“..จากปรากฎการณ์ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปการศึกษา จากปี 2563 เนื่องมาจนถึงปี 2564 จึงนับเป็นจุดเด่นของเด็กและเยาวชนไทยที่สังคมไทยควรให้การสนับสนุน ให้ความเคารพต่อสิทธิเด็ก และรับฟังข้อเสนอแนะของพวกเขาอย่างดุษฎี มิใช่กดทับไม่ให้พวกเขาแสดงออก..”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เผยแพร่รายงานรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น (ก้าวหน้า) ประจำปี 2564
จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในรอบปี 2564 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ
เมื่อพิจารณาถึงจุดเด่น พบว่า ในช่วงปี 2564 มีความโดดเด่นหรือความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนเพียง 6 เรื่อง
ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มเด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนเป็นด้านหลัก สาระสำคัญของความโดดเด่นทั้ง 7 เรื่อง มีรายละเอียด ดังนี้
-
ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการปฏิรูปการเมือง
รอบปี 2564 ในภาพรวม เด็กและเยาวชนไทยมีความตื่นตัวมากในการมีส่วนร่วมปฏิรูปทางการเมืองในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัว (children as active citizen) ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนทั่วโลกที่มีความห่วงใยต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง มีเด็กจำนวนมากกล้าแสดงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาที่ล้าหลังของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งทำให้คุณภาพทางการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำก้าวไม่ทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เด็กและเยาวชนไทยมีความกล้าหาญวิพากษ์วิจารณ์อำนาจนิยมในโรงเรียน มีการรวมกลุ่มนักเรียนแต่ละภูมิภาคขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม
การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนไทยเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามภาคยานุวัติรับรองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาตรา 12, 13, 15 ที่กำหนดว่า เด็กมีสิทธิรวมกลุ่มโดยสันติ มีสิทธิชุมนุมโดยสงบตามหลักการประชาธิปไตย มีสิทธิในการแสดงออก และสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่อาจถูกจำกัดได้
แต่การออกมาแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบทั้งในพื้นที่สถานศึกษา และพื้นที่สาธารณะ ทำให้เด็กผู้ตื่นตัวถูกคุกคามเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับขนบธรรมเนียม ความคิด ความเชื่อของผู้ใหญ่ นำมาซึ่งการถูกคุกคาม ติดตาม ทำร้ายร่างกายและดำเนินคดีทางอาญากับเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2564 มีการรวมกลุ่มทั้งสิ้นกว่า 1,800 ครั้งทั่วประเทศ มีประชาชนอย่างน้อย 1,300 คนถูกดำเนินคดี ในจำนวนนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกว่า 180 คนได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่ม และได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเด็กไปแล้วกว่า 115 คน ซึ่งเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มีอายุเพียง 14 ปี และเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น
จากปรากฎการณ์ความตื่นตัวของเด็กและเยาวชนในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปการศึกษา จากปี 2563 เนื่องมาจนถึงปี 2564 จึงนับเป็นจุดเด่นของเด็กและเยาวชนไทยที่สังคมไทยควรให้การสนับสนุน ให้ความเคารพต่อสิทธิเด็ก และรับฟังข้อเสนอแนะของพวกเขาอย่างดุษฎี มิใช่กดทับไม่ให้พวกเขาแสดงออก
-
การรับรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ในช่วงปี 2564 จะเห็นได้ว่า สังคมไทยตื่นตัวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะได้เห็นบรรยากาศของขบวนการ LGBTIQ+ และคนรุ่นใหม่มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมมากขึ้น และในหลายครั้งก็ยังได้มีบทบาทเป็นผู้นำในการชุมนุม
อีกทั้งประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ ก็มีความตื่นรู้ การนำเสนอข่าวสาร สาระ บันเทิงต่าง ๆ ผู้ผลิตก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ต้องหลีกเลี่ยงการเล่นมุขตลก การใช้ภาษา การแสดงที่อาจเข้าข่ายเป็นการเหยียดเพศ เพราะอาจส่งผลให้เกิดกระแสในทางลบต่อผู้ผลิต และผู้นำเสนอสื่อได้
ภาคส่วนของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เริ่มมีการประกาศนโยบายชัดเจนว่า ยอมรับความหลากหลายทางเพศ มีการอนุญาตให้นิสิตนักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) สามารถแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพของตนได้ ภาคธุรกิจ นอกจากบริษัทธุรกิจรุ่นใหม่จะมีการรับสมัครบุคคลข้ามเพศ ให้เสรีแก่พนักงานในการแต่งกายตามเพศสภาพได้แล้ว บางองค์กรเริ่มมีนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว ส่วนด้านการตลาด ก็มีการออกผลิตภัณฑ์ บริการต่าง ๆ ที่เข้าถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ภาพรวมจึงพอที่จะกล่าวได้ว่า แม้ในภาคนโยบายรัฐจะยังไม่มีอะไรที่เป็นความก้าวหน้าต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่าที่ควร แต่ในภาคธุรกิจ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่บ้างพอสมควร
-
การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง
ปี 2564 เป็นปีที่มีความตื่นตัวที่จะมีกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิ การมีตัวตน การส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดจนชนเผ่าพื้นเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการบรรจุการคุ้มครองดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ไว้เป็นครั้งแรกโดยบัญญัติในมาตรา 70 ว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และมอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่าง ทำให้ในช่วงปี 2564 ได้มีร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมาถึง 5 ร่าง โดยเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการต่อไป 3 ร่าง ได้แก่
-
ร่างของเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมือง
-
ร่างของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร
-
ร่างของพรรคก้าวไกล นำโดย ส.ส.ชาติพันธุ์ม้ง ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์
ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 ร่าง คือ
-
-ร่างของรัฐบาลซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
-
ร่างของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อและเสนอต่อประธานรัฐสภา
-
ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบในวาระที่ 1 ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ที่จะเป็นการพิจารณารายมาตรา และวาระ 3 ที่จะมีการโหวตในภาพรวม ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังกล่าวชุดหนึ่งที่มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ เข้าไปด้วย ถ้าหากผ่านขั้นตอนทั้งสามวาระนี้แล้ว ก็จะนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ร่างกฎหมายนี้ มีสาระสำคัญคือการมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานและอุ้มผู้อื่น และมีการพิจารณารวมกับร่างกฎหมายคล้ายกันนี้อีก 3 ฉบับ คือ 1) ร่างของกระทรวงยุติธรรมและคณะรัฐมนตรี 2) ร่างของคณะกรรมาธิการ 3) ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะนำร่างของคณะรัฐมนตรีมาพิจารณาเป็นหลักในวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็มองว่า การรับหลักการครั้งนี้อาจมีการนำจุดเด่นของร่างกฎหมายที่เหลือที่ยังไม่เข้าสภาฯ มาปิดจุดอ่อนที่ทำให้การซ้อมทรมาน และการอุ้มหาย กระทำได้ยากมากขึ้น
ที่ผ่านมา ทางองค์การสหประชาชาติ ได้จัดทำ ‘อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’ ขึ้นเมื่อปี 2527 และ ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ’ เมื่อปี 2549
โดยประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับแรกเมื่อปี 2550 และลงนามแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับหลังเมื่อปี 2555 ทำให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันที่จะต้องตรากฎหมายภายในประเทศ เพื่อนำพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับมาปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า ‘กฎหมายอนุวัติการ’ ขึ้น โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์การสหประชาชาติ ได้กระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยรีบออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย และองค์กรต่าง ๆ ก็ได้ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายอนุวัติการ ชื่อว่า “(ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ร่างกฎหมายอนุวัติการของรัฐบาลและร่างๆ อื่นทั้ง 4 ฉบับ
ขณะนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ภาคประชาสังคม และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้รัฐสภารีบพิจารณาและผ่าน (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... โดยหวังว่ารัฐสภาจะไม่เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้กฎหมายสามารถป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมย่ำยีศักดิ์ศรีและการอุ้มหายต่อไป
-
สื่อใหม่ออนไลน์ กับบทบาทปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มพื้นที่ข่าวให้ภาคประชาชน
รอบปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชนหลายกรณีที่เป็นปัญหาสังคม การเมือง สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมีการประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลา สถานที่ และขยายเวลาประกาศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงการต้องเว้นระยะห่าง ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก เสรีภาพในการทำข่าวถูกจำกัด ส่งผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในหลายมิติ
แต่มีการเกิดขึ้นของสื่อขนาดเล็กที่เป็นทางเลือกใหม่ หันมาปรับใช้วิธีการทำงานด้วยต้นทุนต่ำ เผยแพร่ข่าวสารทางออนไลน์ อาศัยเทคโนโลยี อุปกรณ์ที่คล่องตัว รวมทั้งนำความรู้ความเข้าใจประเด็นปัญหาต่าง ๆ นำเสนอเนื้อหาได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันต่อสถานการณ์ และตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ทันเหตุการณ์
แม้จะมีความพยายามกำกับการนำเสนอของสื่อบางสำนักในประเด็นที่อ่อนไหวโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคนในรัฐบาลอยู่เป็นระยะ ๆ แต่สื่อใหม่เหล่านี้ยังคงทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่เป็นความจริง รอบด้าน มีคุณค่าทางสิทธิมนุษยชน
-
บทบาทขององค์กรภาคประชาชนและชุมชนเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารรณสุขในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ของประชาชน
ปี 2564 เป็นปีที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะการวางแผนรับมือโรคระบาดที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเรื่องการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะให้บริการแก่ประชาชน ภาระงานที่หนักเกินกำลังของบุคลากรทางการแพทย์
ในขณะที่ยังมีประชาชนอีกมากมายเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองและการรักษา ชุมชนและองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรได้ผันตัวเองมามีบทบาทในการทำงานเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำงานได้เข้าถึงบริการสาธารรณสุขในช่วงวิกฤตของโควิด-19 ทำให้ทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาคประชาสังคม ประชาชนในพื้นที่ในหลากหลายอาชีพต่างก็ทำงานหลายอย่างหลายประการเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของตนเข้าถึงบริการสาธารณสุข การเยียวยา และการฟื้นฟูทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม คือภาคีหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ คือพลังอันเข้มแข็งของสังคมไทย ที่ได้แสดงบทบาทที่สำคัญ และโดดเด่นตลอดปี 2564 ในการพาสังคมไทย และกลุ่มเปราะบางในสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ไปให้ได้
-
ความสำเร็จของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ฟ้องศาลปกครองถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมทีมทนายความจากสภาทนายความ เข้ารับฟังคำพิพากษาคดีดำที่ ส1373/2556 แดงที่ ส.5/2564 ที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา รวมตัวกันยื่นฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมป่าไม้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีสาขาพระแสง และบริษัทน้ำมันปาล์มเอกชนแห่งหนึ่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ต่อศาลปกครองกลาง โดยยื่นฟ้องต่อกรมที่ดินขอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และการยื่นฟ้องกรมป่าไม้ให้เร่งดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันปาล์มที่บุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้และให้ออกจากที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ภาครัฐนำทรัพยากรที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในรูปแบบของโฉนดชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดิน
ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยมีคำพากษาให้เพิกถอนที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 7 แปลง จากจำนวนทั้ง 10 แปลง และโฉนดที่ดิน จำนวน 13 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งสั่งให้กรมป่าไม้ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง ดำเนินการกับบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ออกจากพื้นที่ภายใน 180 วัน นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่เพิกถอนที่ดินที่ออกโดยมิชอบนั้นศาลเห็นว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ปัจจุบันสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้เข้าถึงสิทธิในที่ดิน เดินหน้าผลักดันทั้งระดับนโยบายในระดับประเทศ จังหวัด หรือ ท้องถิ่น เพื่อให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการสรรที่ดินให้เกษตรหรือแรงงานไร้ที่ดินมาโดยตลอด แม้ว่าในกระบวนการต่อสู้จะเกิดการคุกคามในรูปแบบใดก็ตาม สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ก็ไม่หวั่นและยืนหยัดต่อสู้ให้มีการจัดสรรที่ดินในรูปแบบของกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อเกษตรกรหรือแรงงานไร้ที่ดินต่อไป