ทั้งนี้ ด้วยการที่ประเทศในภูมิภาคมีท่าทีของการเฝ้าระวังการระบาดที่มากเป็นพิเศษเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วจุดสิ้นสุดของมาตรการการควบคุมชายแดนนั้นจะไปอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมาในแง่ของคำชื่นชมว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก แต่คำชื่นชมดังกล่าวก็มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเรื่อยๆทั้งในแง่ของมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ
สืบเนื่องจากกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะกับสายพันธุ์โอไมครอน ที่มีศักยภาพในการระบาดสูงแต่มีความรุนแรงต่ำ ส่งผลทำให้ในหลายประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันตกได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคแล้วเพราะมองว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อ แต่ทว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นยังคงมีการใช้มาตรการการควบคุมโรคที่เข้มข้นอยู่และจากความแตกต่างทางด้านนโยบายควบคุมโรคดังกล่าวนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทวีปเอเชียนั้นอาจจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจล้าหลังไปจากประเทศตะวันตกมาก
โดยสำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ก็ได้ออกมาเขียนบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างตะวันออกและตะวันตกกับนโยบายเรื่องของโควิด-19 ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ในขณะที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูง แต่มีความร้ายแรงของโรคต่ำได้ระบาดจนกลายเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์หลัก ส่งผลผลักดันให้กลุ่มประเทศตะวันตกได้ดำเนินนโยบายในด้านการเปิดประเทศมากขึ้น แต่สถานการณ์ในทวีปเอเชียนั้นกลับเป็นตรงข้ามกับตะวันตกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากยังคงมีความกังวลเกิดขึ้นกับไวรัสสายพันธุ์นี้ ซึ่งจากความแตกต่างกันดังกล่าวนี้ ส่งผลทำให้เกิดความแบ่งแยกกันมากขึ้นในหลายๆด้านระหว่างตะวันตกและวันออก อาทิ ในประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณสุข,เศรษฐกิจ,สิทธิขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพ
โดยทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือนั้นได้พยายามเร่งกระบวนการเพื่อจะใช้ชีวิตกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยที่มีศักยภาพในการระบาดสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ก็พบว่ามีบางประเทศที่มีมาตรการจำกัดโรคเข้มข้นน้อยกว่าภูมิภาคตะวันตก,ในบางประเทศก็มีมาตรการจำกัดโรคที่เข้มข้นกว่าภูมิภาคตะวันตก และในบางประเทศก็มีมาตรการจำกัดโรคที่เข้มข้นมากกว่าตอนที่เกิดโรคระบาดใหม่ๆขึ้นมาเสียอีก
นอกจากนี้ก็มีรายงานว่าความแตกแยกดังกล่าวนั้นดูมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆแม้ว่าจะมีหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกนั้นมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่าในหลายประเทศในทวีปยุโรปเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ด้วยการที่ประเทศในภูมิภาคมีท่าทีของการเฝ้าระวังการระบาดที่มากเป็นพิเศษเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วจุดสิ้นสุดของมาตรการการควบคุมชายแดนนั้นจะไปอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ แม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมาในแง่ของคำชื่นชมว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก แต่คำชื่นชมดังกล่าวก็มีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเรื่อยๆทั้งในแง่ของมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ
“มันมีสิ่งที่เรียกอัตราการเสียชีวิต ซึ่งอยู่ในระดับที่สังคมจะเต็มใจยอมรับได้ หรือก็คือในระดับของปัจเจกบุคคลนั้น จะมีระดับของความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ที่บุคคลนั้นเลือกจะยอมรับ และจะต้องจ่ายเพื่อความปลอดภัยของชีวิต อาทิ การต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากาก รวมไปการเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งดูเหมือนว่าชาวเอเชียนั้นจะประเมินค่าชีวิตมากกว่าเสรีภาพ และถ้าหากมองให้ลึกลงไปในรายละเอียดของวัฒนธรรม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเราไม่เคยมีประวัติที่โดดเด่นเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาชน การกระทำที่เสี่ยงชีวิตมาก่อนก็เป็นไปได้” นพ.โช ซองอิล ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในเกาหลีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา
ขณะที่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ก็มีรายงานว่าทางการนั้นได้เพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า ในการดำเนินนโยบายเป็นศูนย์ ซึ่งผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็การปิดการเดินทางระหว่างประเทศเกือบจะทั้งหมด และการออกมาตรการล็อคดาวน์ที่มีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น
รายงานข่าวประเทศเดนมาร์กยกเลิกมาตรการควบคุมโรคแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มมากขึ้น (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว WION)
ส่วนที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งกำลังต่อสู้กับการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุขึ้น ก็ได้มีการออกมาตรการปิดโรงเรียน บาร์ ยิม และห้ามไม่ให้มีการรับประทานอาหารหลังจากเวลา 18.00 น. ขณะที่ในพื้นที่ซึ่งถูกควบคุมจากทางรัฐบาลจีน ที่ถูกเรียกกันว่า Asia’s World City หรือนครโลกแห่งเอเชีย ก็ถูกจัดอันดับให้เป็นมหานครที่มีความโดดเดี่ยวมากที่สุด เนื่องจากการใช้มาตรการควบคุมโรคและการควบคุมชายแดนที่เข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งล่าสุดเมื่อประมาณวันที่ 27 ม.ค. ทางการเจ้าหน้าที่ฮ่องกงได้มีการออกประกาศว่าทางเมืองจะลดเวลาการักตัวในโรงแรมลงจากเดิมที่มีระยะเวลา 21 วัน ก็จะเหลือ 14 วัน
สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 80,000 รายต่อวัน ก็ยังคงใช้มาตรการด้านการปิดพรมแดนสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ที่ถิ่นพักอาศัยอยู่ในประเทศ ขณะที่มาตรการกึ่งฉุกเฉินที่จำกัดเวลาการเปิดและปิดทำการสำหรับบาร์และร้านอาหารนั้นก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ 34 จาก 47 จังหวัดทั่วประเทศเช่นกัน
ประเทศเกาหลีใต้เองก็มีการใช้มาตรการเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นก็คือการพยายามจะหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุมเต็มรูปแบบ ตลอดระยะเวลาในช่วงของการเกิดโรคระบาด ก็ได้มีการกำหนดให้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นระยะเวลา 10 วัน,จำกัดการชุมนุมเอาไว้ให้ไม่เกิน 6 คน และการห้ามไม่ให้ร้านอาหาร,บาร์ และยิมเปิดทำการหลังเวลา 21.00 น.เป็นต้นไป แต่ทว่าในวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าประเทศนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 16,000 ราย ดังนั้นในวันที่ 6 ก.พ. ทางรัฐบาลก็จะมีการทบทวนมาตรการกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเองมากที่สุดในช่วงโรคระบาด ก็มีรายงานว่าในช่วงต้นเดือน ม.ค. ทางรัฐบาลก็ได้ออกประกาศเลื่อนการออกลอตเตอรี่สำหรับพื้นที่กักกันตัวในประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้พลเมืองของนิวซีแลนด์ที่ค้างอยู่ต่างประเทศจำนวนนับหลายพันคนนั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากในการกลับประเทศบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูหลายประเทศในทวีปยุโรปก็พบว่าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ประเทศเดนมาร์กนั้นเป็นประเทศล่าสุดที่ได้ประกาศว่าจะยุติมาตรการกักกันโรคทั้งหมดแล้ว แม้ว่าประเทศนี้จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 50,000 รายต่อวันก็ตาม เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรและประเทศไอร์แลนด์ที่มีการประกาศการยุติมาตรการในลักษณะเดียวกันเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางการประเทศเดนมาร์กได้มีการประกาศว่าจะมีการแยกจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ที่ป่วยรุนแรงออกจากกันอย่างชัดเจน เนื่องจากว่า ณ เวลานี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์นั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุผลจากอาการป่วยอื่นๆที่ไม่ใช่โควิด-19 ส่วนที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีการประกาศเช่นกันว่าในสัปดาห์นี้ จะยกเลิกมาตรการกำหนดจำนวนผู้คนที่จะเข้าบริการในสถานที่สาธารณะ
โดยสิ่งที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากทวีปเอเชีย ก็คือว่าในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกานั้นมีการอนุมัติให้มีการท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วนั้นเอง และนี่ก็ส่งผลทำให้ในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น อัตราการเดินทางทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องลดลงถึง 93.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2562 ส่งผลทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นมีอัตราการเดินทางอากาศต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก
@ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลสำหรับประชาชน
การผ่อนคลายมาตรการทางเศรษฐกิจในประเทศตะวันตกหลายประเทศนั้นเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่าการควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นนั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้แล้วในทางปฏิบัติ หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
ยกตัวอย่างเช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่เคยใช้มาตรการเข้มข้นที่สุดในยุโรป ก็มีรายงานว่าประเทศนี้ต้องผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคดังกล่าวเนื่องจากพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่นั้นแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่หรือว่าระดับนิวไฮ ทำให้นายเอิร์นสท์ คูเปอร์ส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์ต้องออกมาประกาศว่าการดำเนินมาตรการควบคุมโรคด้วยข้อจำกัดที่รุนแรงนั้นล่วนจะส่งผลร้ายต่อ “สาธารณสุขและสังคมของเรา”
ฮ่องกงยังคงดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการเริ่มขาดแรงงานในภาคผู้ประกอบการ (อ้างอิงวิดีโอจาก Bloomberg Quicktake: Now)
ในขณะที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นได้สร้างแรงกดดันทางสุขภาพอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการกระจายตัวของเชื้ออย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้ในระลอกนี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดของไวรัสโควิดในระลอกที่ผ่านๆมา โดยในปัจจุบันมีความเชื่อว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีศักยภาพในการแพร่เชื้อมากกว่าโควิดสายพันธุ์เดลต้าประมาณ 2-3 เท่า แต่ปรากฏว่าโอไมครอนนั้นก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงได้น้อยกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า และผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อกันว่าไวรัสนี้จะส่งผลกระทบไม่มากนักสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ฮันส์ คลูจ ผู้อํานวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประจําภูมิภาคยุโรป ก็ได้เคยกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่ามันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะนำไปสู่การยุติของโรคระบาด แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ได้เน้นย้ำด้วยว่าที่ยังเร็วไปที่จะประกาศว่าไวรัสโควิด-19 นั้นจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ส่วนนายเจฟฟรี่ คิงสตัน ผู้อํานวยการเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทมเพิลในกรุงโตเกียว ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ปัจจัยทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศนั้นก็เป็นประเด็นสำคัญต่อเรื่องของการตัดสินใจเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นจากกรณีที่ที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาตรการที่เข้มงวดในเรื่องของการควบคุมชายแดนนั้น ก็มีอิทธิพลมาจากความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรี 2 คนก่อนหน้านี้ในเรื่องของการรับมือกับโรคระบาด
“มาตรการการควบคุมโรคเหล่านี้ส่งผลด้านค่าใช้จ่ายต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการจะมาเรียนที่นี่ และครอบครัวที่ต้องการจะรวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง มันยังส่งผลในแง่ลบกับเศรษฐกิจ,ทำร้ายอุตสาหกรรมด้านการให้บริการ,ทำให้เกิดการล้มละลายหมู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจร้านอาหารและบาร์ขนาดเล็ก และยังส่งผลทำให้ธุรกิจที่เน้นการให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ที่ปากเหวของการล้มละลาย ซึ่งเรารู้ดีว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดไปสู่โรคประจำถิ่นนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไร” นายคิงสตันกล่าว
แต่นายคิงสตันก็ได้กล่าวว่ามาตรการของภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นก็ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการสำหรับยุโรปและอเมริกาเหนือเช่นกันในการดำเนินการเพื่อจะหลีกเลี่ยงจากการมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากว่าจำนวนผู้เสียชีวิตรายสัปดาห์ทั้งในประเทศจีน,ฮ่องกง,ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้รวมกันนั้นยังอยู่แค่ประมาณ 1 ใน 5 ของยอดเสียชีวิตในสหราชอาณาจักร แม้ว่าความแตกต่างของยอดเสียชีวิตดังกล่าวนั้น จะเริ่มแคบลงมาแล้วก็ตาม อันเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโอไมครอนในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตามก็มีบางประเทศในภูมิภาคที่ไม่ได้ใช้มาตรการในการควบคุมที่มีลักษณะแบบแบ่งแยกกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างแนวทางของตะวันออกและตะวันตก ยกตัวอย่างเช่นประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักเพื่อจะเกื้อหนุนเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย ก็ใช้แนวทางที่กล้าได้กล้าเสียมากขึ้นในการเปิดพรมแดน ขณะที่บางประเทศในยุโรปอย่างเช่นสวีเดนและโปแลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการกำหนดข้อจำกัดบางประการเช่นกันอันเนื่องมาจากการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น
“ผมคิดว่าประเทศในภูมิเอเชียเองก็มีความคาดหวังว่าจะกลับเป็นปกติเช่นกัน แต่อาจจะมีความระมัดระวังมากกว่าส่วนอื่นๆของโลก” นพ. เบน คาวลิง นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา
“มาตรการการกักกันโรคนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของความระมัดระวัง ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้ ผมคาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจนถึงจุดสูงสุด และหลังจากจุดสูงสุดดังกลาวก็น่าจะมีการผ่อนกลายทางด้านมาตรการสาธารณสุข” นพ.ซองอิลกล่าวและเขายังคาดอีกว่าเมื่อไวรัสโควิดโอไมครอนมีการระบาดมากขึ้นนั้นก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างตะวันออกและตะวันตกที่เคยมากขึ้นนั้นแคบลงตามไปด้วย
“ผมคิดว่าโอไมครอนนั้นยังไม่เข้ามาในภูมิภาคนี้โดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็เป็นอานิสงค์จากนโยบายควบคุมโรค ทำให้การแพร่เชื้อนั้นช้าลง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้เข้ามาแทนที่ผู้ป่วยทุกราย ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจนนำไปสู่การใช้นโยบายทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรงนั้นมีจำนวนคงที่แทน” นพ.ซองอิลกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.aljazeera.com/economy/2022/1/28/as-omicron-pushes-west-to-reopen-asia-hunkers-down