"...ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ หากเป็นงานที่เข้าข่ายวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทน นอกเหนือจากงานออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ ต้องมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ กำหนดให้สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ และต้องมีใบอนุญาตวิชาชีพควบคุมจากสภาวิชาชีพด้วยเช่นกัน..."
.................................
สืบเนื่องจากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยวิธีตกลงราคา ให้เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจำนวนเงิน 120 ล้านบาท เมื่อปี 2559 ทั้งๆที่ สจล. และ มข. ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2559 นายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ทำหนังสือที่ กท 09052/1089 ถึงนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกร้องให้ กทม. ยกเลิกการลงนามสัญญาว่าจ้าง สจล. ว่า สจล. เป็นนิติบุคคลมหาชนและดำเนินการตามพ.ร.บ.ที่จัดตั้ง โดยมีภารกิจด้านการสอนวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม จึงไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2560 นายกสภาสถาปนิก และนายกสภาวิศวกร ได้ทำหนังสือไปถึง คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือการปฏิบัติตามกฎมายว่าด้วยวิศวกรและกฎหมายว่าด้วยสถาปนิกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง
ต่อมาทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/00021 ลงวันที่ 4 ม.ค.2561 แจ้งข้อหารือการปฏิบัติตามกฎมายว่าด้วยวิศวกรและกฎหมายว่าด้วยสถาปนิกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง โดยระบุว่า
“ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 87 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในการจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แล้วแต่กรณี และวรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ให้บริการตามวรรคหนึ่งที่เป็นนิติบุคคล ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
กรณีตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่จะให้บริการงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้างให้แก่หน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติฯ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมด้วย แต่หากผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ สภาวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม
ดังนั้น กรณีหน่วยงานของรัฐประสงค์จะจัดจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างจากสถาบันการศึกษาของรัฐหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลนั้น สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมจากสภาวิชาชีพนั้นๆ และต้องมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษากำหนดให้สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้”
นอกจากนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯยังทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/000722 ลงวันที่ 9 ม.ค.2561 แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เรื่อง ข้อหารือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือสถาปัตยกรรมควบคุมของสถาบันอุดมศึกษาที่ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษากับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง
โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า
“ประเด็นข้อหารือ 3 กรณีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ รับบริการทางวิชาการหรือวิชาชีพในงานอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ หากเป็นงานที่เข้าข่ายวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทน นอกเหนือจากงานออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ ต้องมีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ ของสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ กำหนดให้สามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ และต้องมีใบอนุญาตวิชาชีพควบคุมจากสภาวิชาชีพด้วยเช่นกัน”
จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ จึงทำให้เกิดคำถามว่า การที่ กทม. ว่าจ้าง สจล. เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2559 โดยที่ สจล.ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมฯ นั้น
ไม่เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 87 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ในการจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แล้วแต่กรณี"
และวรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ให้บริการตามวรรคหนึ่งที่เป็นนิติบุคคล ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพนั้นๆ ด้วย" หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯจะมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2561 ว่า การที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในกำกับของสถาบันการศึกษาของรัฐ รับงานที่เข้าข่ายวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนนั้น จะต้องมีใบอนุญาตวิชาชีพควบคุมจากสภาวิชาชีพ
แต่ปรากฎข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างที่ปรึกษาในการบริหารโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่ ระยะที่ 2 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) ในราคาทั้งสิ้น 21.3 ล้านบาท แต่ ผู้รับจ้างคือ สจล. ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก
ดังนั้น หากเทียบเคียงกรณีที่ กทม. ว่าจ้าง สจล. เป็นที่ปรึกษาฯโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว การที่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ว่าจ้าง สจล. เป็นที่ปรึกษาในการบริหารโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งประเทศไทยแห่งใหม่ฯ โดยที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ั้น เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ หรือไม่
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบในกรณี กทม. และ องค์การสวนสัตว์ฯ ว่าจ้าง สจล. เป็นที่ปรึกษาฯทั้ง 2 โครงการ โดยที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือไม่ อย่างไร
อ่านประกอบ :
หวั่นสูญ 120 ล้าน! กทม.จ้าง‘ที่ปรึกษาฯ’ไม่มีไลเซนส์ ออกแบบ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’