“..ส่วนการศึกษาทำความเข้าใจความรุนแรงของตัวแปรสายพันธุ์โอไมครอน จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ฉะนั้น มาตรการป้องกันตนเอง ยังเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันโรค เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลต้าที่แพร่หลายไปทั่วโลก สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง..”
‘โอไมครอน (Omicron)’ เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ มีการกลายพันธุ์ใน 32 ตำแหน่ง และกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม นับว่าเป็นสายพันธุ์ที่ 5 ที่มีอุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ จึงมีการกำหนดชื่อจากตัวอักษรกรีกตัวที่ 5
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้กำหนดให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ ‘โอไมครอน’ เป็นสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงและเฝ้าระวัง ตามคำแนะนำของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของ WHO เกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส (TAG-VE) โดยการตัดสินใจนี้ อิงตามหลักฐานที่นำเสนอต่อ TAG-VE ว่า เชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์หลายอย่างที่อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของไวรัส เช่น ความสามารถการแพร่กระจาย หรือความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564 WHO เปิดเผยข้อมูลว่า นักวิจัยในแอฟริกาใต้ และทั่วโลกต่างเร่งกำลังดำเนินการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนี้ในแง่มุมต่างๆ และจะแบ่งปันผลการศึกษาเหล่านี้ต่อไปเมื่อมีข้อมูลที่แน่ชัด
สำหรับความสามารถในการแพร่กระจาย ยังไม่ชัดเจนว่า โอไมครอนสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายมากขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลต้า เนื่องจากมีข้อมูลเฉพาะในพื้นที่แอฟริกาใต้เท่านั้น ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ การศึกษาทางระบาดวิทยา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วสาเหตุการแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ เป็นเพราะโอไมครอน หรือปัจจัยอื่นๆ
ส่วนเรื่องความรุนแรงของโรค ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า โอไมครอน ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลต้า โดยข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า มีอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น แต่อาจเป็นเพราะภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น มากกว่าผลจากการติดเชื้อเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าอาการจากสายพันธุ์โอไมครอนนั้น แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ อย่างไร เนื่องจากการรายงานพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบุคคลที่อายุน้อยกว่าที่มีแนวโน้มว่าเป็นโรคเล็กน้อย
ส่วนการศึกษาทำความเข้าใจความรุนแรงของตัวแปรสายพันธุ์โอไมครอน จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ฉะนั้น มาตรการป้องกันตนเอง ยังเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันโรค เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลต้าที่แพร่หลายไปทั่วโลก สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
จากหลักฐานเบื้องต้น ระบุถึงประสิทธิผลของการติดเชื้อโควิด-19 (SARS-CoV-2) สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ว่า อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้น กล่าวคือ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ อาจติดเชื้อซ้ำได้ง่ายขึ้นด้วยโอไมครอน เมื่อเทียบกับตัวแปรอื่นที่น่าเป็นห่วง แต่ทั้งนี้ ข้อมูลยังมีอยู่จำกัด โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการศึกษา คาดว่าจะทราบผลเร็วๆ นี้
ประสิทธิผลของวัคซีนในปัจจุบัน:
- WHO กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านเทคนิคเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของโอไมครอนต่อมาตรการรับมือที่มีอยู่ รวมถึงวัคซีน เนื่องจากวัคซีนยังคงมีความสำคัญต่อการลดรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ วัคซีนในปัจจุบันยังคงมีประสิทธิภาพในลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
ประสิทธิผลของการทดสอบในปัจจุบัน:
- การทดสอบหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงการติดสายพันธุ์โอไมครอน ตามที่เห็นได้จากตัวแปรอื่นๆ เช่นกัน มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อการทดสอบประเภทอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงการทดสอบการตรวจหาแอนติเจนอย่างรวดเร็ว
ประสิทธิผลของการรักษาในปัจจุบัน:
- การรักษาโดยการให้ยา Corticosteroids และ IL6 Receptor Blockers ยังคงมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรง ส่วนการรักษาอื่นๆ อยู่ในกระบวนการประเมิน เพื่อศึกษาดูว่า ยังคงมีประสิทธิภาพเท่าเดิมหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่างๆ ของตัวเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน
ขณะที่ พญ.แองเจลีค คูตซี ประธานสมาคมแพทยสภาแห่งแอฟริกาใต้ (South African Medical Association: SAMA) เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 19 ราย มีอาการต่างจากผู้ป่วยที่เคยรักษา ล่าสุด มีผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่แล้ว ราว 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่น โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง ยังไม่ได้รับวัคซีน และในจำนวนคนไข้ทั้งหมดไม่มีใครที่สูญเสียการรับรสหรือดมกลิ่น
“ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเป็นเวลา 1-2 วัน มีอาการไอเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีอาการที่โดดเด่น โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้ มีจำนวนหนึ่งที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ส่วนกรณีที่น่าสนใจ คือ เด็กหญิงวัย 6 ปี ที่มีไข้ ตัวร้อน มีอัตราการเต้นของหัวใจสูง จนคาดการณ์ว่าอาจจะต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่หลังผ่านไป 2 วัน อาการก็ดีขึ้น” พญ.แองเจลีค กล่าว
พญ.แองเจลีค กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น ส่วนใหญ่มีสุขภาพที่แข็งแรงดี แต่ที่น่ากังวลคือ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ที่อาจมีความรุนแรงมากกว่าเมื่อติดเชื้อ แต่ก็โชคไม่ดีที่เชื้อสายพันธุ์โอไมครอนถูกตราให้เป็น 'ไวรัสที่อันตรายอย่างยิ่ง' เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งในขณะที่ยังไม่ทราบถึงความร้ายแรงจริงๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพบว่า มีอาการเพียงเล็กน้อย แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
พญ.แองเจลีค คูตซี ประธานสมาคมแพทยสภาแห่งแอฟริกาใต้
WHO ได้ระบุถึง ข้อแนะนำสำหรับการประเทศต่างๆ ในการดำเนินการรับมือ เนื่องจาก โอไมคอน ถูกกำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง (Variant of Concern: VOC) จำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงการเสริมสร้างการเฝ้าระวังและการจัดลำดับกรณี การแบ่งปันลำดับจีโนมบนฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น GISAID; รายงานกรณีเริ่มต้นหรือกลุ่มต่อ WHO ดำเนินการตรวจสอบภาคสนามและประเมินผลทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้เข้าใจดีขึ้นว่า โอไมครอนมีลักษณะการแพร่กระจายหรือโรคต่างกัน หรือมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน การบำบัด การวินิจฉัย หรือมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคม
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ควรดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพต่อไปเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 โดยใช้การวิเคราะห์ความเสี่ยงและแนวทางทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงควรเพิ่มความสามารถด้านสาธารณสุขและทางการแพทย์เพื่อจัดการกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น
WHO ระบุอีกว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มเสี่ยงทุกแห่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้สูงอายุ ได้รับการฉีดครั้งแรกและครั้งที่สอง ควบคู่ไปกับการเข้าถึงการรักษาและการวินิจฉัยที่เท่าเทียมกัน
สำหรับสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน สภาวิจัยทางการแพทย์ของแอฟริกาใต้ (SAMRC) ระบุว่า การระบาดของสายพันธุ์ใหม่กำลังเกิดขึ้นใน 2 เมืองใหญ่ คือ เมืองชวาเน (Tshwane) และเมืองจีเคอเปอร์ฮา ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวโยงกับเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน
โดยก่อนหน้าที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการของ WHO ฮ่องกง พบนักท่องเที่ยว 1 ราย เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 ส่วนอีกรายเป็นนักท่องเที่ยวที่กักตัวอยู่ในโรงแรม คาดว่าพักอยู่ห้องตรงข้ามกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ติดเชื้อรายที่ 2 อาจติดเชื้อจากผู้ป่วยรายแรกจากอากาศที่หมุนเวียนระหว่างห้องพัก
ประเทศเนเธอแลนด์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ทำการตรวจเข้มสายการบินจากแอฟริกาใต้ จำนวน 2 เที่ยวบิน ที่มีผู้โดยสารประมาณ 600 ราย และพบว่ามีผู้ติดเชื้อ 61 คน ต่อมาสถาบันสุขภาพแห่งเนเธอร์แลนด์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ผู้โดยสารที่ได้รับการตรวจจำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่าจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน แต่ยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยผู้โดยสารทั้งหมดจะถูกกักตัวอยู่ที่โรงแรมใกล้กับสนามบินสคิปโฮล
นอกจากนี้ ยังมีประเทศบอสวานา อิตาลี และเบลเยียม ที่เริ่มมีการรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
หลังจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้น หลายประเทศทั่วโลกต่างประกาศยกระดับมาตรการควบคุมพรมแดน และการเดินทางเข้าทุกเส้นทางจากประเทศในทวีปแอฟริกา
นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 2 ราย อยู่ในเมืองเชล์มสฟอร์ด และเมืองนอตติงแฮม ซึ่งทั้ง 2 รายมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประกาศระงับเที่ยวบิน (Red List) จาก 6 ประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นการชั่วคราว ได้แก่ นามิเบีย เลโซโท ซิมบับเว บอตสวานา เอสวาตีนี และแอฟริกาใต้
ส่วนสหรัฐอเมริกา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี ได้สั่งจำกัดการเดินทางทางอากาศจาก 8 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา ซิมบับเว นามิเบีย เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก และมาลาวี ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564 ตามคำแนะนำของ นพ.แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว หลังก่อนหน้านี้ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา และฝรั่งเศส ได้ประกาศข้อจำกัดการเดินทางในลักษณะเดียวกัน
ขณะที่ อิสราเอล เป็นประเทศแรกที่ออกมาประกาศปิดพรมแดนประเทศอีกครั้ง โดยนายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อป้องกันและสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จึงห้ามชาวต่างชาติทั้งหมดเข้าประเทศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 28 พ.ย. 2564 ขณะที่ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการออกคำสั่งห้ามเฉพาะผู้ที่มาจากทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่
เช่นเดียวกับประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่า ได้ออกประกาศ (NOTAM) ไปยังทั่วโลก ว่า ไทยห้ามผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 ซึ่งจะรวมถึงผู้โดยสารที่เดินทางต่อเครื่องเข้าประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ จากรายงานไม่พบว่ามีสายการบินจากประเทศใดที่ทำการบินมาจากทวีปแอฟริกาบินตรงมายังไทย
จะต้องติดตามต่อไปว่า ทั่วโลกจะรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์นี้ที่สามารถกระจายได้รวดเร็วได้เมื่อไหร่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ยังไม่ได้รับวัคซีน ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบอัตราการติดเชื้อสูง ดังนั้น มาตรการป้องกันตนเองและการวัคซีนยังคงสำคัญ ขณะเดียวก็ต้องร่วมมือกันขจัดความเท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน
เรียบเรียงจาก:
Omicron variant symptoms ‘unusual but mild’, says South African doctor
POLITICS U.S. to restrict travel from South Africa, 7 other countries as new Covid variant emerges
Covid: Israel to impose travel ban for foreigners over new variant
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage