“… สำหรับประเทศไทย ได้คะแนนรวมความมั่นคงด้านสุขภาพ 68.2 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดอันดับที่ 5 ของโลก แม้ว่าจะขยับอันดับสูงขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่อันดับที่ 6 แต่คะแนนรวมลดลง 0.7 คะแนน อย่างไรก็ตามไทยยังเป็นอันดับที่ 1 ในเอเซีย กลุ่มที่มีประชากร 50-100 ล้านคน และกลุ่มประเทศรายได้สูง…”
หลังประเทศไทยได้รับการประเมินจากทีมนักวิจัยระดับนานาชาติภายใต้การวิเคราะห์ผล 'GHS Index' หรือ 'ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ' ให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพพร้อมรับมือการระบาด ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ของโลก จากการประเมินทั้งหมด 195 ประเทศ ด้วยคะแนน 68.2 และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย
ส่วนประเทศที่มีผลการวิเคราะห์ GHS Index สูงที่สุด 10 อันดับแรก จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 79.5 คะแนน 2.ออสเตรเลีย 71.1 คะแนน 3.ฟินแลนด์ 70.9 คะแนน 4. แคนาดา 69.8 คะแนน 5. ไทย 68.2 คะแนน 6. สโลวาเนีย 67.8 คะแนน 7. สหราชอาณาจักร 67.2% 8. เยอรมนี 65.5 คะแนน 9. เกาหลีใต้ 65.4 คะแนน และ 10. สวีเดน 64.9 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม
แต่คะแนน GHS Index นี้ บ่งบอกถึงความพร้อมในการรับมือการระบาดของโลกและประเทศไทยอย่างไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงจากรายงานดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ หรือ Global Health Security Index (GHS) ประจำปี 2021 ฉบับเต็ม ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
GHS Index จัดทำโดยทีมนักวิจัยจากโครงการ Nuclear Threat Initative ศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ และ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร The Economist ได้ชื่อว่าเป็นการประเมินความมั่นคงด้านสุขภาพที่ครอบคลุมที่สุดฉบับแรก ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการประเมินถัดจากปี 2019
การประเมินจะวิเคราะห์ผลจาก 37 ตัวชี้วัด ที่อยู่ใน 6 หมวดหมู่ของการมีความมั่นคงด้านสุขภาพ ได้แก่ 1.) การป้องกันการแพร่ระบาด 2.) ตรวจจับโรคและระบบติดตามผู้ป่วย 3.) การรับมือต่อการแพร่ระบาด 4.) ระบบสาธารณสุข 5.) การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และ 6.) การจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม
ผลการประเมินในภาพรวมปีนี้ ซึ่งเก็บรวบรวมตั้งแต่ ส.ค.2563-มิ.ย.2564 พบว่าทุกประเทศยังเตรียมความพร้อมไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับโรคระบาด โดยดูจากคะแนนค่าเฉลี่ยของทุกประเทศอยู่ที่ 39.8 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2019 มากนัก และไม่มีประเทศใดที่ทำคะแนนในระดับสูงสุด หรือมากว่า 80 คะแนน
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นข้อค้นพบอีก 5 ประเด็น
-
หลายประเทศรวมทั้งประเทศที่มีรายได้สูง กว่า 155 ประเทศ จากทั้งหมด 195 ประเทศ ไม่ได้จัดสรรกองทุนระดับชาติภายใน 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการกับโรคระบาด โดยประเทศที่มีการจัดสรรกองทุนพบว่ามีเพียง 2 ประเทศที่เป็นมีรายได้ต่ำ และ 90 ประเทศที่บริจาคเงินให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ครบถ้วน เป็นประเทศที่มีรายได้สูงถึง 14 ประเทศ
-
หลายประเทศปรับปรุงเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีการพัฒนาระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง ทั่วโลกกว่า 70% มีระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นคลินิก โรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพชุมชน รวมถึงคนและสิ่งอำนวยความสะดวก ขณะที่มีเพียง 25% ที่ได้รับการปรับปรุงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร
-
ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรน้อยที่สุดจะมีความเสี่ยงมากที่สุด ความเชื่อมั่นในรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดการโรคระบาด เพราะหากประชาชนมั่นใจในรัฐบาล ย่อมมีการปฏิบัติตามนโยบาย ขณะนี้กว่า 160 ประเทศมีความเชื่อมั่นของประชาชนในระดับต่ำไปจนถึงปานกลาง และมีเพียง 16 ประเทศเท่านั้นที่ทำคะแนนในระดับสูงสุด
-
ประเทศต่างๆ ยังละเลยประชากรกลุ่มเปราะบาง มีเพียง 33 ประเทศเท่านั้นที่มีการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินให้กับกลุ่มเสี่ยงนี้ ส่วนอีก 149 ประเทศ จากทั้งหมด 195 ประเทศ ไม่ได้ระบุถึงการสื่อสารในกลุ่มดังกล่าว
-
ประเทศต่างๆ ไม่ได้เตรียมการป้องกันเหตุการณ์ทางชีวภาพของการระบาดใหญ่ กว่า 126 ประเทศ หรือเกือบ 2 ใน 3 ยังไม่มีแผนหรือดำเนินการตามแผนรับมือด้านสาธารณสุขต่อการระบาดของโรค โดย 73% ของประเทศทั่วโลก ไม่มีความสามารถในการอนุมัติเร่งด่วนสำหรับมาตรการ เช่น วัคซีน หรือยาต้านไวรัส และ 178 ประเทศได้คะแนนน้อยกว่า 50 คะแนน สำหรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของรัฐบาล การฝึกอบรม การตรวจสอบบุคลากร การแพร่สารติดเชื้อ และการคัดกรองข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามพัฒนาระบบสาธารณสุขใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นมาตรการเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งการจะได้รับคะแนนดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพเต็มจะต้องแสดงให้เห็นแผนที่จะนำไปสู่การควบคุมโรคในระยะยาว
ไทยเขยิบขึ้นอันดับ 5 ของโลก-คะแนนตรวจจับโรคขึ้นที่ 1
สำหรับประเทศไทย ได้คะแนนรวมความมั่นคงด้านสุขภาพ 68.2 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดอันดับที่ 5 ของโลก แม้ว่าจะขยับอันดับสูงขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่อันดับที่ 6 แต่คะแนนรวมลดลง 0.7 คะแนน อย่างไรก็ตามไทยยังเป็นอันดับที่ 1 ในเอเซีย กลุ่มที่มีประชากร 50-100 ล้านคน และกลุ่มประเทศรายได้สูง
เมื่อแบ่งตาม 6 ปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในโลกด้านการเฝ้าะวัง ตรวจับโรคและระบบติดตามผู้ป่วยอยู่ที่ 91.5 คะแนน ขณะที่คะแนนด้านการป้องกันการแพร่ระบาดอยู่ที่ 59.7 คะแนน การรับมือต่อการแพร่ระบาด 67.3 คะแนน ระบบสาธารณสุข 64.7 คะแนน การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 68.9 คะแนน และการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม 57.2 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกทั้งหมด มีรายละเอียดดังนี้
-
คะแนนด้านการป้องกันการแพร่ระบาดในปี 2021 ลดลงจากปี 2019 เฉลี่ย 4.2 คะแนน แบ่งเป็น คะแนนการป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรค (AMR) โรคที่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ความปลอดภัยทางชีวภาพ จริยธรรมด้านการวิจัย เทียบเท่าปี 2019 แต่คะแนนด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนลดลง 25 คะแนน เหลือ 75 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม
-
คะแนนด้านด้านการตรวจจับโรคและระบบติดตามผู้ป่วยในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เฉลี่ย 8.3 คะแนน แบ่งเป็น คะแนนประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของห้องปฏิบัติการ การเข้าถึงข้อมูลการเฝ้าระวัง และการมีบุคลากรด้านระบาดวิทยา เทียบเท่าปี 2019 แต่คะแนนการรายงานการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 25 คะแนน ได้รับ 100 คะแนนเต็ม และคะแนนการสอบสวนโรคเพิ่มขึ้น 25 คะแนน รวมเป็น 75 คะแนน
-
คะแนนด้านการรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในปี 2021 ลดลงจากปี 2019 เฉลี่ย 11.3 คะแนน แบ่งเป็น คะแนนการวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน การวางแผนการออกกำลังกาย การอนุมัตินโยบายฉุกเฉิน การเชื่อมโยงด้านสาธารณสุขและความมั่นคง และการสื่อสารจัดการความเสี่ยง เทียบเท่าปี 2019 แต่คะแนนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารลดลง 3.8 คะแนน เหลือ 79.7 คะแนน และคะแนนการจำกัดการเดินทางลดลงเหลือ 0 คะแนน
-
คะแนนระบบสาธารณสุขในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เฉลี่ย 2.4 คะแนน แบ่งเป็น คะแนนการบริหารจ้ดการระบบสุขภาพและบุคลากรการแพทย์ มาตรการทางการแพทย์และการปรับใช้บุคคลากร การเข้าถึงบริการสุขภาพ การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ความสามารถในการทดสอบและอนุมัติมาตรการรับมือทางการแพทย์ใหม่ เทียบเท่าปี 2019 แต่คะแนนความสามารถด้านสุขภาพของคลินิก โรงพยาบาล และศูนย์ดูแลชุมชนเพิ่มขึ้น 16.6 คะแนน รวมเป็น 56.2 คะแนน
-
คะแนนการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2019 เฉลี่ย 2.4 คะแนน แบ่งเป็น การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล IHR เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด ข้อตกลงการข้ามพรมแดนเกี่ยวกับการรับมือเหตุฉุกเฉินสาธารณะและสาธารณสุข ความมุ่งมั่นในการแบ่งปันข้อมูลและตัวอย่างทางพันธุกรรมและชีวภาพ เทียบเท่าปี 2019 แต่คะแนนข้อตกลงระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 6.3 คะแนน รวมเป็น 96.9 คะแนน และคะแนนการเงินเพิ่มขึ้น 8.3 รวมเป็น 75 คะแนน
-
คะแนนการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคมในปี 2021 ลดลงจากปี 2019 เฉลี่ย 1.7 คะแนน โดยคะความเสี่ยงทางการเมืองและความมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็น 41.6 คะแนน ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นเป็น 63.1 คะแนน ความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน 50 คะแนน จุดอ่อนด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 70.7 คะแนน และความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมลดลงเหลือ 60.4 คะแนน
บทเรียนจากอเมริกา ชี้ความเชื่อมั่นในผู้นำประเทศก็สำคัญ
สหรัฐอเมริกา แม้จะมียอดรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่กลับได้รับการประเมินจาก GHS Index ว่าสามารถป้องกันและตอบสนองต่อโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 1 แต่ก็อยู่ในกลุ่มของประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิดเอง สหรัฐฯก็มีช่องว่าในความสามารถจัดการโควิดเช่นกัน ที่สำคัญมีคะแนนความเชื่อมั่นสาธารณะต่ำที่สุด เพราะประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อคำแนะนำของผู้นำประเทศำ เป็นสาเหตุที่ให้ยอดระบาดและเสียชีวิตสูง
นอกจากนี้จุดอ่อนในระบบสุขภาพของสหรัฐฯ คือ การเข้าถึงที่จำกัด และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และเตียงในโรงพยาบาลต่อหัวต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถรักษาและหยุดการแพร่กระจายจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และแม้จะรู้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาของโควิดก็กลับล่าช้า
แม้จะมีช่องว่างเหล่านั้น แต่ผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้ายังมั่นใจในความสามารถของประเทศในการรับมือการระบาดใหญ่และเลือกที่จะไม่แก้ไขข้อบกพร่อง พวกเขาจึงยังล้มเหลว นอกจากนี้ แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีห้องปฏิบัติการระดับโลกที่มีความสามารถในการพัฒนาชุดทดสอบโควิดของตนเอง แต่ข้อจำกัดของรัฐบาลกลางทำให้ห้องปฏิบัติการไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้โดยไม่มีใครตรวจพบ
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำทางการเมืองในปี 2564 ได้รีเซ็ตแนวทางของประเทศใหม่ ทำให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ซึ่ง GHS Index แนะนำว่า สหรัฐอเมริกาควรใช้การเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อปรับปรุงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ แต่คำถามคือจะสามารถดำเนินการปรับปรุงเหล่านั้นต่อไปในระยะยาวได้หรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้หรือไม่
นิวซีแลนด์พัฒนาก้าวกระโดดติดอันดับที่ 13 ของโลก
นิวซีแลนด์ เป็นอีก 1 ประเทศที่พัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างก้าวกระโดด เขยิบขึ้นมาถึง 12 ลำดับ ทำให้ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 13 ของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการนำข้อมูล GHS Index ปี 2019 และการประเมินสมรรถนะด้านสุขภาพระหว่างประเทศของ JEE ไปพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขหลายด้าน ทั้งด้านการเฝ้าระวัง ตรวจหาเชื้อและติดตามผู้ป่วย และพัฒนาในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลต่างๆ รวมถึงยังพัฒนาประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการ การบริหารจัดการแรงงานด้านการระบาด การรับมือกับการระบาดและการสื่อสาร
โดยในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้นำประเทศนิวซีแลนด์ใช้การตัดสินใจนโยบายต่างๆ ด้วยการอิงตามวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เช่น การล็อกดาวน์ประเทศ เป็นต้น และมุ่งมั่นพัฒนาประเทศตามมาตรฐานสากล ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนของนิวซีแลนด์เพิ่ม
สรุปได้ว่าระบบสาธารณสุขไทยจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก หากไทยมีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวโอกาสที่ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ดีขึ้นย่อมมีความเป็นไปได้