“…แอฟริกาใต้ได้ศึกษาภูมิต้านทานของผู้ป่วยโอไมครอน พบว่าผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโอไมครอนได้ถึง 14-15 เท่า ขณะเดียวกันก็มีภูมิคุ้นกันต่อเดลต้าได้ด้วยราว 4 เท่า แสดงให้เห็นว่าการป่วยโอไมครอนไม่ได้มีผลร้ายอย่างเดียว อย่างไรก็ตามเน้นย้ำว่าไม่แนะนำให้ทุกคนไปรับเชื้อโอไมครอนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแทนการฉีดวัคซีน ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรวบรวมผู้ป่วยโอไมครอนในไทย เพื่อนำมาตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อไปว่าจะจัดการกับโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยเพียงใด…”
เป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ หรือ ‘B.1.1529’ ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ตระหนักถึงความน่ากังวลของโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว และประกาศยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 นับเป็นเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ถัดมาจากสายพันธุ์อัลฟ่า แกมม่า เบต้า และเดลต้า
โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์การระบาดของโอไมครอนภายในประเทศไทยว่า จากการติดตามผู้ติดเชื้อโอไมครอนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 - 3 ม.ค. 2565 พบผู้ป่วยสะสม 2,062 ราย
จังหวัดที่พบผู้ป่วยโอไมครอนเกิน 100 ราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 585 ราย ติดในประเทศ 7 ราย กาฬสินธุ์ 233 ราย ติดในประเทศ 231 ราย ร้อยเอ็ด 180 ราย ติดในประเทศทั้งหมด ภูเก็ต 175 ราย ติดในประเทศ 17 ราย ชลบุรี 162 ราย ติดในประเทศ 70 ราย สมุทรปราการ 160 ราย ติดในประเทศ 28 ราย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 282 ราย ครบถ้วนทุกเขตสุขภาพแล้ว กระจายไปทั่ว 54 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหายดีแล้ว และที่รักษาตัวก็อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกมาภายนอก
“การแพร่ระบาดของโอไมครอน จะค่อย ๆ ส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อของประเทศเพิ่มขึ้น แต่จะยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต เพราะผู้เสียชีวิตในวันนี้จะยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และตัวโอไมครอนเอง ก็ไม่ได้รุนแรง อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สายพันธุ์หลักยังคงเป็นเดลต้า ดังนั้นต้องระวังกลุ่มเสี่ยง 608 ให้มาก เพราะมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต ย้ำว่าการฉีดวัคซีนยังเป็นประโยชน์” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สายพันธุ์ที่เจอในฝรั่งเศส กลายพันธุ์จากของเดิม
สำหรับการมีกระแสช่าวว่ามีสายพันธุ์เกิดขึ้นมาอีก นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า สายพันธุ์ดังกล่าวไม่ใช่สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเมื่อช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกพบเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ใหม่อยู่ 2 ตัว คือ B.1.640 โดยเจอก่อนโอไมครอน หรือ B 1.1.529 จากนั้นตั้งให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การติดตาม (Variants Under Monitoring : VUM) แต่สายพันธุ์ B.1.640 กลับเงียบหายไป
กระทั่งองค์การอนามัยโลก ตระหนักถึงความน่ากังวลของโอไมครอน จึงประกาศยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern : VOC) อย่างไรก็ตามสายพันธุ์ B.1.640 ไม่ได้หายไป แต่กลับกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยออกมาให้เห็นอีกครั้ง แบ่งเป็น B.1.640.1 ซึ่งคือของเดิม ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว
และสายพันธุ์ B.1.640.2 ที่เจอในฝรั่งเศส โดยมีต้นทางมาจากคองโก พบผู้ป่วยสายพันธุ์นี้แล้วกว่า 400 ราย นอกจากนี้ยังมีการกลายพันธุ์ยอง Spike Protein และมีการขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง ที่สำคัญเจอ N501Y และ E484Q บ่งบอกให้เห็นความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เจอใน B.1.640.2 มีลักษณะเหมือนกับสายพันธุ์เบต้า แกมม่า และโอไมครอน นพ.ศุภกิจ จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะขอศึกษาสายพันธุ์ดังกล่าวต่อไป
การศึกษาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโอไมครอน
รอพิสูจน์ป่วยโอไมครอน สร้างภูมิฯสู้สายพันธุ์ตัวเอง-เดลต้าได้
ส่วนข้อมูลใหม่ของโอไมครอนนั้น นพ.ศุภกิจ เปิดเผยอีกว่า แอฟริกาใต้ได้ศึกษาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโอไมครอน พบว่าผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโอไมครอนได้ถึง 14-15 เท่า ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ ส่งผลให้หากติดเชื้อซ้ำ ภูมิคุ้มกันจะจัดการได้
ขณะเดียวกันก็มีภูมิคุ้นกันต่อเดลต้าได้ด้วยราว 4 เท่า แสดงให้เห็นว่าการป่วยโอไมครอนไม่ได้มีผลร้ายอย่างเดียว คาดว่าเดลต้าอาจจะน้อยลงในอนาคต อย่างไรก็ตามเน้นย้ำว่าไม่แนะนำให้ทุกคนไปรับเชื้อโอไมครอนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแทนการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรวบรวมผู้ป่วยโอไมครอนในไทย เพื่อนำมาตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อไปว่าจะจัดการกับโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยเพียงใด
‘ร้านอาหารกึ่งผับบาร์’ความเสี่ยงระบาดโควิดระยะต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การติดเชื้อทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับประเทศไทย ที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้หลายเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนที่กลับจากต่างจังหวัดสังเกตอาการตนเอง 14 วัน และขอให้ทำงานที่บ้านในสัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 3 วัน ก่อนกลับเข้าทำงาน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดของโควิดตอนนี้แตกต่างไปจากเดิม คือ เมื่อก่อนบริเวณที่ติดเชื้อสูงสุดจะเป็นกรุงเทพมหานคร แต่วันนี้ จ.ชลบุรี กลายเป็นจังหวัดที่ติดเชื้อสูงที่สุดในประเทศไทย และอีกจังหวัดที่ติดเชื้อสูงเช่นกัน คือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันหนาแน่น
ส่วนผู้เสียชีวิตนั้น ในระยะหลังพบผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้สูงอายุ ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นใครที่ยังลังเลผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ขอให้เลิกกังวล เพราะเราฉีดวัคซีนไปกว่า 100 ล้านโดส และผลก็พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นช่วยพากันไปฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
สำหรับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิดในระยะต่อไป คือ ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีนโยบายให้เปิด แต่ทางร้านมาขอเปิดเป็นร้านอาหารและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิดแล้ว ซึ่งพบบางร้ายมีการปิดม่านลง ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และเปิดเพลงพูดคุยกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และต้องดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไปเข้มงวดสถานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ หากที่ไหนไม่ทำตาม ขอให้ดำเนินการตามกฏหมายสูงสุด เพราะฉะนั้น ตรงไหนมีความเสี่ยงขอความกรุณาอย่าไป
ตั้งเป้าปี 65 พลิกโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
นพ.โอภาส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ถ้ากลับมาดูการคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของโควิดหลังปีใหม่ กระทรวงสาธารณสุขเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน และยังคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไปถึงการพบผู้ติดเชื้อสูงสุด 30,000 รายต่อวันในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
แต่หากฉีดวัคซีน ประชาชนให้ความร่วมมือ จะทำให้สถานการณ์การไม่รุนแรง ควบคุมการระบาดได้ ก็จะทำให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลง
ทั้งนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ดังนี้
ปี 2020 โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ไทยได้เรียนรู้วิธีการควบคุมโรคมาจากจีน คือ การควบคุมโรคแบบล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง รวมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น
ปี 2021 เกิดการกลายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เบต้า แกมม่า อัลฟ่า และเดลต้า โดยที่ผ่านมาเน้นความสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ จึงเริ่มเปิดประเทศ ไทยสามารถทำได้ดี ค่อย ๆ ทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการการควบคุมและดูแลป้องกันโรคระบาด รวมไปถึงมีการรณรงค์ฉีดวัคซีน และจัดหาวัคซีนให้ได้ 104 ล้านโดสภายในปี 2564 ซึ่งสามารถจัดหาให้ได้ 120 ล้านโดสมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้
และในแนวทาง ปี 2022 หรือ 2565 กระทรวงสาธารณสุขจะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขคาดหวังเอาไว้ คือ การปรับระบบการดูแลและป้องกันโควิดให้แก่ประชาชน เพื่อทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น และทำให้สามารถประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงความปกติมากที่สุด โดยมีปัจจัยที่จะทำให้โควิดกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นนั้นมี 3 อย่าง ดังนี้
-
ทำให้เชื้ออ่อนแรงลง ไม่ทำให้คนติดเชื้อแล้วเสียชีวิต ป่วยหนัก แพร่กระจายได้มากขึ้น
-
ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนปีนี้เป็นรูปแบบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว
-
จัดการสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยง เตรียมความพร้อมของระบบสาธารณะสุขรองรับ คือ มียารองรับ จะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ปรับมาตรการรับนักเดินทางเข้าไทย
นพ.โอภาส เปิดเผยถึงการปรับมาตรการเข้าสู่ประเทศไทยว่า เดิมการเดินทางเข้าประเทศไทยจะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ ซึ่งได้ปรับมาตรการ ดังนี้
-
แบบไม่ต้องกักตัว (Test and Go) ซึ่งประเทศไทยได้ปิดการลงทะเบียนไปแล้วเมื่อปลายปี 2564 เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโอไมครอน หลังพบอัตราการติดเชื้อ 2%
-
แบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ซึ่งมีใน จ.ภูเก็ต ต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย RT-PCR หากมีผลเป็นลบจะสามารถเดินทางในจังหวัดได้เป็นเวลา 7 วัน
-
แบบกักตัวตามปกติ สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วจะให้กักตัว 7 วัน และทำการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย RT-PCR หากผลเป็นลบจะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ แต่หากฉีดวัคซีนไม่ครบจะให้กักตัว 10 วัน
ไทยยังไม่พบเคสติดโควิด ร่วมไข้หวัดใหญ่
กรณีมีข้อกังวลอิสราเอลพบคนติดเชื้อโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ นพ.โอภาส เปิดเผยว่า การติดเชื้อร่วมสามารถพบได้ อย่างคนติดเชื้อแบคทีเรีย และมีไวรัสแทรกก็พบกันอยู่ ส่วนกรณีนี้ที่พบว่า ติดโควิดและมีไข้หวัดใหญ่นั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ ที่สำคัญการติดเช่นนี้ไม่ได้รวมกันจนกลายเป็นเชื้อใหม่ จึงขอให้อย่าเข้าใจผิด และอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากตามข่าวตามข้อมูลที่ออกมาพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีอาการรุนแรง และขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไม่เจอเคสลักษณะนี้เช่นกัน
"การติดเชื้อลักษณะนี้ ไม่เป็นไร เจอได้เช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นการผสมจนเกิดเชื้อใหม่ สิ่งสำคัญหากเราปฏิบัติตามคำแนะนำมาตรการในการป้องกันโรค อย่างการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโควิดก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ห่างจากวัคซีนโควิดประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ทางกระทรวงสาธารณสุขออกมาก่อนหน้านี้ ขออย่าตื่นตระหนก และขอให้มีการนำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างแท้จริง" นพ.โอภาส เปิดเผย