่งครัดมาตรการ VUCA (Vaccination-Universal Prevention-Covid free setting-ATK) ทำให้ยอดติดเชื้อของไทยกลับมาอยู่ในระดับต่ำสุด ดังนั้นแม้ยอดติดเชื้อจะอยู่ระดับหมื่นราย ก็ยังถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ไว้แต่ต้น ไม่ได้สูงกว่าที่คาดการณ์แต่อย่างใด
โควิดพุ่ง แต่ยอดเสียชีวิตยังทรงตัว
ขณะที่อัตราเสียชีวิตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดย นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ยอดเสียชีวิตยังมาจากกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนมานานแล้ว จึงอยากเชิญชวนประชาชนเข้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังและผู้สูงวัยจะมีโปรแกรมฉีดเข็มที่ 4 ตามมา ส่วนมาตรการ Universal Prevention จะช่วยให้เราคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงอยู่ในระดับที่คุมได้
วางใจจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้ อาจป่วยสูงสุด 50,000 ราย
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun มีใจความสำคัญระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด ในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังวางใจไม่ได้ แต่อาจจะพอเบาใจในเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตได้ คาดในอนาคตจำนวนติดเชื้อสูงสุดไม่น่าเกิน 50,000 รายต่อวัน และอัตราเสียชีวิตไม่น่าเกิน 50 ราย
สืบเนื่องมาจากการเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ ทั่วโลกในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีไวรัสโอไมครอนเป็นสายพันธุ์หลัก พบว่า
-
โอไมครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วและง่ายกว่าเดลต้า 4 เท่า จึงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
-
โอไมครอนมีความรุนแรงในการก่อโรคและทำให้เสียชีวิตน้อยกว่าเดลต้า 3.5 เท่า จึงพบจำนวนผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตทั่วโลกในระลอกนี้น้อยกว่าในระลอกเดลต้าที่ผ่านมา
-
เมื่อพิจารณาในระดับโลกจะพบว่า การติดเชื้อระลอกนี้ มีจำนวนที่สูงกว่าในระลอกของเดลต้าชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกาติดเชื้อเฉลี่ย 800,000 รายต่อวัน ถ้าปรับจำนวนประชากรเทียบกับประเทศไทยแล้ว ไทยจะติด 170,000 แสนรายต่อวัน, อังกฤษติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 100,000 ราย ปรับประชากรเทียบกับไทยแล้ว ไทยจะติด 100,000 รายต่อวัน, ญี่ปุ่นติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 100,000 ราย ปรับประชากรเทียบกับไทยแล้ว ไทยจะติด 170,000 รายต่อวัน
ดังนั้น ไทยจึงมีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 50,000-170,000 รายต่อวัน แต่ตัวเลขน่าจะมาในทาง 50,000 รายของญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยใส่หน้ากากใกล้เคียงกันส่วนอังกฤษและสหรัฐอเมริกาใส่หน้ากากน้อยกว่า ส่วนอัตราความครอบคลุมฉีดวัคซีนถือว่าไม่ต่างกันมากนัก
ส่วนการเสียชีวิต ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิต 0.1% (92 ราย จากผู้ติดเชื้อ 94,431 ราย) ไทยเสียชีวิต 0.2% (21 ราย จาก ผู้ติดเชื้อ 10,490 ราย) และในระดับโลก เสียชีวิต 0.4% ( 956 ราย จากผู้ติดเชื้อ 216,984 ราย) แสดงให้เห็นว่าไทยเสียชีวิตจากโอไมครอนน้อยกว่าในระดับโลก
ทั้งนี้หากเทียบสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนกับการระบาดของเดลต้า จะพบว่าไทยเสียชีวิตจากโอไมครอนน้อยกว่าเดลต้าถึง 5 เท่า เนื่องจากในช่วงการระบาดของเดลต้ามีผู้ติดเชื้อสูงสุด 23,418 ราย และผู้เสียชีวิตสูงสุด 312 ราย
อย่างไรก็ตาม มีตัวแปรที่สำคัญ คือ วินัยของประชาชนในการใส่หน้ากาก และหลีกเลี่ยงการถอดหน้ากากเวลาอยู่ใกล้ชิดกัน และมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล ที่ไม่ผ่อนคลายเร็วเกินไป จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นไปตามที่คาดการณ์
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
‘หมอมนูญ’ชี้ทุกคนอาจติดโอไมครอน ย้ำเร่งฉีดวัคซีน
ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า การที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นนั้น ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากโอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่ได้ไว
"หากดูสถานการณ์ในประเทศออสเตรเลีย จะพบว่าภายใน 2 เดือน ผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นเป็น 2.7 ล้านราย ทั้งที่ประชากรในประเทศจะฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ครอบคลุมประมาณ 95%แล้วก็ตาม ขณะที่ประเทศไทย ผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นเป็น 2.4 ล้านราย ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการระบาดที่เพิ่มขึ้นไม่ได้อยู่ที่บุคคลหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่อยู่ที่ความสามารถของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน” นพ.มนูญ กล่าว
อย่างไรก็ตามโอไมครอน เป็นสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ไม่ดุ ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้เท่ากับการระบาดในช่วงที่ผ่านมา
นพ.มนูญ คาดการณ์สถานการณ์โควิดในอนาคตว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะโอไมครอนสามารถแพร่ได้ไว แต่อยากให้มองตัวเลขผู้เสียชีวิตและตัวเลขผู้ต้องใส่ท่อหายใจ หากยังนิ่งอยู่ถือว่าไม่เป็นไร แต่ขอให้ทำใจว่าเราทุกคนอาจจะติดโควิดได้ แต่ย้ำว่าส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อย คือ มีอาการเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่ อาทิ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก และหากหายป่วยแล้วจะไม่มีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำอีกได้
พร้อมขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รีบไปฉีดวัคซีน เพื่อเสริมภูมิคุ้นกัน เพราะหากป่วยโควิดแล้วไม่มีภูมิต้านทาน อาจป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
"วัคซีนช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 90% แต่ไม่อาจป้องกันโควิดได้ 100% และไม่อาจป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ดีเท่ากับการมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหลังหายป่วยโควิด ดังนั้นจะต้องเคร่งครัดมาตรการอื่นร่วมด้วย” นพ.มนูญ กล่าว
ภาพจาก : Freepik