“…ในช่วงการระบาดของอู่ฮั่น เบต้า และเดลต้า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการป่วยโควิดมาก่อน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ต่ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่หลังจากเดือน พ.ย.2564 เป็นต้นมา ที่มีโอไมครอนเข้ามา พบว่าการติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นมากสูงกว่าสายพันธุ์เดิม 2.39 เท่า …”
‘โอไมครอน’ เป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เนื่องจากมีแนวโน้มกระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า
นับเป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตามหลังสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ), เบต้า (แอฟริกาใต้), แกมม่า (บราซิล) และเดลต้า (อินเดีย)
‘ภูมิคุ้มกันในร่างกาย’ เปรียบเสมือนปราการด่านแรกในการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเยือน หากเราไม่มี อาจทำให้โรคภัยไข้เจ็บตามมา ดังนั้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการต่อสู้กับเชื้อโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด ทั้งการมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหลังหายป่วยแล้ว หรือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ CNN เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ผลการศึกษาจากแอฟริกาล่าสุดแสดงให้เห็นว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสามารถทำให้เสี่ยงติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ อย่างสายพันธุ์เบต้าหรือเดลต้า แม้แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว
ทีมนักวิจัยจากแอฟริกาใต้ดึงข้อมูลผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เริ่มการระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวน 2,796,982 คน พบผู้ป่วย 35,670 คน ได้รับการวินิจฉันว่าติดเชื้อโควิดมากกว่า 1 ครั้ง และในจำนวนดังกล่าวพบผู้ติดเชื้อซ้ำ 3 ครั้ง จำนวน 332 คน และอีก 1 คน ติดเชื้อซ้ำ 4 ครั้ง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบในช่วงการระบาดออกเป็น 3 รอบ คือ รอบแรกในช่วงการระบาดของสายพันธุ์อู่ฮั่น (ก.ค.-ก.ย.2563) รอบที่ 2 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เบต้า (ม.ค.-ก.พ.2564) และรอบที่ 3 ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (ก.ค.-ก.ย. 2564) พบว่าผู้ที่เคยป่วยโควิดมาก่อน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ต่ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด
แต่หลังจากเดือน พ.ย.2564 เป็นต้นมา ที่พบการระบาดของโอไมครอน พบว่าการติดเชื้อซ้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมาถึง 2.39 เท่า
“ในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง จำนวน 47 คน หรือคิดเป็น 14.2% พบการติดเชื้อครั้งที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายน แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อครั้งที่ 3 จำนวนมาก เกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน” ทีมนักวิจัยแอฟริกาใต้ ระบุ
ภาพเปรียบเทียบการติดเชื้อซ้ำในช่วงการระบาดของโควิด 3 รอบ
สิ่งที่ค้นพบนี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิจัยแอฟริกาใต้สัณนิษฐานว่า การเพิ่มขึ้นของโควิด สะท้อนให้เห็นถึงการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และปัจจุบันตัวแปรโอไมครอน กลายเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นแทนที่สายพันธุ์เดลต้าแล้ว เพราะขณะนี้พบถึง 74% ของกลุ่มตัวอย่าง
“หลักฐานระดับประชากรชี้ให้เห็นว่าตัวแปรโอไมครอน มีความสามารถมากในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากการป่วยครั้งก่อน” ทีมนักวิจัยแอฟริกาใต้ ระบุ
สำหรับสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 11,000 คน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 35% ในวันเดียว และเสียชีวิต 44 คนใน 24 ชั่วโมง ปัจจุบันกำลังเพิ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนเพื่อรับมือกับการระบาดที่เพิ่มขึ้น
เว็บไซต์ CNN
นักวิจัยเผยวัคซีนมีแนวโน้มป้องกัน‘โอไมครอน’ได้
เว็บไซต์ CNN เปิดเผยอีกว่า การค้นพบนี้มีนัยสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีอัตราภูมิคุ้มกันสูงจากการติดเชื้อครั้งก่อน อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงการฉีดวัคซีน และไม่สามารถอธิบายถึงภูมิคุ้มกันที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ดังนั้นความสำคัญเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้คือการหาปริมาณขอบเขตของการหลบหนีของภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์โอไมครอน สำหรับภูมิคุ้มกันทั้งจากธรรมชาติและวัคซีนที่ได้รับ รวมถึงการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับตัวแปรอื่นๆ และผลกระทบต่อความรุนแรงของโรค
นายไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกที่มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน กล่าวว่า สถานการณ์อาจแตกต่างออกไปเมื่อพูดถึงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
“ภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะตอบสนองได้ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับหลังการหายป่วย แม้ว่าจะมีแแนวโน้มที่จะมีผลกระทบบ้าง แต่ก็มีแนวโน้มว่าวัคซีนจะยังคงให้การป้องกันในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามจะต้องรอข้อมูลบ่งชี้เพิ่มว่าตัวแปรโอไมครอนมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนด้วยหรือไม่” นายเฮด ระบุ
ผู้ผลิตวัคซีน-ยารักษาโควิดอัปเดตการศึกษาประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ใหม่
นักวิชาการหลายคนมองว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีแนวโน้มว่าอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันลดลง ซึ่งล่าสุดผู้ผลิตวัคซีนและยารักษาโควิดได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงประสิทธิภาพต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่กับเว็บไซต์ Reuters ดังนี้
วัคซีนโมเดอร์นา นายสเตฟาน แบนเซล ประธานกรรมการบริหารบริษัท โมเดอร์นา จำกัด กล่าวว่าวัคซีนโควิดที่มีอยู่ตอนนี้มีประสิทธิลดลงต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาหลายหลายเดือนในการผลิตวัคซีนเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งคาดว่าวัคซีนตัวใหม่นี้จะสามารถวางจำหน่ายได้ในเดือน มี.ค.2565
วัคซีนไฟเซอร์ นายอูกูร์ ซาฮิน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไบออนเทค กล่าวว่า วัคซีนมีแนวโน้มที่จะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดีต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบว่าแอนติบอดีที่พบในเลือดของผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม และ 3 เข็ม จะสามารถต่อต้านไวรัสโอไมครอนได้หรือไม่ ส่วนวัคซีนรุ่นสอง ซึ่งมีการส่งมอบไปแล้วกว่า 2 พันล้านโดส ตรงนี้ยังไม่สามารถตอบชัดเจนว่าวัคซีนนี้จะเป็นวัคซีนที่ต้องการหรือจำเป็นหรือไม่
ส่วนยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) นั้น นายอัลเบิร์ต บัวร์ลา ประธานบริหารของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ กล่าวว่า ไฟเซอร์หวังว่า ยาเม็ดต้านไวรัสโควิดของบริษัทที่อยู่ระหว่างการทดลองประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน
ซึ่งตนเองมีความมั่นใจในระดับสูงมากว่า ยาตัวนี้จะใช้ได้ผลกับไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอนด้วย แต่ทางบริษัทก็กำลังติดตามผลของยาในการใช้กับโอไมครอน ที่อาจเกิดการดื้อยา
วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะเดียวกันก็กำลังพัฒนาวัคซีนเฉพาะต่อสายพันธุ์โอไมครอนด้วย
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนและยาแอนติบอดี ค็อกเทล (Antibody Cocktail) ต่อสายพันธุ์โอไมครอน
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค กล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ซึ่งทางบริษัทพัฒนาขึ้นมาร่วมกับบริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ยืนยันว่ายายังมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลต้า
เว็บไซต์ NBC
นานาทัศนะนักวิทย์ ควรฉีดเข็ม 3 ด้วยวัคซีนที่มีอยู่ หรือรอรุ่นใหม่
การกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันบางอย่างที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลกลางและผู้ผลิตยาต่างรอคอยผลจากห้องปฏิบัติการที่คาดการณ์ไว้อย่างสูงเพื่อดูว่าโอไมครอนมีภัยคุกคามต่อวัคซีนมากเพียงใด
แต่กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโอไมครอนนั้น ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะฉีดวัคซีนที่มีอยู่กระตุ้นเลยหรือไม่ หรือควรรอวัคซีนรุ่นใหม่
เว็บไซต์ NBC เปิดเผยว่า ยังคงมีการหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนว่าควรใช้วัคซีนที่มีอยู่เพื่อกระตุ้นการต่อต้านสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่หรือไม่ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีการกำหนดขึ้นเพื่อเป้าหมายรูปแบบเดิมของไวรัสที่เจอในปลายปี 2563 ขณะเดียวกันหากกระตุ้นในปริมาณมาก อาจทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยลงในอนาคต
โดย นายพอล ออฟฟิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า ในทางทฤษฎี วัคซีนป้องกันโควิดอาจเกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกัน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
“ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV4 แล้วติดเชื้อ HPV9 ซึ่ง HPV ทั้ง 4 สายพันธุ์ ก็อยู่ใน HPV9 ด้วย เราจะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีมากต่อ 4 สายพันธุ์ แต่การตอบสนองนี้กลับไม่ดีต่ออีก 5 สายพันธุ์ที่เหลือ” นายออฟฟิต กล่าว
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางคนแย้งว่า การรอวัคซีนรุ่นใหม่ใช้เวลานาน อาจเป็นความเสี่ยงต่อการควบคุมการระบาดได้เช่นเดียวกัน เพราะบางการศึกษา เช่น การศึกษาจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยเพิ่มระดับของแอนติบอดีต่อทุกสายพันธุ์โควิด มีเนวโน้มว่าจะสามารถป้องกันว่าจะสู้โอไมครอนได้
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ซึ่งเริ่มให้ยากระตุ้นไฟเซอร์เข็มที่สามในฤดูร้อน กล่าวว่า การให้ยากระตุ้นที่สี่อาจมีความจำเป็น หากจำนวนผู้ป่วยโควิดในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อีกกลุ่มมีความคิดเป็นว่า ผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่อาศัยหรือทำงานในสถานที่เสี่ยงควรจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง วัคซีนชนิด mRNA 2 โดสยังคงใช้ได้ แล้วค่อยฉีดกระตุ้นอีกครั้ง เมื่อมีวัคซีนเฉพาะ
ภาพจาก : องค์การสหประชาชาติ
อ้างอิงจาก :