"...การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ให้เจ้าพนักงานทางหลวงแจ้งต่อพนักงานสอบสวนด้วยว่า ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรถบรรทุกในฐานะเป็นผู้ใช้ จ้าง วานของผู้ขับขี่รถบรรทุกคันก่อเหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ด้วย..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข้อเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินและถนนหมดอายุการใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนน และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน
**********
@ ความเป็นมาของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เพื่อเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินและถนนหมดอายุการใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนน และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งการเสนอมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 58/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีความเป็นมาของการจัดทำข้อเสนอแนะดังนี้
1. เนื่องด้วยในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดซึ่งส่งผลเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดิน จากปัญหากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด สร้างความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดิน อันเนื่องมาจากการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดของผู้ประกอบการกิจการรถบรรทุก และเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนเพิ่มขึ้น เนื่องจากถนนเสียหายและหมดอายุ การใช้งานก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติภัยบนท้องถนนและเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีบำรุงรักษาทางหลวง ทำให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ ที่เกิดจากรถบรรทุกน้ำหนักเกินจนเป็นความเคยชินและอาจทำให้เกิดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ
2. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2528 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการ ป.ป.ป.) ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อนายกรัฐมนตรี โดยเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาระยะสั้น รวม 10 ข้อ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การเปลี่ยนเครื่องชั่งน้ำหนักแบบติดตั้งถาวรและแบบเคลื่อนที่ทั้งหมด ให้เป็นแบบที่บันทึกหลักฐานด้วยเครื่องอัตโนมัติ วิธีแก้ไขปัญหาระยะยาว รวม 2 ข้อ คือ (1) การปรับปรุงลักษณะและสภาพรถ และ (2) การปรับปรุงระบบขนส่ง
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 ตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ยกเว้นการมอบให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. เป็นเจ้าของเรื่องในการจัดทำจุดตรวจ (Spot Check) แต่ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมศึกษาการจัดระบบการขนส่งสินค้าประจำเส้นทาง ตามแนวทางที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกให้ตรวจตราจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยเคร่งครัด
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อคณะรัฐมนตรี ประกอบไปด้วยมาตรการระยะสั้น โดยให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงพิจารณาสำรวจความเหมาะสม และการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักถาวรทดแทนของเดิมที่มีอยู่ซึ่งได้ปิดดำเนินการไปแล้ว และจัดตั้งเพิ่มเติม โดยให้มีด่านชั่งน้ำหนักถาวรกระจายอยู่ทั่วไปบนทางหลวงสายสำคัญ ๆ ที่มีรถบรรทุกหนาแน่น และให้มีการปรับปรุงหน่วยเฉพาะกิจ (Spot Check) ให้มีอำนาจตรวจสอบงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ประจำและมีอำนาจตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกพร้อมกันไปด้วย และมาตรการระยะยาวโดยให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวง พิจารณา หาแนวทางและเสนอรัฐบาล เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรับภาระลงทุนในการจัดตั้ง ด่านชั่งน้ำหนักถาวรที่ทันสมัย และสามารถตรวจสอบรายการชั่งน้ำหนักได้
โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ลงมติว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2529 โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) เร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้แล้ว
4. แต่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแล้วนั้น ยังปรากฎให้เห็นโดยทั่วไปว่า มีรถบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดวิ่งอยู่ตามทางหลวงสายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ในการประชุมครั้งที่ 58/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบให้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อคณะรัฐมนตรี และได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564
มีรายละเอียดของข้อเสนอแนะดังนี้
1. การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ให้เจ้าพนักงานทางหลวงแจ้งต่อพนักงานสอบสวนด้วยว่า ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรถบรรทุกในฐานะเป็นผู้ใช้ จ้าง วานของผู้ขับขี่รถบรรทุกคันก่อเหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ด้วย
(หมายเหตุ มาตรา 84 ระบุว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
วรรคสอง ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นวรรคสาม ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น)
2. พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ เพื่อจัดการกับรถบรรทุกที่กระทำความผิดอย่างเข้มงวด ตลอดจนต้องมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการจับกุมผู้กระทำความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และควบคุมการใช้ถนนของรถบรรทุก
3. จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย
4. ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตาม ที่กฎหมายกำหนด เช่น ศูนย์กระจายสินค้าต่าง ๆ ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด
5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion: HSWIV) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion: BVIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก ซึ่งจะส่งผลให้การบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียม เสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ให้สำนักงานกลางชั่งตวงวัด ดำเนินการพิจารณารับรองเครื่องชั่ง เพื่อให้อุปกรณ์ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเป็นมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้ในกระบวนการกำกับบังคับใช้กฎหมายได้
6. เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น เพื่อแสดงให้เห็น ถึงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ (ดูข้อมูลในอินโฟกราฟิกประกอบ)
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียดมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินของ ป.ป.ช. ที่เสนอต่อ ครม.
ส่วนปัญหาเรื่องนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงจากนี้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูกันต่อไป