‘GHS Index’ประเมินความพร้อมการรับมือโรคระบาด 195 ประเทศทั่วโลก จัดอันดับไทยติดท็อป 5 ประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพด้วยคะแนน 68.2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Index : GHS Index) โดยทีมนักวิจัยโครงการ Nuclear Threat Initative ศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ และจอห์น ฮอพกินส์บลูมเบิร์ก คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้จัดอับประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ จากการประเมินความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ 2021 ผ่านประเมิน 6 ปัจจัยครอบคลุมประเด็น การป้องกันการแพร่ระบาด การตรวจหาเชื้อและติดตามดูแลผู้ป่วย การรับมือต่อการแพร่ระบาด ระบบสาธารณสุข การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม
โดยประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 2.ออสเตรเลีย 3.ฟินแลนด์ 4. แคนาดา 5. ไทย 6. สโลวาเนีย 7. สหราชอาณาจักร 8. เยอรมนี 9. เกาหลีใต้ และ 10. สวีเดน
รายงานนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 5 ด้วยคะแนนในภาพรวม 68.2 จาก 100 คะแนน และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เมื่อแบ่งตามปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในด้านการตรวจจับหาเชื้อและติดตามผู้ป่วยอยู่ที่ 91.5 คะแนน
ขณะที่คะแนนด้านการป้องกันการแพร่ระบาดที่ 59.7 คะแนน การรับมือต่อการแพร่ระบาด 67.3 คะแนน ระบบสาธารณสุข 64.7 คะแนน การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 68.9 คะแนน และการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม 57.2 คะแนน
อนึ่งก่อนหน้านี้ในรายงาน GHS Index ปี 2562 ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่อันดับที่ 6 ด้วยคะแนนในภาพรวม 73.2 จาก 100 คะแนน แบ่งเป็น การป้องกันการแพร่ระบาด 63.9 คะแนน การตรวจหาเชื้อและติดตามดูแลผู้ป่วย 83.2 คะแนน การรับมือต่อการแพร่ระบาด 78.6 คะแนน ระบบสาธารณสุข 62.3 คะแนน การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล 66.5 คะแนน และการจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม 58.9 คะแนน
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการได้รับจัดอันดับติดท็อป 5 ประเทศมั่นคงด้านสุขภาพในการรับมือโรคระบาดด้วยว่า การประเมินดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของ GHS Index นี้ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสาธารณสุขและการจัดการกับการแพร่ของโรคระบาดที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับระดับสากล
ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง แต่นายกรัฐมนตรียังเน้นการเฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศทุกราย สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อในลักษณะคลัสเตอร์รวมทั้งส่งตัวอย่างผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัย เพื่อตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนทันทีด้วย เพื่อควบคุมไวรัสให้อยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกันยังกำชับเรื่องการสวมหน้ากากของชาวต่างชาติ ทั้งกรณี Test & Go และ Sandboxด้วย