“…ตลอด 1 เดือน ตั้งแต่ WHO ยกระดับให้โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ไวรัสนี้ได้ลามไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ อิสราเอลก็เช่นกัน ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ามาก แสดงให้เห็นว่าโอไมครอนแม้จะดื้อต่อวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อที่อาจลุกลามไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรงได้…”
การเผชิญหน้ากับไวรัสโควิดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่าย ๆ หลังจากทั่วโลกเจอสายพันธุ์กลายพันธุ์อีกระลอกอย่าง ‘โอไมครอน’ ซึ่งมีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีน รวมถึงภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการป่วยโควิดได้หลายเท่าตัว
ทำให้หลายประเทศออกนโยบายเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส หวังจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงอีกครั้ง อย่างน้อยก็เพื่อลดอาการป่วยหนักให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหากติดเชื้อจำนวนมากและหลายคนมีอาการรุนแรง ระบบสาธารณสุขคงจะรองรับไม่ไหว เราอาจต้องสูญเสียอีกหลายชีวิต
การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ประเทศไทยออกมาให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก โดยตั้งเป้าจะดำเนินการในปีนี้ ตั้งเป้าหมายให้โควิด กลายเป็น 'โรคประจำถิ่น' ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงความปกติมากที่สุด
โดยแนะนำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ก่อนวันที่ 1 พ.ย.2564 เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 เร็วขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนบุคคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือนให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 4 ได้แล้ว หลังพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไปสักระยะ จะเริ่มมีภูมิคุ้นกันจากวัคซีนลดลง ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับโอไมครอน
เว็บไซต์ NBC Chicago
การฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยรับมือกับโอไมครอนได้อย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน และผลการวิจัยการศึกษาในอังกฤษและอิสราเอลล่าสุด มีรายละเอียดดังนี้
เว็บไซต์ NBC Chicago เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านสุขภาพเชื่อว่าการจะต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ อาจต้องการภูมิคุ้มกันที่สูงจากวัคซีนเข็มกระตุ้น แม้ว่าขณะนี้จะพบการติดเชื้อของบุคคลที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม แต่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
วัคซีนไฟเซอร์
ผู้บริหารของวัคซีนไฟเซอร์ออกแถลงการณ์ว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันความรุนแรงของโรคที่เกิดจากโอไมครอนได้ แต่อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อโอไมครอน แต่จากการทดสอบของบริษัทฯ พบว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เป็นเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
ทั้งนี้ผลการทดสอบของบริษัทฯพบว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 จะเพิ่มระดับแอนติบอดีได้ถึง 25 เท่าเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม กล่าวคือการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ช่วยลดความสามารถในการต่อสู้ของโอไมครอน ให้ลดลงเหลือเท่ากับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถพัฒนาและจำหน่ายวัคซีนสูตรพิเศษที่สามารถต้านโอไมครอนได้ภายในเดือน มี.ค. 2565
วัคซีนโมเดอร์นา
ผู้บริหารของวัคซีนโมเดอร์นาประกาศผลการทดสอบใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นจากห้องปฏิบัติการในสหรัฐอเมริกา และพื้นที่อื่น ๆ พบว่าภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโมเดอร์กระตุ้นช่วยป้องกันโอไมครอนได้ ที่สำคัญยิ่งฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่มีมีปริมาณโดสมาก ยิ่งทำให้ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
ผลการทดสอบของบริษัทฯพบว่า การฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัม หรือครึ่งโดส ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว จะช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีได้ 37 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม นอกจากนั้นยังพบอีกว่าการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นขนาด 100 ไมโครกรัม ช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีได้ถึง 83 เท่า ซึ่งผู้บริหารของบริษัทฯได้ให้ความเห็นหลังจากทราบผลการทดสอบอีกว่า นี่อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เราเห็นว่าวัคซีนสูตรพิเศษเฉพาะโอไมครอนอาจไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯก็ยังคงดำเนินการพัฒนาวัคซีนสูตรเฉพาะสายพันธุ์ใหม่อยู่
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
ผู้บริหารของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนก้า 2 เข็ม สามารถคงระดับการลบล้างโอไมครอนได้ แม้จะลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผลการทดสอบของทีมวิจัยพบว่า จากการวัดระดับแอนติบอดีของผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 นาน 1 เดือน มีระดับการลบล้างโอไมครอนได้ผลในระดับเดียวกันกับหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทแอสตราเซนเนก้าอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนสูตรพิเศษเพื่อต้านโอไมครอน คาดว่าจะมีผลการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงการวิเคราะห์เลือดของกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการทดลองระยะที่ 2 และ 3 เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนหลังการฉีดเข็มกระตุ้น ทั้งวัคซีนรุ่นเดิม และวัคซีนรุ่นใหม่ (AZD2816) ที่อยู่ระหว่างการวิจัยด้วย
เว็บไซต์ Homage
ฉีดเข็มกระตุ้นป้องกันโอไมครอนได้เหมือนครั้งเผชิญเดลต้า
การฉีดวัคซีนบูสเตอร์นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโอไมครอนได้แล้ว เว็บไซต์ Homeage เปิดเผยอีกว่า ยังช่วยให้ผู้คนรักษาภูมิคุ้มได้นานขึ้น และลดความเสี่ยงการติดเชื้อแบบรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย
จากการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบมีประสิทธิภาพขึ้นสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยเฉพาะวัคซีนโมเดอร์นาที่ฉีดกระตุ้นเพียง 50 ไมโครกรัมกลับเพิ่มระดับแอนติบอดีต้านโอไมครอนได้สูงกว่าเดิม 37 เท่า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่พบยังถือว่าไม่เพียงพอที่จะสรุปประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของวัคซีนต่อการป้องกันโอไมครอนได้ เพราะการศึกษาวิจัยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่แดนนี อัลท์แมน นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจช่วยป้องกันโอไมครอนได้เช่นเดียวกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่หลายประเทศฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันเดลต้า ดังนั้นจึงแนะนำให้ทุกคนหันไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ได้ดียิ่งขึ้น
ฉีดวัคซีนผสมสู้ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ได้หลายรูปแบบ
การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถ ‘ผสมและจับคู่’ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่ โดย นพ.อโศก คูรุป จากสถาบันการแพทย์โรคติดเชื้อในประเทศสิงคโปร์ให้เหตุผลว่า วิธีฉีดวัคซีนแบบผสมนี้ จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันหลายรูปแบบได้ มีรายละเอียดดังนี้
-
สูตรวัคซีนไฟเซอร์-ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ 62% มีแอนติบอดียับยั้งไวรัสเข้าเซลล์และเพิ่มจำนวน (Neutralizing antibody : NAb) 446.7 หน่วย และมีแอนติบอดีจับกับไวรัส ( Binding antibody : Bab) 3409.1 หน่วย
-
สูตรวัคซีนไฟเซอร์-ไฟเซอร์-โมเดอร์นา สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ 72% มีแอนติบอดียับยั้งไวรัสเข้าเซลล์และเพิ่มจำนวน 785.8 หน่วย และมีแอนติบอดีจับกับไวรัส 6155 หน่วย
-
สูตรวัคซีนโมเดอร์นา-โมเดอร์นา-โมเดอร์นา มีแอนติบอดียับยั้งไวรัสเข้าเซลล์และเพิ่มจำนวน 901.8 หน่วย และมีแอนติบอดีจับกับไวรัส 6799.8 หน่วย
-
สูตรโมเดอร์นา-โมเดอร์นา-ไฟเซอร์ มีแอนติบอดียับยั้งไวรัสเข้าเซลล์และเพิ่มจำนวน 677.9 หน่วย และมีแอนติบอดีจับกับไวรัส 5195.6 หน่วย
-
สูตรซิโนแวค-ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ขณะนี้มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลการศึกษาจากตุรกี พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดส เมื่อได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น จะสามารถป้องกันโอไมครอนได้ดีกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เพราะมีระดับแอนติบอดีที่สูงกว่า และยังพบผู้ติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าด้วย
-
สูตรซิโนแวค-ซิโนแวค-โมเดอร์นา ขณะนี้ยังมีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ทราบจากงานวิจัยในปัจจุบัน คือ การฉีดวัคซีนชนิด mRNA อย่างโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้น จะสามารถป้องกันโอไมครอนได้ แม้ว่าประสิทธิภาพของตัวกระตุ้นอาจลดลงอย่างรวดเร็ว
ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อโอไมครอน
ผลวิจัยอังกฤษ-อิสราเอลชี้เข็ม 3,4 ลดป่วยหนักรับมือการระบาดใหม่
ด้านเว็บไซต์ Nytimes เปิดผลวิจัยจากอังฤษที่ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้น จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโควิดมากกว่า 1,000,000 ราย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมีโอกาสป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่า 81% เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และมีความเสี่ยงป่วยโอไมครอนรุนแรงต่ำกว่า 65% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ Reuters เปิดเผยผลวิจัยจากอิสราเอลที่ทดสอบการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 4 ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มาแล้วใน 4-5 เดือนก่อน จำนวน 150 ราย ด้วยว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นครั้งที่สองช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีป้องกันโอไมครอนได้มากขึ้น 5 เท่า ส่วนผลข้างเคียงที่พบจะมีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง ไม่แตกต่างจากการฉีดเข็มที่ 3 มากนัก ซึ่งโดยส่วนมากจะมีอาการปวดบริเวณฉีด มีไข้ และปวดหัว
อย่างไรก็ตามตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับให้โอไมครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ไวรัสนี้ได้ลามไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ อิสราเอลก็เช่นกัน ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ามาก แสดงให้เห็นว่าโอไมครอนแม้จะดื้อต่อวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อที่อาจลุกลามไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
อ้างอิงจาก :