"...ถ้าหากวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์นั้นสามารถใช้งานได้เร็วกว่านี้ มันก็อาจจะเพียงพอที่จะป้องกันการเจ็บป่วยบางประการและสามารถปกป้องกลุ่มผู้ประกอบอาชีพสำคัญ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ได้ ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่าการฉีดวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์นั้นจะให้ประสิทธิภาพที่สูงต่อการป้องกันการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยก็ชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจจะทราบได้แน่ชัดว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ณ ช่วงเวลานี้..."
สืบเนื่องจากปรากฎข่าวไปทั่วโลกว่า ณ เวลานี้ บริษัทไฟเซอร์และบริษัทโมเดอร์นากำลังเตรียมตัวที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดหรือโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนขึ้นมาโดยเฉพาะ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่จะพร้อมรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะพร้อมในเดือน มี.ค. ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาจะพร้อมในปลายเดือน ก.ย.
ล่าสุด สำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์วัคซีนของทั้งสองบริษัทจะผลิตออกมา ว่าอาจจะช้าเกินไป เนื่องจากธรรมชาติของการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีความรวดเร็วมากกว่า
มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
วัคซีนเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ของบริษัทไฟเซอร์ที่จะออกมาในเดือน มี.ค.นี้นั้นอาจจะช้าเกินไปแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาที่มีความต้องการวัคซีนเฉพาะสำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมากที่สุด จะอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
นพ.วิลเลี่ยม มอส ผู้อํานวยการบริหารของศูนย์การเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ จอห์นฮอปกินส์บลูมเบิร์ก ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า แม้วัคซีนเฉพาะสายพันธุ์นั้นจะเป็นสิ่งที่มีค่า แต่เนื่องจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เขาเชื่อว่ามันสายเกินไปแล้วสำหรับวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน
ขณะที่ นพ.ชอว์น ทรูเลิฟ นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ จอห์นฮอปกินส์บลูมเบิร์ก ได้แสดงความเห็นสอดคล้องกับ นพ.มอสเช่นกัน
นพ.ชอว์น ระบุว่า “เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมา การมีวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์อาจจะไม่มีความสำคัญ เพราะทุกคนน่าจะติดเชื้อไปแล้ว”
ทั้งนี้ สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายใหม่ที่เกิดขึ้นมากว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนับตั้งแต่ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมาจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯหรือซีดีซี
ในขณะที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ของสหรัฐฯ ก็รายงานเช่นกันว่าในวันที่ 9 ม.ค. จะมีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 307,000 ราย
นพ.วิลเลี่ยม มอส ยังให้ความเห็นต่อว่า "ถ้าหากวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์นั้นสามารถใช้งานได้เร็วกว่านี้ มันก็อาจจะเพียงพอที่จะป้องกันการเจ็บป่วยบางประการและสามารถปกป้องกลุ่มผู้ประกอบอาชีพสำคัญ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ได้ ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่าการฉีดวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์นั้นจะให้ประสิทธิภาพที่สูงต่อการป้องกันการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยก็ชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจจะทราบได้แน่ชัดว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ณ ช่วงเวลานี้"
"แต่ว่าไวรัสนั้นระบาดไปอย่างรวดเร็วมาก จึงส่งผลทำให้ผู้พัฒนาวัคซีนไม่อาจจะผลิตวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์ออกมาได้ทันเวลา"
ที่สำคัญก็คือว่า นายอัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานผู้บริหารหรือซีอีโอบริษัทไฟเซอร์ยังไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนอีกว่ามีความจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ที่จะต้องใช้วัคซีนตัวใหม่ และวัคซีนตัวใหม่นั้นจะถูกนำมาใช้งานอย่างไร
นายอัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอบริษัทไฟเซอร์ให้สัมภาษณ์ถึงวัคซีนสำหรับโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (อ้างอิงวิดีโอจาก CNBC)
ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์กันว่า ทั้งไวรัสโควิดและตัวสายพันธุ์โอไมครอนเองต่างก็มีความคาดเดาไม่ได้ และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการที่จะมีไวรัสโควิดที่มุ่งเน้นไปยังสายพันธุ์โอไมครอนหรือสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะจะมีประโยชน์แค่ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
“ในระยะสั้น ผมคิดว่าวัคซีนแบบเฉพาะสายพันธุ์จะมีประโยชน์แค่กับกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ด้วยข้อสันนิษฐานว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ครองตลาดอันดับหนึ่ง แต่ผลกระทบของวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนจะมีน้อยกว่าถ้าหากมีวัคซีนนี้ก่อนการพุ่งขึ้นของการติดเชื้ออย่างรุนแรง” นพ.มอสกล่าว
ส่วน นพ.ชอว์น ทรูเลิฟ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า "เราไม่รู้ว่านานเท่าใด ที่ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะมอบให้แก่เรา และการฉีดวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนนั้นจะให้ประโยน์อย่างมาก ถ้าหากเกิดกรณีที่ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อนั้นเสื่อมลง และภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนนั้นมีศักยภาพพอจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ในอนาคตได้อีก"
“แต่เรื่องนี้ มันก็ยังคงเป็นไปไม่ได้ ณ เวลานี้ ที่เราจะได้เห็นว่าผลกระทบของวัคซีน ณ เวลานี้” นพ.ทรูเลิฟกล่าว
ขณะที่ นพ.มาร์ค ซอว์เยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่โรงพยาบาลเด็กเรดี้ และยังเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่อนุมัติวัคซีนในปี 2563 กล่าวแสดงความเห็นแย้งกับผู้บริหารบริษัทโมเดอร์นาว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าเมื่อไรจะต้องมีการฉีดวัคซีนโดสสี่ และการฉีดโดสสี่ในปลายเดือน ก.ย.นั้นจะเป็นไปได้หรือไม่
“การมีจำนวนผู้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ปกติมากในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่” นพ.ซอว์เยอร์กล่าว
ณ เวลานี้ประเทศอิสราเอลถือเป็นประเทศแรกๆที่มีการจัดหาวัคซีนโดสที่สี่ให้กับประชาชนของตัวเองไปแล้วกว่า 250,000 ราย เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นมีทั้งกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ,กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
รายงานการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดโดสสี่ที่ประเทศอิสราเอล (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส)
ขณะที่ นพ.เดวิด เฮิร์ชเวร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและผู้อำนวยการทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนอร์ทเวลเฮลธ์นอร์ทชอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าการฉีดวัคซีนโดสที่สี่ดังกล่าวนั้นถือว่าสร้างสารภูมิคุ้มกันหรือว่าแอนติบอดีได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าตอนนี้ก็มีประเด็นตามมาว่า การมีระดับภูมิคุ้มกันเท่าไรกับแน่ ถึงจะทำให้กิจกรรมของประชาชนนั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติอีกครั้งหนึ่ง
“ผมคิดว่าสาระสำคัญก็คือว่าเราต้องมีความชัดเจนก่อนดีกว่าว่าผลกระทบจากการที่ประชากรจะได้รับจากการฉีดวัคซีนในโดสสามนั้นคืออะไรกันแน่ ก่อนจะตัดสินใจเกี่ยวกับวัคซีนในโดสสามกันต่อไป” นพ.เฮิร์ชเวร์กกล่าว
ส่วนนพ.ทรูเลิฟ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่เริ่มมีความชัดเจนแล้วก็คือว่าวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จำนวนสองโดสนั้นไม่พอที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้
"แต่ก็เริ่มมีหลักฐานที่ให้ข้อมูลในแง่บวกแล้วว่าวัคซีนในโดสสามนั้นน่าจะมีการปกป้องที่มากกว่าต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน"
เรียบเรียงจาก:https://www.cnbc.com/2022/01/10/omicron-vaccine-coming-in-march-experts-warn-it-could-be-too-late.html