ศบค.เผยคุมโควิดได้ ติดเชื้อแตะหลักหมื่นเป็นไปตามคาด ผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 พร้อมเตรียมนัดถกประเมินสถานการณ์ 15 ก.พ.นี้ ขณะที่ยังพบคลัสเตอร์ตลาดพุ่ง กระจาย 15 จังหวัด ด้าน จ.มหาสารคาม สั่งงดนั่งกินข้าวร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในประเทศว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ในประเทศไทย ขณะนี้จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ยังสามารถควบคุมได้
แม้ว่าอาจจะมีการติดเชื้อหลักหมื่น แต่ถ้าหากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว และมีอาการหนักหรือเป็นผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตปัจจุบันเมื่อเทียบกับระลอกเดือน เม.ย. 2564 ถือว่าลดลงอย่างมาก และตอนนี้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคงตัวระบบสาธารณสุขในปัจจุบันของประเทศไทยยังคงรองรับได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยแต่ดีที่สุดอย่าติด จึงขอประชาชนให้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล
"แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในจำนวนที่คาดการณ์ไว้คือระดับหมื่นต้นๆ และอัตราเสียชีวิตค่อนข้างคงตัว ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ก.พ. 2565 ศบค.ชุดใหญ่ จะประชุมติดตามสถานการณ์ระบาด ขอให้ประชาชนติดตามผลการประชุมว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับโควิด-19 อีกหรือไม่" พญ.สมุนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดในระลอกเดือน ม.ค.นี้ กรมควบคุมโรคโดยกระทรวงสาธารณสุขมีการวิเคราะห์รายละเอียดของผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-5 ก.พ.นี้ ประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยทำงาน อยู่ในช่วงอายุ 20-49 ปี 55% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดถึง 47.3% และจากการที่ไปสถานที่เสี่ยงหรืออยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆถึง 48.4% จากนั้น เป็นการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 0.7% และผู้ที่ตรวจ ATK และผลเป็นบวกแล้วไปตรวจยืนยันแบบ RT-PCR 3.6% นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีอาการ 45.1% และมีอาการป่วยเล็กน้อย 54.86% และกลุ่มที่มีอาการอยู่ที่ 0.68%
พญ.สุมนี กล่าวถึงการติดเชื้อในเด็กว่า ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีการเก็บข้อมูลของผู้ติดเชื้อแยกตามอายุ และช่วงเวลาของการระบาดตั้งแต่ปี 2563- 2 ก.พ.2565 พบว่า อัตราการติดเชื้อในเด็กอายุ 5-11 ปี พบว่าอยู่ที่ 1.4% ระลอกที่สองในช่วงต้นปี 2564 ถึงก่อนเดือนมี.ค.2564 อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1% ซึ่งถือว่าลดลงในช่วงนั้น แต่มาถึงช่วงระลอกเดือน เม.ย.2564 ถือเป็นการระบาดใหญ่ในประเทศอัตราการติดเชื้อในเด็กช่วงอายุดังกล่าว พบว่าอัตราการติดเชื้อพุ่งสูงไปถึง 6.2%
ล่าสุดระลอกเดือน ม.ค.2565 สายพันธุ์โอไมครอน พบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้น 6.6% ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเด็กในช่วงอายุ 12-17 ปี ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด โควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ระลอกแรก 1.8% ระลอกสองลดลงมาเหลือ 1.4% และระลอกสอง ขึ้นไปเป็น 5.6% และล่าสุดอัตราการติดเชื้อในกลุ่มวัยรุ่น เพิ่มเป็น 5.9% โดยสรุปแล้วเด็กตั้งแต่อายุ 5-17 ปีมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 และปี 2564 ซึ่งขณะนี้มีนโยบายให้เร่งรัดรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กทั้งสองกลุ่มอายุ
ศบค.เผยพบคลัสเตอร์ตลาดสูงสุด กระจาย 15 จังหวัด
พญ.สุมนี รายงานสถานการณ์การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ว่า การติดเชื้อที่มีการรายงานเป็นคลัสเตอร์ยังพบกระจายเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ทั่วประเทศ เช่น คลัสเตอร์จากงานเลี้ยงสังสรรค์งานแต่งงาน งานศพและงานบวช
ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์สถานพยาบาลที่ กทม. ขอนแก่น ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ ลพบุรี สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต สระบุรี มหาสารคาม ปัตตานี
คลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษาพบที่ จ.สระแก้ว สุรินทร์ ยโสธร สุพรรณบุรี น่าน ราชบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ มุกดาหาร
คลัสเตอร์โรงงานพบที่ จ.ชลบุรี ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สุรินทร์ อุดรธานี
คลัสเตอร์งานประเพณีพบที่ จ.อุบลราชธานี มหาสารคาม สงขลา ร้อยเอ็ด ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น
คลัสเตอร์ตลาด เป็นคลัสเตอร์ที่พบมากที่สุด โดยพบที่ กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น น่าน หนองบัวลำภู ราชบุรี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี คลัสเตอร์สถานบันเทิง พบที่ จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี ชลบุรี อุดรธานี สงขลา ชุมพร แพร่ น่าน จึงขอความร่วมมือเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง
"แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากในแต่ละคลัสเตอร์แต่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายสูง สำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนโดยแพร่กระจายไปในครอบครัว ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อในครอบครัวอยู่ที่ 40-50% ขณะที่หากเทียบกับอัตราการแพร่กระจายของสายพันธุ์เดลต้าไปยังครอบครัวอยู่ที่ 10-20% จะเห็นได้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีการติดเชื้อและแพร่ระบาดง่าย" พญ.สุมนี กล่าว
นอกจากนี้ พญ.สุมนี กล่าวว่า ขณะนี้ จ.มหาสารคาม ได้มีการออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนให้งดกินข้าวร่วมกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในงานประชุม งานเสวนา พิธีกรรมศาสนา งานบวช งานศพ งานแต่ง และงานบุญต่างๆ รวมถึงสถานที่ทำงาน สถานที่ราชการ คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จังหวัดต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้ในการป้องกันการระบาดจากการรับประอาหารร่วมกันได้