"...คดีข้าวจีทูจี ภาค 2 ที่มีผู้ถูกกล่าวหารวม 75 ราย โดยมี ‘นักการเมืองดัง’ ที่เป็น ‘ตัวละครใหม่’ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มวังน้ำยม ที่เหลือส่วนใหญ่เป็น ‘หน้าเดิม’ เช่น นายบุญทรง ที่อยู่ร่วมกลุ่มวังน้ำยม นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ อดีตผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มสยามอินดิก้า และบรรดาโรงสีข้าวรายอื่น ๆ ..."
เป็นธรรมเนียมของ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อเวียนมาถึงช่วงปีใหม่ ในการนำเสนอความคืบหน้าคดีทุจริตคอร์รัปชั่นต่าง ๆ ที่อยู่ในมือขององค์กรตรวจสอบ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็น ‘องค์กรหลัก’ ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ในช่วงปี 2565 มีแนวโน้ม ‘สารพัดคดี’ ที่มีบุคคลระดับ ‘บิ๊กเนม’ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา และคาดว่า ป.ป.ช. จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจำนวนไม่น้อย
อะไรบ้าง? สำนักข่าวอิศราอัพเดตให้ทราบดังนี้
1.คดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
คดีระบายข้าวจีทูจี ซึ่งทำสัญญาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีทั้งหมด 10 สำนวน ถูก ป.ป.ช. ไต่สวน 8 สำนวน โปร่งใส 2 สำนวน สมัยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น รมว.พาณิชย์ โดยคดีข้าวจีทูจีภาคแรก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุก ‘นักการเมืองชื่อดัง’ ไปแล้วหลายราย พ่วงด้วยอดีตผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มเอกชนนำโดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ เป็นต้น
ส่วนคดีข้าวจีทูจี ภาค 2 ที่มีผู้ถูกกล่าวหารวม 75 ราย โดยมี ‘นักการเมืองดัง’ ที่เป็น ‘ตัวละครใหม่’ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มวังน้ำยม ที่เหลือส่วนใหญ่เป็น ‘หน้าเดิม’ เช่น นายบุญทรง ที่อยู่ร่วมกลุ่มวังน้ำยม นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ อดีตผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มสยามอินดิก้า และบรรดาโรงสีข้าวรายอื่น ๆ
ความคืบหน้าเรื่องนี้มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ ‘นักการเมือง’ ชื่อดังระดับ ‘บิ๊กเนม’ ไปแล้วทั้งหมด และคาดว่าจะมีการสรุปสำนวนคดีดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาส 1/2565 ดังนั้นต้องรอดูชะตากรรมของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ อีกครั้งว่าคราวนี้จะรอดหรือจะร่วง?
2.คดีช่วยเหลือ ‘บอส อยู่วิทยา’
เป็นข่าวเกรียวกราวในช่วงปี 2563 ต่อมาถึงปี 2564 กรณีปรากฏ ‘คลิปเสียงลับ’ ว่า มีนายตำรวจ ‘ชั้นผู้ใหญ่’ ร่วมกับ ‘บิ๊กอัยการ’ ให้การช่วยเหลือไม่สั่งฟ้องคดีกล่าวหานายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ ‘บอส’ ผู้ต้องหาขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ตั้งคณะกรรมการตวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ก่อนจะสรุปรายงาน และส่งให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึง ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ไปดำเนินการต่อ
ความคืบหน้าเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายเป็นองค์คณะ) เพื่อตรวจสอบ มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้วอย่างน้อย 14 ราย ปรากฏชื่อนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด รวมถึงข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ทั้งที่ยังรับราชการอยู่ และที่เกษียณไปแล้ว รวมถึงพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวนด้วย
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในองค์คณะไต่สวน เปิดเผยว่า ตั้งเป้าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 14 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ‘คลิปเสียงลับ’ และสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องอีกหลายปาก
“กระบวนการเดินอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย” น.ส.สุภา ระบุ
3.คดีสินบนข้ามชาติ
มีอย่างน้อย 2 คดีที่ ป.ป.ช. คาดว่าจะไต่สวนแล้วเสร็จในช่วงปี 2565 ได้แก่ คดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของพีทีที.จีอี บริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันมีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ทั้งในส่วนของอดีตผู้บริหารระดับสูงของ พีทีที.จีอี และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง กรณีการซื้อขายที่ดิน และจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงอย่างน้อย 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
โดยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลเพิ่มเติมอีก 4 ราย รวมมีผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ 16 ราย โดยบางรายมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับ ‘อดีตนักการเมืองชื่อดัง’ บางรายเป็นคนใกล้ชิดอดีตผู้บริหารองค์กรอิสระบางแห่ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าได้ไต่สวนเพิ่มเติมแก่ ‘อดีตบิ๊ก ปตท.’ รายหนึ่งซึ่งถือเป็น ‘คีย์แมนสำคัญ’ ของโครงการนี้แล้วหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ที่ประชุมองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. มีการเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวเข้าที่ประชุมอย่างน้อย 4 ครั้งแล้ว แต่ยังได้รับเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถไต่สวนได้
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีดังกล่าว พบว่า เรื่องยังคงค้างเติ่งอยู่ที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของต่างประเทศในการส่งรายละเอียด แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. หรือแม้แต่กรรมการ ป.ป.ช.บางคนจะเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ต่างประเทศด้วยตัวเองก็ตาม ทำให้การแกะรอยเส้นทางการเงินยังคงทำได้อย่างยากลำบาก
แต่ในส่วนของคดีอาญานั้น มีกระแสข่าวมาว่า องค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว คาดว่าจะมีการสรุปสำนวนในช่วงต้นปี 2565 เช่นกัน
ขณะที่คดีสินบนข้ามชาติกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 โดยมีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 2562 นั้น มีการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เป็นอดีตกรรมการบริหาร (บอร์ด) การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย รวม 10 ราย (เดิม 11 ราย แต่เสียชีวิต 1 ราย) จากผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 26 ราย ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (ปัจจุบันเป็น รมว.อุตสาหกรรม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่เคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวน เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวองค์คณะไต่สวนดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่มีผู้ที่กำลังจะถูกชี้มูลความผิดขอเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องจึงอยู่ระหว่างการพิจารณา
ดังนั้นจึงมีการคาดกันว่าในช่วงปี 2565 คดีนี้น่าจะได้ข้อสรุปกันเสียที
4.คดีเอื้อเครือ ‘กระทิงแดง’ ใช้ที่ดินสาธารณะของป่าชุมชน
กรณีดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ กล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับพวกรวม 6 ราย ถูกกล่าวหาว่าลงนามในคำสั่งอนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนเพื่อขยายขอบเขตโรงงาน โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. 3 รายเป็นผู้รับผิดชอบสำนวน คือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ นายณรงค์ รัฐอมฤต และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์
ความคืบหน้ากรณีนี้ มีการรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่วนแล้ว และองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่มีการเพิ่มชื่อผู้ถูกกล่าวหารวมเป็น 17 ราย โดยนอกเหนือจาก พล.อ.อนุพงษ์ ยังมีชื่อของนายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ บริษัท เคทีดีฯ รวมถึงผู้บริหารบริษัทคือนายสราวุฒิ อยู่วิทยา และ น.ส.นุชรี อยู่วิทยา ด้วย
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดผยว่า กรณีนี้คาดว่าจะใช้เวลาไต่สวนให้แล้วเสร็จประมาณ 1 ปี โดยเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนด อย่างไรก็ดีเบื้องต้นต้องไล่เรียงพยานหลักฐานและข้อมูลก่อนว่า แต่ละคนถูกกล่าวหาเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายมาตราใดบ้าง
5.คดีเสาไฟกินรี
เป็นอีกหนึ่งคดีดังระดับท้องถิ่นที่สะเทือนถึงระดับประเทศ หลังจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสร้างเสาไฟประติมากรรมกินรีจำนวนมาก พร้อมกับปรากฏชื่อบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เป็นเอกชนรายเดียวผูกขาดรับงานเป็นคู่สัญญาทุกโครงการ รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท
ประเด็นนี้ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบทันที พร้อมกับมีข้อสรุปว่า โครงการเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2564 จำนวน 15 แห่ง รวม 32 สัญญา วงเงินรวม 940,404,953.09 บาท พบว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของ อบต.ราชาเทวะ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบสเปกงาน แต่มีกลุ่มบุคคลมาจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งตามหลักแล้วการจัดซื้อจัดจ้าง กองช่างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ
นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่า มีการกำหนดให้ผู้เสนอราคานำเอกสารพร้อมตัวอย่างชุดเสาไฟฟ้าประติมากรรมและอุปกรณ์ครบชุดมาแสดงเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ โดยกำหนดระยะเวลาให้นำมาแสดงนับจากวันที่มีประกาศประกวดราคาห่างกันตั้งแต่ 8 วัน ถึง 1 เดือน ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้เสนอราคารายอื่นสามารถเข้าแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการที่มีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามเงื่อนไขในเอกสารการประกวดราคาที่หน่วยงานกำหนด
ปัจจุบัน สตง.ส่งรายงานผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการให้แก่ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนแล้ว ควบคู่ไปกับที่ ป.ป.ช. แต่งตั้ง 5 คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวเช่นกัน โดยมีการกล่าวหานายก อบต.ราชาเทวะ กับพวก ปัจจุบันคดีดนี้งวดเข้าไปทุกขณะ และเตรียมจะแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายก อบต.ราชาเทวะ กับพวกแล้ว และคาดว่าในช่วงปี 2565 จะมีมติอย่างหนึ่งอย่างใด
6.คดีถุงมือยางแสนล้านขององค์การคลังสินค้า (อคส.)
เป็นอีกหนึ่งคดีที่สำนักข่าวอิศราเป็นหนึ่งสื่อผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลโครงการทำสัญญาจัดซื้อ ‘ถุงมือยาง’ ระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 500 ล้านกล่อง มูลค่ากว่า 112,500 ล้านบาท โดยมีการจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้าแก่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ฯ จำนวน 2 พันล้านบาท ทว่ากลับไม่มีสินค้านำมาใช้จริง จนนำไปสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐเข้าไปดำเนินการตรวจสอบอยู่ตอนนี้
ท่ามกลางข้อครหาว่ามี ‘บิ๊กนักการเมือง’ อยู่ ‘หลังฉาก’ ขบวนการอื้อฉาวข้างต้น ทว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฎชื่อของนักการเมืองถูกไต่สวนในกรณีนี้แต่อย่างใด
ความคืบหน้าปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.การตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง และมีคำสั่งไล่ออกข้าราชการที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ได้แก่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. นายเกียรติขจร แซ่ไต่ นายมูรธาธร คำบุศย์ อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกับคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด พบความเสียหายของ อคส. เบื้องต้น 2,003.77 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ อคส. โอนเป็นค่ามัดจำถุงมือยางดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมต้องชดใช้ 7 ราย โดย 3 ชื่อแรกคือ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ นายเกียรติขจร และนายมูรธาธร ที่ถูกไล่ออกไปก่อนหน้านี้
2.การตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าว และมีมติอายัดเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ที่เป็นค่ามัดจำดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ดีเบื้องต้นทำการอายัดได้แค่ 858 ล้านบาทเศษ เนื่องจากมีการยักย้ายถ่ายเทเงินออกไปบัญชีต่าง ๆ แล้ว ปัจจุบัน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างสืบเส้นทางการเงินเพื่อดำเนินการอายัดต่อไป
ในส่วนคดีอาญานั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปแล้ว และเปิดโอกาสให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เบื้องต้นมี 3 ราย ขั้นตอนหลังจากนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนจะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเตรียมสรุปสำนวนนำเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
ดังนั้นมีการคาดกันว่าในช่วงปี 2565 จะมีความคืบหน้าสำคัญเกี่ยวกับผลการไต่สวนคดีนี้จาก ป.ป.ช.
ทั้งหมดคือ 6 คดีสำคัญที่น่าจับตาที่คาดว่าจะมีบทสรุปในช่วงปี 2565 ยังไม่นับอีกหลายคดีที่เพิ่งมีการร้องเรียนกล่าวหา เช่น กรณีกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ กับพวก บริหารจัดการโควิด-19 โดยมิชอบ ที่ฝ่ายค้านเป็นผู้ร้อง หรือคดีเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และกรณีร่ำรวยผิดปกติ ที่สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป