‘สามารถ’ จับตาผู้ว่ากรุงเทพฯเดินหน้าโครงการก่อสร้าง ‘ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ ยุค คสช.หรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกต 2 มหาวิทยาลัยที่ได้รับว่าจ้าง ‘สำรวจ-ออกแบบ’ โครงการฯ ไม่มีใบอนุญาต เข้าข่ายผิด ‘พ.ร.บ.สถาปนิก-พ.ร.บ.วิศวกร’
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ผู้ว่าฯกทม.จะผลักดันโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ หลังจากกทม.ได้ว่ามหาวิทยาลัย 2 แห่ง สำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทฯไปแล้ว 120 ล้านบาท
นายสามารถ ยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่กทม. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยวิธีตกลง (ไม่มีการแข่งขัน) ให้เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปี 2559 นั้น ปรากฎว่า ทั้ง สจล. และ มข. ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม งานจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ดังนั้น การที่ สจล. และ มข. ได้รับว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพดังกล่าว จึงเป็นการกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 45 แห่งพ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 และพ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542
สำหรับเนื้อหาที่ นายสามารถโพสต์ มีดังนี้
“ทางเลียบเจ้าพระยา ผู้ว่าฯ กทม. จะเข็นต่อหรือจะห่อเก็บ ?
ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่รัฐบาล คสช. พยายามผลักดันให้เป็นรูปธรรม แต่จนถึงรัฐบาลปัจจุบันโครงการนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะถูกชะลอโดยคำสั่งของศาลปกครอง หลังจากมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากหลายฝ่ายจนนำไปสู่การฟ้องต่อศาลปกครอง จึงน่าติดตามว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะมีนโยบายอย่างไรกับโครงการนี้ ? ซึ่ง กทม. ได้เสียค่าจ้างที่ปรึกษาให้ สจล. และ มข. ไปแล้วเกือบ 120 ล้านบาท ! จะสูญเปล่าหรือไม่ ?
1.รูปแบบโครงการ
ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแผนงานหนึ่งในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทั้งหมด 12 แผนงาน ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการก่อสร้างทางยกระดับเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด มีความกว้างประมาณ 6-10 เมตร ระยะทางรวม 2 ฝั่ง 57 กิโลเมตร จากสะพานพระนั่งเกล้าถึงสะพานพระราม 3 นอกจากใช้เป็นทางเดินแล้ว ยังใช้เป็นทางจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย
2.กทม. จ้าง สจล. และ มข.
กทม. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโครงการนี้ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยวิธีตกลง (ไม่มีการแข่งขัน) ให้เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บท ค่าจ้าง 119.513 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 210 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2559
แต่อย่างไรก็ตาม การจ้าง สจล. และ มข. ถูกตั้งข้อสังเกตดังนี้
(1) สจล. และ มข. ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม งานจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากดำเนินงานโดยนิติบุคคล จะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจากสภาสถาปนิก และใบอนุญาตวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกรเท่านั้น
จากการที่ สจล. และ มข. รับจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพดังกล่าวจึงเป็นการกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดบทลงโทษไว้ตามมาตรา 74 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดดังกล่าว มีความผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกแสนบาท
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 75 กำหนดไว้ว่าห้ามหน่วยงานของรัฐประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน (และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 ก็กำหนดไว้เช่นเดียวกัน) ซึ่งกรณีนี้ถือว่า สจล. และ มข. รับจ้างทำงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและวิศวกรรมควบคุมที่เป็นการแข่งขันกับเอกชน จึงไม่สามารถทำได้
(2) สจล. และ มข. ไม่ได้ทำงานเองทั้งหมด
โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายอมรับว่า สจล. และ มข. ได้จ้างประธานกรรมการบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (A-7) และทีมงานบางส่วนของ A-7 ให้มาร่วมทีม
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า สจล. และ มข. มีบุคลากรที่มีความพร้อมทุกด้านที่จะเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้หรือไม่ ? และเหตุใด กทม. จึงไม่ว่าจ้าง A-7 หรือบริษัทอื่นที่มีความพร้อมทุกด้านแทนการว่าจ้าง สจล. และ มข. ?
3.โครงการฯ ถูกคัดค้านอย่างหนัก
โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากหลายฝ่ายที่เป็นห่วงว่าโครงการฯ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือวิถีชีวิตริมน้ำ และประชาชนผู้ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการสัญจรจำนวนมาก เช่น จะทำให้เกิดการสะสมของขยะใต้ทางยกระดับ สร้างความสกปรก จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา การขนส่งสินค้าทางน้ำโดยเรือลากจูงอาจไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร หากเกิดอัคคีภัยเรือดับเพลิงอาจไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้เนื่องจากมีทางยกระดับขวางกั้นอยู่ และเสาของทางยกระดับจะขวางทางน้ำ จะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางหรือไม่ ? เป็นต้น
4.ถูกฟ้องศาลปกครอง
เมื่อการคัดค้านไม่ได้ผล ในที่สุดจึงมีการฟ้องต่อศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) โดยเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก รวม 12 ราย ขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และให้คณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยกเลิกการดำเนินโครงการฯ ทั้งหมด
ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าการก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ห้ามมิให้ กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ในที่สุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง นั่นคือห้ามมิให้ กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
5.ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จะเข็นต่อหรือจะห่อเก็บ ?
การก่อสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นนโยบายที่น่าสนใจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะมีขึ้นในปีนี้หรือไม่ ? ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คงหนีไม่พ้นที่จะต้องชี้แจงแนวคิดในการดำเนินโครงการนี้ โดยเฉพาะผู้สมัครที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาก่อน เนื่องจากโครงการนี้มีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก อีกทั้ง กทม. ได้เสียค่าจ้างที่ปรึกษาให้ สจล. และ มข.ไปแล้วเกือบ 120 ล้านบาท จะสูญเปล่าหรือไม่ ?
จึงต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาว่าโครงการนี้จะถูกสานต่อหรือจะถูกห่อเก็บไว้ในลิ้นชัก ?