การห้ามการเดินทางนั้นอาจจะชะลอการระบาดได้ แต่ตอนนี้มันชัดเจนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของโลกไปแล้ว....“ดังนั้นแทนที่จะแบนการเดินทาง คุณควรที่จะดำเนินการคัดกรองและใช้นโยบายกักกันตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถชะลอการระบาดได้”
จากกรณีกระแสการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ทำให้หลายประเทศนั้นต้องมีการออกมาตรการห้ามไม่ให้มีการเดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงการระบาดของเชื้อไวรัสนี้
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายหน่วยงานได้ออกมาประกาศแล้วว่าการแบนการห้ามการเดินทางจากประเทศที่มีปัญหานั้นอาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างที่คิด
และล่าสุดสำนักข่าวบีบีซีของประเทศอังกฤษก็ได้มีการจัดทำรายงานข่าวฉบับหนึ่งในหัวข้อว่าการห้ามการเดินทางนั้นจะได้ผลจริงหรือไม่ เมื่อต้องเจอกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@จุดยืนขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เคยมีคำแนะนำไปแล้วหลังจากพบการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนว่าการห้ามการเดินหางแบบหว่านแหทั้งหมดนั้นจะไม่สามารถหยุดการระบาดทั่วโลกได้ และมันจะเป็นการเพิ่มภาระกับชีวิตและความเป็นอยู่เสียด้วยซ้ำ
“ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการเรื่องการห้ามการเดินทางดังกล่าวนั้นยังอาจส่งผลเสียต่อความพยายามในการดำเนินการด้านสุขภาพทั่วโลก เพราะอาจจะเป็นการลดแรงจูงใจที่หลายประเทศทั่วโลกนั้นจะรายงานข้อมูลและแบ่งปันทั้งข้อมูลการระบาดวิทยาและข้อมูลในด้านการลำดับพันธุกรรม” WHO กล่าว
WHO กล่าวต่อไปด้วยว่าสิ่งที่แต่ละประเทศควรจะดำเนินการนั้นหลักการการดำเนินการตามความเสี่ยงและตามข้อจำกัดในเงื่อนไขเรื่องเวลา ถ้าหากจะต้องมีการจำกัดการเดินทาง
อนึ่งในช่วงที่เกิดเหตุโรคระบาดในปี 2563 WHO เองก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแนวทางการห้ามการเดินทางเช่นกัน เนื่องจากมองว่ามาตรการเหล่านี้นั้นมักจะไม่มีประสิทธิภาพ
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น WHO ได้ออกมากล่าวเลยว่ามาตรการเกี่ยวกับการเดินทางที่เข้าไปแทรกแซงในเรื่องของการสัญจรระหว่างประเทศนั้นอาจจะมีประสิทธิภาพแค่ในช่วงต้นของการระบาดเท่านั้น เพราะสามารถทำให้หลายประเทศได้มีเวลาเตรียมตัวกับการรับมือการระบาดได้
อย่างไรก็ตาม WHO นั้นถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ออกมาตรการห้ามเที่ยวบินจากยุโรปและประเทศจีนเดินทางเข้าสหรัฐฯ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็พบว่ามีหลายประเทศที่ได้มีการออกมาตรการห้ามการเดินทางมาจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆที่มีอัตราการติดเชื้อสูงเช่นกัน
ส่งผลทำให้เมื่อต้นปี 2564 WHO ได้มีการปรับปรุงคำแนะนำใหม่ โดยเรียกร้องให้บรรดาประเทศต่างๆนั้นคำนึงถึงระดับภูมิคุ้มกันทีได้จากการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ,การแพร่กระจายของแต่ละสายพันธุ์ และประสิทธิภาพในด้านการตรวจและกักกันเชื้อ เมื่อจะต้องตัดสินใจในการออกมาตรการในการจำกัดเดินทาง
โดย WHO ระบุชัดเจนว่าประเทศที่มีความกังวลว่าจะมีความเสี่ยงกับสายพันธุ์ไวรัสนั้นสามารถที่จะใช้มาตรการด้านการจำกัดเวลาและมาตรการจำกัดเรื่องการเดินทางที่เข้มงวดมากขึ้นได้
นายเทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาคัดค้านการใช้มาตรการห้ามการเดินทาง และขอให้นานาชาติร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาโดยเฉพาะการหยุดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าก่อน (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไรบ้าง
จากการศึกษาในช่วงเวลาที่การระบาดได้เริ่มต้นเมื่อปี 2563 ก็มีการแนะนำว่ามาตรการจำกัดการเดินทางนั้นอาจจะมีประสิทธิภาพในช่วงเริ่มต้นอยู่บ้างในแง่ของการชะลอไวรัส แต่ทว่ามาตรการที่ว่านี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลงในภายหลัง
โดยการศึกษาที่ศูนย์สังคมศาสตร์ WZB Berlin Social Science Center เมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์ทั้งการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและอัตราการเสียชีวิตใน 180 ประเทศเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ก็พบข้อสรุปดังต่อไปนี้
- การใช้มาตรการจำกัดการเดินทางที่จะมีผลกระทบที่สุดก็เมื่อแต่ละประเทศนั้นได้มีการจำกัดการเดินทางก่อนที่จะมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 10 ราย
- การใช้มาตรการกักกันผู้เดินทางทั้งหมดนั้นมีผลกระทบมากกว่าการใช้มาตรการห้ามเข้าประเทศทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงกรณีการห้ามบุคคลสัญชาติของประเทศนั้นๆกลับคืนสู่ประเทศตัวเองด้วย
- การกำหนดเป้าหมายเรื่องข้อจำกัดที่เน้นต่อบางประเทศโดยเฉพาะเจาะจงนั้นมีผลมากกว่าการใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแหที่ห้ามนักเดินทางชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศ
อนึ่งการศึกษาดังกล่าวนั้นยังได้มีการสำรวจไปถึงกรณีประเทศอังกฤษที่มีมาตรการจำกัดการเดินทางน้อยกว่า ก็พบกรณีไวรัสมากกว่านับพันเท่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในทวีปยุโรป
ส่วนกรณีไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นมีการระบุว่าถูกพบไปมากกว่า 12 ประเทศแล้วทั่วโลก และคาดว่ามีจะมีประเทศอื่นๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจากกรณีนี้นั้นทางด้านของ พญ.ดีปติ กัวดาซานี นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยควีนแมรี่ของลอนดอน ได้กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่าแม้จะมีข่าวว่าการห้ามการเดินทางนั้นอาจจะชะลอการระบาดได้ แต่ตอนนี้มันชัดเจนว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของโลกไปแล้ว
“ดังนั้นแทนที่จะแบนการเดินทาง คุณควรที่จะดำเนินการคัดกรองและใช้นโยบายกักกันตัวอย่างเหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สามารถชะลอการระบาดได้” พญ.กัวดาซานีกล่าว
ทั้งนี้ความแตกต่างที่เด่นชัดอย่างหนึ่งจากตอนช่วงแรกของการระบาดนั้นก็คือว่าตอนนี้เรามีจัดสรรวัคซีนไปทั่วโลกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนนั้นก็มีความแปรผันกันอย่างยิ่งในหลายประเทศ และในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะมีต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนั้นก็ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนนัก
ขณะที่ประเทศซึ่งต้องมีการพึ่งพอการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักถึงประเด็นสำคัญว่าการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางนั้นจะไปกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน
ประเทศซึ่งมีกรณีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน โดยสีน้ำเงินคือประเทศที่ยืนยันแล้วและสีฟ้าคือประเทศต้องสงสัยว่าจะมีการระบาด
@ประเทศใดบ้างที่ใช้มาตรการการห้ามการเดินทางที่เข้มข้นที่สุด
มีข้อมูลว่าประเทศออสเตรเลียซึ่งเปิดพรมแดนนานาชาติครั้งแรกในช่วงเดือน พ.ย. หลังจากปิดประเทศห้ามประชาชนของตัวเองเข้าหรือออกจากประเทศนานนับ 18 เดือนถ้าหากไม่มีคำอนุญาตพิเศษ ล่าสุดก็ได้ระงับแผนการในการอนุญาตให้นักเรียนต่างชาติรวมไปถึงแรงงานที่ฝีมือเดินทางเข้าประเทศแล้ว
ส่วนที่ประเทศนิวซีแลนด์นั้นก็ได้ดำเนินนโยบายการห้ามเข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 เช่นกันจนกระทั่งรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศว่าจะเปิดประเทศรับประชาชนของตัวเองและผู้ถือวีซ่าจากประเทศออสเตรเลียเข้าประเทศในช่วงปีใหม่ และหลังจากนั้นในช่วง เม.ย.ก็จะมีการรับผู้เดินทางซึ่งฉีดวัคซีนแล้ว
ขณะที่ประเทศเวียดนามนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการห้ามการเดินทางยาวนานที่สุด ก็ได้มีการเปิดพรมแดนในช่วงเดือน ธ.ค.นี้
ซึ่งประเทศทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือว่าเคยมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนน้อยมาก จนกระทั่งเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่มาจากประเทศอินเดีย ประเทศเหล่านี้ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น
แต่ทั้งนี้มาตรการอื่นๆ อาทิ การล็อกดาวน์ การตรวจหาเชื้อแบบกว้างขวาง และมาตรการความปลอดภัยต่างๆเช่นการใส่หน้ากาก ทุกอย่างนั้นก็ล้วนมีความสำคัญเทียบเท่ากับมาตรการในการห้ามการเดินทาง ถ้าหากว่ารัฐบาลนั้นมีความต้องการที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในระยะเริ่มแรกมีจำนวนลดลงอย่างแท้จริง
เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/59461861