“…แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ 14 วัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงแรกของสัปดาห์ในเดือน ม.ค. แต่ขณะนี้ค่อนข้างทรงตัว และอาจลดลงได้ ส่วนผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงมาก…”
การเผชิญหน้ากับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อหลังปีใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แตะวันละ 7-8 พันราย จากเดิมเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมายังอยู่ที่ระดับ 2-3 พันราย จนกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกระดับเตือนภัยโควิดขึ้นเป็นระดับที่ 4
-
ไทยป่วยโควิดเพิ่ม 8,158 สธ.ยันวัคซีนเข็ม 3 'แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์' กระตุ้นภูมิสูงไม่ต่างกัน
-
สธ.ประกาศยกระดับ 4 เตือนภัยโควิด จ่อปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอเดินทางข้ามจังหวัด
ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดแถลงข่าวอัปเดต สถานการณ์โควิดภายในประเทศไทยและมาตรการของ สธ. โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ปีใหม่จนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยโควิดติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีโอไมครอนระบาดในไทย
แต่เรื่องการรักษาพยาบาล ตลอดจนความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่อาการหนักต้องเข้าไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และผู้เสียชีวิตแต่ละวันตั้งแต่ปีใหม่ถึงขณะนี้มีจำนวนค่อนข้างขาลง อยู่ในจำนวนไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับข้อมูลวิชาการต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ตนเองค่อนข้างมั่นใจว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน แม้จะติดเชื้อง่ายแต่ความรุนแรงไม่เท่าเดลต้า
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่ สธ.กำหนด โดยจะมอบเป็นนโยบายว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ให้สามารถวอล์กอิน (walk in) เข้าไปฉีดได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียน ส่วนผู้ที่ปฎิเสธการฉีดวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหามาให้มีประสิทธิภาพในการป้องกัน
ส่วนวัคซีนเด็ก 5-12 ปี สธ.ได้จัดหาเอาไวแล้ว โดยภายในต้นเดือน ก.พ. 65 ไทยจะนำเข้าวัคซีนสำหรับเด็ก และเริ่มฉีดในเด็กได้ จึงขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย เพราะทางบริษัทไฟเซอร์ได้ยืนยันแล้วว่าสามารถฉีดในเด็กได้ ทั้งนี้วัคซีนจะมีเพียงพอสำหรับเด็กๆ ทุกคนแน่นอน ส่วนคุณครูจะเร่งฉีดเข็มบูสเตอร์ทั้งเข็ม 3-4 เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ องค์การอาหารและยา (อย.) จะเร่งพิจารณาวัคซีนซิโนแวค ซึ่งขณะนี้ได้รับการยื่นขอเพิ่มการจดทะเบียนวัคซีนซิโนแวคสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปแล้ว ทั้งนี้ หากเอกสารเรียบร้อย มีข้อมูลที่เพียงพอ และได้รับการยอมรับ ก็พร้อมที่จะสั่งซื้อเข้ามาในไทย
สำหรับเรื่องเวชภัณฑ์กรมการแพทย์ได้สำรองยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดไว้แล้ว เพื่อการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เตรียมสำรองยาไว้อีกด้วน ยืนยันว่าจะเพียงพอต่อผู้ป่วยทุกราย และจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อสำรองไว้เพื่อผลิตเป็นสารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ต่อไป ทั้งนี้ อภ. จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการวิจัยผลิตสารตั้งต้นของยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อสำรองเหตุการณ์ในอนาคตด้วย
ขณะเดียวกันในเรื่องการดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมให้การดูแลรับผิดชอบ จึงขอให้ประชาชนวางใจ ส่วน รพ.สนามก็พร้อมจัดตั้งขึ้นได้ตลอดเวลาหากมีความจำเป็น แต่ขณะนี้จะเน้นการใช้ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) แทน
"ในฐานะเป็นภาครัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันต่อประชาชนว่า ตัวผมเอง ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมจะสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ จากสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด ส่วนมาตรการต่างๆ หากทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น ทาง สธ.จะทำการเสนอ ศบค.ให้ผ่อนคลายมาตรการให้มาก และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ขณะเดียวกันหากมีเหตุใดสุ่มเสี่ยง ทางสธ.ก็พร้อมชี้แจงและเสนอมาตรการเพื่อย้ำความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก" นายอนุทิน กล่าว
14 วันโควิดไทยทรงตัว-ป่วยหนักลดลง
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดทั่วโลก พบมีการระบาดสะสมเกือบ 320 ล้านราย แต่ผู้เสียชีวิตเริ่มลดลง โดยเสียชีวิตสะสมประมาณ 5.5 ล้านคน ส่วนประเทศไทยผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ 7,916 ราย จากต่างประเทศ 242 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 คน ผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบมี 510 ราย ต้องใส่ท่อช่วยจำนวน 105 ราย
“แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ 14 วัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงแรกของสัปดาห์ในเดือน ม.ค. แต่ขณะนี้ค่อนข้างทรงตัว และอาจลดลงได้ ส่วนผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดลงมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ในช่วงแรกของการระบาด แนวโน้มการแพร่กระจายของเชื้อค่อนข้างรวดเร็ว แต่หลังจากมีการเตือน มีมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือดีจากทุกภาคส่วน การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่ ส่วนอัตราตายอยู่อันดับต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ ถือว่าดีมาก เป็นผลมาจากตัวโรคความรุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น เพราะร่วมมือกันฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 บางรายก็บูสเตอร์เข็ม 3 และกลุ่มมีความเสี่ยงก็บูสเข็ม 4 ซึ่งเมื่อภูมิคุ้นกันดีโรคก็จะอ่อนแอลง และอยู่กับโรคได้ปลอดภัยขึ้น
"ขอประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันทำ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK สำหรับชุดตรวจ ATK ที่มีการขาดแคลน ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม ได้จัดหาและเตรียมไว้สัปดาห์ละ 1 ล้านเทส ราคา 35 บาท" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ชง ศบค.ลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วัน
นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวถึงการพิจารณาลดวันกักตัวในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน โดยวันที่ 5-6 ต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หากไม่พบเชื้อก็สามารถออกมาทำงานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และในวันที่ 10 ต้องมีการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK อีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการเสนอ ศบค.พิจารณาลดวันกักตัว ส่วนการประกาศใช้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด
วัคซีนสูตรปกติ-ไขว้ ลดอัตราการตายกว่า 90%
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดภายในประเทศนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ดำเนินการไปแล้วกว่า 108.59 ล้านโดส ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 1-4 และในเดือน ม.ค.นี้ ตั้งเป้าการฉีดเอาไวที่ 9 ล้านโดส ตอนนี้ฉีดได้มากกว่าครึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการฉีดวัคซีน กรมควบคุมโรคได้เก็บข้อมูลภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค. 2564 เพื่อพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด แต่ละสูตรที่ได้ฉีดให้ประชาชน โดยเป็นการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงที่เกิดการระบาดของโควิด ในแต่ละสายพันธุ์ สามารถสรุปประสิทธิภาพได้ดังนี้
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม
-
เดือน ส.ค. ศึกษาในภูเก็ต พบป้องกันการติดเชื้อ 27% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 90%
-
เดือน ก.ย.-ต.ค. ศึกษาใน กทม. พบป้องกันการติดเชื้อ 66%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 28% ป้องกันการเสียชีวิต 97%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 13%
ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
-
เดือน ก.ย.-ต.ค. ศึกษาใน กทม. พบป้องกันการติดเชื้อ 75%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 93% ป้องกันการเสียชีวิต 97%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 13%
ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 92% ป้องกันการเสียชีวิต 97%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 13%
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า
-
เดือน ก.ย.-ต.ค. ศึกษาใน กทม. พบป้องกันการติดเชื้อ 75%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 93% ป้องกันการเสียชีวิต 97%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 13%
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค+ ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า
-
เดือน ส.ค. ศึกษาในภูเก็ต พบป้องกันการติดเชื้อ 94.2% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิต 100%
-
เดือน ก.ย.-ต.ค. ศึกษาใน กทม. พบป้องกันการติดเชื้อ 86%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 96% ป้องกันการเสียชีวิต 99%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 89%
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค+ ซิโนแวค + ไฟเซอร์
-
เดือน ก.ย.-ต.ค. ศึกษาใน กทม. พบป้องกันการติดเชื้อ 82%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 98% ป้องกันการเสียชีวิต 99%
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในกาฬสินธุ์ (โอไมครอน) พบป้องกันการติดเชื้อ 79%
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์ม+ ซิโนฟาร์ม + ไฟเซอร์
-
เดือน ธ.ค. ศึกษาในเชียงใหม่ พบป้องกันการติดเชื้อ 98% ป้องกันการเสียชีวิต 99%
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า หากสังเกตการสำรวจข้อมูลติดตาม ในเดือน ส.ค. มีการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า ที่กรุงเทพฯ เดือน ก.ย.-ต.ค.มีการระบาดของอัลฟ่า และเดลต้าอย่างมาก ส่วนเชียงใหม่ มีการระบาดสายพันธุ์เดลต้าเดือน ธ.ค. และล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอน มีการระบาดในคลัสเตอร์ร้านอาหารที่กาฬสินธุ์ จะพบว่าแต่ละช่วงเวลา เชื้อจะแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะฉีดสูตรปกติหรือสูตรไขว้ หรือบูสเตอร์จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 90-100%
ส่วนประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ จะเห็นว่าแต่ละสูตรมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ดีพอสมควร แต่บางสูตรเห็นว่าน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากระยะเวลาการฉีด โดยการฉีดใหม่ๆ ช่วง 2-3 เดือนแรกค่อนข้างสูง แต่ผ่าน 3 เดือนไปจะลดลง แต่ เมื่อมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อจะสูงขึ้น
“การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม การกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูงไม่แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้น ทั้งสูตรแอสตร้าหรือไฟเซอร์ ป้องกันโอไมครอนได้ถึง 80-90%”นพ.โอภาส กล่าว
แนวทางฉีดเข็ม 3-การจัดหาวัคซีนเพิ่ม 90 ล.โดส
สำหรับแนวทางการฉีดเข็มกระตุ้นที่ 3 นั้น ขอให้ประชาชนที่รับวัคซีนเข็มที่ 2ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 เข้ารับเข็มกระตุ้นในเดือน ธ.ค. 2564 คนรับวัคซีนเข็มที่ 2 ในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 เข้ารับเข็มกระตุ้นในเดือน ม.ค. 2565 คนรับวัคซีนเข็มที่ 2 ในเดือน ต.ค.-พ.ย. 2564 เข้ารับเข็มกระตุ้นในเดือน ก.พ. 2565 และคนรับวัคซีนเข็ม 2 ในเดือน พ.ย. -ธ.ค. 2564 เข้ารับเข็มกระตุ้นในเดือน มี.ค. 2565
“การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีประสิทธิภาพสูงพอสมควร แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปจะลดลง เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการควบคุมโอไมครอนได้ดี ดังนั้นหากประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามระยะเวลาที่ สธ.แนะนำได้เลย ทั้งนี้ ยืนยันว่า มีวัคซีนเพียงพอรองรับ โดยในปี 2565 รัฐบาลได้อนุมัติจัดซื้อแล้ว 90 ล้านโดส แบ่งเป็นไฟเซอร์ 30 ล้านโดส จึงขอให้ประชาชนฉีดตามสูตรที่กระทรวง สธ.กำหนด” นพ.โอภาส กล่าว
ยันมีเตียงเพียงพอรับมือการระบาดใหม่
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ครองเตียงเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 9 และ 13 ม.ค. 2565 ว่า ภาพรวมทั้งประเทศ เพิ่มจาก 35,829 เป็น 46,873 เตียง โดย กทม.จาก 7,488 เพิ่มเป็น 11,742 เตียง ซึ่งมีข้อมูลการครองเตียงจำแนกตามอาการผู้ป่วยดังนี้
-
เตียงระดับสีแดง ทั้งประเทศลดลงจาก 213 เป็น 182 เตียง ขณะที่ กทม.คงที่อยู่ที่ 25 เตียง
-
ระดับสีเหลือง ทั้งประเทศเพิ่มจาก 1,681 เป็น 3,095 เตียง โดย กทม.เพิ่มจาก 513 เป็น 1,246 เตียง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 หรือกลุ่มผู้สูงวัย ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อแพทย์ไม่วางใจจึงให้รักษาในเตียงระดับสีเหลืองไว้ก่อน แม้จะไม่ต้องใช้ออกซิเจนก็ตาม
-
ระดับสีเขียวรวม Hospitel ทั้งประเทศ เพิ่มจาก 33,935 เป็น 43,506 เตียง กทม.เพิ่มจาก 6,950 เป็น 10,471 เตียง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้การครองเตียงจะเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลสามารถยังรองรับการระบาดใหม่ได้ ยังมีเตียงเพียงพอ อย่างไรก็ตามขอให้เน้นการรักษาแบบ HI (Home Isolation) และ CI (Community Isolation) เป็นหลัก
ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือสถานบริการสุขภาพ เตรียมความพร้อมสำหรับการจัด HI และ CI ติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ภายหลังได้รับแจ้งจาก 1330 ไลน์ หรือคอลเซ็นเตอร์ของแต่ละพื้นที่ และจะประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้กับผู้ติดเชื้อ ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อในระบบ HI และ CI อย่างน้อยวันละครั้ง และจัดระบบนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล กรณีฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต่อไป ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับบริการอย่างเต็มศักยภาพ
ลุ้นปรับลดค่าตรวจ RT-PCR เหลือ 1,300-1,500 บาท
ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องโรงพยาบาลสนามและ Hospitel นั้น ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ขยายเตียงให้รองรับผู้ป่วยได้ถึง 50,000 เตียง โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 ม.ค. มีโรงพยาบาลสนามที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 162 แห่ง อนุมัติได้ทั้งหมด 49,137 เตียง ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทั้งหมด 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง ซึ่งยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยทุกราย
ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการนำเรื่องการปรับอัตราราคาโควิด ฉบับที่ 7 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการลดค่าตรวจ RT-PCR 2 ยีนส์ จาก 2,250 บาท เหลือ 1,300 บาท และ 3 ยีนส์ จาก 2,550 บาท เหลือ 1,500 บาท นอกจากนี้ จะลดค่าห้องและค่าอาหารใน hospitel จาก 1,500 บาท เหลือเหมาจ่าย 1,000 บาท (ห้องพักพร้อมอาหาร 3 มื้อ)
ส่วนเรื่องประกันนั้น ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งได้รับทราบถึงปัญหาเรื่องระบบประกันสุขภาพเป็นอย่างดี อย่างเรื่องการตรวจ ATK ซึ่งรองเลขาฯ คปภ. แจ้งว่าจะมีการหารือกับบริษัทประกันภัย เรื่องกรมธรรม์ประกันภัย และจะมีการแจ้งให้ทราบหากมีความคืบหน้าในภายหลัง